PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

สถานีคิดเลขที่ 12 หลังคลายล็อก โดย : ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่ 12 หลังคลายล็อก โดย : ปราปต์ บุนปาน



ในที่สุด ก็มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เรียกขานกันอย่างไม่เป็นทางการว่าคำสั่ง “คลายล็อกพรรคการเมือง” ประกาศออกมา ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
แม้หลายคนจะตั้งคำถามว่าทำไมถึงแค่ “คลายล็อก” ไม่ “ปลดล็อก”
แม้นักการเมืองหน้าเก่าหน้าใหม่จำนวนมากจะคลางแคลงใจต่อข้อห้ามไม่ให้หาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์/อินเตอร์เน็ต
แต่อย่างไรเสีย กฎหมายและคำสั่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังเดินหน้ากลับคืนสู่ “การเลือกตั้ง”
การหวนคืนสู่ “การเลือกตั้ง” หมายความว่าอย่างไร?
อย่างน้อย “การเลือกตั้ง” ย่อมหมายความว่า ไม่ว่ากระบวนการเลือกตั้งและสภาวะทางการเมืองหลังจากนั้น จะมี “ความเป็นประชาธิปไตย” มากน้อยเพียงไหน
อย่างไรก็ตาม อำนาจทางการเมืองจะไม่ถูกผูกขาดอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป
แต่อำนาจทางการเมืองจะถูก “แชร์” โดยหลายๆ ฝ่าย หรือต้องผ่านการปรับประสานต่อรองระหว่างกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายฝ่ายมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น คสช. กองทัพ หน่วยงาน-องค์กรภาครัฐทั้งหลาย พรรคการเมืองต่างๆ นักการเมืองทั้งจากการเลือกตั้งและแต่งตั้ง และที่สำคัญ คือ “ประชาชน”
ต่อให้มีการออกแบบกลไก-กฎเกณฑ์ หรือกระทั่งจัดวางกระบวนการหลังการเลือกตั้ง เพื่อกลั่นกรองหรือปรับเปลี่ยนเจตจำนงของประชาชนเสียงส่วนใหญ่อย่างละเอียดลออ-สลับซับซ้อนสักเพียงใด

ทว่าเสียงดังกล่าวมักแสวงหาลู่ทางในการป่าวประกาศหรือยืนหยัดเจตจำนงของตนเองได้อยู่เสมอ แม้จะไม่เต็มศักยภาพ 100 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่ต้องยอมรับอีกอย่าง เมื่อมี “การเลือกตั้ง” ก็คือ ภายใต้กระบวนการตามวิถีทางประชาธิปไตยเช่นนั้น จะไม่มีฝ่ายหนึ่งกลุ่มใดที่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างสมตามความปรารถนาหรือความต้องการของตนเอง ชนิดครบถ้วนสมบูรณ์
เรื่องสำคัญไม่แพ้กันจึงดำรงอยู่ “หลังการเลือกตั้ง” นั่นคือคำถามว่า เราจะสามารถถ่วงดุล แบ่งสรรจัดการผลประโยชน์ และแสวงหา “จุดร่วม” หรือ “การยอมรับกฎกติการ่วมกัน” ของแต่ละฝ่าย ได้อย่างไร
ไม่อาจปฏิเสธว่า กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เคยประสบความสำเร็จในการสานก่อภารกิจประการนี้เลย
จนพวกเราติดค้างอยู่ในสภาพที่หากฝ่ายหนึ่งชนะ อีกฝ่ายก็ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
หากฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายก็จำเป็นต้องสูญเสีย
กระทั่งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเกินกว่าการเห็นต่างทั่วๆ ไป กลายสภาพเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด และฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศ
แน่นอน การเดินหน้าสู่ “การเลือกตั้ง” ต้นปี 2562 คือ นิมิตหมายอันดี ซึ่งจะเปิดโอกาสให้หลายฝ่ายที่ต้อง “เงียบเสียง” มาเนิ่นนาน ได้กลับมาร่วมแสดงบทบาททางการเมืองอีกคำรบ
แต่จุดท้าทายศักยภาพของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อาจตั้งมั่นรออยู่ภายหลังการเลือกตั้ง
ปราปต์ บุนปาน

ไม่มีความคิดเห็น: