PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

กรณี"หมอเลี๊ยบ"กับการเอื้อประโยชน์"ชิน แซทเทลไลท์"


กรณี ศาลฎีกานักการเมืองจำคุก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรมว.ไอซีที 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานไทยคม
จำได้ว่าเรื่องนี้เคยเขียนลงนสพ.กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในซีรี่ย์ ไตรภาคคดียึดทรัพย์ ทักษิณ ตอน แกะรอยแก้สัมปทาน เอื้อผลประโยชน์"ชินแซท" ั
ลองย้อนกลับไปอ่านอีกครั้ง พบว่า ในช่วงนั้นมีหลายเรื่องที่ดูเหมือนว่า เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับชินแซท
---------------------------------------------------------
การใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทที่มีบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ถือหุ้น 49% คือ หนึ่งในข้อกล่าวหาการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจในเครือชินคอร์ป ระหว่างการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ทั้งการอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม ไอพี สตาร์ แทนดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเดียวไทยคม 3 และ การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ รวมถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในชินแซท ทั้งหมดนี้ถูกบรรจุไว้ในสำนวนคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการเอื้อประโยชน์ทั้งสิ้น

แม้ว่าในสำนวนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับชินแซท จะไม่มีข้อมูลที่บอกได้ชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนสั่งการในเรื่องต่างๆ แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐมนตรีที่รับผิดชอบ หรือลงนามในการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ทั้งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ล้วนเป็นรัฐมนตรีที่มาจากพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งสิ้น

เริ่มจากการแก้ไขสัญญาอนุมัติให้บริษัท ชิน แซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนแปลงรูปแบบการก่อสร้างดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้เป็นดามเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 เป็นดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ลงนามโดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2545
มีจุดเริ่มต้นจากข้อเสนอของชินแซท เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2545 ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม ขออนุมัติจัดสร้างดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) พร้อมกับขอแก้ไขข้อกำหนดทางเทคนิคของดาวเทียมไทยคม 4 เดิม ด้วยเหตุผลในเรื่องความทันสมัยและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

กระทรวงคมนาคมใช้เวลาพิจารณาเพียง 2 เดือนก็มีหนังสืออนุมัติการขอแก้ไขทางเทคนิค และอนุมัติให้บริษัทสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ในวันที่ 24 ก.ย. 2545 จากนั้นอีก 4 ปี ในปี 2548 ดาวเทียมไอพี สตาร์ ก็ถูกส่งขึ้นวงโคจร

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของ คตส.พบว่า การอนุมัติให้ชินแซท ยิงดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น ขัดกับเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน เพราะคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์ ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 3 จึงเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม 3 ไม่ได้ เนื่องจากการอนุมัติให้มีการแก้ไขคุณสมบัติโดยตัดคลื่นความถี่ CU-Band ที่มีในดาวเทียมไทยคม 3 ออกไป

นอกจากนี้ คตส.ยังมีความว่าการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นการอนุมัติโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบสัญญาสัมปทาน เพราะดาวเทียมไอพี สตาร์ มีวัตถุประสงค์ทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ เพราะชินแซทได้ลงทุนสร้างอุปกรณ์ 18 แห่ง ใน 14 ประเทศ
แสดงว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก จึงไม่อยู่ในกรอบสัญญาที่ต้องการให้ใช้สำหรับการสื่อสารในประเทศ หากเหลือให้ต่างประเทศใช้บริการ

คตส.จึงมีความเห็นว่า การอนุมัติดังกล่าวถือเป็นเอื้อประโยชน์แก่ชินแซท ไม่ต้องมีการแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอรับสัมปทานโครงการใหม่

ส่วนกรณีกระทรวงไอซีที อนุมัติค่าสินไหมทดแทนความเสียหายของตามเทียมไทยคม 3 จำนวน 33,082,960 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท ให้แก่ชินแซท เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากดาวเทียมไทยคม 3 เกิดเหตุขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงาน จนทำให้ช่องสัญญาณดาวเทียมบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้ เมื่อปลายปี 2546 และบริษัทประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวน 33,082,960 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเก็บไว้ที่บัญชี เอสโครว์ ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสิงคโปร์ ลงวันที่ 11 ต.ค. 2547

จากนั้นในวันที่ 14 พ.ย. 2546 ไอซีที ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทก 0204/230 ถึงกรรมการผู้อำนวยการ ชินแซท เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ไอซีที ได้อนุมัติเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้บริษัท นำไปดำเนินการตามสัญญาสัมปทานดาวเทียม ข้อ 37 ใน 2 ประเด็น คือ
1. อนุมัติเงินจำนวน 6,765,299 ดอลลาร์สหรัฐ ให้บริษัทเพื่อจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียม Intelsat จำนวน 3 ทรานสพอนเดอร์
2. อนุมัติเงินจำนวน 26,236,661 ดอลลาร์สหรัฐ ให้บริษัทสร้างดาวเทียมใหม่ (ไทยคม -3R) โดยมีเงื่อนไขว่า หากมูลค่าการก่อสร้างดาวเทียมดวงดังกล่าวสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับ บริษัทต้องรับผิดชอบเงินที่เพิ่มขึ้นเองทั้งหมด

ต่อมาในวันที่ 30 มิ.ย. 2548 ชินแซท ได้ลงนามก่อสร้างดาวเทียมดวงใหม่ พร้อมกับนำเงินค่าสินไหมจำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,083 ล้านบาท ที่ไอซีที อนุมัติให้บริษัทนำไปสร้างดาวเทียมมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีตามมาตรา 67 ทวิ ของประมวลรัษฎากร

จากนั้นวันที่ 14 พ.ย. 2548 นายดำรง เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร ชินแซท ได้มีหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากร ใน 3 ประเด็น คือ

1. ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับจากไอซีที จำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ถือเป็นเงินได้ของบริษัทใช่หรือไม่
2. หากเงินค่าสินไหมที่บริษัทได้รับจำนวน 26.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ถือเป็นเงินได้ของบริษัท บริษัทมีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรได้ใช่หรือไม่
3. กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจำนวน 400 ล้านบาท จากดาวเทียมไทยคม 3 สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ใช่หรือไม่

วันที่ 20 ม.ค. 2549 กรมสรรพากร ที่ กค 0708/497 สรุปใจความสำคัญว่า ค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทได้รับจากไอซีที ทั้งกรณีค่าสินไหมที่นำไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม และค่าสินไหมที่ใช้ในการก่อสร้างดาวเทียมดวงใหม่ไม่ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี ส่วนความเสียหายของดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 400 ล้านบาท ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

อย่างไรก็ตามคตส.ได้มีมติส่งหนังสือให้กรมสรรพากรทบทวนการคืนภาษี พร้อมกับเรียกเก็บภาษีเงินได้ จากบริษัท ชินแซท ประมาณ 377 ล้านบาทแล้ว เนื่องจากเห็นว่าเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ของดาวเทียมไทยคม 3 จากกระทรวงไอซีทีจำนวน 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ส่วนการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปในชินแซท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 51% เป็นไม่ต่ำกว่า 40% โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า แก้ไขสัญญาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้น จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 51% เป็นไม่ต่ำกว่า 40% โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งฝ่าฝืน พระราชบัญญัติร่วมทุน ปี 2535

เรื่องนี้ ชินแซท ได้เสนอว่า ตามสัญญาสัมปทานที่บริษัททำไว้กับรัฐบาลเมื่อปี 2534 ได้กำหนดให้ชินคอร์ปจะต้องถือหุ้นในชินแซทไม่ต่ำกว่า 51% โดยไม่ระบุเหตุผลในสัญญา แต่จากการสอบถามทราบว่า เหตุที่ต้องกำหนดสัดส่วนการถือหุ้น เป็นเพราะต้องการให้ผู้รับสัญญาสัมปทานมีความรับผิดชอบในการผลักดันโครงการดาวเทียมให้เกิดขึ้น

หลังจากชินแซทแจ้งความจำนงที่จะขอลดสัดส่วนการถือหุ้นชินคอร์ปแล้ว กระทรวงไอซีที ได้เสนอเรื่องให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา แต่สำนักงานอัยการ บอกว่าควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา หรือเห็นชอบ กระทรวงไอซีทีจึงส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการ คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น แจ้งกลับมาว่า ไม่ใช่เรื่องที่ คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา ทางไอซีทีจึงส่งเรื่องไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาอีกครั้ง และอัยการก็แจ้งกลับมาว่า เมื่อเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี เห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณา จึงเป็นอำนาจของไอซีทีที่จะพิจารณาอนุมัติ จนกระทั่งมีการลงนามแก้ไขสัญญาในเวลาต่อมา

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชี้แจงว่า ข้อกล่าวหาของ คตส.ในกรณีต่างๆ ไม่ได้ทำให้หุ้น ชินคอร์ป มีราคาสูงขึ้นผิดปกติ แต่ราคาหุ้นขึ้นลงไปทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอัตราที่ใกล้เคียงกันตลอดเวลา

ดังนั้น เงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือได้ทรัพย์มาโดยไม่สมควรตามข้อกล่าว อีกทั้งมาตรการ 5 เอื้อประโยชน์ทั้ง 5 ของที่ คตส.และอัยการกล่าวหานั้น เจ้าหน้าที่รัฐจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเบิกความสอดคล้องกันว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความเสียหายตามข้อกล่าวหาของ คตส. เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

พ.ต.ท.ทักษิณ ยังบอกด้วยว่า ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เคยทุจริต ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย และไม่เคยแม้แต่จะคิดทำการใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยิ่งไปกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารและตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: