PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เปิดรายงาน “เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตปี 2558” กรณีประเทศไทย

เปิดรายงาน “เสรีภาพบนอินเทอร์เน็ตปี 2558” กรณีประเทศไทย
2016.05.16 12:34
ดาวน์โหลด รายงานฉบับ pdf
freedom-on-the-net-thailand-2015_4
หมายเหตุ รายงานเสรีภาพบนอินเทอร์เน็ต (Freedom on the Net Reportเป็นรายงานประจำปีที่ฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) จัดทำตั้งแต่ปี 2011 เพื่อเป็นข้อมูลให้กับนักกิจกรรม สื่อมวลชน นักออกแบบนโยบาย ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปในการรณรงค์เพื่ออินเทอร์เน็ตที่มีเสรีภาพ เปิดกว้าง และปลอดภัย รายงานฉบับปี 2558 นี้ คณะทำงานของฟรีดอมเฮาส์ร่วมมือกับนักวิจัยจาก 65 ประเทศทั่วโลกจัดทำขึ้น โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนจาก อุปสรรคในการเข้าถึง การจำกัดเนื้อหา และการละเมิดสิทธิผู้ใช้
รายงานฉบับนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์, สำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา, กูเกิล, และยาฮู รายงานฉบับแปลภาษาไทยจัดทำโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตภายใต้ความร่วมมือกับฟรีดอมเฮาส์ อ่านรายงานต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ ที่นี่
freedom-on-the-net-thailand-2015
freedom-on-the-net-thailand-2015_2

บทนำ

ในช่วงระยะเวลาที่จัดทำรายงานนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยถูกคุกคามและถูกจับกุมเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อนการเกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จากนั้นอีกสองวันต่อมา ด้วยสถานะของหัวหน้าคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ. ประยุทธ์ ฉีกรัฐธรรมนูญ ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และประกาศว่ารัฐบาลทหารจะปกครองประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี 5 เดือน ก่อนจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป การรัฐประหารได้รับการประกาศผ่านทางสื่อทั้งหมด รวมทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์[1]
หลายสัปดาห์ต่อจากนั้น รัฐบาลทหารออกคำสั่งห้ามสื่อมวลชนที่มีอยู่ออกอากาศ มีการตรวจสอบเนื้อหาข่าวออนไลน์ ตลอดจนสอดส่องหรือจับกุมนักวิจารณ์หลายร้อยคน โดยอ้างความชอบธรรมของหลายมาตรการเหล่านี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คืนความสุขให้คนไทย” และให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในขณะที่สถานการณ์ยังคง “ไม่ปกติ” แต่แผนการของรัฐบาลทหารซึ่งรวมไปถึงการแก้ไขและเร่งรัดการตรากฎหมายใหม่ที่มีความสำคัญหลายฉบับจะมีผลกระทบยาวนาน[2] มีความพยายามออกชุดกฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่มีขอบเขตกว้างขวาง รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงออนไลน์ฉบับแรกของประเทศและกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล ร่างกฎหมายเหล่านี้มาพร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการเเละนักกิจกรรมเสรีภาพอินเทอร์เน็ตว่าจะส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัว จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งตรงข้ามกับชื่อกฎหมายโดยสิ้นเชิง
ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร มีการสอดส่องนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวอย่างโจ่งแจ้ง ประชาชนกว่า 400 คนถูกเรียกตัวมาซักถามในพื้นที่ทหารหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลายคนถูกบังคับให้แจ้งรหัสผ่านอีเมลและเฟซบุ๊กเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบการสื่อสารได้
รัฐใช้หลากหลายวิธีการในการละเมิดเสรีภาพผู้ใช้บริการออนไลน์ผ่านการดำเนินการในรูปของกฎหมายอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ซึ่งตราขึ้นหลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ควบคู่กับการดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญา รวมทั้งใช้บทบัญญัติของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญาลงโทษการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อันพึงเป็นที่เคารพสักการะ ภายใต้กฎหมายเหล่านี้ รัฐบาลได้ดำเนินการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์และหน้าสื่อสังคมออนไลน์นับหมื่นหน้า และจำคุกบุคคลจำนวนมากที่เผยแพร่ข้อมูลและความคิดเห็นออนไลน์หรือผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทุกคนสามารถกล่าวโทษเนื้อหาออนไลน์ใดๆ ในประเทศไทยว่ากระทำการหมิ่นประมาทหรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้บุคคลต่างๆ มีบทบาทในการฟ้องคดีกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือเพื่อกีดกันการเคลื่อนไหวของพลเมืองในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่มีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรง ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร จำเลยในคดีเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร ซึ่งลงโทษสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเเละไม่สามารถอุทธรณ์ได้ เมื่อ พ.ศ. 2558 มีการพิพากษาลงโทษจำคุกมากกว่า 50 ปีอย่างน้อย 2 ครั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพผ่านการเเสดงความคิดเห็นออนไลน์ แต่ทั้งสองคดีศาลพิพากษาให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพ

อุปสรรคในการเข้าถึง

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้อินเทอร์เน็ตมีราคาที่เข้าถึงได้ แม้การใช้อินเทอร์เน็ตจะกระจุกตัวเข้มข้นในกรุงเทพมหานครเเละเมืองศูนย์กลางอื่นๆ รวมทั้งความเร็วและคุณภาพบริการอินเทอร์เน็ตจะยังแตกต่างกันก็ตาม หลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม .. 2557 เจ้าหน้าที่ประกาศความตั้งใจที่จะใช้ซิงเกิลเกตเวย์กับอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมหรือแม้กระทั่งปิดกั้นการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศได้

ความพร้อมในการใช้งานเเละความยากง่ายในการเข้าถึง

อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี พ.ศ. 2557 อยู่ที่ร้อยละ 29 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี พ.ศ. 2556 และในช่วงเดียวกันนี้เอง อัตราการเข้าถึงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 140 เป็นร้อยละ 144[3] ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยส่วนใหญ่และผู้ใช้สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภาคใต้ ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเฉลี่ยสูง อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ต่ำสุดในประเทศคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากขาดแคลนบริการ[4]
ในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้ รัฐบาลทหารอนุมัติงบประมาณ 1,980 ล้านบาท ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อขยายการให้บริการไฟฟ้าสู่พื้นที่ห่างไกล[5] ภายใต้โครงการ “คืนความสุขให้คนไทย” คสช. ยังดำเนินโครงการไอซีทีฟรีไวไฟ (ICT Free WiFi) ที่รัฐบาลก่อนหน้าริเริ่มไว้ต่อ โครงการนี้ได้รับทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ให้บริการเชื่อมต่อไร้สายในอาคารรัฐบาลและอาคารเอกชนต่างๆ สามารถรองรับผู้ใช้บริการ 15 ราย ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนลงทะเบียนพร้อมกันเพื่อใช้งานฟรีครั้งละ 20 นาที รวมทั้งหมดไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน ในปี พ.ศ. 2557 โครงการฟรีไวไฟติดตั้งจุดเชื่อมต่อ 120,000 จุดทั่วประเทศ ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับคัดเลือก และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งจุดเชื่อมต่อเพิ่มอีก 130,000 จุด ภายใน พ.ศ. 2558 [6] [7]
ผลส่วนหนึ่งจากความพยายามดังกล่าว ทำให้ตัวเลขทางการในปี พ.ศ. 2556 ระบุว่าประชากรไทยร้อยละ 39 สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และอีกร้อยละ 23 เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 200 บาทต่อเดือน[8] โดยมีรายงานว่าการเชื่อมต่อมีความเร็วประมาณ 12 Mbps[9] และมีเสถียรภาพในการใช้งานมากที่สุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

การจำกัดการเชื่อมต่อ

ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่เคยดำเนินการปิดกั้นหรือบีบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองและความมั่นคง ทว่า ภายในอาทิตย์เดียวของการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า จะนำเสนอโครงการ “อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ” สำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ ความคิดริเริ่มนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สองผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐที่มีเกตเวย์ของตัวเองและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอื่นๆ อีก 6 ราย รัฐมนตรีช่วยฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้กระทรวงไอซีทีขัดขวางการเข้าถึงได้โดยตรงโดยง่าย[10] แม้ไม่มีการประกาศพัฒนาโครงการดังกล่าวต่อในช่วงที่จัดทำรายงานฉบับนี้ แต่มีรายงานข่าวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 ว่า หน่วยงานภาครัฐกำลังสำรวจพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับโครงการซิงเกิลเกตเวย์อยู่
ปริมาณการใช้แบนด์วิดท์ระหว่างประเทศของไทยอยู่ที่ 1,563 Gbps เมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 และการใช้แบนด์วิดท์ภายในประเทศอยู่ที่ 2,323 Gbps เพิ่มขึ้นร้อยละ 195 และร้อยละ 132 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา[11]

ตลาดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

พ.ศ. 2557 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ลดลง ในขณะที่จำนวนผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 97.10 ล้านเลขหมาย หรือเฉลี่ย 1.4 เลขหมายต่อคน ประชาชนไทยใช้จ่ายค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ย 192 บาทต่อเดือน[12]
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังคงกระจุกตัวในมือผู้ให้บริการรายใหญ่ ตามสถิติที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557 ทรูอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นผู้นำตลาด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 37 ตามมาด้วยทีโอที ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 31 และ 3BB ร้อยละ 29 ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นๆ รวมกันมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น[13]

หน่วยงานกำกับดูแล

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม มีข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนการและนโยบายที่กระทรวงไอซีทีประกาศก่อนหน้านี้น้อยมาก ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงเพราะรัฐบาลทหารมีอำนาจรวมศูนย์ แต่เนื่องจากกระทรวงไอซีทีเองอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การสับเปลี่ยนอำนาจด้วย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 และมกราคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎหมายจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ยังไม่ทราบชื่อย่อทางการ) เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับคณะกรรมการชุดย่อยที่ระบุไว้ในร่างกฎหมายการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านการบริการ สังคมดิจิทัล ทรัพยากรความรู้ และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่กระบวนการกลับชะงักท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการวางตำแหน่งคำว่า “ดิจิทัล” ในชื่อกระทรวง และสถานะของกระทรวงที่ยังไม่ชัดเจนในตอนท้ายของช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้[14]
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 11 คน เป็นหน่วยงานกำกับดูแลอิสระที่ถือว่ามีความเป็นธรรมระดับหนึ่ง[15] ยังคงทำหน้าที่จัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ณ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 แต่บทบาทของ กสทช. ก็ตกอยู่ภายใต้การคุกคาม การแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พ.ร.บ.กสทช.) จะเปลี่ยนสภาพ กสทช. จากหน่วยงานกำกับดูแลอิสระเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้อำนาจของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานร่างชุดกฎหมายดิจิทัลกล่าวว่า กสทช. จะยังคงเป็นอิสระภายใต้กฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่ แต่รัฐจะเป็นผู้ดูแลนโยบาย โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะมีอำนาจในการลงโทษหน่วยงานภาครัฐบาลหรือเอกชนที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ และจะทำหน้าที่ควบคุมการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานของรัฐและเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วน กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการพาณิชย์เท่านั้น[16] นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทย
การออกกฎหมายต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่รัฐบาลกล่าวว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ในช่วงท้ายของระยะเวลาการจัดทำรายงานนี้ มีกฎหมายใหม่ทั้งหมด 10 ฉบับหรือกฎหมายฉบับแก้ไขกำลังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนที่จะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร กฎหมายทุกฉบับล้วนมีเรื่องที่น่ากังวลอยู่[17] ภาคประชาสังคมและผู้มีบทบาทภาคเอกชนมองว่ากฎหมายเหล่านี้จะเป็นอุปสรรค และยังวิพากษ์วิจารณ์การมุ่งเน้นสร้างหน่วยงานใหม่ที่มีอำนาจอย่างกว้างขวาง ร่างกฎหมายนี้ยังโอนทรัพย์สินของ กทปส. ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช. ที่ใช้อยู่มาอยู่ภายใต้ “กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ขณะที่ กทปส. ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ภาครัฐหรือเอกชนที่เป็น “ผู้ประกอบการเศรษฐกิจดิทัล” ซึ่งอาจทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน[18] นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังกำหนดว่าผู้แทนจากหน่วยงานที่รัฐเป็นเจ้าของ เช่น บริษัททีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมที่ดำเนินงานภายใต้ใบอนุญาตจาก กสทช. จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย ในทางปฏิบัติจะทำให้บริษัทในการกำกับดูแลมีอำนาจเหนือผู้กำกับดูแล เป็นการบ่อนทำลายหลักการของการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม[19]
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 คสช. ออกคำสั่งให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ 4G ไปอีกหนึ่งปี[20] นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ความล่าช้าอาจเป็นไปเพื่อให้กฎหมายใหม่ที่กำลังจะออกให้อำนาจควบคุมแก่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมากขึ้น[21] คาดว่าการประมูลไม่น่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2558 เนื่องจากการขาดการเตรียมการ[22]

ข้อจำกัดด้านเนื้อหา

นับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม พ.. 2557 ทั้ง คสชและรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งได้ออกคำสั่งและประกาศจำนวนมากเพื่อปิดกั้นเนื้อหาออนไลน์โดยตรงหากพบว่าเนื้อหานั้นเกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย คสชหรือรัฐบาล รูปแบบของการเซ็นเซอร์เปลี่ยนแปลงจากการดำเนินการปิดกั้นหลังได้รับคำสั่งศาลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาเป็นการร้องขอ ความร่วมมือ” ด้วยวาจา แม้จะมีการเซ็นเซอร์ที่แพร่หลายมากขึ้นและมีแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ แต่พื้นที่ออนไลน์ยังคงเป็นที่รวมตัวที่ง่ายที่สุดสำหรับนักกิจกรรมเเละผู้เห็นต่าง

การสกัดกั้นและการกรองเนื้อหา

แม้ประเทศไทยจะมีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์อย่างหนักเป็นเวลานาน แต่หลังรัฐประหารกระบวนการเซ็นเซอร์ก็ยิ่งง่ายและเร็วขึ้น ในช่วงระยะเวลาการจัดทำรายงานชิ้นนี้ คสช. ออกคำสั่งเเละประกาศหลายฉบับมาควบคุมเนื้อหา ดังนี้
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 18/2557 ห้ามเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ, ความสงบ และความเป็นระเบียบเรียบร้อย
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2557 ขอให้ผู้ใช้และผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์ป้องกันเนื้อหาที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง กระตุ้นให้เกิดการประท้วง หรือต่อต้านการปกครองของ คสช.
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2557 ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฝ้าระวังและป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนข้อเท็จจริงใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
  • ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2557 ให้ตัวแทนของกองทัพเฝ้าระวังและสอดส่องสื่อสังคมออนไลน์[23]
นอกเหนือจากคำสั่งเหล่านี้ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ยังขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเฝ้าระวังและเซ็นเซอร์เนื้อหาออนไลน์ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและขัดขวางความความสงบเรียบร้อยด้วย[24]
ก่อนการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 แม้ไม่ค่อยมีความโปร่งใส แต่ขั้นตอนการปิดกั้นเว็บไซต์ก็เป็นไปอย่างเข้มงวด เจ้าพนักงานตามกฎหมายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) จะต้องได้รับหมายศาลหลังจากได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เพื่อปิดกั้นเว็บไซต์ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หลังรัฐประหาร ข้าราชการระดับใดก็ตาม รวมทั้งพนักงานผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต มีอำนาจในการปิดกั้นเว็บไซต์โดยตรงด้วยวิจารณญาณของตนเอง โดยใช้อำนาจภายใต้คำสั่ง คสช. ข้างต้นรองรับ เป็นผลให้ไม่มีสถิติการเซ็นเซอร์อย่างเป็นทางการอีก
เนื้อหาที่ถูกเซ็นเซอร์มากที่สุดหลังการทำรัฐประหารแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไทย และการวิจารณ์ คสช. หรือรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง เว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นนั้นรวมถึงเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ เช่น รอยเตอร์ และหนังสือพิมพ์เดลิเมลจากสหราชอาณาจักร เว็บไซต์ข่าวในประเทศ เช่น ประชาธรรม เว็บไซต์ของกลุ่มสิทธิมนุษยชน เช่น องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ เว็บไซต์ทางวิชาการ เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและนิติราษฎร์ เว็บไซต์ส่วนบุคคลของบล็อกเกอร์และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เฟซบุ๊ก และหน้าเว็บของยูทูบที่มีเนื้อหา[25]ต่อต้านรัฐประหาร

การนำเนื้อหาออกจากระบบ

หลังรัฐประหาร การร้องขอให้นำเนื้อหาออกจากระบบมีลักษณะเช่นเดียวกับการปิดกั้นการเข้าถึง เป็นกระบวนการที่เร่งรัดเเละกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาง กระบวนการใหม่ไม่เป็นระบบ และขาดการประสานงานจนแทบจะเป็นการดำเนินการตามอำเภอใจ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ซีเอส ล็อกซอินโฟ (CS Loxinfo) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เรียกผู้ดูแลเว็บไซต์ของสำนักข่าวสถาบันอิศรามาแจ้งให้นำบทความข่าวเปิดเผยสินทรัพย์ของน้องชายผู้นำรัฐบาลทหารออกจากเว็บไซต์ ซีเอส ล็อกซอินโฟ บอกว่าบทความนี้เป็นการสร้างความแตกแยก แต่เมื่อผู้ดำเนินการเว็บไซต์ติดต่อกระทรวงไอซีที กระทรวงกลับไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของคำขอให้นำเนื้อหาออกจากระบบได้[26]
คสช. ยังคุกคามบุคคลเพื่อให้ลบเนื้อหาจากหน้าสื่อสังคม ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2557 นายธนาพล อิ๋วสกุล สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้พิมพ์นิตยสารฟ้าเดียวกัน เป็นหนึ่งในบุคคลจำนวนมากที่ คสช. ควบคุมตัวในระยะเวลาสั้นๆ เเละบังคับให้ลงชื่อในเงื่อนไขการปล่อยตัวว่าจะไม่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารต่อสาธารณะ กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ธนาพลเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับ คสช. และนโยบายของรัฐบาลในบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เจ้าหน้าที่ทหารโทรศัพท์สั่งให้ธนาพลลบเนื้อหาออก โดยให้เหตุผลว่าเขาจะต้องไม่โพสต์เนื้อหาทางการเมืองที่อาจสร้างความเข้าใจผิดหรือ “ทัศนคติที่ไม่ดี” ต่อรัฐประหาร ธนาพลจึงลบเนื้อหานั้น แต่เปลี่ยนเป็นการบันทึกการสนทนาบนเฟซบุ๊กแทน[27] ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 เพจฟ้าเดียวกันบนเฟซบุ๊กโพสต์เรื่องเจ้าหน้าที่ทหารรบกวนกิจกรรมในงานมหกรรมหนังสือที่มีนักเขียนและนักวิชาการด้านการเมือง เจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้ธนาพลลบเนื้อหาโดยอ้างว่าทำให้รู้สึกไม่สบายใจ[28]
มีการสั่งให้นักกิจกรรมหยุดใช้เฟซบุ๊กเพื่อการสื่อสาร อาทิ กฤษฎากร ศิลารักษ์ (Krisdakorn Silalaksa) ได้รับคำสั่งจากทหารให้ยุติกิจกรรมบนเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 กฤษฎากรเป็นผู้สนับสนุนสำคัญที่เรียกร้องให้รัฐเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการถาวร เพื่อให้ชาวบ้านทำประมงได้ (เขื่อนปากมูลเป็นประเด็นระหว่างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวระดับรากหญ้าและรัฐบาลไทยมาทุกยุคทุกสมัย) และกองทัพยังขอให้เขาปิดเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเนื่องจากมีความคิดเห็นที่ “ไม่เหมาะสม” ด้วย[29]
เฟซบุ๊กลบเนื้อหาที่พิจารณาได้ว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 30 ครั้งในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ. 2557  การลบเนื้อหามาจากคำร้องขอของกระทรวงการต่างประเทศ หรือศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) นี่แสดงให้เห็นว่าอัตราการขอให้ลบเนื้อหาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2557 ที่มีคำขอให้ลบ 5 ครั้ง เเละเมื่อช่วงปลาย พ.ศ. 2556 ซึ่งไม่มีการลบเนื้อหา[30]

สื่อ ความหลากหลาย และการจัดการเนื้อหา

คำสั่งควบคุมเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเองและทำลายความหลากหลายของข้อมูลที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ประกาศ คสช. ฉบับที่ 14/2557 ห้ามสื่อสัมภาษณ์ผู้มีบทบาททางการเมืองใดๆ ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือน กระนั้น ผู้นำรัฐบาลทหารที่แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลสามารถเเสดงมุมมองของตัวเองทั่วประเทศทางโทรทัศน์ในช่วงไพรม์ไทม์สัปดาห์ละหลายครั้ง
ผู้สื่อข่าวที่พยายามข้ามข้อจำกัดจะถูกตำหนิ นางสาววาสนา นาน่วม หนึ่งในผู้สื่อข่าวสายทหารที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย เล่าชีวิตประจำวันอดีตนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกยึดอำนาจ ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ในรูปของการบรรยายโดยหลีกเลี่ยงรูปแบบการสัมภาษณ์ วาสนาถูก คสช. ตำหนิวาสนาอย่างรุนแรงและเธอต้องขอโทษ คสช. ต่อสาธารณชน บทความนี้ถูกลบออกจากเว็บไซต์บางกอกโพสต์[31]
สื่อหลายเจ้าเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตนเองในบรรยากาศที่กดขี่ เช่น รายการเจาะข่าวตื้น ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์เชิงเสียดสียอดนิยมทางอินเทอร์เน็ต งดออกอากาศชั่วคราวหลังจากการทำรัฐประหารจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557[32] นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พิธีกรรายการโทรทัศน์ ประกาศเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ว่าตัดสินใจยุติรายการที่ออกอากาศทางรายการ อัมรินทร์ นิวส์ไนท์ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ดิจิทัลช่องใหม่ช่องหนึ่ง เพื่อรักษาหลักการตามวิชาชีพ[33]
ไม่มีเอกสารปรากฏต่อสาธารณะว่ามีผู้ใดได้รับเงินตอบแทนการบิดเบือนเนื้อหาทางการเมืองบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรอบปีที่รายงาน แม้เจ้าหน้าที่สนับสนุนประชาชนให้ตรวจสอบเนื้อหาออนไลน์ของผู้อื่น (โปรดพิจารณาส่วน การสอดแนม ความเป็นส่วนตัว และการไม่อาจระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ต) และยังมีกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นเพื่อข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทหารด้วย (โปรดพิจารณาส่วน การข่มขู่และความรุนแรง)

กิจกรรมการเคลื่อนไหวดิจิทัล

แม้จะมีจำนวนการข่มเหงและการจับกุมเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร พื้นที่ออนไลน์ยังคงเป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นที่ทรงพลังให้บุคคลหลากหลายกลุ่มใช้ในการสื่อสารและจัดกิจกรรมทางการเมือง ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายภายใต้ชื่อเดิมว่า “เครือข่ายพลเมืองเน็ต” รวบรวมรายชื่อ 20,000 รายชื่อเพื่อคัดค้านกฎหมายดิจิทัลของรัฐบาลทหาร 10 ฉบับ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นและละเมิดความเป็นส่วนตัว ทั้งการยกร่างกฎหมายยังขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน[34]จากการประท้วง ฝ่ายยกร่างกฎหมายของรัฐบาลกล่าวว่าจะฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะจัดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะขึ้นต่อร่างกฎหมายเหล่านี้ฉบับหนึ่งในภายหลัง แต่กระบวนการก็ยังคงเป็นความลับเช่นเคย
นักกิจกรรมและนักวิชาการผู้ตรงไปตรงมาจำนวนไม่น้อยหลบหนีออกนอกประเทศหลังรัฐประหารแต่ยังคงเคลื่อนไหวโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นและอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องย้ายไปต่างประเทศแต่ยังคงเผยแพร่ข้อคิดเห็นและบทวิเคราะห์ทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊ก การที่ตัวอยู่นอกประเทศช่วยให้คนเหล่านี้แสดงความคิดเห็นได้ตรงไปตรงมามากขึ้น

การละเมิดสิทธิผู้ใช้อินเทอร์เน็ต

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต บล็อกเกอร์ นักข่าวพลเมือง และสื่ออิสระที่ถูกคุกคาม พ.. 2557 และ พ.. 2558 ปรากฏขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกเหนือจากการใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างรุนแรง เช่น กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คสชยังดำเนินการภายใต้กฎอัยการศึก รวมทั้งออกกฎหมายและคำสั่งที่ละเมิดสิทธิออนไลน์อย่างรุนแรงจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีชุดร่างกฎหมายดิจิทัล10 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีผลักดันในช่วงปลายปี พ.. 2557 และต้นปี พ.. 2558  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีผลกระทบในระยะยาวต่อชุมชนออนไลน์ของไทยหากกฎหมายเหล่านั้นมีผลบังคับใช้ เพราะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเฝ้าระวังและเซ็นเซอร์อย่างกว้างขวาง

สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย

มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในวงกว้าง แต่เมื่อถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 หลังรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการรับรองสิทธิลักษณะเดียวกัน แต่ประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ซึ่งห้ามบุคคลและสื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ในพื้นที่สาธารณะ
ขณะที่รอบปีที่ผ่านมา เครื่องมือทางกฎหมายหลักที่ใช้ตั้งข้อหาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตยังคงเป็นข้อหาเรื่องการ “ละเมิดความมั่นคงแห่งชาติ” ภายใต้กฎหมายสองฉบับ คือ มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมเอาการเเสดงความคิดเห็นออนไลน์เหล่านี้เป็นอาชญากรรมแบบเดียวกับการเจาะระบบหรือการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และ คสช. ยังออกกฎหมายและคำสั่งอื่นๆ อีกหลายฉบับที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และคำสั่ง คสช. รุนแรงมากขึ้นหลังจากการประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 37/2557 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ซึ่งระบุว่าพลเมืองที่ประกอบกิจกรรมทางการเมืองจะได้รับการไต่สวนในศาลทหาร ศาลทหารที่ไต่สวนคดีเหล่านี้เป็นศาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่มีขั้นตอนการอุทธรณ์หรือศาลชั้นที่สูงขึ้นไปอีก ในหลายคดีที่มีการตัดสินลงโทษผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ศาลทหารตัดสินลงโทษที่รุนแรงกว่า ในกรณีของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างปี 2553-2557 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จำนวนของคดีที่ถูกฟ้องร้องเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน) ศาลพลเรือนมีคำตัดสินลงโทษจำคุกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4 ปีจากอัตราโทษระหว่าง 3-15 ปี แต่หลังจากรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ศาลทหารตัดสินลงโทษจำคุกโดยเฉลี่ย 10 ปี และลดโทษเหลือ 5 ปีหลังจากรับสารภาพ[35]
คณะรักษาความสงบแห่งชาติกำลังผลักดันนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” ผ่านร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่จะแก้ไขกฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, กฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกฎหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และจะเกิดกฎหมายใหม่สำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม[36]
การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้ชื่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นศูนย์กลางของนโยบาย และจะมีหน้าที่รับผิดชอบการออกแบบข้อบังคับในทุกด้านสำหรับเรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี อธิบายการให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อคณะกรรมการชุดนี้ว่าเป็นความพยายามที่จะพัฒนาความล้มเหลวของยุทธศาสตร์การทำให้เกิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ในอดีต แม้นโยบายนี้จะดูเหมือนเป็นการเปิดทางให้มีการควบคุมออนไลน์มากขึ้น ร่างกฎหมายคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนดให้คณะกรรมการฯ มีอำนาจเหนือกระทรวงและหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงอำนาจในการดำเนินการทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือพลเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ[37] กฎหมายเหล่านี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายและขึ้นอยู่กับสิ่งที่คาดว่าจะเป็น “ภัยคุกคาม” ซึ่งไม่ได้มีการให้คำจำกัดความอย่างเหมาะสมไว้ในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่แม้จะไม่ได้รวมอยู่กับชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลแต่อยู่ในระหว่างรอการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดักจับข้อมูลการสื่อสารของประชาชนภายใต้การอนุมัติของผู้บังคับการและศาล ร่างกฎหมายนี้กำหนดขอบเขตของประเภทการกระทำความผิดที่จะทำให้การดักจับข้อมูลถูกต้องตามกฎหมายไว้อย่างกว้างขวาง นอกเหนือจากการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐและการกระทำผิดที่เป็นองค์กรอาชญากรรม ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รวมหมวดการกระทำผิดที่กว้างขวาง เช่น อาชญากรรมที่ “ยุ่งยากซับซ้อน”[38]
ภายใต้ร่างกฎหมายอีกฉบับสำหรับ “ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย” เจ้าพนักงานจะต้องขอหมายในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะยั่วยุพฤติกรรมการกระทำวิปริตทางเพศ, ความสัมพันธ์หรือการกระทำทางเพศกับเด็ก, การฆ่าตัวตายของเด็ก, การกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก, การอัตวินิบาตกรรมหมู่, การใช้สารเสพติด, การก่อการร้าย, การโจรกรรม, การฆาตกรรม หรือการกระทำอันทารุณ ภายใต้ร่างกฎหมายนี้ ผู้ผลิตและผู้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกหนึ่งถึงเจ็ดปีและมีโทษปรับสูงสุดเจ็ดแสนบาท ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ให้บริการ (ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ที่รู้ว่ามีการกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ตนควบคุมและไม่ได้ทำการเอาข้อมูลเหล่านั้นออก จะต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดห้าปีและปรับสูงสุดห้าแสนบาทเช่นกัน[39]
นอกเหนือจากเนื้อหาที่มีปัญหาในร่างกฎหมายเหล่านี้ นักวิเคราะห์มองว่าขั้นตอนการออกกฎหมายซึ่งขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องหรือการประชาพิจารณ์นั้นมีลักษณะรีบร้อนและซ่อนเร้น ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมร่างกฎหมายอ้างว่า กระบวนการร่างกฎหมายแบบบนลงล่าง (top-down) นั้นเป็นผลมาจากความเร่งรีบในการกำหนดนโยบายภายใต้รัฐบาลเฉพาะกาล[40] แต่รัฐบาลนั้นก็ยังละเมิดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและภาคประชาสังคมที่แสดงออกถึงความกังวลที่มีต่อร่างกฎหมายเหล่านี้ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้จัดงานเสวนาในประเด็นสิทธิเสรีภาพภายใต้ร่างกฎหมายชุดนี้ เจ้าหน้าที่ทหารนายหนึ่งได้ข่มขู่กลุ่มผู้จัดงานเรื่องการไม่ได้ขออนุญาตล่วงหน้าสำหรับการจัดงานและเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายโดยไม่ได้รับเชิญ[41] ต่อมาในเดือนเดียวกัน ภายใต้การตื่นตัวของการประท้วงออนไลน์ เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับว่ารัฐบาลอาจจะนำข้อกฎหมายบางข้อที่สร้างความกังวลออกไปจากตัวร่างฯ, ควบรวมร่างกฎหมายบางฉบับให้เป็นกฎหมายใหม่ และจัดประชุมวงปิดเพื่อรับฟังเสียงวิจารณ์ก่อนจะนำเสนอตัวร่างฯ ที่ปรับแก้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อออกเสียงรับรอง อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่กล่าวมานี้ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน[42]

การดำเนินคดีและการคุมขังกรณีกิจกรรมออนไลน์

หลังจากการรัฐประหาร คสช. ได้เรียกประชาชนจำนวนหลายร้อยคนเข้ารายงานตัวโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปราบปราบผู้ที่อาจจะมีความเห็นต่าง และทำการจับกุมประชาชนที่ขับเคลื่อนให้มีการประท้วงในที่สาธารณะ ผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสูงสุดที่กระทำได้ตามกฎอัยการศึก สมบัติ บุญงามอนงค์ หนึ่งในนักกิจกรรมต้านรัฐประหารที่โดดเด่นตั้งแต่รัฐประหารในปี 2549 เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ คสช. เรียกตัวทันทีหลังรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม สมบัติปฏิเสธที่จะเข้ารายงานตัวโดยให้เหตุผลว่าอำนาจของ คสช. ไม่มีความชอบธรรม และยังคงโพสต์ข้อความต่อต้านรัฐประหารบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ในเดือนมิถุนายน 2557 สำนักข่าวกรองแห่งชาติแกะรอยตามหมายเลขไอพีที่สมบัติใช้งานไปยังที่พักของเขา สมบัติถูกตั้ง 3 ข้อหา คือ ไม่ตอบสนองต่อคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช., สร้างความกระด้างกระเดื่อง และนำข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์[43] สมบัติได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแต่คดีของเขายังคงอยู่ในศาลทหาร[44]
เจ้าหน้าที่มุ่งเป้าไปยังช่องทางข่าวอิสระซึ่งดำเนินการออนไลน์โดยปกปิดสถานที่เพื่อหลีกเลี่ยงการลงโทษจากรัฐบาลทหาร ณัฐ รุ่งวงษ์ (นามแฝง) บรรณาธิการของบล็อกและเว็บไซต์รวบรวมข่าวสาร ไทยอีนิวส์ (Thai E-News) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่รัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ถูกจับกุมเนื่องจากการเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้ว่าบทความจะเขียนโดยนักเขียนคนอื่นที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ[45] คดีของณัฐถูกตัดสินโดยศาลทหารในเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งลงโทษจำคุกเขา 9 ปี และลดโทษเหลือ 4 ปีครึ่งหลังรับสารภาพ[46] ในเดือนมิถุนายน 2557 คฑาวุธ (นามแฝง) นักจัดรายการวิทยุออนไลน์ถูกตั้งข้อหากระจายเสียงเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลทหารลงโทษจำคุก 10 ปีด้วยการพิจารณาคดีลับ และลดโทษเหลือ 5 ปีเนื่องจากคฑาวุธให้การรับสารภาพ[47] ในอีกกรณีหนึ่ง บรรพต (นามแฝง) นักจัดรายการวิทยุอีกรายถูกตั้งข้อหาการใช้สื่อออนไลน์ในการยุยงให้เกิดความเกลียดชังและเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในเดือนมกราคม 2558 กองทัพจับกุมบุคคลอย่างน้อย 6 คนที่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับบรรพต ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำเลยทั้งหกถูกคุมขัง เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดถูกยึด และทุกคนถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านเฟซบุ๊ก ทั้งหกคนถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อเผยแพร่คำพูด, ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[48] ผู้คนทั่วไปไม่ทราบตัวตนของบุคคลต่างๆ เบื้องหลังไทยอีนิวส์, บรรพต หรือคฑาวุธ แต่ทั้งหมดมีกลุ่มผู้ติดตามจำนวนมาก
นอกเหนือจากสื่อและนักข่าวพลเมืองแล้ว คสช. ยังได้ดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เผยแพร่เนื้อหาทางการเมือง:
  • อัครเดช นักศึกษามหาวิทยาลัย ถูกจับจากข้อความที่โพสต์ในเฟซบุ๊กในเดือนมิถุนายน 2557 และถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ศาลตัดสินลงโทษจำคุกอัครเดช 5 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่งหลังรับสารภาพ[49]
  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชื่อว่า เฉลียว ถูกกล่าวหาว่านำคลิปเสียงจากรายการวิทยุของบรรพตซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้าสู่เว็บไซต์ 4shared เฉลียวถูก คสช. เรียกตัวในเดือนมิถุนายน 2557 และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เฉลียวให้การรับสารภาพต่อข้อกล่าวหา ในเดือนสิงหาคม 2558 ศาลอาญาตัดสินจำคุกเฉลียว 3 ปี โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี[50]
  • สิรภพ ถูกกล่าวหาว่าเป็นนักเขียนและกวีที่ใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ถูกตั้งข้อหาเนื่องจากโพสต์บทกวี 3 ชิ้นที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเว็บไซต์ประชาไท เจ้าหน้าที่ทหาร 5 คนจับกุมสิรภพระหว่างที่เขากำลังเดินทางในเดือนกรกฎาคม 2557 คดีของสิรภพกำลังถูกพิจารณาลับในศาลทหาร[51]
  • ธเนศ (นามแฝง) ถูกกล่าวหาว่าส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเชื่อมโยงกับเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปี 2553 ธเนศถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 คดีของธเนศกำลังถูกพิจารณาลับในศาลทหาร[52]
  • จารุวรรณ พนักงานโรงงานในจังหวัดราชบุรี ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเฟซบุ๊ก จารุวรรณให้การปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์เนื้อหาดังกล่าวลงในเฟซบุ๊กและกล่าวว่าเธอถูกจัดฉาก ศาลทหารคุมขังจารุวรรณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558[53]
  • ปิยะ (นามแฝง) ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กแต่ปฏิเสธ ในเดือนธันวาคม 2557 เจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาปิยะเรื่องการเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเฟซบุ๊ก คดีของปิยะยังคงรอคำตัดสินของศาล[54]
สถิติโทษจำคุกที่ยาวนานที่สุดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้น ศศิวิมล วัย 29 ปี ถูกตัดสินจำคุก 56 ปี และลดเหลือ 28 ปีหลังให้การรับสารภาพจากกรณีเนื้อหาเฟซบุ๊ก 7 โพสต์ถูกพิจารณาว่าเป็นข้อความหมิ่นฯ[55]ในอีกคดีหนึ่ง พงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 30 ปี หลังให้การรับสารภาพจากกรณีโพสต์ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ในเฟซบุ๊ก[56]
นอกเหนือจากการจับกุมผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายคนแล้ว ตำรวจยังใช้โปรแกรมส่งข้อความในเฟซบุ๊กเป็น “เหยื่อล่อ” ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเปิดเผยความรู้สึกที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น กรณีผู้ใช้รายหนึ่ง ชื่อพงษ์ศักดิ์ (นามแฝง) ถูกเชิญให้เข้าร่วมการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ในโปรแกรมส่งข้อความในเฟซบุ๊ก รวมทั้งถูกชักชวนให้เดินทางไปยังอีกจังหวัดหนึ่ง ซึ่งเขาถูกจับกุมทันทีที่ไปถึง
ต่อมา ตำรวจได้ทำการจับกุม ชโย (นามแฝง) ด้วยข้อหาเดียวกันหลังจากบทสนทนาระหว่างพงษ์ศักดิ์และชโยในโปรแกรมส่งข้อความของเฟซบุ๊กที่ถูกบันทึกไว้แสดงให้เห็นว่าชโยส่งข้อความและรูปภาพที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ ผ่านโปรแกรม[57]
เนื้อหาด้านวัฒนธรรมก็ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดมากขึ้นด้วย ประเด็นนี้สะท้อนออกมาในคำตัดสินของศาลกรณีละครเวทีเชิงเสียดสีเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” ที่มีการจัดแสดง ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเดือนตุลาคม 2556 นักกิจกรรม 2 คนที่ร่วมแสดงในละครเวทีเรื่องนี้ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมาและศาลตัดสินให้ทั้งสองมีความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งสองคนได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยทั่วไปแล้ว ศาลมักจะตัดสินให้รอลงอาญาสำหรับจำเลยที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่ศาลปฏิเสธที่จะรอลงอาญาในคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าละครเวทีเรื่องนี้ได้ถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต และถูกมองว่าเป็น “พฤติการณ์อันเลวร้าย”[58] ส่วนจักราวุธ อาชีพนักดนตรี ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก 3 บัญชีซึ่งโพสต์ข้อความหมิ่นฯ 9 ข้อความในช่วงปี 2554-2557 จักราวุธถูก คสช. เรียกรายงานตัวในเดือนกรกฎาคม 2557 และถูกไต่สวนคดีโดยศาลอาญาจังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนกรกฎาคม 2557 จักราวุธถูกตัดสินจำคุก 30 ปี และลดเหลือ 15 ปีหลังรับสารภาพ[59]
เช่นเดียวกับบรรยากาศออนไลน์อื่นๆ อินเทอร์เน็ตไทยเต็มไปด้วยการให้ข้อมูลที่ผิดพลาด การบิดเบือนข้อมูล ข่าวเท็จ และข่าวลือ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะได้รับการเปิดเผยและแก้ไขโดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายอื่น ข้อมูลดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ได้กลายเป็นสาเหตุของการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในช่วงหลังรัฐประหาร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ประกาศของสำนักพระราชวังฉบับเท็จเกี่ยวกับพระพลานามัยของพระมหากษัตริย์ถูกโพสต์และเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ ตำรวจทำการจับกุมผู้ใช้รายหนึ่งซึ่งตำรวจอ้างว่าเป็นผู้โพสต์รายแรก เช่นเดียวกับบรรณาธิการของเอเอสทีวี เว็บไซต์ข่าวกระแสหลักซึ่งโพสต์ประกาศฉบับเท็จและบทความที่เกี่ยวข้อง[60]
นอกจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและข้อความทางการเมืองแล้ว การหมิ่นประมาทเป็นอีกปัญหาที่มีมายาวนานในประเทศไทย มาตรา 14(1) ของกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ปัจจุบันถือว่า “การนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบ” นั้นมีโทษทางอาญา แม้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จและการหมิ่นประมาทจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในทางกฎหมาย แต่การฟ้องประชาชนด้วยกฎหมายทั้งสองในเวลาเดียวกันได้กลายเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้น อัยการและผู้พิพากษาแสดงให้เห็นว่าขาดความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างกฎหมายทั้งสอง และข้อเท็จจริงที่ว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในสำนวนของอาชญากรรมไซเบอร์นั้นหมายถึงอาชญากรรมในทางเทคนิค เช่น การเจาะเข้าโปรแกรมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ความซื่อตรงของเสรีภาพออนไลน์ โจทก์ส่วนใหญ่ในคดีเหล่านี้คือเจ้าหน้าที่รัฐ
ตัวอย่างคดีของการใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นประมาทในปี 2557 และ 2558 ได้แก่:
  • กระทรวงพลังงานยื่นฟ้องหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน จากการโพสต์ข้อความในบัญชีเฟชบุ๊กว่าน้ำมันดีเซลบางส่วนจากประเทศไทยถูกส่งไปจำหน่ายที่ลาวในราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันในประเทศ คดีนี้ยังคงอยู่ในชั้นศาล[61]
  • กองทัพเรือฟ้องร้องเว็บไซต์ภูเก็ตหวานต่อการตีพิมพ์บทความที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบนำเข้าผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจากประเทศพม่า กองทัพเรือปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ประจำอยู่ในจังหวัดภูเก็ตและสั่งห้ามไม่ให้ผู้สื่อข่าวจากภูเก็ตหวานเข้ามาที่ฐานทัพ คดีนี้ยังอยู่ในชั้นศาลในช่วงเวลาที่มีการจัดทำรายงาน[62]
  • เนเชอรัลฟรุต บริษัทผลไม้กระป๋อง ฟ้องร้องนักกิจกรรมแรงงานข้ามชาติ แอนดี ฮอลล์ (Andy Hall) จากการเผยแพร่รายงานวิจัยที่กล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงานในกระบวนการผลิตของบริษัท บริษัทกำลังฟ้องร้องแอนดี ฮอลล์ ใน 3 คดี หนึ่งในนั้นเป็นการใช้กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากมีการเผยแพร่ตัวรายงานผ่านสื่อออนไลน์ คดียังคงอยู่ในชั้นศาล[63]
ในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ต่อนักข่าวหรือการหมิ่นประมาทบุคคลสาธารณะจำนวนหนึ่งจบลงที่โจทก์ตัดสินใจไม่ฟ้องคดีหรือศาลสั่งยกฟ้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการฟ้องร้องที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่เป็นการคุกคามผู้ถูกกล่าวหา กรณีตัวอย่างกรณีหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2557 เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองได้ยื่นฟ้องมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทยและสถาบันอิศรา กรณีนำเสนอข่าวเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีบันทึกส่วนตัวขอให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติสนับสนุนการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2557 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะจึงจำเป็นต้องยอมรับการตรวจสอบ และจำเลยได้แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต[64] ในอีกกรณีหนึ่งจากเดือนกันยายน 2557 สถานีโทรทัศน์ช่องสามได้ยื่นฟ้อง สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จากความเห็นในการให้สัมภาษณ์และทวีตประเด็นความขัดแย้งภายในของช่องในการเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบดิจิทัล ในเดือนธันวาคม 2557 สถานีโทรทัศน์ช่องสามได้ยื่นขอถอนฟ้อง[65]

การสอดแนม ความเป็นส่วนตัว และการไม่อาจระบุตัวตนบนอินเทอร์เน็ต

ในหลายกรณีที่ประชาชนถูกเรียกตัวหรือถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ได้ทำการยึดสมาร์ทโฟนเพื่อสำรวจข้อมูลส่วนตัวและรูปภาพ หรือตรวจสอบความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมโยงไปสู่บุคคลอื่นๆ ก่อนจะปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหา
คสช. ประกาศนโยบายชัดเจนในเรื่องการสอดแนมการสื่อสารของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กฎหมายและคำสั่ง คสช. จำนวนหนึ่งได้ให้อำนาจการสอดแนมข้อมูลทางสื่อออนไลน์ไว้โดยเฉพาะ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2557 สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประกาศให้ประชาชนไทย “ช่วยกันเป็นหูเป็นตา” ให้กับรัฐ สมยศสนับสนุนให้ประชาชนถ่ายภาพใครก็ตามที่แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการรัฐประหารในที่สาธารณะและพื้นที่ออนไลน์แล้วส่งรูปภาพเหล่านั้นให้ตำรวจ หากตำรวจสามารถจับกุมและดำเนินคดีบุคคลในภาพได้ จะมีรางวัลให้เป็นเงิน 500 บาทต่อหนึ่งรูปภาพ สมยศยังสนับสนุนให้ประชาชนแจ้งข้อมูลให้กับตำรวจผ่านเพจเฟซบุ๊ก จ่าฮูก[66] กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมักจะให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลไทยกำลังติดตามการสื่อสารส่วนตัว เช่น การใช้แอปพลิเคชันไลน์[67] หน่วยงานเดียวกันยังกล่าวมากกว่าหนึ่งครั้งว่าจะส่งเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานไปยังสำนักงานของสื่อโซเชียลที่ได้รับความนิยมอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล และไลน์ เพื่อขอความร่วมมือในการระงับการใช้บัญชีของผู้ใช้งานจำนวนหนึ่ง ไม่มีการยืนยันจนปัจจุบันว่าบริษัทเหล่านี้ให้ความยินยอมหรือไม่[68] หลังจากมีการจัดประชุมระหว่าง คสช. กูเกิล และเฟซบุ๊ก ขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพฤษภาคม 2557[69] ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ได้ให้อำนาจกับหน่วยงานทหารในการสอดแนมและตรวจสอบการใช้สื่อโซเชียล[70]
ในเดือนกันยายน 2557 มีรายงานข่าวว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีคำสั่งให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายติดตั้งเครื่องมือสอดแนมไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการ โดยทดลองนำมาใช้งานตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2557[71] ผู้ใช้บางรายคาดเดาว่าจะใช้เครื่องมือนี้กับเว็บไซต์ยอดนิยมอย่างกูเกิลและยาฮูในรูปแบบการโจมตีจากคนกลาง (man-in-the-middle attack) โดยการสร้างเว็บไซต์ปลอมที่ไม่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานใส่ชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านก่อนที่จะไปถึงชั้นของการเข้ารหัสที่ปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานในหน้าเพจจริง[72]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ผู้ใช้โทรศัพท์แบบชำระเงินล่วงหน้าและผู้ใช้สัญญาณไวไฟฟรีทั่วประเทศต้องลงทะเบียนก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2558[73]
โครงการลูกเสือไซเบอร์ที่ริเริ่มขึ้นมาในปี 2554 ยังคงดำเนินต่อไป เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและกระทรวงศึกษาธิการ ฝึกอบรมนักเรียนให้สอดส่องและรายงานพฤติกรรมออนไลน์ที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ปัจจุบันมีลูกเสือไซเบอร์มากกว่า 120,000 คนจาก 88 โรงเรียนทั่วประเทศ หลักสูตรลูกเสือไซเบอร์เน้นไปที่การหาสมาชิกใหม่และอบรมผู้นำไซเบอร์[74]

การคุกคามและความรุนแรง

หลายกรณีที่เกิดขึ้นในการเรียกตัวของ คสช. แสดงให้เห็นว่าแม้กระทั่งผู้ที่ให้ความร่วมมือก็ถูกกดดันจาก คสช. หลายคนจำเป็นต้องเซ็นข้อตกลงที่จะไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือวิจารณ์ คสช. ในขณะที่จำนวนหนึ่งถูกขอรหัสผ่านเฟซบุ๊กผ่านกระบวนการคุกคามทางจิตวิทยาและได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่ทหารว่าบทสนทนาออนไลน์ส่วนตัวจะถูกสอดส่องเป็นระยะ[75]
ในหลายกรณี ทหารได้ขอให้นักกิจกรรมโพสต์ข้อความบนบัญชีเฟซบุ๊กของตัวเอง ข้อความที่ถูกบังคับให้เขียนเหล่านี้มีเนื้อหาว่าทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ปฏิบัติต่อนักกิจกรรมเหล่านี้อย่างดี และพวกเขาจะหยุดการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภทเพื่อให้ความร่วมมือและสนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล[76]
แม้ว่าเผด็จการทหารมักจะอ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมไทยและเพื่อ “คืนความสุข” ให้กับประชาชน แต่กรณีการคุกคามใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่ถูกออกแบบโดยเผด็จการทหาร ส่วนใหญ่เป็นการอ้างว่ามีการละเมิดความมั่นคงของรัฐหรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งพร้อมจะกลายเป็นคดีโดยกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตด้วยกันทันทีอย่างไม่ต่างจากรัฐ กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์มีการจัดตั้งออนไลน์เพื่อรายงานและฟ้องคดีอาญาต่อผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง “องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน” ซึ่งอ้างตนเป็นกลุ่มศาลเตี้ยได้ฟ้องร้องผู้ใช้อินเทอร์เน็ตหลายคนด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมถึงสุรชัย แซ่ด่าน นักกิจกรรมที่ถูกองค์กรเก็บขยะแผ่นดินกล่าวหาว่าจัดรายการวิทยุออนไลน์ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[77] ธานัท ธนวัชรนนท์ อดีตนักแสดงซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อทอม ดันดี ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดย “เครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน” จากการกล่าวปราศรัยทางการเมืองบนเวทีชุมนุมเสื้อแดงในเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีผู้บันทึกเอาไว้และเผยแพร่ไปบนยูทูบในเดือนมิถุนายน 2557 เขาถูกจับในเดือนเดียวกัน[78]
การใช้งานส่วนที่เรียกว่า “รายงาน” (report) ในเฟซบุ๊กซึ่งอนุญาตให้ผู้ใช้แจ้งเรื่องเนื้อหาที่ละเมิดข้อตกลงการใช้เว็บไซต์กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการรังควานและคุกคาม หลังจากข่าวลือว่า ตั้ง อาชีวะ (นามแฝง) นักกิจกรรมเสื้อแดง ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในนิวซีแลนด์แพร่สะพัดออกไป หน้าเฟซบุ๊กของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ถูกโจมตีด้วยคำประณามจนสำนักงานยกเลิกหน้าเพจชั่วคราว[79]

การโจมตีทางเทคนิค

ที่ผ่านมามีรายงานเรื่องการโจมตีด้วยการเจาะข้อมูลของเว็บไซต์ข่าวออนไลน์เป็นครั้งคราว แต่ไม่มีการรายงานถึงการโจมตีทางเทคนิคดังกล่าวในช่วงเวลาที่จัดทำรายงานฉบับนี้ แม้ว่านักเจาะระบบได้มุ่งเป้าไปที่เว็บไซต์ของรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น: