PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

"ผอ.อสมท" ให้คำตอบ ทำไม "ช่อง 9" ถึงตรวจสอบ "รบ.เพื่อไทย" น้อย


เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 12 มีนาคม 2556 เวลา 07:00 น.
หมวดหมู่

“การตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ เพราะสื่อโทรทัศน์ทำได้เพียงนำเสนอข้อเท็จจริง ยิ่งในฐานะที่เราเป็นสื่อของรัฐ”

     ไม่ว่ารัฐบาลใดเมื่อกระโดดเข้ามาบริหารประเทศ หนึ่งในข้อหาที่มักถูกโยนเข้าใส่ ก็คือใช้อำนาจไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในการแทรกแซงสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อของรัฐ อย่างสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ หรือ "ช่อง 11" สื่อภายใต้อุ้งมือรัฐ และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือโมเดิร์นไนน์ทีวี หรือ "ช่อง 9" บริษัทมหาชนที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
     พฤติกรรมจะเริ่มจากนักการเมืองแต่งตั้งคนของตัวเองเข้าไปเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อนั้นๆ และผู้บริหารที่เป็นเด็กนักการเมืองก็จะตั้งคนในกองบรรณาธิการข่าวขององค์กรสื่อนั้น ที่สั่งซ้ายหัน-ขวาหันได้ ให้ขึ้นมาเป็นใหญ่คุมกองบรรณาธิการข่าว เพื่อเข้ามาล่วงลูก-ก้าวก่าย-การบริหารจัดการข่าวทั้งระบบ
     โดยหวังกำหนดทิศทางข่าวตอบสนองนักการเมือง
     เริ่มตั้งแต่ “คัดกรอง” หมายกำหนดการข่าว ว่าจะส่งทีมข่าวไปทำหรือไม่ เมื่อได้ข้อสรุปก็สั่งนักข่าวไปทำข่าว ก่อนกลับมาพิจารณาเลือกประเด็นนำเสนอ
     และทุกข่าวก่อนจะออกสู่สาธารณะต้องถูก “กลั่นกรอง” ทุกถ้อยคำ ก่อนมีเสียงกดโทรศัพท์จากผู้ปฏิบัติไปหา “คนปลายสาย” ซึ่งอยู่เบื้องหลัง เนื้อหาสนทนาเป็นการรายงานให้นักการเมืองรับทราบการปฏิบัติงานในแต่ละวัน
     ผลที่ออกมา ก็คือการนำข่าวที่มีเนื้อหาไม่สมดุลออกอากาศ ปิดบังเรื่องที่สังคมควรรู้ บิดเบือนนำเสนอเฉพาะเรื่องที่อยากให้รู้ เรียกได้ว่าเป็น “ยุคเสื่อม”ของฝ่ายข่าวก็ว่าได้
     เพราะองค์กรข่าวปั่นป่วน มองหน้ากันไม่ติด ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เชียร์รัฐบาลสุดลิ่ม กลุ่มที่ 2 ค้านรัฐบาลทุกประตู กลุ่มที่ 3 เฉยเมยเย็นชาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
     สถานการณ์บีบรัดหนักขึ้นเมื่อคนทำงานถูกฝ่ายบริหารจิกบีบ บรรยากาศมาคุทอดปกคลุมองค์กรข่าว จากมิตรกลายเป็นศัตรูอย่างไม่น่าเชื่อ กลุ่มเชียร์รัฐบาลเริ่มออกอาการเกลียด กลุ่มคนไม้เบื่อไม้เมาไม่เอารัฐบาลเริ่มเกลียดหนักเข้าไปอีก และกลุ่มที่เย็นชากลายพันธุ์เป็นไม่ชอบนักการเมืองกันไปเลย
     รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน ว่ามีนักการเมืองงัดคำสั่งทางวาจา-ออกระเบียบมืด ตีกรอบการนำเสนอข่าว “ขีดเส้น” ห้ามนำเสนอข่าวฝ่ายค้านตรวจสอบโครงการทุจริตต่างๆ ของรัฐบาล
     “เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์” ผู้กระโดดข้ามห้วยจากตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ผอ.อสมท.” เปิดใจกับ “ราชดำเนิน” ถึงสาเหตุที่ทิศทางข่าวของช่อง 9 เริ่มต้นเปลี่ยนไปนับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยก้าวมาเป็นรัฐบาล จนกระทั่งตัวเขาขึ้นมากุมบังเหียนฟรีทีวีโทนสีม่วงช่องนี้
     เอนกเริ่มต้นโดยกล่าวถึงนโยบายที่ให้กับกองบรรณาธิการ ว่าในช่วงเช้าและช่วงเย็น จะเป็นเวลาในการนำเสนอข่าว เนื่องจากเป็นเวลาที่ครอบครัวนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน เราจึงมีนโยบายเน้นนำเสนอข่าวสาร “เชิงสร้างสรรค์” เป็นประโยชน์กับประชาชน อาทิ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ออกกฎหมายอะไรมา แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากกฎหมายฉบับนั้น
     ผอ.อสมท.บอกชัดว่า ช่อง 9 ยุคนี้จะลดเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “ความขัดแย้ง” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะข่าวการเมือง แต่รวมถึงข่าวอาชญากรรม ประเภทฆ่ากันตายเลือดกระฉูด ข่าวอะไรที่ไม่ดีต่อความรู้สึกประชาชน เราจะเลี่ยงไม่นำเสนอในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น แต่จะไปเสนอในช่วงดึก ซึ่งเด็กๆ หรือเยาวชนนอนกันแล้ว
     “ข่าวความขัดแย้งที่มีผลออกมาเป็นรูปธรรม เช่นการทะเลาะกัน เราก็จะลดโทนเหล่านี้ลงไป เพราะถ้าดูข่าวก่อนไปทำงาน หรือก่อนไปเรียน ก็จะไม่มีความสุข ทำให้คนดูสุขภาพจิตเสีย”
     เมื่อเราขอให้ขยายความนโยบาย “ไม่เสนอข่าวความขัดแย้ง” เอนกก็อธิบายว่า ช่อง 9 จะพยายามเน้นให้เห็นว่า สื่อสามารถใช้อิทธิพลในการนำความคิด หรือหาทางออกให้กับสังคม หากสื่อยังวนเวียนกับการนำเสนอข่าวใครด่ากันโจมตีกันไปมา ประชาชนก็จะไม่ได้อะไร ยกตัวอย่างข่าวนโยบายรถคันแรก ช่อง 9 จะเสนอทุกมิติ ไม่ว่าฝ่ายไหน ถ้าแสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์ เราจะนำเสนอทั้งหมด
     “หลังจากนี้ช่อง 9 จะต้องเปลี่ยน ไม่ไปเสนอข่าวตามกระแส หรือแค่อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ ลองสังเกตดูได้ ข่าวของเราไม่เคยเอาข่าวจากหนังสือพิมพ์มานำเสนอ เพราะเรามีผู้สื่อข่าวของตัวเอง และไม่รู้ว่าในอนาคตหนังสือพิมพ์เหล่านั้นจะเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่เอาข่าวของเขามาอ่านหรือไม่”
     สำหรับสัดส่วนการนำเสนอระหว่าง "ข่าวการเมือง-ข่าวเศรษฐกิจ-ข่าวสังคม" ผอ.อสมท.กล่าวว่า จะให้พื้นที่ข่าวเศรษฐกิจมากที่สุดราว 30-40% เพราะเป็นข่าวที่ประชาชนให้ความสนใจ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้อง อาทิ เรื่องปัญหาสินค้าราคาแพง
     ส่วนข่าวการเมืองจะให้สัดส่วนน้อยกว่าข่าวเศรษฐกิจ เพราะข่าวการเมืองจำนวนหนึ่ง “ไม่สร้างสรรค์” ที่สำคัญการนำเสนอข่าวการเมืองมากๆ จะเป็นการชี้นำการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องไม่เหมาะสม
     “หากลองสังเกตดูข่าวการเมืองจำนวนไม่น้อย เป็นข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ สมมุติเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แทนที่จะมาบอกว่าประชามติมีที่มาอย่างไร แล้วประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร กลับไปบอกว่าจะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเท่าไร ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปลายทางทั้งหมด”
     เราซักว่าอย่างข่าวประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล อสมท.จะนำเสนอหรือไม่?
     ซึ่งเอนกก็ตอบว่า “ช่อง 9 ก็จะเสนอให้รู้ว่ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องอะไร แต่จะไม่เกาะติด เพราะถือเป็นแค่ 1 ในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญของสังคม เพราะชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น”
     สำหรับข่าวสังคม ช่อง 9 จะนำเสนอข่าวที่มีเนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจหรือแรงใจให้กับคน เช่นคนตกงานจะทำอย่างไรให้มีกำลังใจที่จะหางานทำ
     เมื่อถามถึงที่ทางของข่าวตรวจสอบรัฐบาลในช่อง 9 เอนกกล่าวว่า จะมีเฉพาะในบางรายการ เช่น คลุกวงข่าว แต่จะหลีกเลี่ยงการนำเสนอข่าวคอร์รัปชั่น เพราะอาจมีปัญหาเรื่อง “คดีความ” ตามมา
     “การตรวจสอบรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ เพราะสื่อโทรทัศน์ทำได้เพียงนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่า ยิ่งในฐานะที่เราเป็นสื่อของรัฐ ก็ยิ่งต้องเน้นการนำเสนอข้อเท็จจริง เพราะบางครั้งการจะไปคลุกวงใน ไปหาข้อมูลเชิงลึก เราก็ไม่รู้ว่าที่ได้มามันถูกต้องหรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยง เพราะหลายเรื่องที่พอเข้ามาปุ๊บ ก็ไปศาลแล้ว บางครั้งจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบในการนำเสนอ ก่อนเสนออะไรเราต้องประเมินว่า ข่าวๆ นั้นจะมีผลกระทบเชิงลบหรือไม่”
     บิ๊กบอสช่อง 9 ยืนยันว่า ไม่มีฝ่ายการเมืองเข้ามา “สั่ง” ไม่ให้นำเสนอข่าวการทุจริตของรัฐบาล อย่างโครงการรับจำนำข้าว ก็ไม่มีใครมาแทรกแซง แต่เป้าหมายหลักของเราคือนำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ ให้กระทบต่อบุคคลที่ 3 น้อยที่สุด เพราะนี่คือสิ่งที่ทั้งบรรณาธิการและนักข่าวเคยมีประสบการณ์ต้องตกเป็นจำเลยในศาลมาแล้วทั้งนั้น
     “เราไม่ได้ลดการนำเสนอข่าวทุจริต เพียงแต่ต้องหาวิธีนำเสนอเชิงบวก จึงมีรายการใหม่โดยนิมนต์พระมาให้ความเห็นเรื่องการทุจริต เพื่อกระตุกสังคม ว่าการโกงก่อให้เกิดผลอย่างไร ทั้งทางธรรมและทางโลก”
     ซักว่านโยบายดังกล่าวเพราะหลีกเลี่ยงแรงปะทะกับฝ่ายการเมือง?
     เอนกตอบสวนทันทีว่า “ไม่เกี่ยวกันครับ คนละเรื่องกัน ข่าวทุจริตเราก็เสนอ เพียงแต่ถ้าผลยังไม่ออก เรานำเสนอไป มันก็ถูกฟ้อง แต่ถ้ามีองค์กรใด อาทิ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลแล้ว อันนี้ถึงโอเค นำเสนอได้ เพราะใครก็มาฟ้องเราไม่ได้ แต่สมมุติฝ่ายค้านกล่าวหารัฐบาล เราก็ไม่เสนอ เพราะเราไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเปล่า เสนอไปอาจจะถูกฟ้องได้”
     เขากล่าวย้ำอีกครั้งว่า อสมท.จะยังเสนอข่าวทุจริตเหมือนเดิม แต่เน้นผลสรุปที่ศาลตัดสินหรือ ป.ป.ช.ชี้ขาดไปแล้ว เพื่อลดการพาดพิงบุคคลที่ 3 จนอาจมีคดีฟ้องร้องตามมา ทั้งนี้ ยังจะมีนโยบายเสนอข่าวทุจริตเชิงบวก เพื่อกระตุ้นเตือนสังคมให้เห็นโทษทั้งทางธรรมและทางโลก
     เอนก กล่าวส่งท้ายโดยยอมรับว่าตำแหน่ง “ผอ.อสมท.” ย่อมถูกการเมืองบีบเหมือนกัน แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องแยกให้ออกว่าเราเป็นตัวแสดง และตำแหน่งนี้มีระยะเวลาจำกัด จะไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราตลอดชีวิตไม่ได้ วันนี้ได้เป็น ผอ.อสมท. พอแสดงเสร็จ กลับบ้านก็จบ เหมือนไปรับจ้างแสดงหนังเรื่องหนึ่ง พอจบตอนก็กลับบ้าน ไปเป็นนายเอนกตามเดิม
     ต้องละ ต้องยุติมัน ต้องจบ.

ไม่มีความคิดเห็น: