PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ข่าวส่งท้ายปีเก่าของภาคการเงิน โดย : ดร.ไสว บุญมา

ข่าวส่งท้ายปีเก่าของภาคการเงิน โดย : ดร.ไสว บุญมา

ความอลหม่านของช่วงเทศกาลฉลองวันคริสต์มาสต่อกับวันขึ้นปีใหม่ดูจะกลบข่าวใหญ่
เกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงระหว่างธนาคารดอยซ์กับรัฐบาลอเมริกันจนหมด ข้อตกลงนั้นกำหนดให้ดอยซ์จ่ายค่าปรับกับค่าชดเชยความเสียหายเป็นเงิน 7.2 พันล้านดอลลาร์ ต้นตอของข้อตกลงเป็นการละเมิดจรรยาบรรณของสถาบันการเงินซึ่งนำไปสู่การเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปะทุเมื่อกลางปี 2551 ของฟองสบู่นั้นทำให้เศรษฐกิจอเมริกันประสบวิกฤติซึ่งร้ายแรงมากเป็นลำดับสองของวิกฤติเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ ผลกระทบของความถดถอยจากปี 2551 ยังมีมาถึงปัจจุบัน

ธนาคารดอยซ์เป็นสถาบันการเงินสัญชาติเยอรมัน เนื่องจากในสมัยนี้โลกแทบไม่มีพรมแดน ดอยซ์จึงทำกิจการในอเมริกาได้ไม่ต่างกับสถาบันสัญชาติอเมริกัน พร้อมกันนั้นก็เข้าร่วมละเมิดจรรยาบรรณเช่นเดียวกับสถาบันการเงินอเมริกันด้วย ก่อนหน้านี้ สถาบันการเงินอเมริกัน 6 แห่งถูกปรับเป็นเงิน 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ นำโดยธนาคารแห่งอเมริกาซึ่งต้องจ่ายถึง 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ หลังจากดอยซ์บรรลุข้อตกลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ธนาคารเครดิตสวิสก็บรรลุข้อตกลงเช่นเดียวกันโดยยอมจ่าย 5.28 พันล้านดอลลาร์ อีกไม่นานธนาคารต่างชาติบางแห่งคงบรรลุข้อตกลงเช่นนั้นอีก

แม้ดูจะเป็นเงินจำนวนมาก แต่ดอยซ์จ่ายเพียงครึ่งเดียวของจำนวนที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมอเมริกัน การต่อรองของธนาคารจนรัฐบาลลดค่าปรับลงได้มากขนาดนั้น มองได้ว่าเป็นอาการหนึ่งของความป่วยไข้ในระบบเศรษฐกิจกระแสหลักซึ่งใช้กันอยู่ทั่วโลก จริงอยู่ระบบนี้วางอยู่บนฐานของระบบตลาดเสรีที่มีอยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน แต่ตอนนี้มันบิดเบี้ยวไปมากจากอำนาจของเงินและความหลงผิด

ในปัจจุบันเงินซื้อได้เกือบทุกอย่าง แม้จะซื้อโดยตรงไม่ได้ก็ซื้อโดยทางอ้อม อมริกาจึงมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งจ้างคนไว้จำนวนมากเพื่อวิ่งเต้น คนกลุ่มนี้มีชื่อว่า Lobbyists ซึ่งส่วนหนึ่งประกอบด้วยนักการเมืองเก่าและเครือข่ายของพวกเขาจำนวนมาก คนเหล่านี้มีลักษณะเป็นมือปืนรับจ้างซึ่งมักเข้าถึงผู้มีอำนาจและสามารถเสนอข้อมูลและจุดยืนของนายจ้างได้มากกว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การเสนอข้อมูลข้างเดียวมักโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจคล้อยตามความเห็นของพวกตนจนในหลายๆ กรณีมีความหลงผิดและความเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้น

ตัวอย่างของความหลงผิดครั้งใหญ่ในภาคการเงินในอเมริกาเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลยกเลิกข้อห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ควบรวมกับวานิชธนกิจและทำกิจการข้ามรัฐเมื่อกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา การยกเลิกข้อห้ามนั้นทำให้สถาบันการเงินควบรวมกิจการกันเป็นองค์กรขนาดมหึมาจำนวนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดสถานะผูกขาดจนสามารถบังคับรัฐบาลได้โดยปริยายรวมทั้งการชักจูงให้รัฐบาลเข้าอุ้มเมื่อพวกตนประสบปัญหาสาหัส 

หลังจากฟองสบู่แตกเมื่อปี 2551 รัฐบาลอเมริกันจึงทุ่มเงินนับแสนล้านดอลลาร์ เข้าไปอุ้มสถาบันการเงินซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาโดยละเมิดจรรยาบรรณ ข้ออ้างในการเข้าไปอุ้มได้แก่ หากไม่ทำเช่นนั้นความเสียหายจะร้ายแรงยิ่งกว่า มองจากมุมหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างกับโจรปล้นผู้เสียภาษีโดยมีรัฐบาลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด

หลังปี 2551 รัฐบาลอเมริกันพยายามปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อจะให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสถูกปล้นน้อยลง แต่ความคืบหน้าเกิดขึ้นเชื่องช้ามากเพราะภาคการเงินมีอำนาจแทบล้นฟ้า จะเห็นว่าค่าปรับที่ธนาคารต่างๆ ต้องจ่ายให้รัฐบาลเพราะการทำความผิดนั้น รัฐบาลยังยินยอมให้นำไปหักออกจากบัญชีรายได้ซึ่งใช้ในการคำนวณกำไรและการจ่ายภาษี 

ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจึงมีสภาพเป็นง่อยจนทำงานไม่ได้ตามอุดมการณ์และมักถูกประณามกว่าเป็นระบบทุนนิยมสามานย์ซึ่งทำงานให้เฉพาะนายทุน เดือนหน้า อเมริกาจะเปลี่ยนรัฐบาลซึ่งอาจจะทำให้พวกนายทุนสามานย์เขาถึงรัฐบาลได้ง่ายยิ่งขึ้นทั้งนี้เพราะประธานาธิบดีเป็นนายทุนใหญ่และเสนอให้แต่งตั้งนายทุนดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมทั้งการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศให้แก่หัวหน้าคณะผู้บริหารของบริษัทน้ำมันใหญ่ที่สุดในโลก

เมื่อมองจากบ้านเขามาที่เมืองเรา ภาพที่ปรากฏออกมาไม่น่าจะต่างกันนักเนื่องจากนายทุนใหญ่ๆ ดูจะเข้าถึงรัฐบาลได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้มือปืนรับจ้างด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ ระบบตลาดเสรีจึงแทบไม่มีประสิทธิภาพตามอุดมการณ์ในเมืองไทยส่งผลให้เกิดปัญหาซึ่งอาจสาหัสกว่าในอเมริกาเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น: