PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดประวัติ "โจรจันทร์"จอมโจรระดับตำนานแห่งสยาม !! ที่ถูกขนานนาม ศาสตราจารย์โจร



เปิดประวัติ จอมโจรระดับตำนานแห่งสยาม !! 

ที่ถูกขนานนามว่า ศาสตราจารย์โจร จันทร์เจ้า !! ผู้ที่ กรมพระยาดำรงฯ สนพระทัยยิ่ง !! ย้อนไปในรัชสมัยล้นเกล้าฯ ร.๕ พระปิยมหาราช มีโจรร้ายกลุ่มหนึ่งแขวงเมืองปทุมธานี, อยุธยา และสุพรรณบุรี ออกปล้นสะดม วัว, ควาย,บ้านเรือนทั้งเศรษฐีและชาวบ้าน เป็นที่หวาดเกรงไปทั่วมณฑลนครไชยศรีสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกโจรกลุ่มนี้ว่า “จันทร์เจ้า”

ใน พ.ศ.๒๔๔๖ พระยาสุนทรบุรีฯ(ชม สุนทราชุน)สมุหเทศาภิบาล มณฑลนครไชยศรีจับกุมพวกโจรได้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปนครปฐม ทรงทราบและร่วมไต่สวน โจรจันทร์รับสารภาพก็ทรงแปลกพระทัย เพราะโจรจันทร์มีบุคลิกภาพสุภาพ รูปร่างหน้าตาพูดจาเรียบร้อย ไม่ส่อว่าจะมีใจคอโหดเหี้ยมพอจะเป็นหัวหน้าโจร โจรจันทร์สารภาพว่าเคยเฝ้าเจ้านายหลายพระองค์ และยังเคยรับใช้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาก่อน กรมพระยาดำรงฯ มีรับสั่งถามว่า แกเป็นโจร เจ้านายท่านไม่รังเกียจหรือ โจรจันทร์ตอบว่า ไม่มีใครรู้ว่าเป็นโจร เพราะโจรต้องระวังตัวกลัวถูกจับ จึงรู้กันแต่ในหมู่โจรเท่านั้น ชาวบ้านรู้แต่ว่าเป็นนักเลงโตผู้กว้างขวาง มีพวกมาก นักเลงที่ไม่เป็นโจรก็มี 

กรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกกระบวนการโจรกรรมไว้ว่า การปล้นทรัพย์บ้านเรือนแต่ละครั้งจะต้องมีสายโจร ซึ่งอาจเป็นผู้รับใช้ในบ้านต้องการเงิน, เพื่อนบ้านที่เป็นอริกันต้องการล้างแค้น และญาติเจ้าทรัพย์โกรธแค้น ที่ขอทรัพย์สินเงินทองแล้วไม่แบ่งปันให้ เป็นต้น โจรจันทร์เล่าถึง ประเพณีโจรเมื่อปล้นเรือน ต้องจับคนในบ้านเพื่อข่มขู่ให้บอกที่เก็บทรัพย์ มิฉะนั้นจะเสียเวลามาก การปล้นทรัพย์แต่ก่อนต้องใช้ดินหม้อทาหน้า เพื่อมิให้เจ้าทรัพย์จำหน้าได้ แต่เมื่อมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้วมาสอบสวน บางคนล้างหน้าไม่ทันถูกจับได้ ระยะหลังๆ เลยใช้สมุนโจรซึ่งเป็นคนต่างถิ่นขึ้นบ้านแทน การเรียก “อ้ายเสือ” มิได้หมายถึงผู้เป็นโจร แต่เป็นคำสั่ง เป็นหัวหน้าโจรสั่ง “อ้ายเสือเอาวา” หมายถึงพวกโจรบุกยิงปืนและเข้าพังประตู “อ้ายเสือขึ้น” หมายความว่าให้โจรที่แฝงตัวอยู่ขึ้นเรือนได้ “อ้ายเสือถอย” หมายถึงให้รีบลงเรือน “อ้ายเสือล่า” หมายถึงต่างคนต่างหนี 

กรมพระยาดำรงฯ ทรงพอพระทัยมาก ที่โจรจันทร์สารภาพกราบทูลศาสตร์โจรทุกเรื่อง อย่างละเอียดแทบทุกเย็น ในระยะเวลาหนึ่ง ณ ตำหนักนครปฐม จนเป็นที่คุ้นเคย โจรจันทร์ต้องการขออภัยโทษและสัญญากับเสด็จในกรมฯ ว่า หากพ้นโทษจะละทิ้งความชั่วไม่เป็นโจรอีกตลอดชีวิต โจรจันทร์ได้รับโทษประมาณ ๑๐ ปี กรมพระยาดำรงฯ ทรงรับเรื่องโจรจันทร์ขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยนั้น อยู่ในพระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าฯ ร.๕ จึงพระราชทานอภัยโทษให้โจรจันทร์ในที่สุด โจรจันทร์ไม่ผิดคำมั่นสัญญา นำบุตรภรรยาจากปทุมธานีมาอยู่นครปฐม ถวายการรับใช้เฝ้าตำหนักนครปฐมของกรมพระยาดำรงฯ และตั้งร้านขายของ ส่วนลูกชายก็ฝากเจ้าคุณเทศาฯ พระยาสุนทรบุรีฯ ให้เล่าเรียนจนได้เข้ารับราชการในที่สุด 

ลูกหลานของโจรจันทร์ต่างก็ประกอบสัมมาอาชีวะ เจริญรุ่งเรืองตามฐานานุรูป ว่ากันว่า ลูกหลานบางคนเป็นถึงผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในศาลอุทธรณ์ก็มี “โจรจันทร์ กลับใจ” เฝ้าตำหนักของกรมพระยาดำรงฯ อยู่ ๒๐ ปี จนแก่ชราทำงานไม่ไหวมีอายุ ๘๐ กว่าปี จึงออกจากหน้าที่ และเมื่อมี พ.ร.บ.นามสกุลในรัชสมัยล้นเกล้าฯ ร.๖ พ.ศ.๒๔๕๖ กรมพระยาดำรงฯประทานนามสกุลให้ว่า “จิตรจันทร์กลับ”


ไม่มีความคิดเห็น: