PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

เปิดแฟ้มตำรวจสากล "11 Thailand 's Most Wanted" ไร้เงา "ทักษิณ"

เปิดแฟ้มตำรวจสากล "11 Thailand 's Most Wanted" ไร้เงา "ทักษิณ"

โดย

ข่าวการอนุมัติออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาก่อการร้าย ของศาลอาญาไทย เมื่อวันอังคารที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศจากทางรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาว่า จะมีการขอความร่วมมือกับ ตำรวจสากล หรือ "อินเตอร์โพล" ให้ช่วยตามจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยอีกแรงนั้น ถือเป็นข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดข่าวหนึ่งในเวลานี้ เนื่องจากตามกฎหมายของไทยแล้วความผิดฐานก่อการร้ายนั้นมีโทษสูงสุดถึงขั้น "ประหารชีวิต" และบุคคลที่ทางการไทยกำลังต้องการตัวเพื่อมารับโทษดังกล่าวก็มีฐานะเป็นถึงอดีตผู้นำของประเทศ

ตามขั้นตอนแล้ว จะต้องมีการมอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งเรื่องการตามจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปยังตำรวจสากล เพื่อให้องค์กรตำรวจนานาชาติซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 แห่งนี้ พิจารณาว่าข้อหาที่ทางการไทยแจ้งมานั้นเป็นแค่ "เรื่องทางการเมือง" หรือเป็นเรื่องที่เข้าข่ายหลักก่อการร้ายตามที่ตำรวจสากลกำหนดไว้หรือไม่ ก่อนจะมีการประสานไปยังหน่วยงานตำรวจของประเทศต่างๆ เพื่อให้ช่วยดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ และส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปหากประเทศดังกล่าวมีสนธิสัญญาที่ว่ากับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" พบว่าแฟ้มข้อมูลของตำรวจสากล ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรที่ทางการไทยต้องการได้ตัวมาดำเนินคดีนั้น พบว่าชื่อของผู้ต้องหาจำนวน 11 คน ซึ่งมีความผิดในคดีต่างๆ ตั้งแต่การค้ายาเสพติด เรื่อยไปจนถึงความผิดในคดีฆาตกรรม และชื่อของอาชญากรที่ทางการไทยต้องการตัวซึ่งเป็นเพศชายทั้งหมดเหล่านี้ จากการอัพเดตล่าสุดของตำรวจสากลก็มีการเรียกชื่อย่อๆ ว่านายโกช ซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย, นายวิทย์,นายฤกษ์,นายวี,นายลิต,นายไชย,นายมล,นายรุด,นายรัตน์,นายยะ และนายกูร ซึ่งทั้งหมดเป็นชื่อที่สมมุติขึ้น ผู้ต้องหาเหล่านี้มีอายุไล่ตั้งแต่ 27-69 ปี

ทว่ากลับไม่ปรากฏชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ วัย 60 ปีแต่อย่างใด และยังไม่พบรายชื่อของบรรดาผู้ต้องหาชื่อดังในคดีค้ายาเสพติดและคดีความผิดทางเศรษฐกิจอีกหลายรายที่ทางการไทยเคยประกาศว่าต้องการตัวเช่นเดียวกัน

ทำให้เกิดคำถามถึงความมีประสิทธิภาพในการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยกับทางตำรวจสากลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน " ไทยรัฐออนไลน์" ยังพบข้อมูลอันน่าสนใจที่ว่าทาง ตำรวจสากลได้กำหนดนิยามของคำว่า "Fugitives" หรือบรรดาผู้หลบหนีคดีทั้งหลายไว้ว่า หมายถึง บุคคลที่ต้องหลบหนีคดีความจากผลของการก่ออาชญากรรมของตนโดยมีการเคลื่อนย้ายไปยังดินแดนต่างๆ และบุคคลดังกล่าวจะต้องมีพฤติกรรมอันเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของสาธารณชนทั่วโลกเท่านั้น ทางตำรวจสากลจึงจะเข้าไปดำเนินการติดตามและจับกุมตัวได้

นอกจากนั้น ยังพบข้อมูลว่ามีการจำแนกประเภทของ "ประกาศตำรวจสากล" หรือ "Notice" ออกเป็น 7 ประเภทดังต่อไปนี้

ประเภทแรก คือ ประกาศสีแดง ซึ่งทางตำรวจสากลจะใช้สำหรับการขอความร่วมมือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ดำเนินการติดตามและจับกุมบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อาจเข้าข่ายต้องมีการส่งตัวบุคคลผู้นั้นในฐานะของผู้ร้ายข้ามแดน

ประเภทที่สอง คือ ประกาศสีน้ำเงิน อันหมายถึงการที่ตำรวจสากลต้องการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ทางตำรวจสากลสงสัยว่าอาจมีกิจกรรมบางประการที่เกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรม

ประเภทที่สาม คือ ประกาศสีเขียว ซึ่งทางตำรวจสากลจะใช้ส่งไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเป็นการเตือนและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของประเทศนั้นๆ เกี่ยวกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เคยก่ออาชญากรรมบางอย่างไว้และมีแนวโน้มที่จะไปทำความผิดในลักษณะเดียวกันในประเทศอื่นๆ อีก

ประเภทที่สี่ คือ ประกาศสีเหลือง ที่ทางตำรวจสากลจะใช้ในการช่วยค้นหาข้อมูลของบุคคลที่สูญหาย หรือช่วยระบุตัวตนของบุคคลที่ไม่สามารถยืนยันความมีตัวตนของตัวเองได้

ประเภทที่ห้า คือ ประกาศสีดำ ที่ทางตำรวจสากลจะใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการยืนยันเอกลักษณ์บุคคลของศพ

ประเภทที่หก คือ ประกาศสีส้ม ซึ่งจะใช้เพื่อแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามจากอาวุธ วัตถุระเบิด รวมถึงวัตถุอันตรายต่างๆ

และประเภทสุดท้าย คือ ประกาศพิเศษ ที่ทางตำรวจสากลออกร่วมกับทางสหประชาชาติ ซึ่งจะใช้เฉพาะกรณีที่มีการแจ้งเตือนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายตอลิบันและอัล-เคดา

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทางดีเอสไอของไทยจะมองว่าข้อหาก่อการร้ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น จะเข้าข่ายการดำเนินงานของทางตำรวจสากลในด้านใดหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น: