PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สถานีคิดเลขที่12 : ‘หลัง-ถ้ำหลวง’ โดย ปราปต์ บุนปาน

สถานีคิดเลขที่12 : ‘หลัง-ถ้ำหลวง’ โดย ปราปต์ บุนปาน


คงจะเป็นดังที่ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่งสรุปภาพรวมเอาไว้ว่า กระบวนการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอน “ทีมหมูป่า อะคาเดมี่” รวม 13 ชีวิต ออกจาก “ถ้ำหลวงฯ” นั้น จะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย
หาก “ประเทศไทย” ต้องดำเนินการเรื่องนี้เพียงลำพัง
เนื่องจากภารกิจยิ่งใหญ่ดังกล่าวต้องใช้องค์ความรู้เรื่อง “การดำน้ำในถ้ำ” และ “การช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำ” ซึ่งทั่วทั้งโลก มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า “ประเทศไทย” จะเป็นฝ่ายสูญเสียเครดิตหรือเสียหน้า
ตรงกันข้าม การที่ “ทางการไทย” อนุญาตให้ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เข้ามาร่วมบริหารจัดการ-วางแผนช่วยชีวิตคน
โดยเคลื่อนตัวเองมาทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการอำนวยการ-ส่งเสริมสนับสนุนแผนการปฏิบัติงาน อันเต็มไปด้วยรายละเอียด-ขั้นตอนที่สลับซับซ้อน ทั้งยังต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรอื่นๆ อีกมากมายมหาศาล
ก็ถือเป็นความสำเร็จและเป็น “มิติใหม่” ของ “ระบบราชการไทย” (พลเรือน-ทหาร) เช่นกัน
นี่คือภาพของ “ระบบราชการ” ซึ่งไม่ได้วางตนเป็นผู้รู้ดีไปทุกเรื่อง และไม่ได้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ภาพของ “ระบบราชการ” หน้าถ้ำหลวงฯ คือ เหล่าพลเรือน-ทหาร ผู้พร้อมจะเปิดรับความรู้ (ที่ไม่เคยรู้มาก่อน) จากโลกกว้าง
พวกเขาคือกำลังหลักสำคัญของการทำงาน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องยืนอยู่ด้านหน้าสุดในทุกสถานการณ์ แต่พร้อมจะถอยออกมาเป็นหลังบ้านที่คอยสนับสนุนปฏิบัติการต่างๆ อย่างแคล่วคล่องว่องไว (ไม่อืดอาดเชื่องช้า)
รวมทั้งทำหน้าที่เป็นฝ่ายบอกเล่าแจกแจงข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดก็เพื่อวัตถุประสงค์สูงสุด คือ การช่วยเหลือผู้คนทั้ง 13 ชีวิต
หลังการทำงานที่ “ถ้ำหลวงฯ” เรายังมีความหวังกับ “ระบบราชการไทย”

นอกจากการพิจารณาบทบาทของภาครัฐ ก็ถึงเวลาที่ “สังคมไทย” ต้องถูกทดสอบอีกครั้ง ว่าพวกเราจะร่วมจัดการ-รับมืออย่างไร? กับสถานภาพของ “13 สมาชิกหมูป่า” ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปหลังออกจากถ้ำ
หนึ่งในกลุ่มคนจากอีกฟากโลกที่มีชุดประสบการณ์คล้ายคลึงกับ 13 นักเตะและโค้ชทีมหมูป่า คือ คนงานเหมืองทองคำชาวชิลีจำนวน 33 ราย ผู้เคยติดอยู่ใต้ดินเป็นเวลา 69 วัน ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือชีวิตอย่างน่าทึ่งเช่นเดียวกัน
แม้ปฏิบัติการช่วยชีวิตพวกเขาจะถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องดัง แต่ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคนกลับเผชิญหน้าเรื่องยุ่งยากตามมานานัปการ
1 ใน 33 ชีวิตที่ชิลี เตือนหลานๆ ทีมหมูป่าว่า นับจากนี้ เด็กๆ จะถูกรุมล้อมโดยสื่อ ต้องปวดหัวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่แสนวุ่นวาย และอาจมีผู้หลักผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยเข้ามาเกาะกระแสความโด่งดัง
เขาเป็นห่วงแทนว่าเด็กๆ ที่เชียงรายและครอบครัว จะรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร? เพราะแม้แต่พวกตน ซึ่งบรรลุนิติภาวะและทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว
ก็ยังมึนงงทำอะไรไม่ถูกกับภาวะสับสนอลหม่านเช่นนั้น
อีกหนึ่งชีวิตที่เคยประสบภัยในชิลีสะท้อนสภาวการณ์หลังได้รับการช่วยชีวิตว่า พอขึ้นมาถึงพื้นดิน พวกเขาก็กลายเป็นเซเลบ ซึ่งถูกเชื้อเชิญไปพบปะกับทั้งผู้นำระดับประเทศและระดับโลก
สื่อทุกประเภทต่างรายงานข่าวเกี่ยวกับพวกเขา มีหลายฝ่ายสัญญาว่าจะมอบโน่นให้นี่แก่พวกเขา
ครั้นเวลาผันผ่านไป ทุกๆ อย่าง ทุกๆ คน ก็ทยอยหายหน้าหายตา พวกเขาทั้ง 33 ชีวิต ค่อยๆ ถูกละเลย และหลงลืมในท้ายที่สุด
อดีตคนงานเหมืองรายนี้หวังว่า “13 ชีวิตทีมหมูป่า” จะไม่พบเจอเรื่องราวแบบเดียวกันกับพวกเขา
และสังคมไทยก็ไม่ควรปล่อยปละให้โศกนาฏกรรมทำนองนั้นเกิดขึ้นกับ 13 ชีวิต
ปราปต์ บุนปาน

ไม่มีความคิดเห็น: