PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สังคมต้องตื่นตัว! โพลการเมืองภายใต้กรอบต่อมจริยธรรม

“การทำโพลต้องตรวจสอบการใช้อำนาจ”
นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และเคยผ่านการทำโพลการเมืองอันเลื่องชื่อ เริ่มต้นให้สัมภาษณ์ถึงการรู้เท่าทันผลสำรวจโพล หลัง ทีมข่าวการเมือง ได้ตั้งประเด็นถึงการทำโพล ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในช่วงเลือกตั้ง
พร้อมขยายความให้เห็นว่า โพลเป็นดัชนีชี้วัดทัศนคติของประชาชนที่มีต่อประเด็นต่างๆได้ดีพอสมควร โดยต้องมีกระบวนวิธีการเลือกตัวแทนกลุ่ม การตั้งแบบสอบถาม คนทำโพลต้องมีจริยธรรมการทำโพลสูงมาก โดยเฉพาะถ้าเป็นสถาบันการศึกษา จริยธรรม และคุณธรรมยิ่งต้องสูง
ตามหลักการทำโพล หลายเรื่องสามารถบ่งบอกได้แม่นยำพอสมควร และหลายเรื่องก็มีข้อจำกัด
จากประสบการณ์ที่ทำโพล หากกระจายตัวอย่างได้ดี การสุ่มตัวอย่างทำได้ดี จำนวนอาจจะไม่ต้องเยอะมาก มีลักษณะพอเป็นตัวแทนของคนในกลุ่มเป้าหมายได้จริง ก็สามารถบ่งชี้ทัศนะของคนได้
เช่น อยากรู้ทัศนะบางเรื่องของคนทั้งประเทศ ก็ทำแบบสำรวจสัก 3-4 พันชุด
หรืออาจจะเพิ่มแบบสำรวจเป็น 1 หมื่นชุด ผลออกมาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่
ที่น่าสังเกตโพลบางสำนักที่มีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนและช่วงเวลา บางครั้งสมมติให้นักศึกษาไปช่วยทำ ถ้าไม่ได้กำชับให้ดี ไม่จัดกระบวนการให้ดี มันจะจำกัดวงเฉพาะวงส่วนหนึ่ง บางครั้ง
อยู่เฉพาะบางท้องที่
ขอยกตัวอย่างการทำโพลเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งมีความโน้มเอียงทางการเมือง เช่น โพลการเมืองสำรวจในพื้นที่ทหารเขตดุสิต บางซื่อ กรุงเทพฯ ความคิดทางการเมืองก็จะออกมาในเชิงอนุรักษ์หรือพวกขวาเยอะหน่อย ถ้ามีตัวอย่างในเขตอื่น จะพบได้เลยว่าทัศนะทางการเมืองจะแตกต่างจากเขตอื่น
ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าบางโพลอาศัยความสะดวก ทำเฉพาะเขตนั้นๆ ผลออกมาจะไม่น่าเชื่อถือ
กรอบจริยธรรมการทำโพลเป็นอย่างไร ผลสำรวจออกมาถึงมีความน่าเชื่อถือ นายธีรยุทธบอกว่า บางครั้งบางคำถามออกไปแล้วมีจุดอ่อนในตัวเยอะ ทำให้คำตอบออกมาไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร
เช่น คำตอบเชิงคุณธรรม สมมติตั้งคำถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรเกี่ยวกับนักการเมืองย้ายพรรคที่ผ่านมา ถ้าคนทำโพลไม่ระวัง ตั้งคำถามแบบปิดและมีตัวเลือกว่า เป็นสิทธิส่วนบุคคลตามระบอบประชาธิปไตย คนก็จะเลือกข้อนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะค่านิยมของสังคมประชาธิปไตยเปิดประตูให้ทำสิ่งนี้ได้
ถ้าเป็นเรื่องผลประโยชน์ อยากได้อำนาจ อยากเข้าไปอยู่ในวงจรอำนาจ ข้อนี้จะถูกเลือกน้อยลดหลั่นลงมา เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์
เวลาออกแบบสอบถามลักษณะนี้ต้องดูให้ดีว่า ในชุดเดียวกันมีคำตอบในมิติเดียวกัน เช่น ไม่เป็นอะไรขอให้พัฒนาประเทศได้ดีขึ้น คำตอบนี้เอียงอย่างเห็นได้ชัด เพื่อให้ผลสำรวจออกมาว่าย้ายพรรคไม่เป็นอะไร ดังนั้น คำถามอะไรที่เป็นประเด็น เป็นคีย์ควรจะถามแล้วเกิดประโยชน์กับประชาชน
เช่น คำถามว่าเป็นสิทธิหรือไม่เป็นสิทธิ คำถามนี้ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนเท่าไหร่ มันแค่เรื่องหลักการ เป็นค่านิยมในสังคมเฉยๆ
ถ้าหลักการว่า การย้ายพรรคจะทำให้การเมืองไม่พัฒนา ซ้ำย่ำอยู่ที่เดิม แสดงว่าไม่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองของสถาบันการเมือง ก็จะไม่เป็นการให้การศึกษาประชาชน คำถามชุดนี้จะให้คำตอบที่เกี่ยวพันกับระบอบการเมือง แต่ไม่ใช่คำถามที่ไปเกี่ยวกับค่านิยมในสังคม
ฉะนั้นต้องเลือกตั้งคำถามสะท้อนปัญหา สะท้อนหลักใหญ่ๆในระบอบประชาธิปไตยและสถาบันการเมือง
ไม่ใช่ตั้งคำถามซึ่งจะมีคำตอบอยู่ตรงไหนก็ได้ แล้วนำคำตอบนั้นมาใช้ก็จะทำให้ประชาชนและสังคมไม่ได้ประโยชน์ รวมถึงเป็นคำตอบที่เอียงทางการเมือง
มีหลายสำนักโพลสำรวจ โพลสำรวจทางออนไลน์ โพลลับแต่ละหน่วยงานของรัฐ รวมถึงแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ก็ทำในช่วงเลือกตั้ง ผลโพลฟุ้งไปหมด อาจสร้างความสับสนแก่ประชาชน มีคำแนะนำดูผลโพลอย่างไร ไม่ให้เกิดความสับสน นายธีรยุทธ บอกว่า สื่อมวลชนต้องช่วยกรองด้วยเหมือนกัน
เช่น การทำโพลผ่านออนไลน์ก็มีข้อจำกัด คำตอบส่วนใหญ่มาจากคนชั้นกลาง อาจจะไม่ถึงชาวบ้านหรือคนที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะไม่ได้ตอบ ปกติการทำโพลในจังหวัดต่างๆจะบังคับว่า ควรมีกลุ่มตัวอย่างในตัวเมือง เขตชนบท ในเขตอำเภอใหญ่ อำเภอเล็ก ผลโพลออกมาจะได้เสียงสะท้อนที่ดี
อย่างที่บอกแล้วว่าถ้าปริมาณสอบถาม 3-4 พันชุดทั่วประเทศ หรือในกรุงเทพฯ 2 พันชุดก็พอที่จะรู้ทัศนคติของประชาชนต่อเรื่องนั้นแล้ว แต่ถ้ากลุ่มตัวอย่างทำในวงแคบ ความน่าเชื่อถือจะน้อยลง ประชาชนก็ต้องระวัง
ทีมการเมือง ถามว่า มีบางพรรคการเมืองทำโพลชี้ชัดได้เลยว่าแต่ละเขตเลือกตั้งจะสู้ต่อไปไหม ได้หรือไม่ได้ นายธีรยุทธ บอกว่า ทั้งหมดที่พูดมาหมายถึงการทำโพลปกติ
หากทำโพลแบบนี้ก็ต้องทุ่มกำลัง ใช้งบประมาณสูงก็ทำละเอียดได้ เท่าที่รับฟังข่าวมีงบประมาณถึง 100 ล้านบาทก็ทำได้ เช่น สามารถสุ่มตัวอย่างได้ว่าในอำเภอนี้คะแนนเสียงอยู่กับพรรค ก.มากกว่า ถ้าทำทุกอำเภอก็ถือว่าแม่นแล้ว ไม่แปลก ยิ่งถ้าลงลึกในตำบลก็ยิ่งดี
คนทำโพลที่มีทุนหน้า มีมาตรฐานดีกว่าก็มีโอกาสชนะทางการเมืองมากขึ้น นายธีรยุทธ บอกว่าใช่
เช่น ในกรุงเทพฯ เมื่อรู้ว่าคะแนนโดยทั่วไปจะออกมาอย่างไร และมีเขตที่เป็นตัวแปรอยู่ในเขตชุมชน หมายถึงว่าโอกาสจะตัดสินใจซื้อเสียงก็จะสูงกว่า ก็เป็นคำถามว่าจะทุ่มสู้หรือไม่
ในระหว่างโพลลับที่บางหน่วยงานของรัฐทำกับพรรคการเมืองทำ และสถาบันการศึกษาทำ แล้วผลโพลถูกเปิดต่อสาธารณะพร้อมกัน จะมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า มีผลแน่นอนอยู่แล้ว
เพราะผลโพลมีสถานะเป็นเหมือนกลไกที่สะท้อนว่ามีคนจำนวนมากคิดแบบนี้ ยิ่งสถาบันที่ทำโพลมีความน่าเชื่อถือ คนยิ่งมีแนวโน้มจะเชื่อถือและคล้อยตาม
แต่ถ้าเป็นคะแนนความนิยมของตัวบุคคลตามที่บันทึกไว้ต้องถ่วงน้ำหนักลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น ผลโพลระบุว่าคะแนนความนิยม 80 เปอร์เซ็นต์ ในจำนวนนี้ต้องถามบางอย่าง เช่น ทำในสถานการณ์ที่กำลังฮือฮาในตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล ทำในช่วงนี้คะแนนนิยมก็จะขึ้น หรือไปทำอยู่ในวงจำกัดวงใดวงหนึ่ง
เท่าที่สังเกตคะแนนความนิยมตัวบุคคล จะไม่ใช่เป็นตัวที่เราจะเลือกเป็นนายกฯ
แม้กระทั่งคะแนนเสียง เหมือนบัตรคนจนที่กำลังฮือฮาอยู่ ซึ่งประชาชนบอกว่าชอบๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนเป็นคะแนนเสียง แม้มีผลในบางกลุ่ม แต่บางกลุ่มในเครือข่ายยังยืนหยัดที่จะไม่เลือก
การทำโพลช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะชี้วัดผลการเลือกตั้งได้อย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า ทำโพล 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้งน่าจะพอรู้ โดยองค์กรทำโพลต้องเป็นอิสระ ถ้าไม่อิสระ การออกแบบสอบถามจะเกิดความเกรงใจ และต้องมีระเบียบวิธีวิจัย จำแนกรายละเอียดออกแบบสอบถามดีไซน์ให้ครบทุกด้าน ไม่ใช่ยึดหลักเกณฑ์ทั่วไปที่หยิบจากตำราแล้วเอามาลอก
ทีมการเมือง ถามว่า จากประสบการณ์การทำโพล และศึกษาสังคมมานุษยวิทยามานาน การเลือกตั้งครั้งนี้ควรทำโพลสอบถามเกี่ยวกับภาพรวมนโยบายต่างๆ เพื่อให้เห็นถึงผลดีผลเสียของนโยบายแต่ละด้านและกระตุกให้พรรคการเมืองเดินตามความต้องการของประชาชน ท้ายสุดเวลาตั้งรัฐบาล พรรคการเมืองจะต้องต่อรองนโยบายก่อนร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนที่ผ่านๆมา แล้วไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้
นายธีรยุทธ บอกว่า ควรเอาส่วนที่สังคมต้องการรู้คำตอบ แล้วเจาะลึกว่าประเด็นเชิงนโยบาย เชิงอุดมการณ์มันส่งผลอะไร อย่างไร ประชาชนมีทัศนะอย่างไร เพื่อบันทึกเอาไว้ว่าประชาชนตอบสนองต่อนโยบายของพรรคการเมืองมากน้อยแค่ไหน
คนทำโพลต้องมีแบบแผนจริยธรรม ธรรมาภิบาล โปร่งใส สมมติเราถามคำถามนี้เพื่อประกอบการวิเคราะห์ อันนี้ต้องติงไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนทำโพลจะตัดสินว่าอันนี้เผยแพร่ได้ อันนี้ ไม่ควรเผยแพร่
โจทย์นี้ถ้าเป็นผม อาจจะต้องการรู้ว่านโยบายประชานิยมที่ไปแจกมีผลอย่างไรกับประชาชนหมู่มาก
จะต้องบอกว่าผลดีผลเสียของนโยบายนี้คืออะไร และตั้งคำถาม 1, 2, 3, 4, 5 ให้เลือกและชั่งน้ำหนักให้
จะเป็นการให้การศึกษาประชาชนด้วยว่า นโยบายมันมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ไม่ใช่เรื่องชอบ ไม่ชอบอย่างเดียว
ในที่สุดเราอาจจะเผยแพร่ทั้งสองอย่างก็ได้ หรือถ้าคุณบอกว่าอยากจะชี้ข้อดี ข้อเสียอย่างเดียว ไม่สนับสนุนการทำประชานิยมต่อไปเยอะๆ อันนี้ก็ทำเพื่อแค่อยากรู้ก็ได้.

ไม่มีความคิดเห็น: