PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

วิษณุ:คสช.จะตั้ง 'คกก.ร่างรธน. ชุดใหม่' เอง


07092558 คสช.จะตั้ง 'คกก.ร่างรธน. ชุดใหม่' เอง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"วิษณุ" แจง คสช. พิจารณาตั้ง "คกก.ร่างรธน. ชุดใหม่" จ่อถกครม.ถึงโรดแม็พย่อย พร้อมสูตร "6-4-6-4" ก่อนถึงวันเลือกตั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ 21 คน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะพิจารณาแต่งตั้ง ซึ่งตอนนี้ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแต่ต่อไปก็ไม่ทราบ
ซึ่งเข้าใจว่าคสช.คงยังไม่ได้มีการเตรียมการแต่อย่างใด เพราะยังมีเวลาอีก 30 วัน และบุคคลที่จะเข้ามาก็ไม่ใช่จะหาได้ง่ายๆ
ส่วนจะมีการทาบทามบุคคลในคณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมหรือไม่นั้นตนยังไม่ทราบ

อย่างไรก็ตามการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างฯชุดใหม่ว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญเดิมที่เพิ่งถูกสปช.คว่ำมาแก้ไขหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการร่างฯ คงจะมีการประชุมกำหนดแนวทางว่าจะใช้วิธีใดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ปล่อยให้เขาเป็นคนพูดก่อนดีกว่า
ถ้าเราพูดตอนนี้ก็เหมือนจะเป็นใบสั่งอีก แต่วันนี้เสียงบางพวกที่ออกมาต้องการให้นำ รัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ หรือบางพวกบอกให้นำปี 2550 มาใช้ หรือแม้แต่เสนอให้นำร่างล่าสุดซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียมาแก้ไข ก็สามารถเสนอได้

นายวิษณุ กล่าวว่า เท่าที่ทราบตนยังไม่เห็นคสช.เรียกประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว เพราะยังถือว่าเร็วไป
เนื่องจากสปช.เพิ่งโหวตไม่รับร่างไปเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา
แต่จากวันนี้ไปอาจจะมีการขยับซึ่งตนเข้าใจว่าน่าจะมีการหารือเรื่องนี้ในการประชุมครม.ถึงแนวทางซึ่งตนจะสรุปและชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบอีกครั้ง ว่าโรดแม็พย่อยๆ หลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร
โดยเฉพาะจะได้ขมวดให้ทราบในเรื่องการตั้งคณะกรรมการร่างฯชุดใหม่21 คน หรือการตั้งสภาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ 200 คน หรือการบริหารเวลาที่มีต่อจากนี้ ซึ่งทุกอย่างจะใช้สูตร 6-4-6-4 คือ 

1.ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 6 เดือน
2. จากนั้นเตรียมการทำประชามติ 4 เดือน ถ้าผ่านประชามติก็ทำกฎหมายลูกและเสนอต่อสนช.
3.รวมถึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ใช้เวลา 6 เดือน
4.จนกระทั่งใช้เวลารณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอีก 4 เดือน

รวมแล้วระยะเวลาหลังจากนี้ประมาณ 20 เดือน 

เพราะของอย่างนี้มันจัดการให้สั้นลงได้ แต่เราพูดให้มันยาวไว้ก่อน
อย่างที่พูดไว้ว่าขั้นตอนที่ใช้เวลา 6 เดือน 
จริงๆ อาจจะใช้เวลาสั้นกว่านั้นก็ได้
ยกเว้นบางเรื่องที่ไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ เช่นการหาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ก็ไม่เห็นจะมีความวุ่นวายหรือมีคณะกรรมการต่างๆ ตั้งขึ้นตามมาเลย
นายวิษณุกล่าวว่า อันที่จริงก็ไม่เคยวุ่นวาย ครั้งที่แล้วก็ไม่ได้วุ่นวาย
ส่วนที่มีการระบุว่าให้มีการตั้งสภาขับเคลื่อนฯ นั้น   มันทำงานขับเคลื่อนของมันไป  คนละเส้นทางกันเพราะสภาขับเคลื่อนฯทำเฉพาะเรื่องปฏิรูป โดยสานต่อจากแผนแม่บทของสปช.ทั้ง 37 ด้าน

“สภาขับเคลื่อนฯเลี้ยวซ้ายเข้าซอยทำเรื่องปฏิรูป
อย่าออกมายุ่งเรื่องรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะกรรมการร่างฯ ก็ก้มหน้าก้มตาร่างของเขาไป เป็นแนวทางมาตั้งแต่ปี 2475 ไม่ได้มีปัญหาอะไร” นายวิษณุกล่าว และว่า
ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.)ที่ถูกบัญญัติในร่างเดิม และมีหลายฝ่ายไม่พอใจนั้น จะกลับเข้ามาอยู่ในร่างฉบับใหม่หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เรื่องอย่างนี้คนที่เป็นกรรมการร่างฯ เขาคงจะต้องใส่ใจแล้วนำมาพิจารณา 

อย่างไรก็ตาม ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ถ้าไม่เอาคปป.แล้ว ปัญหาที่มันยังอยู่ซึ่งเริ่มต้นมาจากกมธ.ยกร่างฯชุดเดิม ได้หยิบยกปัญหากรณีที่บ้านเมืองจะเกิดปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะมีมาตรการใดมารองรับ 

บัดนี้เมื่อมาตรการดังกล่าวปรากฏว่าคนไม่ยอมรับ จึงเป็นปัญหาต่อว่าปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดขึ้นนั้น ยังกลัวกันอยู่หรือไม่ ถ้าไม่กลัวก็ไม่ต้องมีมาตรการแต่ถ้ากลัวก็ต้องคิดมาตรการอื่น ถือเป็นเรื่องธรรมดา สุดแต่สติปัญญาของคณะกรรมการร่างฯนายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ธรรมนูญการปกครอง โดยเฉพาะมาตรา 44 ก็จะหมดไป แม้แต่คำสั่งคสช.ที่อาศัยมาตรา 44 ก็อาจจะหมดไปด้วยซ้ำ 

และเกิดรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่มีมาตราอะไรให้ กมธ.ยกร่างฯชุดเดิมจึงคิดให้มีคปป.ขึ้นมาแทนมาตรา 44 เพราะฉะนั้นจึงต้องมีอะไรมารองรับต่อ 

ส่วนจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้มีการมองว่าสืบทอดอำนาจนั้น ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันจะไปโยนให้กรรมการร่างฯชุดใหม่ไม่ได้แต่กรรมการร่างฯชุดใหม่ต้องเป็นพระเอกที่จะนำให้เห็นว่าไม่ได้สร้างกลไกสำหรับการสืบทอดอำนาจ 

ขณะเดียวกันคสช. ครม. นักการเมืองหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องแสดงให้เห็น โดยเฉพาะนักการเมือง ที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งอะไรก็ต้องแสดงให้เห็นว่า จะไม่สืบทอดภารกิจหรือความประพฤติแบบเก่าที่เคยทำถ้าทำได้สังคมก็เกิดความไว้วางใจ
ถ้าต่างฝ่ายต่างลดาวาศอก แล้วยอมรับว่าประเทศบอบช้ำมามาก ควรจะตั้งใจทำอะไรให้มันดี
การที่จะหันหน้าเข้าหากัน สมานฉันท์ปรองดองกันมันก็จะเกิด แม้ตอนนี้จะดูกั๊กๆ กันอยู่

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีคปป.หรือนายกรัฐมนตรีคนนอกบัญญัติไว้
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ คงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างฯ จัดการ

เมื่อถามว่า ครม. และคสช. จะนำข้อวิพากษ์วิจารณ์ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งข้อดีข้อเสียของทุกฝ่ายมาพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงกำลังรวบรวมอยู่ แล้วคงกำลังคิดว่าสิ่งที่ถูกวิจารณ์จะรวบรวมในลักษณะใด วัดจากอะไรได้บ้าง หากจะมาสะท้อนจากฝั่งรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่ได้
ต้องสะท้อนจากหลายฝั่ง หลายที่ เช่นจากผลสำรวจต่างๆ ด้วย

เมื่อถามถึงเหตุผลการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา นายวิษณุ กล่าวว่า มีหลายสาเหตุ ตนขอไม่ตอบ เพราะตนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง มีแต่เดาเอาทั้งนั้น

ส่วนหากใช้สูตร 6-4-6-4 แล้วร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ผ่านประชามติอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องหาวิธีการกันต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น หากจะคิดจริงๆ คงต้องคิดไปอีกหลายยกเลยว่าหากประชามติครั้งแรกไม่ผ่านจะทำอย่างไรกันต่อไป
ส่วนร่างใหม่พอร่างใหม่เสร็จก็ทำประชามติ แต่หากมันไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไรมันก็เลยต้องคิดยาวๆ
ซึ่งวันนี้รัฐบาลไม่คิดในแง่ร้ายขนาดนั้น แต่หากมาถึงจุดหนึ่งก็คงต้องคิดกันต่อไป

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายระบุว่าการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพราะร่างฯนี้ไม่ชอบธรรม นายวิษณุ กล่าวว่ามันมีหลายสาเหตุตั้ง 5-7 สาเหตุด้วยกัน แต่ตนบอกไม่ได้ เอาไว้ค่อยๆ ประเมินกันต่อไป  เดี๋ยวสื่อก็คงทราบเพราะอีกไม่นานคนนั้นคนนี้ก็ออกมาพูดเรื่องเหตุผลการโหวต เพราะคนโหวตมีถึง 247 คน คนรับก็มีสาเหตุที่รับแตกต่างกันไม่มีคนเหมือนกันหมด

เมื่อถามว่า กรรมการร่างฯ ชุดใหม่จะหาคนมาทำยากหรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า “ยาก แต่ต้องหาจนได้ สเป็กง่ายๆ แค่ร่างรัฐธรรมนูญเป็น แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย
อย่างในกมธ.ยกร่างฯ ชุดเดิม 36 คนก็มีนักกฎหมายอีกเพียง 2-3 คนเท่านั้นนอกนั้นก็ไม่ใช่ แต่ผมว่าเร็วไปที่จะพูดถึงเรื่องนี้
ผมเข้าใจว่าคนที่เป็นแมวมองคงเมียงมองใครเอาไว้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ถึงขนาดทาบทาม ดีไม่ดีอาจมองไว้เกิน 21 คนด้วยซ้ำไป
แต่พอถึงเวลาคสช.ทั้งคณะก็ต้องเอารายชื่อคนเหล่านี้มาพูดคุยกันอีกครั้งว่าคนเหล่านี้มีท่าทีไปอย่างไร จะว่างหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามันเคยมีปัญหาเรื่องการคัดคนเป็นคณะกรรมการร่างฯ ผมเคยเจอปัญหามาแล้ว
เช่นคนที่เหมาะสมน่าจะเอามาเป็นมากแต่เขาดันติดขัดเพราะทำหน้าที่อะไรบางอย่างอยู่ หากเขามาร่างฯ แต่ต้องลาออกจากตำแหน่งนั้นๆ ดังนั้นไม่เอาดีกว่า เหมือนหาคนมาเป็นรัฐมนตรีที่สื่อก็คิดและทราบว่าคนนี้น่าจะเข้ามาเป็น แต่เขาอาจติดภารกิจอะไรบางอย่างอยู่ แล้วไม่อาจจะเสียสละตำแหน่งนั้นมาได้ เพราะมีภาระที่ผูกมัดกันอยู่ ดีไม่ดีอาจทำให้ประเทศเสียหายในทางอื่นหากลาออกการหากรรมการร่างฯก็อาจจะเสียหายในลักษณะเดียวกัน 

แต่ในที่สุดก็ต้องหาจนได้ภายใน 6 ตุลาคมนี้ แต่จะภายในสัปดาห์นี้หรือไม่นั้นผมไม่ทราบหรือใครจะมาเป็นประธานก็ยังไม่ทราบ และไม่มีชื่อใครในใจเลยเพราะไม่มีหน้าที่เรื่องนี้ และขณะนี้ยังไม่ได้รับมอบหมายให้ช่วยเลือกเพราะยังเร็วไป”เมื่อถามว่าคนเป็นประธานกรรมการร่างฯ ต้องเป็นหัวหน้าคสช.เลยหรือไม่ 

นายวิษณุ กล่าวว่า “ถ้าจริงมันก็ดีน่ะสิ แต่มันเป็นไปไม่ได้จะได้รู้แล้วรู้รอด หมดเรื่องหมดราวกันไปเลย
แต่มันไม่จริงเพราะผมไปเป็นยังไม่ได้เลย เพราะเขาห้ามรัฐมนตรีไปเป็น”นายวิษณุ กล่าวว่า ความจริงไม่ต้องตั้งคณะกรรมการร่างฯถึง 21 คนก็ได้ เพราะข้อกฎหมายระบุว่าประธาน 1 คน กรรมการไม่เกิน 20 คน
เพราะฉะนั้นอาจไม่ถึง 20 คนก็ได้
ส่วนคุณสมบัติทั้ง 21 คนคือต้องมีความรู้ความสามารถในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย อาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์หรือคนที่เข้าใจเรื่องการเมือง วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย หรือที่สำคัญต้องเข้าใจสภาพบ้านเมืองไทยแบบทุกมิติ ทั้งมิติความมั่นคง มิติเสรีภาพ มิติการเมือง มิติภาคประชาชน

เมื่อถามว่าคนที่มาร่างต้องเป็นคนที่มีแนวคิดเป็นไปในทางเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คงไม่อาจเอาคนที่มีแนวคิดตรงกันข้าม แต่ประเภทที่ต้องมีแนวคิดเดียวกันคงหายากเพราะสุดท้ายเราไม่รู้ว่าเขาคิดอย่างไร

เมื่อถามย้ำว่าส่วนหนึ่งที่จะร่างใหม่เราสามารถจะเอารัฐธรรมนูญปี 2540 หรือร่างที่คว่ำไปมาเป็นแนวคิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า บางฝ่ายบอกให้เอารัฐธรรมนูญเป็น 2540 มาใช้ บางฝ่ายบอกอย่าเลยเอาปี 2550 มาใช้ดีกว่า แสดงว่าเขาเห็นไม่ตรงกัน
ส่วนหนึ่งก็บอกว่าส่วนดีๆ ของร่างฯ 2558 ยังพอมีอยู่ก็สามารถเอามาใช้ได้ทุกความเห็นถูกทั้งนั้น จนกระทั่งส่วนดีที่ไม่อยู่ในฉบับใดเลย แต่ไปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2492 หรือปี 2517 หรือฉบับหลัง 14 ตุลาฯ
ก็ระดมความคิดกันมาจนตกผลึกไปแล้วระดับหนึ่งก็อาจจะเอามาใช้ได้หมดดังนั้นเราจะไม่ฟันธงลงไปแน่นอนว่าอะไรดีกว่ากันต้องให้คณะกรรมการร่างฯ เป็นคนพูดจะดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: