PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

สื่อนอกชี้"เมืองไทยลากยาวเลือกตั้ง หลังสปช.ล้มรธน.-ชี้"จงใจให้ไม่ผ่าน-จัดฉาก"!

วันที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 15:05:37 น.

"สเตรท ไทมส์"รายงานว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ล้มร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเสนอโดยรัฐบาลทหาร ด้วยคะแนนเสียง 135 ต่อ 105 ส่งผลให้เมืองไทยจะต้องอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลคสช.ไปอีกอย่างน้อย 7 เดือน หรือบางทีอาจยาวนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะผ่านการลงประชามติในเดือนม.ค. ซึ่งหากผ่าน จึงจะมีการเลือกตั้งหลังจากนั้น และทำให้เมืองไทยคืนสู่รัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงปีหน้า ทั้งนี้จากการประเมินในเชิงทฤษฎี

รายงานระบุว่า สิ่งที่มีการโต้แย้งอย่างมากก็คือการที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกล้มไป ซึ่งปรากฏว่ามีอดีตนายทหารหลายคนล่มโหวตล้มด้วย โดยนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสปช. เผยว่า คนที่โหวตค้านเพราะกลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ก็จะทำให้เกิดสถานการณ์วุ่นวายเหมือนครั้งรัฐบาลทหารยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2006 และมีการตกลงว่า ควรจะมีการขยายเวลาให้รัฐบาล คสช.ได้บริหารประเทศ

ขณะที่นายสุนัย ผาสุข ผู้เชี่ยวชาญแห่งกลุ่ม"ฮิวแมน ไรท์ วอช"บอกว่า การล้มรธน.นี้ทำให้รัฐบาลคสช.มีข้ออ้างที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป เพราะร่างรธน.นี้มีข้อถกเถียงโต้แย้งอย่างมากมาย และได้ทำให้กลุ่มการเมืองหลายกลุ่มพากันคัดค้าน


ขณะที่นายธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ ชี้ว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ถูก"จัดฉาก"ขึ้นเพื่อให้กองทัพสามารถควบคุมการเมืองไทยได้ต่อไป ในระยะเวลาเฉพาะกาลที่ไม่มีกำหนดโดยเหล่าผู้นำกองทัพมองว่าตัวเองเป็นเหมือน"คนทำคลอด"รัฐธรรมนูญระหวางช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้และในขณะที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นรัฐบาลคสช.ได้ใช้เวลาอยู่ในอำนาจมานานกว่า15เดือนแล้วซึ่งยาวนานกว่าระยะเวลามาตรฐานการที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน

ขณะที่โจนาธาน เฮด แห่งบีบีซี วิเคราะห์ว่า อะไรเป็นสาเหตให้สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ตั้งโดยรัฐบาลคสช.เอง ล้มรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานี้ โดยก่อนหน้านี้ สมาชิกหลายคนได้ชี้ถึงปัจจัยหลายอย่างที่อาจจำเป็นต้องล้มร่างรัฐธรรมนูญนี้ เช่น เพราะอยากให้ทีมเศรษฐกิจได้มีเวลาทำงานและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจก่อน

และอีกส่วนวิตกว่า การรับธรรมนูญนี้จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความแตกแยกทางการเมือง ก่อนการลงประชามติที่เดิมกำหนดให้มีขึ้นในเดือนม.ค.ปี 2016 แต่เมื่อมีการล้มรธน.นี้ ทำให้รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง ต้องถูกลากยาวไปถึงช่วงก่อนปี 2017 ขณะที่หลายคนคาดว่าจะลากยาวไปนานกว่านั้นอีก

โดยบางรายถึงขนาดมองว่า ในช่วงสิ้นทศวรรษนี้ เมืองไทยจะสามารถมีการเลือกตั้งได้หรือไม่ และดูเหมือนว่า กองทัพต้องการจะให้รัฐธรรมนูญถูกล้มไม่สามารถผ่านการลงมติไปได้ เนื่องจากภายใต้เนื้อหาของร่างรธน.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ สามารถยึดอำนาจของรัฐบาลได้เมื่อใดก็ตามที่คิดว่าจำเป็น ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งบทบัญญัตินี้ถือว่าสร้างความไม่พอใจให้แก่แม้แต่บุคคลที่สนับสนุนร่างรธน.นี้ ทำให้โอกาสที่การลงประชามติจะถูกปฏิเสธนั้นมีสูงมาก

ขณะที่นายโจนาธาน ระบุว่า เมื่อร่างรธน.นี้ถูกล้มไป จึงทำให้กองทัพสามารถคงอำนาจบริหารประเทศไว้ได้ ซึ่งโดยจริงๆ แล้ว การเลือกตั้งของไทยควรมีขึ้นในช่วงปลายปี 2016 แต่นักวิเคราะห์มองว่า อาจลากยาวไปจนถึงปี 2017 

ไม่มีความคิดเห็น: