PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง:ทำไม ร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

คอลัมน์การเมือง
ขอคิดด้วยฅน เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ทำไม ร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีลงมติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2558 “ผลปรากฏว่า มีผู้เห็นชอบ 105 ไม่เห็นชอบ 135 งดออกเสียง 7 ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

น่าคิดว่า ทำไมร่างรัฐธรรมนูญจึงถูกล้ม?

ผม ในฐานะ สปช.คนหนึ่ง และเคยอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก่อนหน้านี้ มองเห็นสภาพปัญหาและเหตุผลว่าทำไม สปช.ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญล่าสุด เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญล้มไปในที่สุด

1) กระบวนการและวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กับการร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือ ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วก็มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไปเติมคนนอกอีก 10 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รูปการจึงเสมือนหนึ่งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาร่างรัฐธรรมนูญเอง

การร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เมื่อคณะ กมธ.ยกร่างฯเสร็จ มีการนำเข้ามาพิจารณาในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทุกมาตรา ทุกประเด็น ทุกตัวหนังสือ ได้มีการถกแถลง อธิบายความ อภิปรายโดยละเอียด ขอแก้ไขเพิ่มเติม แปรญัตติ โหวตในทุกประเด็น ทุกมาตรา ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 309 เรียงตามมาตรา เพราะฉะนั้น สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทุกคนจึงได้มีส่วนร่วม ร่วมคิดร่วมร่าง ร่วมแก้ไข
มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกมีส่วนร่วม เกิดความเข้าใจถ่องแท้ทุกมาตรา ทุกประเด็น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อมีการลงมติสุดท้ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คะแนนจึงออกมาเห็นชอบเกือบ 100%

แตกต่างจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูป แต่ได้ฝากภารกิจให้ สปช.ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการก่อนหน้านั้น มีการตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างฯ 36 คน เอามาจาก สปช. 20 คน รวมประธาน กมธ.ยกร่างฯ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่เลือกไว้แล้ว เป็น 21 คนที่มีสถานะเป็น สปช.ด้วย

ตัวประธาน กมธ.ยกร่างฯ เคยประกาศไว้ชัดเจนว่า กมธ.ยกร่างฯเป็นแม่น้ำสายที่ 5 สะท้อนว่า ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ สปช. และในขั้นตอนการทำงานจริง ก็ไปยกร่างรัฐธรรมนูญกันมา ร่างแรกเสร็จ ให้ สปช.เสนอแนะ ส่วน กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขตามข้อเสนอแนะหรือไม่ ขึ้นกับ กมธ.ยกร่างฯ จากนั้น ก็ไปฟังความเห็นเสนอแนะจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ครม. คสช. สนช. ปรากฏว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างแรกของรัฐธรรมนูญ บางทีแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ สปช.ไม่ได้ขอแก้ สปช.เห็นว่าดีแล้ว ชอบแล้ว ถูกต้องแล้ว แต่กลับมีการแก้ไขโดยอ้างตามความเห็นของหน่วยงานอื่น เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น เมื่อแก้ไขเป็นร่างสุดท้าย ส่งกลับมา 22 ส.ค. ซึ่งไม่มีช่องทางหรือขั้นตอนให้ปรับแก้ได้อีกแล้ว มีแต่อธิบายความว่าดีอย่างไร แก้ไม่ได้แล้ว ทั้งๆ ที่ บางเรื่อง สปช.สนับสนุนแต่ไปแก้ไขปรับเปลี่ยน บางเรื่อง สปช.เสนอให้แก้ไขก็ไม่มีการปรับเปลี่ยน รวมถึงบางเรื่องเพิ่มพรวดขึ้นมาในร่างสุดท้าย ทั้งๆ ที่ ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏมาก่อนเลย

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้ จึงแตกต่างสิ้นเชิงจากปี 2550

ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการและวิธีการที่ออกแบบกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นกระบวนการที่ไม่เปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

2) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาจริงๆ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 259 ถึงมาตรา 263 เป็นบทบัญญัติที่โผล่พรวดขึ้นมาภายหลัง ทั้งๆ ที่ ร่างแรกไม่มี สปช.ไม่ได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติม

ถือเป็นเรื่องที่ถูกจับได้ว่าไม่ตรงไปตรงมา มีเนื้อหาลับลมคมใน ซ่อนเร้น ซ่อนเงื่อน ซ่อนปม

เข้าใจเจตนาว่า ต้องการจะมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพื่อดูแลสถานการณ์ความมั่นคงและแก้ไขวิกฤติ ขับเคลื่อนการปฏิรูปชาติบ้านเมืองให้มีความต่อเนื่อง ทำงานในนามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เป็นตัวนำการขับเคลื่อน โดยมีการเติมเนื้อหาในบทเฉพาะกาล เรื่องความมั่นคงในยามวิกฤติ

สภาปฏิรูปแห่งชาติสนใจเรื่องการปฏิรูป การที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ดึงเอาผู้นำเหล่าทัพ 3 เหล่าทัพ ผบ.ตร. ผบ.สส. มาอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปฯ ทั้งๆ ที่ บุคคลเหล่านี้ไม่น่าจะเชี่ยวชาญโดดเด่นด้านการปฏิรูป แม้ระยะเริ่มแรก ให้ สนช.เลือกคน 11 คน เข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจชี้ให้รัฐบาลดำเนินการปฏิรูปเรื่องใดๆ ก็ได้ ตามแนวทางที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ต้องการ ซึ่งจะเป็นไปตามที่ สปช.เสนอไว้หรือไม่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ สปช.ที่ทำงานด้านปฏิรูปย่อมรู้สึกคลางแคลงใจ รู้สึกไม่แน่ใจ เพราะแทนที่จะเอาคนที่เชี่ยวชาญหรือมีบทบาทผลักดันการปฏิรูปมาก่อน อาทิ คุณอานันท์ ปันยารชุน นพ.ประเวศ วะสี ดร.คณิต ณ นคร เป็นต้น กลับไปเอาทหาร ซึ่งมีความไม่แน่นนอนตายตัวของบุคคล ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่กำหนดแนวการปฏิรูป

แต่เมื่อไปดูมาตรา 280 บทเฉพาะกาล จึงเห็นว่า ถ้าเกิดวิกฤตการณ์ความมั่นคง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจเสมือนรัฏฐาธิปัตย์ คล้ายๆ มีมาตรา 44 ในปัจจุบัน สามารถออกคำสั่งและประกาศที่ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการนำเรื่องนี้ไปซุกไว้ในบทเฉพาะกาล ทำให้เห็นว่าไม่ตรงไปตรงมา

อันที่จริง ถ้ามีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ที่จะตั้งขึ้นมาเร็วๆ นี้ ก็ควรพิจารณาแก้ไขเสียให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ประชาชนในสังคมยอมรับได้อยู่แล้วภายใต้ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะเดียวกัน สังคมก็อยากจะเห็นการปฏิรูปมีความต่อเนื่อง เบื่อการเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ คณะกรรมการชุดใหม่ก็น่าจะพิจารณาแก้ไขให้ตรงไปตรงมา อาจแยกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปปรองดอง กับคณะกรรมการแก้วิกฤติไปคนละชุด เอาให้ชัดๆ ตัวบุคคลใน 2 คณะก็ให้ต่างกัน ไม่ต้องซ่อนที่มาและองค์ประกอบของบุคคล ก็ควรหาแนวทางแก้ไขเพื่อตอบข้อวิจารณ์ว่า เป็นองค์กรที่มีลักษณะ “รัฐซ้อนรัฐ” ที่มีองค์กรข้าราชการประจำมาคอยคุม คอยค้ำรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3) เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ดีมีเยอะ แต่ก็มีจุดอ่อนที่อันตราย

ปัญหาใหญ่ที่พบ คือ เรื่องสำคัญๆ ไม่บรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่อ้างว่า จะนำไปใส่ในกฎหมายลูก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่ปรากฏรายละเอียดและในอนาคตสามารถจะถูกแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ

ยกตัวอย่าง

3.1 สว.สรรหา 123 คน กลายเป็นว่า คุณสมบัติ วิธีการสรรหา คณะกรรมการสรรหา ไม่มีรายละเอียดอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถูกให้ไปอยู่ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ สปช.ไม่ทราบว่าในที่สุดจะไปร่างกันอย่างไร ทั้งๆ ที่ เป็นประเด็นสำคัญ หากวิธีการสรรหามีหลักประกันที่ดี ก็อาจจะเห็นด้วย ยอมรับได้ และเมื่อให้ไปอยู่ในกฎหมายลูก หลังการเลือกตั้ง นักการเมืองก็อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง หากเปลี่ยนวิธีการสรรหาหรือการได้มาซึ่ง สว. 123 คน ก็อาจจะกลายเป็นคนของนักการเมือง สามารถยึดครองระบบที่ออกแบบไว้จนบิดเบือนไปอีกทางหนึ่งก็เป็นได้

3.2 การฟ้องคดีของ ป.ป.ช. ในรัฐธรรมนูญเดิม ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และให้ดำเนินคดีอาญา ก็ให้ส่งอัยการดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าอัยการยังไม่เห็นชอบ ยังไม่ฟ้อง ก็ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม หลังจากนั้น ถ้าตกลงกันไม่ได้ ป.ป.ช.สามารถฟ้องคดีต่อศาลได้เอง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้กลับไม่มีการระบุไว้ กลับกลายเป็นว่าให้อยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่ง สปช.ยังไม่เห็นตัวเนื้อหาของกฎหมายประกอบว่าจะเป็นอย่างไร
3.3 การดำเนินคดีกับ ป.ป.ช. ในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ระบุว่า ถ้า ป.ป.ช.ทุจริตประพฤติมิชอบเอง ให้ สว. 1 ใน 5 ของจำนวน สว.ในวุฒิสภา หรือ สส. 1 ใน 5 ของจำนวน สส.ในสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.และสว.รวมกัน 1 ใน 5 ของทั้งสองสภาเข้าชื่อร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนมูลความผิดตรวจสอบ ป.ป.ช. และให้ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ดังเช่นกรณียุคทักษิณ ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง แล้ว ผมและคณะสว.ขณะนั้นก็ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กระทั่งศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก ป.ป.ช.ชุดที่ขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง และพ้นจากตำแหน่ง แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่กลับไม่มีประเด็นนี้ โดยเขียนไว้ในมาตรา 253 เพียงแค่ว่า กรณีเอาผิดทางอาญากับป.ป.ช.ที่จะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาฯนั้น ให้กำหนดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ เมื่อเป็นกฎหมายประกอบ ผู้มีอำนาจรัฐก็สามารถจะแก้ไขได้ง่ายกว่ารัฐธรรมนูญ และจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวในอนาคต นักการเมืองก็จะอ้างว่าต้องตรวจสอบป.ป.ช. ซึ่งเป็นหลักการที่คนทั่วไปสนับสนุน แต่จะมีผลเป็นการกดดัน ข่มขู่ คุกคาม ป.ป.ช.อยู่ในที คล้ายๆ จะไปตีเมืองขึ้น ป.ป.ช. แทนที่จะเขียนให้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้เลยว่าจะตรวจสอบ ป.ป.ช.อย่างไร กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเสียเลย จะได้ชัดเจน นักการเมืองแก้ยาก

3.4 คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสูงมาก แต่ในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง การสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง กลับให้ไปอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในอนาคต หากการเมืองเข้ามาคุมรัฐสภา ก็หมายความว่า กรรมการ 11 คน จะตกอยู่กับพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็จะมีอำนาจล้นพ้นในมือ ยิ่งอาจจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อีก จะเสมือนหนึ่งมีมาตรา 44 ในขณะนี้ (แต่เปลี่ยนจากพลเอกประยุทธ์ เป็นนักการเมือง)

ด้วยเหตุนี้ สปช.ส่วนหนึ่ง คงจะพิจารณาเนื้อว่าแล้วเห็นว่า น่าจะให้ไปแก้ไขปรับปรุงให้ดีกว่านี้ก่อนที่จะทำประชามติ ดีกว่าจะต้องสูญเสียเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในการทำประชามติ

4) ปัจจัยการเมืองแวดล้อม นอกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผล
คงจะมี สปช.บางส่วนลงมติไม่เห็นชอบ เพราะเกรงว่าในขณะนี้ เหตุการณ์บ้านเมืองสถานการณ์ยังไม่สงบ ถ้าไปทำประชามติอาจจะเกิดคลื่นใต้น้ำ ยิ่งเมื่อพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคประกาศแล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ดี กลัวว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านแล้วจะเกิดปัจจัยแทรกซ้อนจากผู้ไม่ประสงค์ดี
สปช.บางคน ก็คงอยากให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ยาวอีกหน่อย

สปช.กลุ่มนี้ อาจจะคิดเอง หรือมีคนล็อบบี้ มีคนติดต่อกระตุ้นเตือน ร้องขอ ผมเชื่อว่าคงจะมีหลายรูปแบบ

แต่ส่วนตัวของผมเอง ในฐานะ สปช.คนหนึ่ง ยืนยันว่าไม่มีใครมาติดต่อผมในเรื่องพวกนี้

ผมลงมติด้วยเหตุที่ให้น้ำหนักกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลัก มากกว่าเรื่องยุทธศาสตร์การเมือง สถานการณ์ หรืออยากให้รัฐบาลอยู่ยาวหรือไม่ กลัวความยุ่งเหยิงหรือไม่ แม้จะนำมาพิจารณาด้วย แต่ให้น้ำหนักน้อยกว่าเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ

ยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีเยอะ แต่ก็มีข้อเสียอย่างที่กล่าวไปแล้ว

ผมจึงเห็นว่า ถ้าแก้ไขเนื้อหาก่อนไปทำประชามติ จะเป็นการประหยัดเงินของแผ่นดินมากกว่า 3 พันล้านบาทแทนที่จะเอาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคต่อต้านไปสู่สมรภูมิประชามติเลย
เพื่อจะให้เกิดผลอย่างที่ผมต้องการ หนทาง คือ ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

การจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จะต้องมีคะแนนเห็นชอบ 124 เสียง ผมจึงตัดสินใจที่จะลงมติ “งดออกเสียง”

การงดออกเสียง ทำให้คะแนนที่จะช่วยให้ผ่าน หายไปหนึ่งเสียง

ผมไม่ถึงกับลงมติ “ไม่เห็นชอบ” เพราะในใจเข้าใจว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีจำนวนไม่น้อย แต่
ก็มีข้อเสียที่เป็นอันตราย ไม่อยากถึงขั้นบอกว่าไม่เห็นชอบ แต่ต้องการจะให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแก้ไขใหม่ “งดออกเสียง” ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน

ผมคิดว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ไม่ควรต้องยกร่างใหม่หมด เอาร่างนี้มาแก้ไขบางเรื่องที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยใช้ความใจกว้าง ฟังทุกคนทุกฝ่าย เพราะยังมีคนไม่สบายใจในเรื่องอื่นๆ เช่น กมธ.การเมืองไม่สบายใจว่าพรรคการเมืองจะอ่อนแอ รัฐบาลจะอ่อนแอ เป็นต้น ควรฟังประเด็นต่างๆ ให้ชัดเจน พิจารณาแก้ไขตรงไปตรงมา มีคำอธิบายชัดเจน อย่าแอบซ่อน ซ่อนเร้น ควรเปิดเผย ปัจจุบันควรทราบว่าคนฉลาดพอที่จะจับได้ ถึงซ่อนก็จับได้ แล้วจะหมดความน่าเชื่อถือ ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 180 วัน แค่ 3-4 เดือน ก็น่าจะยกร่างแก้ไขเสร็จ

สุดท้าย... คสช.ผู้มีอำนาจที่จะตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ควรจะเลือกคนที่เข้าใจบริบทสังคมไทย เข้าใจสังคมไทย ไม่ใช่
คิดลอกแบบต่างชาติ เข้าใจวิธีคิดคนไทย วัฒนธรรม ค่านิยม ออกแบบให้เหมาะสมกับสังคมไทย ที่สำคัญ คือ กระบวนการทำงานจะต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ทำอย่างเปิดเผย อย่าไปคิดว่าเป็นอรหันต์ ปิดห้องทำงาน ควรทำไปเปิดเผยไป สื่อสารกับสังคมตลอดเวลา เผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ สร้างความเข้าใจ คล้ายๆ ปี 2550 เปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปนั่งฟังได้เลย จะทำให้มีความเข้าใจทุกประเด็นตั้งแต่ต้น สังคมก็ค่อยๆ รับรู้เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทุกมาตรา ตั้งแต่ต้น

อย่าลืมว่า สุดท้ายจะต้องไปทำประชามติ หากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ไม่มีการสื่อสารกับสังคมอย่างต่อเนื่อง เข้าใจคนไทย ในขั้นตอนประชามติก็จะมีการชักจูงปลุกระดมผู้คน โดยเอาประเด็นอื่นๆ นอกเนื้อหารัฐธรรมนูญมาเคลื่อนไหวกันอีก เช่น ต่อต้านรัฐประหาร – รีบไปเลือกตั้ง ฯลฯ
หากทำให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ ร่วมพิจารณา ร่วมรับรู้ ร่วมเข้าใจ เขาก็จะร่วมสนับสนุนในการประชามติบั้นปลาย

ขอให้เอาบทเรียนจากกระบวนการทำงานที่ถูกล้มไปในครั้งนี้ มาเป็นบทเรียน เพื่อประเทศไทยของเราทุกคน
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ไม่มีความคิดเห็น: