PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

ความเก่งภายใต้เผด็จการ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์






นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีเศรษฐกิจชุดใหม่สร้างทั้งความหวังและความผิดหวังให้แก่ผู้คน แต่นั่นก็ยังดีกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดเก่า เพราะหลังจากเวลาผ่านไปไม่ถึงปี ก็ไม่ทำให้ใครมีความหวังเอาเสียเลย

ความหวังที่เกิดใหม่นี้จะเป็นความหวังผิดๆ หรือไม่ ยังไม่ทราบได้ แต่ในระบบเศรษฐกิจใดก็ตาม จะดำเนินต่อไปได้ ก็ต้องทำให้ใครสักกลุ่มหนึ่ง (ยิ่งมากกลุ่มยิ่งดี) มีความหวัง หากทำไม่ได้แม้แต่สักกลุ่มเดียว ก็ไม่มีทางฟื้นฟูเศรษฐกิจตกต่ำได้แน่

อันที่จริงทั้งรัฐมนตรีชุดใหม่และชุดเก่าคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเดียวกัน คืออัดฉีดเงินลงไปในตลาด แต่ชุดเก่าอยากทำตามตำรา (โบราณ) คืออัดผ่านระบบให้เงินมันซึมลงไปข้างล่าง ในขณะที่ชุดใหม่เห็นว่าต้องอัดลงไปที่รากเลยทีเดียว จึงจะเห็นผลหรืออย่างน้อยก็เห็นผลได้เร็ว

แต่การอัดลงไปที่รากโดยตรงนี้ไม่ง่ายสำหรับประเทศไทย นับตั้งแต่ระบบการเมือง, บริหาร และเศรษฐกิจไทยมีลักษณะ "รวมศูนย์" มานาน จึงไม่มีเครื่องมือจะอัดให้ถึงรากอย่างได้ผล วิธีการนี้ซึ่งคุณทักษิณ ชินวัตร ใช้ในสมัยดำรงตำแหน่งนายกฯ จะว่าได้ผลก็ได้ เพราะทำให้เศรษฐกิจไทยขยับเนื้อขยับตัวได้รวดเร็วขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 แต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่ารั่วไหลไม่น้อยเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะโกงนะครับ แต่เพราะไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพรองรับ จึงป้องกันการรั่วไหลได้ยาก

ผมเชื่อว่าปัญหาเดียวกันนี้จะเกิดอีกในครั้งนี้ เพราะเราก็ยังไม่มีเครื่องมือที่ดีอยู่นั่นเอง และที่ร้ายไปกว่าเครื่องมือก็คือ ผมไม่แน่ใจว่าเราได้สั่งสมรวบรวมประสบการณ์ที่ผ่านมาสมัยทักษิณ เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างเครื่องมือที่ดีขึ้นหรือไม่ ออกจะสงสัยว่าไม่เสียมากกว่า เพราะเรามัวแต่ไปใช้เวลาในการปรักปรำกันทางการเมือง เสียมากกว่าเรียนรู้

แต่เพื่อหวังผลระยะสั้น ผมคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ได้ผลมากกว่าวิธีของรัฐมนตรีชุดเก่า แม้ต้องยอมรั่วไหลไปบ้างก็ตาม



และเพราะหวังผลระยะสั้นเป็นหลักเช่นนี้ จึงทำให้นโยบายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่เหมือนของคุณทักษิณเสียทีเดียว เพราะคุณทักษิณอ้างเสมอด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือจริงไม่ทราบได้ ว่านโยบายเศรษฐกิจของตนนั้น มุ่งจะปรับประเทศไทยให้เข้าสู่โลกยุคใหม่ หรือโลกาภิวัตน์ ในด้านหนึ่งก็สร้างเงื่อนไขทางการเมือง, เศรษฐกิจ, โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ อีกด้านหนึ่งก็ส่งเสริมให้ฐานรากมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์และภาคเมือง หรือนโยบาย "ทางคู่" ทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ในท่ามกลางตัวเลขความเหลื่อมล้ำที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ไม่มีอะไรจะสนองตอบกับความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าคุณทักษิณเองก็ไม่ค่อยพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำนัก แต่นโยบายของคุณทักษิณจะสัมฤทธิผลในบั้นปลายได้ ก็ต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ทำขนมโอท็อปได้กำไรนั้นดีแล้ว แต่ลูกต้องได้เรียนหนังสือสูงขึ้นเพื่อเป็นแรงงานในวิสาหกิจที่ต้องการทักษะแรงงานสูงขึ้นด้วย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐมนตรีชุดใหม่ ไม่ได้คิดถึงอนาคตในระยะยาว

เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก ในสภาพการเมืองและสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (พูดง่ายๆ คือภายใต้รัฐประหารที่มีคนครึ่งประเทศไม่ยอมรับ) จะคิดอะไรยาวๆ ได้หรือ ไม่ว่าเรื่องระเบิดของผู้ก่อการร้าย, รัฐธรรมนูญใหม่ หรือเศรษฐกิจตกต่ำ ก็แก้กันไปเป็นเรื่องๆ โดยไม่มีแผนใหญ่คอยกำกับการแก้ไขเหมือนกันทั้งนั้น ปัญหาของรัฐประหารในประเทศไทยปัจจุบัน ก็อย่างนี้แหละครับ คือทำให้เราคิดอะไรยาวไม่ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับเมืองไทยอธิบายว่า คนจนในเมืองไทยมีความฝัน (aspiration) ต่ำ ซึ่งก็ไม่ต่างจากคนจนทั่วโลก เพราะคนจนจะใช้วัฒนธรรมส่วนบุคคลหรือวัฒนธรรมของสังคมในการทำให้ไม่ต้องฝันถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เช่น บุญทำกรรมแต่ง, แข่งเรือแข่งพายกับแข่งวาสนาแข่งบารมี, และนกน้อยทำรังแต่พอตัว (Laura Camfield, et.al., Cultures of Aspiration and Poverty, Norwich, U. of East Anglia, 2012)

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดนี้จึงคล้ายกับความฝันของคนจนในงานวิจัยชิ้นนั้น คือคิดสั้นๆ เพียงแค่อาหารมื้อหน้า อันนี้ไม่ได้ตำหนินะครับ เพราะอย่างที่บอกแล้วว่าภายใต้สภาวะทางการเมืองและสังคมอย่างนี้ ไม่แต่นโยบายเศรษฐกิจจะไม่มีอนาคตเท่านั้น อะไรต่อมิอะไรก็ดูไม่มีอนาคตไปด้วย

แม้ว่านโยบายอัดฉีดเงินไปที่รากหญ้าโดยตรงน่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นได้ดีกว่านโยบายเก่า แต่ในทางปฏิบัติก็อาจมีปัญหาที่ทำให้ไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัญหาบางอย่างก็มีมาตั้งแต่เมื่อคุณทักษิณเริ่มโครงการแล้ว



นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์มักแสดงความห่วงใยว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านอาจทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น แต่ความจริงแล้วมีข้อกำหนดไว้แล้วว่า การกู้ยืมจะนำไปใช้เพื่อใช้หนี้เก่าไม่ได้ (refinance) แม้กระนั้นหนี้ครัวเรือนก็อาจสูงขึ้นได้จริง เพียงแต่ไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้น เพราะปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การบริหารจัดการกองทุนในแต่ละชุมชนมากกว่า

คุณทักษิณคิดถูกที่ไม่ปล่อยให้กองทุนหมู่บ้านกระจายเงินโดยผ่านระบบราชการ เพราะโอกาสที่เงินจะถึงมือชาวบ้านที่มีศักยภาพจะใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีน้อย และก็คิดถูกที่ไม่ให้ผ่านมือเอ็นจีโอ เพราะเงินจะแทบไม่ไหลเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่เลย แต่ก็ไม่กีดกันเครือข่ายของเอ็นจีโอในชุมชนเข้าถึงเงินกู้แหล่งนี้ คุณทักษิณอาศัยเสียงของชาวบ้านในการเลือกคณะกรรมการเอง และให้คณะกรรมการนั้นบริหารจัดการกองทุน โดยชาวบ้านคอยตรวจสอบ

ก็จริงหรอกครับที่เป็นผลประโยชน์ของชาวบ้านเอง ฉะนั้นหากมีการบริหารจัดการที่ตัวเสียประโยชน์ ชาวบ้านย่อมโวยวายเอง แต่นี่จริงโดยหลักการเท่านั้น ความสัมพันธ์ทางสังคมในหมู่บ้านมีความซับซ้อนกว่านั้น และไม่ได้มีความเสมอภาคกันอย่างเสมอหน้าเหมือนชุมชนในอุดมคติ ชาวบ้านก็อยากโวยวายเหมือนกัน แต่คิดใคร่ครวญแล้วไม่โวยดีกว่า เนื่องจากยังต้องอยู่ในชุมชนต่อไป

มันก็เหมือนประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแหละครับ สถาบันประชาธิปไตยต่างๆ แปรเปลี่ยนความขัดแย้งจากความสัมพันธ์ส่วนตัวให้เป็นความขัดแย้งเชิงระบบ ไม่มีใครได้หน้า และไม่มีใครเสียหน้า ไม่จำเป็นต้องหัวฟัดหัวเหวี่ยงหรือใช้กิริยาก้าวร้าวอย่างผู้นำ คสช.ในการจัดการกับความขัดแย้ง ดังนั้น จึงต้องทำให้การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านมีลักษณะเป็นสถาบันมากขึ้น เพื่อทำให้ความขัดแย้ง หากจะมีขึ้นก็กระทบความสัมพันธ์ส่วนบุคคลน้อย

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สมัยคุณทักษิณสืบมาจนปัจจุบัน การบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านก็ยังเหมือนเดิม

ในบางชุมชน ประสบความสำเร็จมากขนาดที่ปัจจุบันมีกองทุนหมุนเวียนกว่า 2 ล้านบาท และก็มีบางชุมชน ที่ล้มเหลวขนาดที่เงินล้านแรกอันตรธานไปหมดแล้ว ไม่เหลือกลิ่นให้ดมได้อีกเลย

ฉะนั้น หากคณะกรรมการกองทุนของชุมชนเล่นพรรคเล่นพวก เงินก็ไม่ได้ถูกใช้ไปในทางที่ไม่ก่อให้เกิดวิสาหกิจใดๆ อาจกระจายไปยังเครือญาติเพื่อนฝูง ซึ่งต้องการเงินเอาไปออกดอกแก่คนจนเท่านั้น หรือไม่ดูว่าโครงการที่ผู้กู้ขอนั้น มีทางเป็นไปได้ทางธุรกิจมากน้อยเพียงไร หรือคิดทำจริงแค่ไหน หากเป็นเช่นนี้ก็ทำให้เพิ่มหนี้ครัวเรือนซึ่งชาวบ้านมีสูงอยู่แล้วให้สูงขึ้นไปอีก

ไม่ว่าโครงการจะดีสักเพียงใด แต่ภายใต้ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ย่อมหวังผลได้ในระยะสั้น แก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไปมากกว่าการปรับโครงสร้างขนาดกว้างใหญ่ อย่างที่เรียกกันว่าปฏิรูป หลายเดือนมาแล้ว ก่อนที่คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะขึ้นดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ได้บรรยายในที่สาธารณะถึงวิกฤตที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ แล้วเรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดทิฐิมานะลง หันหน้ามาช่วยกันพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากวิกฤตดีกว่า

ฟังดูดีเหมือนปู่สอนหลาน ที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้หลานทั้งหมดลดทิฐิลงได้เท่าๆ กัน แต่ในสังคมขนาดใหญ่เช่นสังคมไทย คุณปู่จะเกลี้ยกล่อมให้หลานเป็นล้านๆ คนลดทิฐิลงให้เหลือเท่าๆ กันได้อย่างไร เพราะคนที่ไม่ยอมลดย่อมได้เปรียบคนอื่น อาจใช้ทิฐินั้นนำประเทศไปสู่หายนะก็ได้ อย่างที่คุณสมคิดก็อาจสังเกตเห็นได้จากคนใกล้ตัว



การปฏิรูปจึงทำภายใต้ระบอบเผด็จการได้ยากมาก ยกเว้นแต่ผู้เผด็จการเป็น "คนนอก" ของระบอบจริงๆ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ของโซเวียต, จีน และเวียดนาม หรือพรรคนาซีของเยอรมัน (ปฏิรูปสำเร็จได้ แต่จะดีแก่ประเทศหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) แต่ที่ "คนนอก" จะลุกขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการก็มักไม่เกิดขึ้นได้ในกรณีทั่วไป ผู้เผด็จการส่วนใหญ่จึงมักเป็นหนึ่งในบรรดาชนชั้นนำของสังคมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบอยู่แล้ว และจะหวังว่าอำนาจเผด็จการของคนส่วนน้อยที่ได้เปรียบ จะปฏิรูปประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ, เพื่อทำให้เกิดความสงบที่แท้จริงไม่ใช่ความราบคาบ, เพื่อให้หลุดจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง, เพื่อเปิดการศึกษาที่มีคุณภาพให้ทุกคนเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน ฯลฯ

คนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในทุกสังคม จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องสร้างกลไกทางวัฒนธรรม, การศึกษา, อุดมการณ์, เศรษฐกิจ และการเมืองที่ค้ำจุนความได้เปรียบของตนอย่างมั่นคงแน่นหนา (ยิ่งเสียกว่ารัฐธรรมนูญกะโล้โท้ทั้งหลายจะสามารถร่างขึ้นมาได้) เราจะอาศัยความชอบธรรมอะไรเพื่อลดการเอาเปรียบสังคมของคนส่วนน้อยเหล่านี้ได้ นอกจากความชอบธรรมจากระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น การปฏิรูปซึ่งจะมีผลดีแก่คนส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นได้เฉพาะภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

ไม่ว่าจะเป็นคนเก่งแค่ไหน ภายใต้ระบอบเผด็จการ คุณแก้ได้แต่ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: