PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2562

ทิศทางใครจะมาเป็นรัฐบาล : ณรงค์ชัย อัครเศรณี

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
สวัสดีวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ครับ
เหลือเพียงสัปดาห์เดียว ก็จะถึงวันเลือกตั้ง การหาเสียงแย่งชิงประชาชนของพรรคต่าง ๆ กำลังเข้มข้น โค้งสุดท้ายดูเหมือนไม่สนใจนโยบายแล้ว เป็นการแข่งขันทางอุดมการณ์ของต่างพรรค ระหว่างค่ายที่เรียกตนเองว่า ประชาธิปไตย กับค่ายที่โยงใยกับ คสช. ทั้งทางการเกิดของพรรค และการมี สว. 250 คน จึงขออธิบายความหมายเหล่านี้จากตัวอย่างในอดีต เผื่อจะเดาได้ว่าพรรคไหน จะได้จัดตั้งรัฐบาล
ความแตกต่างของพรรคใหญ่ที่กำลังแข่งขันกัน ดูได้จากรูปแบบของการเมืองที่พรรคนั้นใช้อยู่ คือพรรคพลังประชารัฐ – พปชร. เป็นตามประยุทธ์โมเดล ซึ่งก็คล้ายกับโมเดลที่คณะปฎิวัติในอดีตใช้หลังจากการทำรัฐประหาร เช่นเกรียงศักดิ์โมเดล สุจินดาโมเดล อย่างที่ผมเขียนอธิบายไว้ในตอนก่อนนี้ คือจัดให้มีพรรคการเมืองขึ้นมา แล้วพยายามทำให้พรรคการเมืองนั้นชนะการเลือกตั้ง ให้ได้จำนวนสส.มากที่สุด
แต่ครั้งนี้ ประยุทธ์โมเดล เพิ่มความชัวร์ด้วยการมีระบบเลือกตั้งแบบทุกคะแนนนับหมด และมีการกำหนดสูตรให้มีจำนวนสส.ที่พึงมี เพื่อไม่ให้เกิดพรรคใหญ่ได้คะแนนเสียงมาก เป็นตามที่คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน บอกว่า “ รัฐธรรมนูญนี้เขียนเพื่อพวกเรา ” แล้วยังแถมให้มี สว. เลือกตั้งโดย คสช. 250 คนมาเป็นกองหนุนตอนออกเสียงเลือก นรม. ด้วย ซึ่งโมเดลของค่ายรัฐประหารก่อนหน้านี้ไม่มี จากกติกาแบบนี้ พรรคพวกคุณสมศักดิ์จึงมั่นใจว่า พปชร. ได้ตั้งรัฐบาลและได้พลเอกประยุทธ์เป็น นรม. แน่ๆ
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มทักษิณโมเดล นำโดยพรรคเพื่อไทย ทักษิณโมเดล คือต้องมี สส. เกินครึ่งสภา และให้เกินครึ่งให้มากที่สุด สมัยคุณทักษิณยังอยู่ใช้วิธีการ M & A คือ Merger & Acquisition ซึ่งได้ผลจนมี สส. มากเกินการยอมรับของฝ่ายค้าน และไปมีอิทธิพลต่อองค์กรอิสระ รอบนี้เมื่อเจอสูตรจำนวน สส. ที่พึงมีเป็นข้อจำกัดจึงใช้วิธีแตกกลุ่มที่เรียกว่า แตกแบงค์พัน เพื่อเก็บคะแนน สส. ใช้คำนวณในการคิดบัญชีรายชื่อ แต่เดินยุทธวิธีพลาด ทำให้พรรคไทยรักษาชาติหายไป ก็เลยพยายามโหมหาเสียงด้วยอุดมการณ์เอาประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ กลุ่มนี้จะได้ สส. มากถึงระดับเป็นพรรคนำในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ พยากรณ์ยาก เพราะยิ่งได้ สส. เขตมาก ก็จะได้ สส. บัญชีรายชื่อน้อย
พรรคที่สามคือประชาธิปัตย์ พรรคนี้ใช้ชวนโมเดล คือหลีกภัย บริหารความเสี่ยง ผมเคยแปลชื่อคุณชวนว่าเป็น Mr.Risk Averter คือใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยแน่ แต่พร้อมบริหารความเสี่ยง ก่อนหน้านี้คงเห็นความไม่แน่นอนว่าประชาชนคิดอย่างไรกับค่ายพลังประชารัฐ กับพลเอกประยุทธ์เป็น นรม. เรียกว่าเป็น Uncertainty ตอนนี้คงเห็นว่ามีกระแสประชาชนไม่เอาการสืบทอดอำนาจแรงชัดขึ้น คงมาจากข้อมูล Google คำนวณเป็นอัตราความเสี่ยงสูงได้ คุณอภิสิทธิ์จึงประกาศว่า พรรคจะไม่สนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์เป็น นรม. เหตุการณ์นี้คล้ายกับเลือกตั้งปี 2535 รอบแรกประชาธิปัตย์ก็ไม่เอาคณะรัฐประหาร แต่มีจำลองฟีเวอร์ พรรคพลังธรรมได้ สส. จำนวนมาก เลือกตั้งรอบสองหลังพฤษภาทมิฬ คนของประชาธิปัตย์ ออก Slogan ใหม่ว่า “ จำลองพาคนไปตาย ” ผลการเลือกตั้งประชาธิปัตย์ชนะได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็เชิญพรรคพลังธรรมของคุณจำลอง เข้าร่วมรัฐบาลด้วย
พรรคอื่น ๆ ก็มีที่หาเสียงโดยประกาศไม่เอาการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์ เช่น ภูมิใจไทย คุณอนุทิน ประกาศว่า นรม. ต้องเป็น สส. (แปลว่าไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ ?) พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเสรีรวมไทยก็ประกาศชัดเจนว่าไม่เอาค่ายรัฐประหารแน่ โดยกระแสพรรคอนาคตใหม่มาแรงมาก จากการสำรวจหลายสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนอายุไม่มาก มีพรรคชาติพัฒนา โดยคุณสุวัจน์ ใช้ Slogan – No Problem ของน้าชาติ คงแปลว่าอะไรก็ได้ และพรรคชาติไทยพัฒนาที่ไม่ได้ออกมาแสดงอุดมการณ์ เรื่องเอา / ไม่เอากับค่ายรัฐประหาร คงเหมือนพรรคชาติพัฒนา และสอดคล้องกับบรรหารโมเดล ที่คุณบรรหารเคยบอกว่า “ เป็นฝ่ายค้าน อดอยากปากแห้ง ”
ที่นี้มาถึงการเลือก นรม. เห็นคำนวณตัวเลขกันอุตลุด ที่คาดการณ์ยากก็เพราะมี สว. 250 คนมาเป็นตัวแปรใหญ่ เดากันว่าท่าน สว. คงลงคะแนนให้ชื่อ นรม. ของพรรคพปชร. คือ “ ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ ” แต่ก็คงไม่ 100 % เพราะบางท่านอาจสั่งไม่ได้ แต่ที่สำคัญคือพรรคพปชร. จะได้สิทธิ์เสนอชื่อ นรม. หรือไม่ ยังเดากันไม่ถูก

ในอดีตมีเหตุการณ์เสนอชื่อ นรม. ที่น่าสนใจหลายครั้ง ที่ผมขอเล่าคือเลือกตั้งปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ชนะได้เสนอชื่อ นรม. ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้เป็น นรม. แต่พอเข้าสภาเพื่อไป confirm ตามกติกาตอนนั้น เกิดได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง ต้องเลือกใหม่ คราวนี้พรรคกิจสังคม ซึ่งมี สส. แค่ 18 คน แต่ไปรวบรวมเสียงมาได้มากพอ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เลยได้เป็น นรม.
สมัยเกรียงศักดิ์และเปรมโมเดล ตั้งแต่ปี 2522 ถึงก่อนปี 2531 การเลือก นรม.ก็มีการประนีประนอมกันระหว่างพรรคการเมือง เพราะพลเอกเปรมเป็นบุคคลที่หลายพรรครับได้ จนถึงเลือกตั้งปี 2531 พรรคชาติไทยโดยน้าชาติ และพรรคกิจสังคมโดยพลเอกสิทธิ เศวตศิลา ได้สิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล น้าชาติเล่าให้ผมฟังว่าตกลงกับพลเอกสิทธิ จะไปเชิญป๋าเป็น นรม. ซึ่งพลเอกสิทธิเห็นด้วยและบอกตนจะไม่รับเป็น นรม. เพื่อให้ป๋าเห็นชัดเจน พอทั้งสองไปพบป๋า ป๋า say no น้าชาติเลยบอกว่า “ งั้นผมรับเป็นเอง ” เพราะพลเอกสิทธิก็บอกป๋าว่าตนไม่รับเป็น น้าชาติเลยได้เป็น นรม. แถมน้าชาติบอกจะเสนอป๋าให้เป็นรัฐบุรุษ แล้วแอบมาเล่าให้พวกเราฟัง อ้างประธานาธิบดี Harry Truman ที่เคยบอกว่า “ รัฐบุรุษ คือนักการเมืองที่หมดสภาพการเป็นนักการเมือง ” (Statesman is a dead politician)
หลังจากการเลือกตั้งปี 2535 การเลือก นรม. ก็มีประเพณีปฎิบัติว่า พรรคไหนได้ สส. มากที่สุด ได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาล เช่นปี 2535 เลือกตั้งครั้งที่สอง ประชาธิปัตย์ได้ที่หนึ่งเกิดรัฐบาลชวน 1 ปี 2538 พรรคชาติไทยโดยคุณบรรหารได้จัดตั้งรัฐบาล ปี 2539 พรรคความหวังใหม่โดยพลเอกชวลิต ชนะประชาธิปัตย์สองคะแนน ก็ได้จัดตั้งรัฐบาล พลเอกชวลิตบอกผมว่า ตอนนั้นพรรคชาติไทยขอร่วมรัฐบาลด้วย (ตามบรรหารโมเดล) แต่ท่าน say no เพราะคุณบรรหารไปยุบสภา โดยบอกตอนแรกว่าจะลาออก จะไม่ยุบสภา ทำให้ สส. ตกงาน หลังจากเพิ่งได้รับเลือกตั้งกันมาเพียงปีเศษ
รอบนี้ คราวนี้พรรคไหนจะได้เสนอชื่อ นรม. อยู่ที่ใครจะได้ที่หนึ่ง ถ้าพรรคพปชร.ได้ที่หนึ่ง ก็จะได้เปรียบมาก เพราะมี สว. อยู่ 250 เสียง แต่ถ้าพรรคพปชร. ไม่ได้ที่หนึ่ง พรรคอื่นจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ต้องรวบรวมคะแนนให้ได้ถึง 375 เสียง ซึ่งไม่ง่ายเลย เพราะ สว. อาจไม่ลงคะแนนให้ อาจทำให้การเลือก นรม. รอบแรกไม่สำเร็จ

ถ้าไม่สำเร็จก็ต้องไปรอบสอง ตามบทเฉพาะกาล คนเขียนบทนี้คงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว รอบนี้สามารถเสนอชื่อคนนอก คือคนที่ไม่อยู่ในรายชื่อ Candidate นรม. ของพรรคต่าง ๆ ได้ แต่ต้องได้เสียงจากสองสภาเท่ากับสองในสาม คือ 500 เสียง ใครจะเป็นคนนอกคนนั้น ใครจะเป็นผู้ประสานงานรวบรวมคะแนนให้ได้ 500 เสียง คิดดูแล้ว คงยุ่งน่าดู
ท่านผู้อ่านคาดการณ์อย่างไร ช่วยแชร์กันบ้าง ก็ดีนะครับ
บทความตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครับ
สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น: