PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

บทวิเคราะห์ : จาก “นิด้า” ถึง “ม.รังสิต” โพลสำรวจว่าที่นายกฯ “ประยุทธ์-สุดารัตน์” ชิงดำ “ธนาธร” แรง-ขี่ “อภิสิทธิ์”

ผลสำรวจนิด้าโพล “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากพอสมควร

เมื่อกลุ่มตัวอย่างสำรวจส่วนใหญ่ระบุ อยากให้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังมากขึ้น เมื่อนิด้าโพลโดนหักล้างจากโพลมหาวิทยาลัยรังสิต

ที่อ้างผลสำรวจยืนยัน พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุด ด้วยคะแนนทิ้งห่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ทั้งนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดผลสำรวจ “ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 5)”

สำรวจระหว่าง 20-22 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง พบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 25.16 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากผล “พลิกล็อก” ทำให้หลายคนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่การสำรวจโดยนิด้าโพล 4 ครั้งก่อนในรอบปี 2561

พล.อ.ประยุทธ์ คือผู้ที่มีคะแนนนำ เป็นแชมป์ผูกขาด

ไม่ว่าจะสำรวจเมื่อเดือนมีนาคม ร้อยละ 38.64, เดือนพฤษภาคม ร้อยละ 32.24, เดือนกรกฎาคม ร้อยละ 31.26 และเดือนกันยายน ร้อยละ 29.66

แม้จะถดถอย แต่ก็ยังครองอันดับ 1

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์อยู่ในฐานะรองแชมป์ตลอดทั้ง 4 ครั้ง ร้อยละ 13.04, 17.44, 14.69 และ 17.51 ตามลำดับ

จากการเปรียบเทียบยังเห็นได้ว่าถึงคุณหญิงสุดารัตน์จะรั้งอันดับ 2 ก็จริง แต่คะแนนก็ยังห่างจากอันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ 1-2 เท่าตัว ถือว่ามาก

แล้วอะไรเกิดขึ้นกับผลสำรวจครั้งที่ 5 ที่คะแนนคุณหญิงสุดารัตน์พลิกแซง พล.อ.ประยุทธ์ ร้อยละ 25.16 ต่อ 24.05 เฉือนกัน 1.11

แต่ก็เป็นการ “ขึ้นนำ” ครั้งแรก

ผลสำรวจเกี่ยวข้องกับประเด็นนายณพงศ์ นพเกตุ ลาออกจากผู้อำนวยการนิด้าโพล เพื่อไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ไม่มีใครฟันธงแน่ชัด

กระแส “น้องจินนี่” อาจมีส่วนอยู่บ้าง

แต่หลักๆ น่าจะมาจากความชัดเจนต่อตัวคุณหญิงสุดารัตน์ หลังจากพรรคเพื่อไทยตั้งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคเพื่อไทย

เป็น 1 ใน 3 รายชื่อที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้ง

กรณีคุณหญิงสุดารัตน์จึงชัดเจนกว่า พล.อ.ประยุทธ์เสียด้วยซ้ำ

 

ภายใต้ผลสำรวจนิด้าโพล ครั้งที่ 5 ยังมีประเด็นอื่น

ทั้งการมีชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อยู่อันดับ 3 ร้อยละ 14.52 บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี

เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากการสำรวจครั้งที่ 3 เดือนกรกฎาคม ที่ได้ 7.48

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 4 ร้อยละ 11.67 ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ที่น่าสนใจ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ส่วนนี้ร้อยละ 5.32 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ร้อยละ 1.19 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ร้อยละ 1.11

นั่นเท่ากับว่า หาก “สุดารัตน์+วิโรจน์” รวมกันก็จะได้ 30.48 ขณะที่ “ประยุทธ์+อุตตม+สมคิด” รวมกันจะได้ 26.35

ผลรวมดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกัน เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งพบว่า

อันดับ 1 ร้อยละ 31.75 ได้แก่ พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 19.92 พรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 3 ร้อยละ 16.98 พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 4 ร้อยละ 15.63 พรรคอนาคตใหม่, อันดับ 5 ร้อยละ 5.32 พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.14 พรรคชาติไทยพัฒนา

อันดับ 7 ร้อยละ 1.83 พรรคไทยรักษาชาติ, อันดับ 8 ร้อยละ 1.67 พรรครวมพลังประชาชาติไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.35 พรรคภูมิใจไทย และอันดับ 10 ร้อยละ 0.79 พรรคพลังชาติไทย

ตามสูตรการเมือง “2 ก๊ก” กับ “1 กั๊ก”

พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ประกอบด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ไทยรักษาชาติ รวมกันจะได้ 54.41

พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ประกอบด้วย พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชาติไทย ภูมิใจไทย และพลังชาติไทย รวมกันได้ 25.87

โดยมี 16.98 ของประชาธิปัตย์เป็น “ตัวแปร”

ถึงกระนั้น หากแปรไปเข้าร่วมกับพรรคฝ่ายสนับสนุนสืบทอดอำนาจก็จะได้ 42.85 ก็ยังน้อยกว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ดี

เป็นเช่นนั้นเพราะกระแส “พรรคเพื่อไทย” ยังเป็นแรงฉุดสำคัญ ขณะที่กระแส “ตัวบุคคล” ที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เริ่มมีกำลังแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยไม่เลื่อนออกไปอีก กลับพบว่ามีถึงร้อยละ 50.71 ที่ระบุ ไม่เชื่อมั่น

ที่เชื่อมั่น ร้อยละ 48.81

 

แล้วการมาของ “โพล ม.รังสิต” ก็ประสานงา”นิด้าโพล”อย่างจัง

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะผู้อำนวยการโครงการสำรวจความนิยมของนักการเมืองที่ประชาชนปรารถนาให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562

อ้างถึงการสำรวจซึ่งทำมา 4 รอบในปี 2561 คือ 1 พฤษภาคม, 13 มิถุนายน, 15 ตุลาคม และล่าสุด 24 พฤศจิกายน โดยสำรวจครั้งละ 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้ง 77 จังหวัด

ผลปรากฏ 3 ใน 4 รอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนทั่วประเทศมากที่สุด ยกเว้นรอบที่ 3 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มากกว่า

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อยู่อันดับ 2 และ 3 สลับกับนายอภิสิทธิ์

ล่าสุดจากการสำรวจเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 27.06

รองลงมาเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ ร้อยละ 18.16 นายอภิสิทธิ์ ร้อยละ 15.55 และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ร้อยละ 9.68

ต่างจากผลสำรวจนิด้าโพลราว “ฟ้า” กับ “เหว”

นายสังศิตกล่าววิเคราะห์ว่า ผลสำรวจทำให้เห็นความนิยมเครือข่ายพรรคของ “ทักษิณ” ลดน้อยลง จากปัจจัยแตกแยกภายในพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเติบโตใหญ่ขึ้น จากอานิสงส์นโยบายบัตรคนจน

“พรรคพลังประชารัฐอาจจะชนะเด็ดขาดได้เลย เพราะสามารถจับกลุ่มเป้าหมายคนจน 11 ล้านคน และผลิตนโยบายมาตอบสนองได้ต่อเนื่อง พูดง่ายๆ บัตรคนจนเอาชนะ 30 บาทรักษาทุกโรคได้แบบไม่เห็นฝุ่น วาทกรรมเรื่อง 30 บาทของคุณทักษิณที่พูดมาตลอด ถึงจุดที่แพ้แล้ว” นายสังศิตระบุ

และยังว่า

วันนี้ถ้าดูคะแนนนิยมส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสำรวจมา 4 หน ชนะ 3 หน ครั้งสุดท้ายเริ่มชนะเยอะ ส่วนคะแนนนิยมพรรคแพ้มาตลอด แต่วันนี้พลิกกลับมาชนะ เหตุผลมาจากเรื่องบัตรคนจน

จากนี้อีก 90 วัน พรรคพลังประชารัฐจะออกนำพรรคเพื่อไทยแบบทิ้งห่างมากขึ้น

พรรคพลังประชารัฐกำลังทำปรากฏการณ์ เป็นพายุกวาดเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้เป็นครั้งแรก เพราะมีประชาชน นักคิดสนับสนุนจำนวนมาก

มีแนวโน้มสูงมากที่จะกลับมาเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

แต่แล้วก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่อ่านโพลอย่างทะลุปรุโปร่ง

“วันนี้มีโพลจำนวนมาก วิธีการทำโพลนั้นทุกสำนักมีจุดมุ่งหมายทั้งสิ้น ว่าอยากให้คำตอบออกมาเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและการตั้งคำถาม

สิ่งที่ได้มาจะใช่หรือไม่ก็ยังไม่รู้ ผมไม่อาจหยั่งรู้จิตใจประชาชนทุกคนได้

แต่ผลโพลไม่ใช่ความเห็นของคนมีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ การสำรวจความเห็นคน 1,000-2,000 คนนั้น ไม่ได้อะไร วันข้างหน้าผลโพลก็ผิดทุกครั้งไป

จึงต้องดูเป้าหมายว่าทำโพลเพื่ออะไร จากใคร จากไหน

เพราะบางครั้งการทำโพลก็มีอะไรอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น ในกรณีนิด้าโพล จึงไม่รู้สึกอะไร”

ถึง พล.อ.ประยุทธ์จะแสดงความเห็นดังกล่าวในกรณีของนิด้าโพล แต่ความหมายก็ได้ครอบคลุมถึงโพลทุกสำนัก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน

และในจำนวนโพลที่มีอยู่มากนั้น

โพลที่มีจุดมุ่งหมายเชลียร์ฝ่ายผู้มีอำนาจอย่างไม่สมเหตุสมผล มากกว่าการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ถือเป็นโพลอันตรายมากที่สุด

ไม่ต่างจากน้ำตาลเคลือบยาพิษ ที่จะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผู้ถูกโพลเชลียร์ในท้ายที่สุด ในสถานการณ์นี้ อาจถึงขั้นพ่ายแพ้เลือกตั้งโดยไม่รู้ตัว

ไม่รู้ตัวว่าพ่ายแพ้เพราะอะไร

ไม่มีความคิดเห็น: