PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2561

126 เสียงเป็นนายกฯ ได้ แต่ไม่มีทางไปรอด

126 เสียงเป็นนายกฯ ได้ แต่ไม่มีทางไปรอด

  • วันที่ 03 ธ.ค. 2561 เวลา 07:46 น.

ความเห็นจาก "ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ที่วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากนี้ไปจะมีทิศทางอย่างไร
***************************************
โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย
การเมืองไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเต็มตัว ภายหลังความชัดเจนเริ่มปรากฏขึ้นเป็นระยะ ซึ่งพรรคการเมืองเองก็พร้อมกับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการปรับตัวเองให้กับกติกาที่เปลี่ยนไปตามรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการเกิดขึ้นมาของพรรคการเมืองใหม่ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีของพรรคพลังประชารัฐ
จึงเป็นโอกาสอันดีที่โพสต์ทูเดย์ได้สนทนากับ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นว่านับจากนี้ไปจะมีทิศทางอย่างไรต่อไป
ก่อนอื่น อาจารย์ปริญญา มีมุมมองถึงผลกระทบที่พรรคการเมืองและประชาชนได้รับจากระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญไว้อย่างสนใจ
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนคือ จากเดิมประชาชนมีสองคะแนน คะแนนหนึ่งเลือก สส.เขต อีกคะแนนเลือก สส.บัญชีรายชื่อ หรือเลือกพรรค แต่ตอนนี้แม้ว่าจะยังมี สส.แบบบัญชีรายชื่อ แต่ไม่มีการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่ออีกต่อไปแล้ว โดยระบบเลือกตั้งใหม่จะเอาคะแนนแบบแบ่งเขตทั้งประเทศของแต่ละพรรคมาคิดที่นั่งทั้งสภา แล้วเอา สส.แบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้หักไปที่เหลือคือ สส.บัญชีรายชื่อ”
“ผลที่เกิดกับประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ คือ ถ้าพรรคการเมืองต้องการ สส.บัญชีรายชื่อ ก็ต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทำให้จะเกิดการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ทั้งๆ ที่ไม่มีหวังว่าจะชนะ ดังนั้นในคราวนี้จะมีผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”
“แล้ว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.ยังกำหนดให้ผู้สมัครในแต่ละเขตของพรรคการเมืองเป็นคนละเบอร์กัน ความยากของประชาชนคือ หนึ่ง ถ้าประชาชนอยากจะเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ สส.บัญชีรายชื่อคนละพรรค จะทำไม่ได้อีกต่อไป และสอง ผู้สมัครแบบแบ่งเขตที่มากขึ้น แต่พรรคเดียวกันเป็นคนละเบอร์กัน ทำให้ประชาชนเลือกยากขึ้น”
การที่มีผู้สมัครเยอะก็น่าจะเป็นโอกาสให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้นเหมือนกับการเลือกซื้อสินค้า อาจารย์ปริญญา เห็นแย้งว่า “ปัญหามันยากตรงที่ว่าสินค้ามีให้เลือกเยอะ แต่มีวัตถุประสงค์ใช้งานคนละอย่างกัน เดิมผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะมีมากหรือน้อยก็ต่างหวังจะชนะการเลือกตั้งทั้งนั้น แต่คราวนี้ผู้สมัครจำนวนมากไม่ได้หวังชนะ แต่พรรคส่งมาลงเพราะหวังจะได้คะแนนมาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ”
“การให้ประชาชนเหลือเพียงคะแนนเดียว ทำให้ประชาชนตัดสินใจยากขึ้น ไม่ได้ทำให้ประชาชนเลือกง่ายขึ้นเหมือนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ว่าเอาไว้ มันจะยากขึ้น เพราะตอนมีสองคะแนนมันแบ่งได้ แต่มีคะแนนเดียวมันแบ่งไม่ได้ระหว่าง สส.แบบแบ่งเขต กับ สส.บัญชีรายชื่อ แล้วปัญหาคือถ้าชอบคนละพรรคกัน ประชาชนจะตัดสินใจเลือกอย่างไรล่ะครับ”
ส่วนผลกระทบต่อพรรคการเมือง อาจารย์ปริญญา แสดงความคิดเห็นว่า ย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง 4 ครั้ง ล่าสุด พบว่าพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดสองพรรคจะได้คะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งน้อยกว่าคะแนนบัญชีรายชื่อเสมอ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในพื้นที่จะมีผู้สมัครของพรรคขนาดกลางมาแบ่งคะแนนไป เช่น จ.สุพรรณบุรี ชลบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเอาคะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ ผลคือพรรคใหญ่จะได้ สส.น้อยลงกว่าเดิม
“พรรคการเมืองใหญ่จึงมีการวางยุทธศาสตร์กันใหม่ ที่แตกตัวออกมาเป็นหลายพรรค เพราะคิดว่าส่งได้แค่คนเดียวในแต่ละเขตก็ได้คะแนนเอามาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อแค่คะแนนเดียว ถ้าแบ่งเป็นหลายพรรคก็จะได้หลายคะแนนที่จะเอามาคิดที่นั่ง สส.บัญชีรายชื่อ แล้วค่อยมารวมกันใหม่ในอนาคต”
“เหมือนกับในหมู่บ้านหนึ่งมีบ้าน 10 หลัง บ้านที่เคยได้อาหารมากที่สุด พบว่าระบบใหม่จะทำให้บ้านตัวเองได้อาหารน้อยลง เขาเลยคุยกันว่าควรแบ่งบ้านออกมาหลายหลัง เพื่อให้อาหารเท่าเดิม”
ขณะที่เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง อาจารย์ปริญญา มีทัศนะว่าขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะเอาอย่างไร และขึ้นกับจำนวนเสียง สส.ของพรรคการเมืองที่จะได้
“บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้การเลือกนายกรัฐมนตรีทำในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยต้องมีมติเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา คือ 376 เสียง คสช.มีเสียง สว. 250 คน ก็ต้องการเสียง สส.แค่ 126 เสียงเท่านั้น ซึ่งพรรคขนาดกลางจำนวนหนึ่งก็ได้แล้ว โดยไม่ต้องสนใจพรรคการเมืองใหญ่เลย นี่ก็น่าคิดว่าเป็นเหตุผลหรือไม่ที่ระบบเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองขนาดกลางจะได้ สส.มากขึ้น”
“แต่การเป็นนายกฯ โดยมีเสียง สส.แค่ 126 คน ผมไม่คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ ต่อให้มีเสียง สว.รอยกมือเอกฉันท์ แต่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องส่งเข้าสภาผู้แทนก่อน รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้น แม้ว่าตัวเลขขั้นต่ำที่จะเป็นนายกฯ คือ แค่ สส. 126 เสียง แต่ถ้าจะให้อยู่ได้ต้องมี สส.อย่างน้อยครึ่งหนึ่งคือ 250 คน”
“ปัญหาคือลำพังเพียงพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กรวมกันไม่มีทางถึง 250 คะแนน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้ง 4 ครั้ง พรรคใหญ่สองพรรครวมกันเกินครึ่งเสมอ แปลว่าจะต้องได้พรรคใหญ่พรรคหนึ่งพรรคใดมาร่วมด้วย จึงจะได้รัฐบาลที่มีเสียง สส.เกิน 250 เสียง ผมถามว่าพรรคเพื่อไทยจะมาหรือไม่ คสช.ก็คงวิเคราะห์ออกว่าถ้าต้องการได้รัฐบาล 250 เสียง ก็คงต้องเอาพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมด้วย แต่พรรคประชาธิปัตย์จะมาหรือไม่ ก็คงดูกันต่อไป”
ในเชิงบทสรุปของการเมืองไทย อาจารย์ปริญญา คิดว่า สุดท้ายแล้วการเมืองข้างหน้าจะเป็นอย่างไรอยู่ที่คนคนเดียวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากจะเป็นนายกฯ ต่อหรือไม่ ถ้าต้องการเป็นนายกฯ ต่อ เกมการเมืองจะไปทางหนึ่ง คือต้องรวบรวมเสียง สส.ให้ได้ถึง 250 คน ไม่ใช่แค่ 126 คน ซึ่งทางเดียวที่จะรวบรวม สส.ถึง 250 คนได้ คือต้องได้พรรคใหญ่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรัฐบาลด้วย ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์จะมาร่วมด้วยได้ พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่จะมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นว่าที่นายกฯ จะต้องได้ สส.มากที่สุด คือมากกว่าเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ไม่ง่าย
ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ คสช.คนอื่นประสงค์จะเป็นนายกฯ ต่อ จะมีผลไปถึงการเลือก สว.ด้วย เพราะ สว. คือ เสียงพื้นฐานที่ต้องได้ทุกเสียงก็ต้องเลือก สว.ในแบบที่มั่นใจว่าจะยกมือให้ตัวเองแน่ แต่ถ้าไม่คิดจะเป็นนายกฯ ต่อการเลือก สว.ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือ เลือกคนกลางๆ หรือคนที่เป็นตัวของตัวเองบ้างก็ได้ แต่พอให้คุมเสียงข้างมากได้ก็พอ เพื่อกดดันให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ
“จากนี้ไปการเลือก สว.ของ คสช.จะถูกจับตามองว่าการเลือก สว.อย่างนี้เพราะอะไร ถ้า คสช.เป็นผู้มีส่วนได้เสียจากผลการเลือกตั้ง มันก็จะมีคำถามเข้าเยอะ เช่น ที่เลือกคนนี้เพราะต้องการให้คนนี้มาเลือกตัวเองให้เป็นนายกฯ ใช่หรือไม่ เป็นต้น คำถามพวกนี้มันจะเกิดขึ้น และมันไม่ดีต่อการเมืองไทยหลังเลือกตั้งในยุคเปลี่ยนผ่าน หาก คสช.ถอยออกมาเป็นผู้ดูแลให้กลับสู่ประชาธิปไตย ในฐานะผู้ดูแลความสงบเรียบร้อย น่าจะดีกว่าทั้งต่อ คสช.และต่อประเทศของเราครับ” อาจารย์ปริญญา สรุป

ไม่มีความคิดเห็น: