PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาล

ความศักดิ์สิทธิ์ของศาล
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2562

ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าทั้งหลายมีความศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะแรงศรัทธานับถือของประชาชน แต่ศาลทั้งหลายนั้นทรงความศักดิ์สิทธิ์เพราะเหตุสองประการ คือ ศาลทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์โดยตรง และศาลเป็นสถาบันที่ประสาธน์ความยุติธรรมให้บังเกิดความสงบสุขร่มเย็นในบ้านเมือง 

ศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นศาลหนึ่งในศาลทั้งหลายที่กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่ในการประสาธน์ความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ 

บัดนี้กำลังเกิดกรณีที่ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลรัฐธรรมนูญอันเกิดแต่กรณีเกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส. หรือ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งเรื่องที่มีการร้องเรียนให้เพิกถอน ส.ส. จำนวน 41 คน ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ดำเนินการไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติครบถ้วนถูกต้องทุกประการ 

จึงเป็นที่กริ่งเกรงกันว่าในขณะที่รัฐบาลมีเสียงในสภาปริ่มน้ำ หาก ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลจำนวนถึง 41 คน หากถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจแล้ว ก็จะเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้น 

นี่ก็เป็นพิษภัยอย่างหนึ่งของการออกแบบและที่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งด้วย ดังนั้นจึงเกิดกระแสทางโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางว่า 

การที่มีหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทอันเป็นแบบมาตรฐานที่ครอบจักรวาลว่ามีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนนั้นไม่ทำให้ขาดคุณสมบัติ แต่จะขาดคุณสมบัติก็ต่อเมื่อนิติบุคคลนั้นประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอยู่จริง ๆ ในขณะที่มีการสมัคร ส.ส. และเกิดกระแสด้วยว่าจะห้าม ส.ส. ทำหน้าที่ไม่ได้ 

ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เกิดกระแสกดดันมาก่อนหน้านี้อย่างหนักหน่วงรุนแรงว่าต้องถือบรรทัดฐานที่ศาลฎีกาเคยตัดสินว่าการมีข้อความระบุในหนังสือบริคณห์สนธิว่าประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแล้วต้องถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ว่าจะประกอบกิจการจริงหรือไม่อย่างไร รวมทั้งกระแสกดดันว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ในทันทีที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา 

สภาพดังกล่าวจึงเป็นกระแสที่สวนทางกันในระยะเวลาเพียงไม่ถึงเดือน และกลายเป็นกระแสที่ขับเคลื่อนกดดันอย่างกว้างขวางรุนแรงขึ้นอีก 

กระแสแบบนี้ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาล จึงจำเป็นต้องแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลให้ปรากฏและให้เข้าใจโดยทั่วกันสักครั้งหนึ่ง 

ตามรัฐธรรมนูญที่มีมาทุกฉบับยืนยันหลักการเดียวกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยสามทาง คือ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี และทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล 

แม้กระนั้น การใช้อำนาจอธิปไตยดังกล่าวก็แตกต่างกัน 

การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภานั้น พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมายทั้งหลายที่รัฐสภาได้ถวายคำแนะนำ โดยมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ 

การใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางคณะรัฐมนตรีนั้น พระมหากษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศหรือคำสั่งทั้งหลาย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และมีรัฐมนตรีคือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และเป็นผู้รับผิดชอบ 

แต่สำหรับการใช้อำนาจตุลาการทางศาลนั้น ศาลได้รับความไว้วางใจตลอดมาให้ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง โดยพระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยและไม่ต้องมีผู้ใดรับสนองพระบรมราชโองการ 

ดังนั้นบรรดาหมายเรียกหรือคำสั่งเรียกหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาทั้งหลายของศาลจึงมีคำประกาศอยู่ในหมายหรือคำสั่งหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษานั้น ๆ อย่างชัดเจนว่า “ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์” 

ซึ่งศาลทั้งหลายรวมทั้งผู้พิพากษาตุลาการทั้งหลายล้วนเทิดทูนไว้เหนือเกล้าในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตยสุจริต ด้วยความบริสุทธิ์ และยุติธรรม ให้สมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์นั้น 

เพราะเหตุนี้บรรดาคำสั่งหรือคำพิพากษาทั้งหลายของศาลจึงต้องมีบรรทัดฐานให้แก่การมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาที่ต้องปฏิบัติทั่วถึงกันทั้งประเทศ 

และเมื่อมีบรรทัดฐานแล้ว ใครก็จะเปลี่ยนแปลงเองตามใจชอบไม่ได้ ไม่ว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นเอง ไม่ว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะหรืออธิบดีศาลทั้งหลายในทุกชั้นศาล ก็ไม่มีสิทธิ์และอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานนั้นได้โดยลำพัง 

ในกรณีที่สถานการณ์ของบ้านเมืองและความเป็นจริงของประเทศเปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐาน จะกระทำได้โดยประธานศาลฎีกานำเรื่องนั้นเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาอันประกอบด้วยผู้พิพากษาทั้งหมดของศาลฎีกา เพื่อร่วมกันพิจารณาวินิจฉัยและตัดสินว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานหรือไม่ และเมื่อเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานแล้วก็จะมีการแจ้งหรือลงพิมพ์ให้ผู้พิพากษาตุลาการและศาลทั้งหลายได้รับทราบและปฏิบัติโดยทั่วกัน จากนั้นไปก็จะถือบรรทัดฐานใหม่ตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น 

สำหรับกรณีเพิกถอนข้าราชการการเมืองออกจากตำแหน่งแต่ก่อนมาจนมาถึงคดีก่อนหน้านี้คือคดีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็มิได้มีการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกระทั่งมาถึงคดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ 

มาบัดนี้เมื่อคดี 41 ส.ส. เข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ส.ส. ทั้ง 41 คนจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลที่สำคัญยิ่ง!

ไม่มีความคิดเห็น: