PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

วิจัยชี้BRNหวังรัฐอิสระ! RKKหลอนกูกลับมาแล้ว

            
วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2556, 00:00 น.

โจรใต้เขย่าขวัญ "ครู-นร." ลอบเข้าโรงเรียนเทศบาล 3 สุไหงโก-ลก พ่นสเปรย์สีแดงขู่ "กูกลับมาแล้ว" ส่วน อ.สะบ้าย้อยดักยิงชาวสวนยางบาดเจ็บ เมืองปัตตานีขับรถประกบใช้อาก้าถล่มผู้ใหญ่บ้าน โชคดีหมอบบนเบาะรอดตายหวุดหวิด "มือยิงอิหม่ามยะโก๊บ" เข้ามอบตัวสู้คดี "ผอ.สันติวิธี" ซัดรัฐบาลไทยปกปิดข้อมูลเจรจาสันติภาพ ทำสังคมสับสน

เมื่อวันอาทิตย์ สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เวลาประมาณ 10.30 น. พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล รอง ผบก.ภ.จ.นราธิวาส รักษาราชการแทน ผกก.สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้นำกำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิดอโณทัย พร้อมสุนัขสงคราม เดินทางไปโรงเรียนเทศบาล 3 ซึ่งตั้งอยู่ ถ.เอเซีย 18 เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เพื่อตรวจสอบเหตุคนร้ายแฝงตัวเข้าไปในโรงเรียน แล้วใช้สีสเปร์สีแดงพ่นข้อความภาษาอังกฤษและภาษาไทยลงบนพื้นปูนคอนกรีต ทางขวามือของประตูทางเข้าโรงเรียน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบข้อความระบุ "RUN RKK BAK โจรใต้กูกลับมาแล้ว" ซึ่งโรงเรียนดังกล่าวอยู่ระหว่างใช้เป็นสถานที่สอบเก็บคะแนน ของนักศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต อ.สุไหงโก-ลก เจ้าหน้าที่เชื่อว่า เป็นฝีมือของสมาชิกแนวร่วมกลุ่มผู้ไม่หวังดีในพื้นที่ เคลื่อนไหวเพื่อสร้างความปั่นป่วน และน่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่ลอบวางระเบิดบริเวณสี่แยก รร.บุญลาภ เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จนมีทหารและชาวบ้านได้รับบาดเจ็บ 8 ราย

ที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เวลา 05.45 น. เกิดเหตุคนร้ายดักยิงนายมะคอรี นาแซ อายุ 36 ปี หน้าบ้านเลขที่ 22/4 บ้านล่องควน หมู่ที่ 6 ต.คูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขณะกำลังออกจากบ้านเพื่อไปกรีดยาง กระสุนปืนเข้าที่บริเวณมือได้รับบาดเจ็บ เพื่อนบ้านที่เห็นเหตุการณ์ช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลสะบ้าย้อย โดย พ.ต.อ.ประวิตร ซ่อเส็ง ผกก.สภ.สะบ้าย้อย เดินทางไปตรวจสอบว่าเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หรือไม่

ส่วนที่ อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี เวลา 16.50 น. คนร้าย 3 คน ใช้รถมาสด้า 2 สีขาว ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน มาจอดประกบรถอีซูซุ ดีแม็กซ์ 4 ประตู สีบรอนซ์เทา ทะเบียน กข 9796 ปัตตานี ของนายมะนาเซ มะโระ ผู้ใหญ่บ้าน ม.4 ต.คลองมานิง อ.เมืองปัตตานี บนถนนทางหลวงชนบทบ้านคลองมานิง-ปูยุด ม.3 ต.คลองมานิง อ.เมืองฯ จ.ปัตตานี จากนั้นคนนั่งหลังเปิดกระจกใช้อาวุธปืนอาก้ายิงถล่มใส่รถของนายมะนาเซ จนตัวถังพรุน กระจกแตก โชคดีนายมะนาเซไม่ได้รับบาดเจ็บ ก่อนคนร้ายจะรีบขับรถหลบหนีไป

พ.ต.อ.ต่วนเดร์ จุฑานันท์ ผกก.สภ.เมืองปัตตานี จึงนำกำลังไปตรวจสอบ ทราบว่านายมะนาเซขับรถยนต์มาเพียงลำพัง เพื่อไปพบปะชาวบ้านบริเวณที่เกิดเหตุ ขณะที่กำลังจอดเพื่อลงจากรถก็ได้มีคนร้ายนำรถมาจอดเทียบ แล้วใช้อาวุธปืนอาก้ากราดยิงใส่ แต่โชคดีที่นายมะนาเซล้มตัวลงนอนบนเบาะรถ ทำให้ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่กระสุนถูกตัวถังรถได้รับความเสียหาย ส่วนคนร้ายหลังก่อเหตุได้หลบหนีไป

ขณะที่มีรายงานว่า ที่หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี รับตัวนายมาฮูเซ็น แมฮะ ผู้ต้องหาตามหมายจับ 1 ในทีมคนร้ายสังหารนายยะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางปัตตานี ซึ่งญาติติดต่อขอพามามอบตัวสู้คดี โดยเจ้าหน้าที่สอบสวนอย่างเคร่งเครียดกว่า 3 ชั่วโมง ก่อนที่จะให้พนักงานสอบสวนและชุดตรวจพิสูจน์เข้าสอบสวนและเก็บดีเอ็นเอผู้ต้องหา เพื่อไปตรวจเทียบเคียงกับหลักฐานที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุ 

ชุดสอบสวนระบุว่า ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบยิงนายยะโก๊บ แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ เนื่องจากมีพยานหลักฐานชัดเจน เห็นนายมาฮูเซ็นคือคนร้ายที่นั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์คันที่ 2 ใส่เสื้อสีส้ม

วันเดียวกัน นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพนายอธิคม ติวงค์ ครูโรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตบนถนนสายปัตตานี-ยะลา โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาร่วมพิธี 

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปฏิบัติการในกระบวนการสร้างสันติภาพในมุมมองทัศนะของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการทดลองเสนอรูปแบบกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดย ศอ.บต., กลุ่มดรีมเซาธ์ (Dream South) หรือกลุ่มนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

นายดันย้าล อับดุลเลาะ ตัวแทนกลุ่มดรีมเซาธ์ กล่าวว่า ไม่สามารถยอมรับได้ว่า BRN จะเป็นตัวแทนคนในพื้นที่ได้ เพราะนักศึกษาเห็นว่า ยังมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นนี้อยู่ และไม่รู้ว่าเป็นตัวแทนใคร จึงต้องมีการรับฟังความเห็นในเรื่องนี้ก่อน โดยเฉพาะจากประชาชนชาวมลายูในพื้นที่

"ที่ให้เรียกว่าผู้ปลดแอก ไม่ใช่ผู้แบ่งแยกนั้น ธงที่แท้จริงของขบวนการ BRN คืออะไร แต่ไม่พูดออกมาตรงๆ และคำว่าปลดแอกนั้น เป็นคำที่มีนัยในทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้มีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องการปกครอง ต้องมีการทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า คำว่าองค์การปลดแอก และแบ่งแยกดินแดนนั้น แต่ละคำมีความหมายอย่างไร" ตัวแทนกลุ่มดรีมเซาธ์กล่าว

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมเปิดงานวิจัยเรื่อง "เป้าหมายสุดท้ายของกลุ่ม BRN กับ Peace Process" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "1 ทศวรรษสามจังหวัดชายแดนใต้: ทิศทาง ความรู้ และอนาคต" โดยเป็นงานวิจัยของ น.ส.จิราพร งามเลิศศุภร นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

น.ส.จิราพรกล่าวว่า เป้าหมายสุดท้ายบีอาร์เอ็นไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน คือต้องการเอกราชและสังคมนิยมอิสลาม ตามหลักเชื้อชาติ ศาสนา แผ่นดิน ดังนั้น บีอาร์เอ็นจึงพยายามทำให้สถานการณ์ในพื้นที่นำไปสู่การปฏิวัติ และหากได้ดินแดนแล้วจึงจะมาคิดเรื่องการปฏิรูปการพัฒนา

"การแก้ปัญหานาทีนี้ต้องใช้หลายๆ แนวทาง ซึ่งไม่สามารถใช้แนวทางเดียวได้ และหากเปิดพื้นที่แล้วแต่พวกเขาไม่ร่วมมือ ก็ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ใช้ความรุนแรง โดยให้คิดถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และควรให้ความรู้ทางหลักศาสนาอิสลามที่ชัดเจน และอยากให้ไปศึกษาเรื่องการจัดระบบดูแลคนที่เลิกสู้แล้วในต่างประเทศ และในแบบสากล เพื่อให้คนที่เลิกสู้มีความเป็นอยู่ที่ดี แทนที่จะไปง้อกลุ่มที่ไม่เลิกต่อสู้" ผู้วิจัยโครงการดังกล่าวระบุ

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในการพูดคุยระหว่างบีอาร์เอ็นกับฝ่ายไทยที่ดำเนินการมาแล้วนั้น ตนได้ข้อมูลจากกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้ว พบว่าการจัดการพูดคุยของบีอาร์เอ็นมีรูปแบบกระบวนการที่ดี เพราะก่อนเจรจาจะมีการประชุมสภาบีอาร์เอ็น มีการกำหนดประเด็นที่จะพูดคุย มีการกำหนดคนเข้าพูดคุย และหลังจากประชุมก็ต้องนำเข้ารายงานสภาภายใน 24 ชม. จะได้กำหนดแนวทางการพูดคุยหรือการแถลงข่าวต่อไป แต่ฝ่ายไทยกลับหาตัวคนพูดก่อนที่จะมีการพูดคุยไม่นาน แล้วพอพูดคุยเสร็จก็เก็บข้อมูลอยู่กับตัวไม่มีการคุยกัน

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การพูดคุยสันติภาพต้องคุยต่อ เพราะในการศึกษามีข้อมูลว่า กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงกว่า 300 กลุ่ม มีเพียง 7 กลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแล้วชนะ ซึ่งการสนทนาสันติภาพเป็นอาวุธสำคัญ ซึ่งหน่วยงานของรัฐ และสังคมจำเป็นต้องมีบทสนทนาในเรื่องนี้ให้มากกว่าปัจจุบัน.


ไม่มีความคิดเห็น: