PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ลุ้นปรากฏการณ์การเมืองไทยฉากใหม่ : สืบทอดอำนาจเบ็ดเสร็จ

วันที่ 24 ก.พ.2562 ถูกขีดเส้นใต้ให้เป็นวันเลือกตั้ง

คำถามคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี “อิสรเสรี-เป็นธรรม” แค่ไหน นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนมุมคิดหลังรัฐบาล คสช.และ กกต.วางไทม์ไลน์การเลือกตั้ง

ท่ามกลางพรรคการเมืองแต่งตัวรอลงสนามอย่างคึกคักว่า มีทั้งส่วนที่เป็นและไม่เป็น

ในส่วนที่เป็นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง พยายามทำให้ไม่เกิดสภาวะพรรคการเมืองเป็นพรรคใหญ่ นำไปสู่การเกิดอำนาจนิยม ผมไม่พูดถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จ อันนั้นเป็นไปไม่ได้ ประเทศไทยไม่เคยเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ แบบเกาหลีเหนือหรือมีพรรคการเมืองพรรคเดียว

จึงออกแบบกติกาให้ทุกพรรค นักการเมืองทุกคนมีโอกาส มีความแฟร์มากขึ้น ต้องการให้ทุกคะแนนเสียงไม่เสียไป เสียงของประชาชนไม่หายไปไหน จะถูกนำไปคำนวณให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ใครจะบอกว่ารัฐธรรมนูญนี้ออกแบบมาเพื่อพวกเรา มันไม่ใช่

นักการเมืองทุกคนมีโอกาสเดินเข้าสภา เห็นได้จากนักการเมืองกระตือรือร้น

พรรคการเมืองจำนวนมากเตรียมลงสนามเลือกตั้ง

ถือว่านักการเมืองมี “อิสระ-โอกาส” มากขึ้น สร้างความเป็นธรรมขึ้น

วันนี้พรรคไหนจะได้คะแนนเท่าไหร่ต้องไปดูโค้งสุดท้าย นักคาดการณ์ทางการเมือง สื่อมวลชนก็ยังงงๆว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างเป็นไปได้หมด อะไรก็เกิดขึ้นได้ ตอนนี้ไม่มีใครมองออก

แถมยังมีเทคนิคทางกฎหมายเลือกตั้ง พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคแตกตัวออกไป

หวังจะโกยคะแนนที่ได้ที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งนอกจากบอกว่ากลัวการยุบพรรค

ยิ่งเมื่อเห็นนักการเมืองสังกัดพรรคเข้าที่เข้าทางแล้ว จะบอกว่าพรรคนี้ได้กี่เสียง ก็คงบอกไม่ได้ เพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการเลือกตั้ง

ไม่เหมือนการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เพียง 1 ปีก็มีการเลือกตั้ง ความสัมพันธ์ระหว่างหัวคะแนนกับประชาชนยังคงอยู่ ท่อน้ำเลี้ยงไม่เหือดแห้ง

แต่ 5 ปีที่ผ่านมาทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะ อาทิ ปกตินักการเมืองต้องหล่อเลี้ยงหัวคะแนน พอไม่ได้หล่อเลี้ยง หรือคิดในแง่เหตุผลว่า ถ้าไม่มีประโยชน์แล้วฉันจะซื่อสัตย์กับเธอทำไม คนเราจะมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีก็ต่อเมื่อมีผลประโยชน์

ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าประชาชนยังจะมีความผูกพันกับนักการเมืองที่เคยเลือกหรือไม่

หรือจะเปลี่ยนตามพรรคการเมือง อาจจะเลือกนักการเมืองที่ชอบ แต่พรรคอาจจะไม่ใช่

เหมือนคนเราเป็นแฟนกัน ไม่ได้เจอกันตั้ง 5 ปี ผมว่าเขาเลิกกันนะ

ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็เห็นชัดเจนก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

หลักความเป็นจริงไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้งใด จะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

การแบ่งเขตใหม่อาจจะมีข้อดี เปิดโอกาสให้นักการเมืองหน้าใหม่ๆหรือหน้าเก่า มีโอกาสมากขึ้น

ไม่เช่นนั้นเจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งมีฐานเสียงเข้มแข็งก็จะชนะตลอดกาล แต่ถ้าเอื้อให้นักการเมืองใหม่หรือหน้าเก่า ซึ่งมาจากพรรคที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล คสช. การแบ่งเขตคราวนี้ย่อมจะไม่เป็นธรรมอย่างชัดเจน

ขณะที่โครงการต่างๆ มีนโยบายช่วยเหลือประชาชน ซึ่งทับซ้อนกับพรรคการเมือง เห็นได้ชัดว่าเป็นคนของรัฐบาล ย่อมทำให้กระบวนการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะกรณีพรรคการเมืองที่สัมพันธ์กับรัฐบาล คสช.ยังเดินหน้าเสนอโครงการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเสรี แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถหาเสียงได้อย่างเสรี ถือว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งไม่เสรี

ยังไม่รวมถึงการรัฐประหารที่ลงเอยโดยการส่งผ่านอำนาจไปสู่ผู้นำทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือก่อให้เกิดการเลือกตั้งไม่ “เสรี-เป็นธรรม”

หากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นอดีตผู้นำรัฐประหารจะนำประเทศไปสู่วิกฤติอาจจะปะทุขึ้นทันที หรือกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่

หนทางสกัดวิกฤติใหญ่

1.ผู้นำรัฐประหารควรประกาศชัดเจนว่าจะยุติบทบาทผู้นำทางการเมืองทันทีและจะไม่รับตำแหน่งใดๆ

2.พรรคการเมืองและประชาชนที่เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ “เสรี-เป็นธรรม” ควรจะต้องออกมาเรียกร้อง ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งกระบวนการเลือกตั้งที่ “เสรี-เป็นธรรม”

หรือจะทำแบบพรรคประชาธิปัตย์ โดย “บอยคอตการเลือกตั้ง” ไม่ใช่หิวเลือกตั้ง คิดแค่อยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ โดยมองว่าตัวเองหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนอยู่อาจจะชนะ

แต่ถ้าแพ้เมื่อไหร่ก็จะออกมาประท้วงไม่ยอมรับ กลายเป็นพวกขี้แพ้ชวนตี

เพราะการนิ่งเฉยและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งด้วยความสมัครใจถือว่ายอมรับกติกาไปเรียบร้อยแล้ว

3.ถ้ากระบวนการเลือกตั้งที่ไม่ “เสรี-เป็นธรรม” พรรคการเมืองที่ไม่ได้สัมพันธ์กับ คสช.ชนะเลือกตั้ง แต่ ส.ว.ที่เชื่อกันว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของ คสช. ได้ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีอย่าง “เสรี-เป็นธรรม”

ย่อมเป็นหนทางเลี่ยงวิกฤติได้

แต่ถ้าเสียงประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจว่าการเลือกตั้งมีปัญหา

สนับสนุนพรรคการเมืองที่ได้เปรียบจากกติกาที่สร้างขึ้นมา

ก็เป็นผลมาจากความเบื่อเซ็ง “ประชาธิปไตยสุดโต่ง” ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นแรงส่งให้ไม่จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม

ถ้าเวลาผ่านไปผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ดั่งที่คาด แรงสนับสนุนดังกล่าวจะเหวี่ยงกลับอย่างแรง พึงระวังสำหรับทุกคนทุกกลุ่มที่พัวพัน เพราะผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่มีใครรู้ว่าใครลงคะแนนอย่างไร ไม่ต้องรับผิดชอบ

ทั้งนี้ทั้งนั้นน่าสนใจว่าขณะนี้ภาพรวมการเมืองยังบอกอะไรไม่ได้ เพราะอีนุงตุงนังมาก

ยิ่งย้อนไปดูประวัติศาสตร์การรัฐประหารก็จะพบว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเยอะที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในศตวรรษที่ 20 ไทยทำรัฐประหารติดอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงประเทศอาร์เจนตินาและประเทศกรีซ

พอขยับเข้าศตวรรษที่ 21 ไทยทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ติดอันดับ 3 ของโลกและทำรัฐประหารบ่อยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราทำรัฐประหารบ่อย แต่อยู่ในอำนาจไม่ยาว ไม่เหมือนประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย

ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ไม่มีการทำรัฐประหาร และมีประสบการณ์อยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกแบบอำนาจนิยม ในกัมพูชามีการเลือกตั้ง คุณจะเอาการเลือกตั้งแบบนี้หรือ ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีของประเทศนี้ครองอำนาจยาวนานที่สุดในโลก

ทั้งหมดกำลังจะบอกว่าปกติเส้นทางประวัติศาสตร์จะไม่มีการสืบทอดอำนาจในรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้น

ถ้าผู้นำรัฐประหารสืบทอดอำนาจโดยผ่านการเลือกตั้ง

ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่

กำลังจะชวนคิดว่าปัจจัยที่ทำให้เผด็จการทหารอยู่ยาวหลัง

การทำรัฐประหารไม่ได้ และรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นอำนาจนิยมพลเรือนก็อยู่ไม่ได้นาน

เพราะเอกลักษณ์ของไทยมีความโดดเด่นด้านเสาหลักของชาติและคนไทยเบื่ออยู่ภายใต้เผด็จการนานๆ

ยังไม่นับรวมกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆอีก ทั้งนายทุนเศรษฐกิจ กองทัพ

ถ้ากองทัพพ่วงกับผู้นำที่เกษียณ ผมว่าขาลอย หากเกิดวิกฤติก็ต้องเอาผลประโยชน์ของกองทัพ

ไม่ยอมเสื่อมไปกับผู้นำที่ล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน

แต่กองทัพจะออกได้ต้องดูตาม้าตาเรือ และดูจังหวะทิศทางลมฟ้าอากาศให้ดี

ฉะนั้นพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งคิดว่ามีบรรดานักการเมืองลงตัว จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี

การสืบทอดอำนาจแบบนี้จะเป็นปรากฏการณ์หน้าใหม่ประวัติศาสตร์การเมือง

แต่รัฐบาลจะอยู่ยาวไม่ได้ เพราะติดปัจจัยสำคัญในความเป็นเอกลักษณ์ของไทย.


ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: