PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

อภิสิทธิ์ หนุนอำนาจส.ว.สรรหาแค่ให้กระตุ้นเตือนรบ. อย่าอยู่เหนือ รบ.

“อภิสิทธิ์” ไม่มีปัญหา กรธ. ให้อำนาจศาลรธน. ประชุมร่วม 5 ประธานชี้ขาด แต่ต้องอยู่ในขอบเขตกม. จี้ “มีชัย” เร่งแจงสังคมให้ชัด เชื่อ “บิ๊กตู่” เบรก ส.ว.สรรหาเลือกนายกฯ ช่วยลดแรงเสียดทาน ยัน องค์กรขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ต้องไม่มีอำนาจเหนือ “รบ.-สภาฯ”
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)พิจารณาปรับเนื้อหาในส่วนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจประธานศาลรัฐธรรมนูญ จัดประชุมร่วมกับประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หลักการที่ไม่มีบทบัญญัติโดยใช้เสียงข้างมาก ว่า ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ต้องวินิจฉัยให้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย โดยยึดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนไม่อยากให้การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบนี้มีสามารถวินิจฉัยเรื่องการเมืองได้ด้วย เพราะจะทำให้เกิดปัญหาและนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งหากการวินิจฉัยอยู่ในขอบเขต หรือเพื่ออุดช่องว่างทางกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหา เพราะที่ผ่านมามีปัญหาว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติชัดเจนว่าจะใช้ช่องทางไหน แต่ตอนนี้ช่องทางชัดเจนแล้ว ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว จะสามารถบังคับใช้และยอมรับได้ทุกฝ่ายหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครตอบได้ เพราะสิ่งที่เหนือกว่ากฎหมาย คือ การหาทางออกโดยฝ่ายการเมือง หากฝ่ายการเมืองพยายามหาทางออกทุกมิติ รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องรอง และการคลี่คลายความขัดแย้งในประเทศประชาธิปไตยสามารถทำได้โดยกระบวนการทางการเมืองมากกว่า ผมไม่ได้คัดค้านที่ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ แต่เตือนว่าอย่าหวังพึ่งกลไกนี้เป็นหลัก
เมื่อถามถึงกรณีที่ กรธ.แก้ไขขั้นตอนการอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้ที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาตั้งองค์คณะใหม่มาพิจารณา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นว่าควรกลับไปใช้ตามดีกว่า คือ ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา เพราะการยื่นอุทธรณ์ควรชัดเจนว่า ผู้พิจารณาอยู่ในระดับที่สูงกว่าองค์คณะ ซึ่งการกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเหมาะสมแล้ว เพราะชัดเจนว่าสูงกว่าการพิจารณาขององค์คณะ การตั้งองค์คณะใหม่จะไม่ชัดเจนว่า จะมีระดับที่สูงกว่าองค์คณะเก่าที่มาจากศาลฎีกาหรือไม่ และหากจะให้มีการอุทธรณ์ต้องมีการจำกัดขอบเขตให้ชัดเจน เช่น มีพยานหลักฐาน หรือข้อเท็จจริง โดยไม่ใช่ว่า เมื่อแพ้คดีจากศาลหนึ่งก็ไปลุ้นคดีอีกศาลหนึ่งโดยการขอเปลี่ยนองค์คณะผู้พิพากษา
เมื่อถามว่า การเปลี่ยนกติกานี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯได้รับอานิสงฆ์จากกรณีนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลที่ต้องเขียนให้ชัดเจน เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนโครงสร้าง ต้องระบุว่า สิ่งที่ค้างอยู่ตามกติกาเดิมจะให้ไปต่ออย่างไร จึงต้องถาม กรธ.ว่าคิดอย่างไร ขอให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.อธิบายเหตุผลและชี้แจงสังคมในการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาส่วนนี้ด้วย เพราะหากไม่ต้องการให้มีผลผูกพันกับคดีที่ค้างอยู่ต้องกำหนดให้ชัดเจนในบทเฉพาะกาล
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีความเห็นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ต้องการให้มีส.ว.สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การที่นายกฯยืนยันว่าจะไม่ให้ส.ว.มีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรี อาจทำให้แรงเสียดทานลดลง แต่ต้องรวมอำนาจหน้าที่ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะส่วนตัวเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา หรือเลือกไขว้ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอยู่แล้ว และที่บอกว่าต้องการให้ส.ว.มีอำนาจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศนั้น หากเป็นการขับเคลื่อนเหมือนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ไม่มีปัญหาอะไร หรือต้องการให้มีองค์กรที่เตือนรัฐบาลเพื่อไม่ให้การปฏิรูปชะงัก ก็ไม่เป็นปัญหา แต่ต้องไม่ไปไกลถึงขั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะจะกลายเป็นเรื่องการเมือง จึงต้องดูว่าจะมีการวางกลไกนี้อย่างไรในช่วงเปลี่ยนผ่าน
“ส่วนตัวเห็นว่าควรจะมีบทบาทในการกระตุ้นเตือนรัฐบาล แต่ไม่ใช่มีอำนาจเหนือรัฐบาล หรือ สภาผู้แทนฯ ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหา เพราะขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องทิศทาง ซึ่งในระยะยาวเรามีในแนวนโยบายแห่งรัฐอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำแผนหรือออกกฎหมาย เพราะจะเป็นการเพิ่มความซับซ้อน สร้างความยุ่งยากในระบบราชการ เกรงว่าแทนที่จะเดินหน้าได้จะกลายเป็นการดึงกันไปมามากกว่า เพราะกลไกที่กำลังจะสร้างขึ้น อาจกลายเป็นเงื่อนไขที่เกิดปัญหาในช่วงเปลี่ยนผ่านมากกว่าจะแก้ปัญหาที่คาดหวังไว้ส่วนจะเป็นรัฐซ้อนรัฐหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ถ้ามีอำนาจเหนือรัฐบาลก็ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งที่จะเป็นหลักประกันในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่การเขียนกฎหมายหรือเขียนแผนบนแผ่นกระดาษ ต้องให้สังคมสนับสนุน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: