PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

รายงาน : รุก รับ การเมือง จากดีเบตถึง 250 ส.ว. ประยุทธ์ คสช.

รายงาน : รุก รับ การเมือง จากดีเบตถึง 250 ส.ว. ประยุทธ์ คสช.



เหมือนกับการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ จะเป็นการรุกทางการเมือง เหมือนกับการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นการรุกทางการเมือง

บนพื้นฐานความเชื่อมั่นว่า

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” อย่างที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แห่งพรรคพลังประชารัฐ สรุปด้วยความจัดเจน

ความจัดเจนจากพรรคกิจสังคม ความจัดเจนจากพรรคมัชฌิมาธิปไตย

แต่ยิ่งใกล้วันที่ 22 มีนาคม มากเพียงใด ความคิดที่ว่าเป็น “การรุก” ทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐกลับมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

แท้ที่จริงแล้วกลับเป็น “การตั้งรับ”

ตั้งรับในเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความกล้าที่จะขึ้นเวที “ดีเบต” ประชันวิสัยทัศน์หรือไม่กับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

และกำลังตั้งรับในเรื่อง 250 ส.ว.

ความไม่แน่ไม่นอนในเรื่อง “หลักเกณฑ์” และการตัดสินใจต่อประเด็นการขึ้นเวที “ดีเบต” เพื่อประชันวิสัยทัศน์กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นเองที่กำลังกลายเป็นประเด็น

ประเด็นในเรื่อง “ความพร้อม” ประเด็นในเรื่อง “ความมั่นใจ”

ยิ่งบรรยากาศของการดีเบตตามช่องทางต่างๆ ของสังคมเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ยิ่งทำให้นำไปสู่การเปรียบเทียบโดยอัตโนมัติ

มิใช่ นายอุตตม สาวนายน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค

มิใช่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรค มิใช่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการพรรค และยิ่งมิใช่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ซึ่งเป็นโฆษกพรรค

หากจำเป็นต้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น


ขณะเดียวกัน ขณะที่กรณีดีเบตยังไม่มีคำตอบ ก็เกิดการตั้งประเด็นในกรณีที่ คสช.กำลังคัดสรร 250 ส.ว.เพื่อไปเป็นฐานทางการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประดังเข้ามาอีก

ท่ามกลางความคลางแคลงใจของสังคม

การกำหนดให้ ส.ว.มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาพร้อมกับคำถามพ่วงในการทำประชามติเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ถือเป็นจุดแข็งอย่างแน่นอน

ถือเป็นมาตรการรุกใหญ่ในทางการเมือง

สร้างความมั่นใจเป็นอย่างสูงต่อความคิดในการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยผ่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปอย่างน้อยอีก 4 ปี

แต่คำถามมิได้อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ คสช.เพียงกลุ่มเดียวสามารถตั้งได้ 250 ส.ว.

ขณะที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศกว่า 50 ล้านคนสามารถเลือกตัวแทนเข้ามาสู่ระบบรัฐสภาได้เพียง 500 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจยิ่งกว่า 50 ล้านคน

ขณะเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง 250 ส.ว.มาเพื่อให้มีอำนาจในการโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีจะมิเป็น “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ละหรือ

นี่ละหรือ คือ “ธรรมาภิบาล” ที่บ่นท่องกันมาเกือบ 5 ปี

ไม่ว่ากรณีการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่กระบวนการ “ดีเบต” ไม่ว่ากรณีการแต่งตั้ง 250 ส.ว.เพื่อไปเป็นฐานเสียงของตนในวุฒิสภา

ที่เคยคิดว่าเป็นแต้มต่อ ทำให้ได้เปรียบทางการเมือง

เมื่อสถานการณ์เข้าสู่โหมดแห่งการเลือกตั้ง มาตรการ “รุก” และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองกลับกลายเป็นประเด็นและนำไปสู่ความคลางแคลงกังขา

ที่มาดหมายว่าจะ “รุก” อาจกลายเป็น “รับ” ก็เป็นไปในทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: