PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ร้องไห้หนักมาก!! เมื่อรู้เบื้องหลังว่าทำไม ดีเซลพม่า 14 บาท แต่ดีเซลไทย 19 บาท !?

    ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ร้องไห้หนักมาก!!  เมื่อรู้เบื้องหลังว่าทำไม ดีเซลพม่า 14 บาท แต่ดีเซลไทย 19 บาท !?
        เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ราคาเบนซิน 95 ณ หน้าโรงกลั่นไทย พบว่า น้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 12.02 บาท แต่ในขณะที่ "เอทานอลไทย" ซึ่งใช้เติมผสมในน้ำมันเบนซินเพื่อให้ได้แก๊สโซฮอลนั้นมีราคาลิตรละ 23.82 บาท หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือมีราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซินถึงเกือบ 2 เท่าตัว 
      
       หมายความว่าในความเป็นจริงแล้วยิ่งเติมเอทานอลมากขึ้นในน้ำมันเบนซินเพื่อเป็นแก๊สโซฮอลมากขึ้นเท่าใด ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอลก็ควรจะแพงมากขึ้นเท่านั้น
      
       แต่รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมให้คนไทยสนับสนุนการใช้เอทานอลผ่านแก๊สโซฮอล จึงต้องใช้มาตรการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และเรียกเงินจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อดันให้น้ำมันเบนซิน 95 แพงขึ้นจนไม่มีใครต้องการใช้ โดยมีราคาขายปลีกสูงถึง 30.06 บาทต่อลิตร และแพงกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอลทุกชนิด และยิ่งเติมเอทานอลมากเท่าใดก็ยิ่งต้องหาเงินเข้ากองทุนน้ำมันซึ่งเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันชนิดอื่นๆไปสนับสนุนให้กับโรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตแก๊สโซฮอลมากขึ้นเท่านั้น
      
       สิ่งที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าคือ เกิดการ "ฝืนตลาด" แบบกลับหัวกลับหาง จากเดิม ราคา ณ หน้าโรงกลั่นน้ำมันไทย น้ำมันเบนซินยิ่งผสมเอทานอลมากขึ้นเท่าใดก็ควรจะยิ่งแพงมากขึ้นไปเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าน้ำมันเบนซิน 95 แพงที่สุดแต่ยิ่งผสมเอทานอลมากเท่าใดราคาแก๊สโซฮอลชนิดนั้นก็ยิ่งถูกลง จนถูกที่สุดคือแก๊สโซฮอล E85 (น้ำมันเบนซินผสมเอทานอลสูงถึง 85 %) ซึ่งได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันที่ต้องจ่ายให้กับผู้ที่ใช้น้ำมันประเภทนี้ถึงลิตรละ 9.23 บาท
      
       ด้วยเหตุผลนี้เองประเทศพม่าแม้ไม่ได้มีโรงกลั่นน้ำมันมากเท่ากับประเทศไทย และเน้นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ แต่ไม่มีกลไกการบิดเบือนราคาดังกล่าว จึงสามารถขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ในวันที่ 21 มกราคม 2559 เพียงลิตรละ 18.42 บาทเท่านั้น ถูกกว่าเบนซิน 95 ขายปลีกที่ประเทศไทยซึ่งสูงถึงลิตรละ 30.06 บาท และยังถูกกว่าราคาขายปลีกน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ลิตรละ 23.10 บาทอีกด้วย
      
       ไม่ต้องพูดถึงประเทศมาเลเซียที่น้ำมันเบนซิน 95 อยู่เพียงแค่ 15 บาทต่อลิตรเท่านั้น
      
       ความจริงที่คนไทยควรรู้เอาไว้ก็คือราคาเอทานอลที่มาผสมในน้ำมันเบนนซินเพื่อผลิตเป็นแก๊สโซฮอลนั้น รัฐได้มีสูตรคำนวณให้โรงกลั่นลิตรละ 23.82 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงเกินกว่าตลาดต่างประเทศ เมื่อเทียบกับบราซิลหรือสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ประมาณ 18 -19 บาท และข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นคือการชดเชยของกองทุนน้ำมันนั้นชดเชยไปให้ "โรงกลั่นน้ำมัน" ไม่ได้ชดเชยให้โรงงานเอทานอล ไม่ใช่โรงงานน้ำตาล และไม่ใช่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและน้ำตาล
      
       ถ้าจะเปรียบเทียบกับสินค้าข้าว ก็คือรัฐนำงบประมาณไปชดเชยอุ้มราคาข้าวให้กับโรงสีข้าว ไม่ได้ไปชดเชยตรงๆให้กับชาวนา ส่วนจะตกถึงมือชาวนาเท่าไหร่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (แล้วแต่โรงสีข้าว)
      
       แต่ที่แน่ๆก็คือคนไทยยังไม่มีโอกาสใช้ราคาของน้ำมันเบนซินที่ลดลงอย่างมากตามกลไกตลาดโลกเพราะติดพันธนาการจาก "เอทานอลไทย"
      
       แต่ปัญหาลักษณะโครงสร้างเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะน้ำมันเบนซินเท่านั้น แต่เกิดความยุ่งยากมากกว่านั้นใน "น้ำมันดีเซล" อีกด้วย
      
       ประเทศไทยมีสูตรคำนวณสำหรับราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นไทยให้สูงกว่าสิงคโปร์ โดยเท่ากับ ราคา อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์ + ค่าขนส่ง+ค่าประกันภัย+ค่าปรับปรุงคุณภาพ+ค่าสูญเสียระหว่างทาง+ค่าพรีเมียม
      
       เมื่อพิจารณา ราคาน้ำมัน อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์ และ ราคาน้ำมัน ณ หน้าโรงกลั่นไทย เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ก็จะพบข้อมูลดังนี้
      
       ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์ อยู่ที่ 10.74 บาทต่อลิตร ในขณะที่หน้าโรงกลั่นไทยวันที่ 21 มกราคม 2559 เริ่มต้นราคาเบนซิน 95 ที่ 12.02 บาทต่อลิตร ซึ่งหมายถึงเพิ่มขึ้นมา 1.28 บาทต่อลิตร
      
       ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (ซัลเฟอร์ 0.05%) อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์อยู่ที่ 7.11 บาทต่อลิตร ในขณะที่หน้าโรงกลั่นไทยวันที่ 21 มกราคม 2559 เริ่มต้นราคาดีเซลที่ 9.83 บาทต่อลิตร ซึ่งหมายถึงเพิ่มขึ้นมา 2.72 บาทต่อลิตร
      
       คำถามมีอยู่ว่าราคาส่วนต่างระหว่างราคา อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์ กับ ราคา ณ หน้าโรงกลั่นไทย นั้นมีส่วนต่างระหว่างดีเซลประมาณ 2.72 บาทต่อลิตร เพราะเหตุใดจึงมีส่วนต่างมากกว่าเบนซินซึ่งอยู่ที่ประมาณ 1.28 บาทต่อลิตร ทั้งๆที่ฐานคำนวณของราคาน้ำมันดีเซลที่อ้างอิงสิงคโปร์นั้นถูกกว่าเบนซินมาก
      
       คำตอบที่ได้ส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก "ไบโอดีเซล"!!!
      
       ราคาไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบของไทยนั้นมีราคาลิตรละ 32.37 บาท!!!!
      
       หมายความว่ายิ่งเติมไบโอดีเซลซึ่งมีราคาลิตรละ 32.37 บาท ไปเติมผสมในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว %) อ้างอิงตลาดน้ำมันสำเร็จรูป สิงคโปร์อยู่ที่ลิตรละ 7.11 บาท ก็ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลนั้นก็จะยิ่งแพงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
      
       ปัญหานี้คล้ายๆกับเอทานอล แต่ในเวลานี้ไบโอดีเซลนั้นแพงกว่าเอทานอลมาก เพราะเอทานอลไทยอยู่ที่ 23.82 บาทต่อลิตร แต่ไบโอดีเซลไทยแพงกว่านั้นไปอีกถึง 32.37 บาทต่อลิตร 
      
       ซึ่งประกาศกรมธุรกิจพลังงาน ได้กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2558 ให้ผสมไบโอดีเซลร้อยละ 6.5-7 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป และนั่นคือจุดเริ่มต้นของน้ำมันดีเซลไทยที่แพงกว่าราคา ณ อ้างอิงที่สิงคโปร์
      
       ปัญหาก็ยังคงคล้ายกับแก๊สโซฮอล์อย่างไม่มีผิดเพี้ยน คือสูตรการคำนวณไบโอดีเซลไทยที่สูงมากถึง 32.37 บาทนั้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์ในการชดเชยไปก็คือ "โรงกลั่นน้ำมัน"อยู่ดี ไม่ใช่โรงงานไบโอดีเซล และไม่ใช่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน
      
       ปัญหานี้ความจริงเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ประชาชนเริ่มตื่นรู้และตั้งคำถามมากขึ้น ส่งผลทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน จึงได้ให้สัมภาษณ์ว่าได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษาต้นทุนราคาเอทานอล และไบโอดีเซล ตั้งแต่พืชวัตถุดิบ ด้านการตลาด ที่มีราคาแพงกว่าน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยให้ไปเปรียบเทียบกับราคาเอทานอลของประเทศเพื่อนบ้านว่าสูงไปหรือไม่แล้ว
      
       แต่ปัญหาของน้ำมันดีเซล มีความสลับซับซ้อนมากไปกว่านั้น โดยเฉพาะเมื่อปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายให้น้ำมันดีเซลไม่ควรต่ำกว่า 20 บาทต่อลิตร เพราะกลัวคนไทยใช้ไม่ประหยัด หรือสิ้นเปลือง จึงส่งผลทำให้ต้องบวกทั้งภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมัน ฯลฯ จนส่งผลทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 อยู่ที่ 19.29 บาทต่อลิตร
      
       ลำพังน้ำมันเบนซินก็พอจะเข้าใจได้ว่าผู้ที่ใช้นั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีรถยนต์ แต่น้ำมันดีเซลนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งก็เพราะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในภาคการผลิตของประเทศไทย ดังนั้นถ้าคิดแต่เรื่องความไม่ประหยัดแล้ว ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไปได้ 
      
       เพราะผลการสำรวจปริมาณการผลิตและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงพบว่าคนไทยใช้น้ำมันเบนซินประมาณ 31 ล้านลิตรต่อวัน แต่ใช้น้ำมันดีเซลถึง 71 ล้านลิตรต่อวัน ราคาน้ำมันดีเซลจึงเป็นตัวกำหนดความสามารถในการแข่งขันในภาคขนส่ง การเกษตร และการผลิตที่สำคัญอย่างยิ่ง
      
       ประเทศมาเลเซียซึ่งมีนโยบายกำหนดราคาพลังงานให้ต่ำแต่รัฐต้องไม่ขาดทุน โดยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 13 บาทเท่านั้น ส่วนประเทศพม่านั้นขายปลีกน้ำดีเซลอยู่เพียงลิตรละ 13.95 บาทเท่านั้น ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ขายปลีกน้ำมันดีเซลสูงถึงลิตรละ 19.29 บาท 
      
       ข้ออ้างเรื่องความไม่ประหยัดอาจจะฟังไม่ขึ้น เพราะคนไทยย่อมเลือกพลังงานที่ถูกกว่าตามธรรมชาติ แต่น่าจะมีอะไรที่ซ่อนมากไปกว่านั้น หรือไม่?
      
       ลองจินตนาการตามต่อดูว่าถ้าราคาน้ำมันดีเซลลดลงไปจนใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านประมาณ 14 บาทต่อลิตร (เหมือนพม่า) จะเกิดอะไรขึ้น?
      
       ถ้ารถบรรทุกต้องการวิ่ง 100 กิโลเมตร และใช้น้ำมันดีเซลซึ่งจะทำให้รถวิ่งได้ 3 กิโลเมตรต่อลิตร ผลก็คือต้องใช้น้ำมันดีเซลประมาณ 33.33 ลิตร เมื่อราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 14 บาท ก็จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 466.62 บาท (ประเมินจากการสำรวจข้อมูลรถบรรทุกขนาด 300 แรงม้าพร้อมน้ำหนักบรรทุกตามกฏหมาย)
      
       แต่ถ้ารถบรรทุกต้องการวิ่ง 100 กิโลเมตร และใช้ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งจะทำให้รถวิ่งได้ 2 กิโลเมตรต่อเอ็นจีวี 1 กิโลกรัม ผลก็คือต้องใช้ก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 50 กิโลกรัม เมื่อราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 13.50 บาท ก็จะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 775 บาท (ประเมินจากการสำรวจข้อมูลรถบรรทุกขนาด 300 แรงม้าพร้อมน้ำหนักบรรทุกตามกฏหมาย)
      
       นั่นหมายถึง ถ้าปล่อยน้ำมันดีเซลลดลงตามประเทศเพื่อนบ้านแล้ว จะส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของน้ำมันดีเซลถูกกว่าก๊าซเอ็นจีวีถึง 39.8%!!!
      
       แม้ต่อให้วันนี้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ 19.29 บาทต่อลิตร ในระยะการวิ่ง 100 กิโลเมตร ก็จะใช้เงินเพียง 642.93 บาท ซึ่งก็ถูกกว่าการใช้ก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 17.04% อยู่ดี
      
       แปลว่าในวันนี้ราคก๊าซเอ็นจีวีไม่น่าสนใจเท่ากับดีเซลอีกแล้ว นั่นหมายถึงว่า ถ้าน้ำมันดีเซลลงตามตลาดโลก และอยู่ใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะส่งผลทำให้คนมีแรงจูงใจที่จะเติมน้ำมันดีเซลมากกว่าก๊าซเอ็นจีวี หรืออาจเลิกใช้เอ็นจีวีไปเลยก็ได้ถ้าไม่ยอมลดราคาก๊าซเอ็นจีวีให้ลงมากกว่านี้
      
       เพียงแต่ในทุกวันนี้ที่รถบรรทุก หรือรถโดยสาร จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่กลับมาใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด ก็เพราะที่ผ่านมารถเหล่านี้ได้ลงทุนติดตั้งระบบก๊าซเอ็นจีวี คันละ 4-5 แสนบาทไปแล้ว ดังนั้นเมื่อราคาดีเซลลดต่ำลงก็ยังไม่สามารถกลับมาใช้น้ำมันดีเซลได้ จึงต้องยอมทนก้มหน้าใช้เอ็นจีวีต่อไป
      
       แต่ผู้ประกอบการบางคนก็ดิ้นรนไม่ยอมที่จะใช้พลังงานที่แพงกว่า เพราะเห็นว่าไม่คุ้มค่าก็สามารถที่แปลงเครื่องกับมาใช้ดีเซลแบบเดิม ก็ต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ เพียงแต่ค่าใช้จ่ายเท่าๆกับการแปลงเครื่องยนต์ในครั้งแรก
      
       หรือถ้าเป็นรถใหม่ก็คงตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้นว่าเติมน้ำมันดีเซลคุ้มค่ากว่าไปเปลี่ยนระบบให้เป็นระบบก๊าซเอ็นจีวี
      
       นั่นหมายความว่าทุกวันนี้มีแนวโน้มที่คนหันมาใช้ดีเซลมากขึ้น และใช้เอ็นจีวีน้อยลงเพราะปัญหาปัจจัยราคา ไม่ใช่ดังที่กระทรวงพลังงานอ้างว่าประชาชนจะไม่ประหยัดหากน้ำมันดีเซลถูกลง ใช่หรือไม่?
      
       ดังนั้นการลดราคาดีเซลย่อมจะส่งผลทำให้ราคาก๊าซเอ็นจีวีจะต้องถูกกดดันให้ต่ำลงกว่านี้อีกมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการเติมน้ำมันดีเซลนั้นนอกจากจะมีความปลอดภัยมากกว่าแล้ว ยังทำให้อายุการใช้งานเครื่องยนต์สั้นลง และค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่ารถใช้น้ำมันดีเซลอีกด้วย
      
       ทุกข์ของคนไทยบางกลุ่มที่อาจต้องร้องไห้หนักมากเพราะอุตส่าห์ลงทุนเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ระบบก๊าซเอ็นจีวี ก็เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี โดยออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ. 2545 ว่าให้ราคาขายปลีกของก๊าซเอ็นจีวีต้องต่ำกว่าน้ำมันดีเซลถึง 50%
      
       แต่หลังปี 2550 เป็นต้นมานโยบายโดยมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนทยอยปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีให้สูงขึ้นเรื่อยๆตามสารพัดสูตรคำนวณจนเป็นอยู่แบบทุกวันนี้ ประชาชนบางส่วนจึงรู้สึกเหมือนตัวเองถูกภาครัฐหลอกให้เปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อติดก๊าซเอ็นจีวี หรือไม่?
      
       แต่ด้วยการผูกขาดการขายก๊าซเอ็นจีวีเพียงรายเดียว ซึ่งไม่อยากให้ประชาชนเลิกใช้ และไม่อยากปรับสูตรราคาใหม่ให้ลดลงด้วย ก็เลยต้องดันราคาดีเซลให้แพงเข้าไว้ และเพราะก๊าซเอ็นจีวีเป็นธุรกิจผูกขาดจึงไม่มีใครให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนการบริหารจัดการในการผูกขาดก๊าซเอ็นจีวีว่ามีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?
      
       ดังนั้นถ้าอยากให้ประชาชนยังคงใช้ก๊าซเอ็นจีวีต่อไป ทางแก้จึงไม่ใช่การผลักดันให้น้ำมันราคาดีเซลแพงกว่าที่ควรจะเป็น (จนแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน) แต่ควรทบทวนปรับราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีให้ลดลงมากกว่านี้ จนสามารถแข่งขันกับน้ำมันดีเซลได้จึงจะเป็นการแก้ที่ตรงประเด็นที่สุด และทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นได้ด้วย
      
       ถึงเวลาที่ต้องยอมรับความจริงที่ประเทศไทยจะต้องยอมรับกลไกตลาดโลก และทบทวนโครงสร้างราคาและสูตรของเอ็นจีวีแบบไทยๆได้แล้วหรือไม่?
       

ไม่มีความคิดเห็น: