ร่างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2559 (อย่างไม่เป็นทางการ)
เรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 หรือไม่
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 ได้บัญญัติให้คุ้มครองบรรดาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้วซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาโดยตลอด และสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจึงถือว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 คุ้มครองนั้น อาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ให้กระทำได้เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน เป็นต้น และการจำกัดเสรีภาพเช่นว่านั้นต้องกระทำเท่าที่จำเป็น จะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ทั้งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคลลหนึ่งเป็นการเจาะจง ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ผ่านมาบัญญัติไว้
การออกเสียงประชามติ เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจทางการเมืองโดยตรงของประชาชนด้วยการลงคะแนนออกเสียงแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อข้อเสนอในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ อธิปไตยของรัฐ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ มาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายสาธารณะที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติ หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป โดยทั่วไปการออกเสียงประชามติต้องมีการเปิดให้ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านในประเด็นที่จะขอประชามติได้มีโอกาสรณรงค์แข่งขันโน้มน้าวสาธารณชนได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง และการออกเสียงประชามติต้องเป็นการตัดสินใจโดยอิสระและโดยลับ แต่ปรากฏจากการปฏิบัติของนานาประเทศในเรื่องการจัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในปัจจุบันมี 2 ลักษณะ คือ การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (constitution – changing) ลักษณะหนึ่ง และการออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ (constitution – framing) อีกลักษณะหนึ่ง
การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เป็นการจัดการออกเสียงประชามติที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยการออกเสียงประชามติถือเป็นขั้นตอนของกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายใต้กลไกในระบบรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงบางส่วนหรือทั้งฉบับ การออกเสียงประชามติดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองแบบตัวแทน การรณรงค์ทางการเมืองในช่วงก่อนการออกเสียงประชามติถือเป็นขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ และองค์กรของรัฐทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการออกเสียงประชามติโดยการจัดกิจกรรมให้การแข่งขันระดมเสียงสนับสนุนของทุกฝ่ายดำเนินไปอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎกติกาในเรื่องต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งแต่ละฝ่ายต่างมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอข้อมูล ความคิดเห็น และเหตุผลข้อโต้แย้ง ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิออกเสียงตัดสินใจสนับสนุนทางเลือกของฝ่ายตน ซึ่งการออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 165 เทียบเคียงได้กับลักษณะนี้
ส่วนการออกเสียงประชามติเพื่อวางกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ เป็นกลไกการออกเสียงประชามติที่ปรากฏในกระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ ภายหลังจากรัฐธรรมนูญเดิมที่บังคับใช้มาสิ้นสุดลง การออกเสียงประชามติลักษณะนี้ปรากฏในกรณีที่ประเทศนั้นประสบวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ จนส่งผลให้ระบบการเมืองล้มเหลวและประเทศตกอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจการปกครองอย่างเป็นทางการโดยรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งการออกเสียงประชามติในลักษณะนี้จัดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือกฎหมายที่เทียบเท่า การออกเสียงประชามติดังกล่าวจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่สิ้นสภาพบังคับไปองค์กรของรัฐมีบทบาทในการกำกับควบคุมการจัดการออกเสียงประชามติตั้งแต่การกำหนดสาระสำคัญของประเด็นคำถาม การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูล รวมถึงการกำหนดกติกาการจัดการออกเสียงประชามติซึ่งการออกเสียงประชามติภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 เทียบเคียงได้กับลักษณะนี้
สำหรับพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และเพื่อให้การจัดทำประชามติเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เกิดจากการลงมติตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน โดยปราศจากการบิดเบือน บังคับ ข่มขู่ หรือจูงใจจากฝ่ายต่างๆ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงได้มีบทกำหนดความผิดและโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยหรือดำเนินการต่างๆ ที่จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยความสุจริตและเที่ยงธรรมไว้ในมาตรา 61 โดยวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย…” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” วรรคสามบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำการตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้” และวรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) เป็นการกระทำความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี”
พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายใช้บังคับเฉพาะเพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 บัญญัตไว้ โดยมีบทบัญญัติมาตรา 7 รับรองให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงได้โดยสุจริตและไมขัดต่อกฎหมาย และเพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยความเรียบร้อย สุจริต และเที่ยงธรรม จึงกำหนดให้มีมาตรการควบคุมการออกเสียงประชามติไว้ในหมวด 3 โดยมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) มีเนื้อหาในการกำหนดความผิดทางอาญาสำหรับผู้ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนมาตรา 61 วรรคสองมีลักษณะเป็นการอธิบายความหมายของการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้ผู้ใดที่ดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาบ ปลุกระดมหรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย นอกจากนี้ มาตรา 61 วรรคสอง ยังมีผลเป็นการกำหนดกรอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอีกด้วย กล่าวคือ การกระทำความผิดตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบวรรคสอง จะต้องมีองค์ประกอบความผิดดังนี้ (1) ต้องมีการกระทำ คือ การเผยแพร่ข้อความ ภาพเสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือช่องทางอื่นใด (2) การเผยแพร่ข้อความ ภาพ หรือเสียงดังกล่าว ต้องเข้าลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ (3) ผู้กระทำต้องมีเจตนาธรรมดาในการกระทำตามองค์ประกอบในข้อ (1) และข้อ (2) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 และ(4) ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษโดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ด้วย ดังนั้น การพิจารณาว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดและต้องรับโทษตามวรรคสามหรือวรรคสี่หรือไม่ จะต้องนำพฤติการณ์แห่งการกระทำของบุคคลนั้น มาพิจารณาประกอบเจตนาธรรมดาและเจตนาพิเศษด้วย
ตามหลักทั่วไป การกระทำที่จะเป็นความผิดและมีโทษทางอาญานั้น กฎหมายจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแน่นอนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการกระทำที่ต้องห้ามได้ ประกอบกับการลงโทษบุคคลทางอาญาจะต้องเป็นกรณีที่บุคคลผู้นั้นละเมิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งเท่านั้น มิเช่นนั้นจะลงโทษทางอาญาแก่บุคคลมิได้ อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีกฎหมายอาญาอาจจะใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงก็ได้ เพื่อให้ผู้ใช้กฎหมายสามารถพิจารณาพฤติการณ์ของการกระทำประกอบกับถ้อยคำตามองค์ประกอบความผิดเพื่อให้ได้ความหมายที่ถูกต้องตรงตามเจตนารมณ์อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนั้นๆ ได้ สำหรับถ้อยคำที่ชัดเจนแต่อาจมีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงนี้เป็นกรณีที่กฎหมายไม่สามารถกำหนดเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงต้องกำหนดถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงไว้ ต่อเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น จึงจะสามารถรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นเหตุการณ์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เช่น คำว่า “กลางคืน” แม้กฎหมายจะให้ความหมายชัดเจนว่าหมายถึง “เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น” แต่ก็เป็นถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเวลาใดแน่นอน ต้องพิจารณาในขณะกระทำอีกว่าในวันนั้นพระอาทิตย์ตกและขึ้นตอนกี่นาฬิกา ทั้งๆ ที่คำว่า “กลางคืน” เป็นคำที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจชัดเจนอยู่แล้วว่าหมายถึงเวลาที่ฟ้ามืดแล้ว เป็นต้น การกำหนดถ้อยคำในลักษณะดังกล่าวจึงมีความจำเป็นสำหรับการอำนวยความยุติธรรมตามพฤติการณ์อันควรแก่กรณีซึ่งไม่ขัดกับหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย” หรือ “nullum crimen, nulla poena sine lege” อีกทั้งระวางโทษในความผิดที่มีลักษณะถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจงนี้ กฎหมายมักกำหนดแต่โทษขั้นสูงไว้โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ เพื่อให้ศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมตามสภาพจิตใจ และการกระทำ ประกอบกับสภาพแวดล้อมในขณะกระทำ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ได้
ถ้อยคำในพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ที่ว่า “รุนแรง” “ก้าวร้าว” “หยาบคาย” “ปลุกระดม” หรือ “ข่มขู่” เป็นถ้อยคำที่ชัดเจนแต่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง เช่น การใช้คำว่า “หยาบคาย” หากอยู่ในวงจำกัดระหว่างเพื่อนสนิท คนใกล้ชิดหรือพวกเดียวกัน ย่อมกระทำได้ แต่หากเผยแพร่ออกไปในหมู่คนที่ไม่รู้จักไม่รู้ใจ หรือในสถานการณ์ที่ต่างกัน ก็อาจกลายเป็นการเหยียดหยาม ดูหมิ่น ดูแคลน ทำให้เกิดบาดหมางขัดเคืองใจเป็นปฏิปักษ์ต่อกันได้ เป็นต้น ถ้อยคำเหล่านี้จึงเป็นถ้อยคำที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทราบทางจิตใจ จึงไม่ใช่กรณีที่กฎหมายบัญญัติความผิดและโทษทางอาญาโดยใช้ถ้อยคำที่เคลือบคลุมหรือไม่ชัดเจนแต่ประการใด ในส่วนของโทษตามมาตรา 61 วรรคสาม แม้มีอัตราโทษขั้นสูงไม่เกินสิบปี แต่ก็ไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้เพื่อให้ศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมตามสภาพจิตใจ และการกระทำ ประกอบสภาพแวดล้อมขณะกระทำ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ ทั้งนี้ หากจะเกิดปัญหาการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาจตีความขยายขอบเขตของถ้อยคำดังกล่าวจนอาจเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน บุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจโดยมิชอบดังกล่าว ย่อมฟ้องร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจในเรื่องนั้นๆ ได้
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสื่อสาธารณะต่างๆ มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะมีประชาชนรับรู้เป็นจำนวนมาก ผู้เผยแพร่ย่อมต้องคิดทบทวนก่อนที่จะกระทำลงไป ทั้งนี้ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องการใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ไม่รุนแรง ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาบ แสดงความเป็นสุภาพชนในพื้นที่สาธารณะย่อมจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อประชาชนที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป ทำให้มีทัศนคติที่เป็นมิตรต่อกัน ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจหรือบาดหมางเพราะถ้อยคำเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังแสดงถึงบรรยากาศแห่งความปรองดองสมานฉันท์ในหมู่ประชาชน อันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยรวมอีกด้วย ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ที่รับรอบให้บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย
ดังนั้น จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ไม่ได้ห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นไปโดยสุจริต ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะต้องไม่มีเจตนามุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ทั้งจะต้องไม่เข้าลักษณะเป็นการก่อความวุ่นวาย หรือกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมโดยรวม เพื่อให้การดำเนินการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้โดยอิสระ บทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสอง จึงเป็นบทบัญญัติที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ไม่กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป รวมทั้งมิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น