PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เช็กกระแส ว่าที่ กกต.ใหม่ ชุดสเปกเทพ

เช็กกระแส ว่าที่ กกต.ใหม่ ชุดสเปกเทพ


หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการและอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายหลังคณะกรรมการสรรหา กกต.ชุดใหม่ มีมติเลือก กกต. 5 คน ได้แก่ 1.นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ 2.นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ 3.นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ 4.นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ และ 5.นายประชา เตรัตน์ โดยจะรอผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอีก 2 คน เพื่อเป็น กกต.ชุดใหม่ทั้ง 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี


แฟ้มภาพ

สดศรี สัตยธรรม

อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
รายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 5 คน ที่ได้รับการสรรหา เป็นตามที่กฎหมายกำหนดว่ามาจากหลากหลายอาชีพ เพียงแต่ไม่มีจากเอ็นจีโอ ซึ่งเคยมีทุก กกต.มาแล้ว ส่วนอดีตอธิการบดี 2 คน ก็เป็นฝ่ายบริหารมา ก็คงสามารถทำงานแทนเอ็นจีโอได้ เพราะอยู่กับประชาชนในท้องถิ่นมา ก็สามารถทำงานด้านการมีส่วนร่วมได้ ส่วนคนที่มาจาก กทช. ก็เก่งด้านประชาสัมพันธ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าท่านเก่ง คิดว่างาน กกต.ด้านประชาสัมพันธ์คงไม่มีปัญหา เพราะท่านทำอยู่แล้วอาจจะดีกว่าเดิมก็ได้ ส่วนด้านกฎหมาย ทางศาลฎีกาก็ดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม งานของ กกต.ครั้งนี้เกี่ยวกับกระทรวงมหาดไทยโดยตรง คือการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นเมื่อนายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดมหาดไทย ได้รับการสรรหาเข้ามา ก็เป็นผลดี สามารถประสานกับกระทรวงมหาดไทยได้

ส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและมีองค์กรที่มีอำนาจซ้อนขึ้นมาคือผู้ตรวจการเลือกตั้งแทน กกต.จังหวัด จึงสำคัญว่า กกต.ทั้ง 7 ท่าน จะสามารถประสานงานกับผู้ตรวจการเลือกตั้งได้ดีหรือไม่ ถือเป็นปัญหาสำคัญ คงไม่ใช่ว่าจะข่มเขาได้เหมือน กกต.จังหวัดที่มีอยู่เดิม สิ่งเหล่านี้จึงอยู่ในมือของ กกต.ทั้ง 7 ท่านว่าจะทำได้หรือไม่ และงานแรกที่ กกต.ชุดใหม่ต้องรับผิดชอบคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะหมดวาระลงในปี 2561 คงเป็นการซ้อมฝีมือของท่านว่าทำได้สำเร็จหรือไม่ และการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นมาตามโรดแมป เดือนพฤษภาคม 61 ก็เป็นงานสำคัญ เพราะการเลือกตั้งเป็นแบบใหม่ ซึ่งจริงๆ แล้วยากมาก ทั้งการคิดคำนวณตัวเลข การพิมพ์บัตร กกต.ชุดนี้ต้องตัดสินใจและสะสางปัญหาต่างๆ

ส่วนความคาดหวังที่ กกต.ชุดใหม่จะทำงานได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่นั้น คิดว่าท่านคงทำได้ดี เพราะท่านทั้งหลายก็ผ่านประสบการณ์ในเรื่องงานบริหารมาแล้วทั้งมหาวิทยาลัย และในจังหวัด ซึ่งก็ไม่ได้ต่างจากการบริหารงาน กกต. ที่สำคัญคือต้องแก้ปัญหาต่างๆ ให้ได้ ไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างกัน และกับหน่วยงาน เพราะแต่ละคนมาจากหลายหลาก ความเห็นอาจไม่ตรงกัน ก็ยากต่อการทำงาน บางครั้งต้องตัดสินด้วยกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องศึกษาคือ กฎหมายเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง

สิ่งที่อยากฝากคือจะต้องพยายามไม่ให้เกิดปัญหา การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องไม่เป็นโมฆะ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ กกต.ชุดใหม่ก็จะหมดไป เป็นงานหนักและเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ
ส่วนที่มีการมองว่าการสรรหา กกต.ครั้งนี้ มีเด็กใครเข้ามาหรือไม่นั้น คงไม่ใช่ว่าเป็นเด็กของใคร เพราะกรรมการสรรหาซึ่งมาจากหลากหลายต้องพิจารณาตามคุณสมบัติ ส่วนคนดังๆ หลายคน ที่คิดว่าจะได้กลับไม่ได้ เป็นเรื่องที่เชื่อว่ากรรมการสรรหาคงไม่ได้เอาตามกระแสหรือเอาตามว่าคนดังแล้วต้องเลือกไว้ก่อน และคนที่ได้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารเลย แม้ทหารสมัครมายังไม่ได้เลย เช่น อดีตหัวหน้าศาลทหารสูงสุด ส่วนที่ว่านายประชามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลก็เห็นว่า กกต.ชุดนี้ต้องมีฝ่ายมหาดไทยด้วย ถ้าไม่มีเลยก็ลำบาก นายประชาก็รู้เรื่อง คิดว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่ควรจะได้รับการสรรหาเข้ามา ร่วมทั้งนายประชาก็รู้เรื่องงานทางภาคใต้ จึงคิดว่าการเลือกตั้งทางภาคใต้คงจะดำเนินการได้เรียบร้อย คิดว่างานของ กกต.ชุดใหม่ เป็นงานที่ท้าทายมาก คงจะสามารถทำงานสำเร็จ

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

คุณสมบัติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดนี้เขาว่ากันว่าเป็นสเปกเทพ แต่ที่สุดแล้วคนเลือกจริงๆ ก็เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ดี เพราะใช้ระบบสรรหา ซึ่ง 5 คนที่ผ่านเข้ามา ต้องบอกว่าไม่มีใครโดดเด่น หรือแทบไม่รู้จักใครเลย อย่างชุดก่อนหน้านี้ยังมีนางสดศรี สัตยธรรม หรือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร เรายังเห็นบทบาทเขา แต่ชุดนี้จะเรียกว่าม้ามืดก็ไม่ถูก เพราะลักษณะเป็นคนไม่ค่อยออกสื่อ ทำให้วิเคราะห์ได้ยากว่าบุคคลเหล่านี้มาอย่างไร แต่เท่าที่ทราบมาคือมีท่านหนึ่งเคยมีจุดร่วม เคยขึ้นเวทีปราศรัยกับกลุ่ม กปปส. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเห็นด้วยกับ กปปส.จนถึงตอนนี้ อันนี้ต้องสงวนไว้ว่าปัจจุบันเขาคิดอะไร


เรื่องสเปก กกต. เท่าที่สำรวจคร่าวๆ จริงๆ มันไม่ได้แตกต่างอะไรมากมาย เพียงแต่ว่ามันมีคุณสมบัติปลีกย่อยเล็กน้อยเข้ามา สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้แตกต่างกัน นั่นคือการอาศัยผู้มีประสบการณ์ ผู้บริหารหรือข้าราชการในระดับชั้นไหนก็ว่ากันไป ไม่เคยมีประวัติหรือคดีถึงที่สุดให้จำคุกกัน ผมคิดว่ามันเป็นคุณสมบัติทั่วไปของกรรมการในองค์กรอิสระอยู่แล้ว

ถามว่าจะมีผลต่อความไว้วางใจในการจัดการเลือกตั้งหรือไม่ ผมคิดว่าจัดได้ เพราะสุดท้ายแล้ว กกต.เป็นแค่คนกำหนดกรอบ ไม่ได้เป็นคนลงไปจัดการเลือกตั้ง 100% สุดท้ายก็ต้องใช้กลไกของรัฐคือพวกข้าราชการในการดำเนินการอยู่ดี ผมคิดว่าการจัดการเลือกตั้งตรงนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่ที่มีปัญหาคือการจะได้เลือกตั้งหรือไม่ และตอบไม่ได้ว่าการทำงานจะราบรื่นหรือไม่ แต่สามารถทำงานได้
อย่าง กกต.หลายๆ ชุด ไม่ว่าจะชุดนายสมชัยเอง หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อ ถ้าเราไม่อยู่ในวงการ เราไม่เคยได้ยินชื่อเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นคิดว่าด้านการทำงานไม่น่ามีปัญหา เพราะอย่างไรก็เป็นพวกเจ้าหน้าที่รัฐคอยสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ว่าถามว่าปัญหาคืออะไร นั่นคือจะได้เลือกหรือเปล่า หรือจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ประกอบกับหลักเกณฑ์ของ กกต.กลางที่ออกมา รวมถึงการวินิจฉัยคุณสมบัติ หรือคดีเลือกตั้งในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าด้านคุณสมบัติกับการทำงาน ย่อมไม่เป็นปัญหา แต่ว่าการโน้มเอียงไปสนับสนุนใคร หรืออุดมการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างไร นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ต้องเริ่มต้นจากการกำหนดคุณสมบัติ กกต. ในรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่เราเรียกขานกันทั่วไปว่าสเปกเทพ ซึ่งได้กลายเป็นการกีดกันพื้นที่ของบุคคลหลายๆ ท่านที่อาจจะมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในสังคม และมีประสบการณ์การทำงานจริงๆ การไปกำหนดคุณสมบัติแบบนี้อาจกลายเป็นเหรียญสองด้าน คือมีทั้งผลบวกและผลลบ ในแง่ผลบวก อาจทำให้ได้คนที่มีคุณสมบัติสูงตามที่ผู้ร่าง รธน.หรือผู้ร่างพระราชบัญญัติประกอบ รธน.ว่าด้วย กกต.ต้องการจริงๆ แต่อีกด้านหนึ่ง คุณสมบัติเช่นนี้จะทำให้ได้สิ่งที่เป็นเชิงปริมาณ ไม่ใช่เชิงคุณภาพ เพราะคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันว่าเขาจะเชี่ยวชาญหรือเป็นคนที่คลุกคลีในวงการนั้นจริงๆ หลายคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญอาจไม่สามารถอยู่ในคุณสมบัติเชิงปริมาณแบบนี้ก็ได้ เทียบเคียงกับในมหาวิทยาลัย คนที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับในสังคม หลายคนเขาก็ไม่ได้ขอศาสตราจารย์ แต่ผลงานเขียนก็เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ ดังนั้น การไปกำหนดคุณสมบัติว่าถ้าเป็นอธิบดีหรือศาสตราจารย์ก็ต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี ถ้าเป็นเอ็นจีโอหรือทนายความก็ต้อง 20 ปี อะไรแบบนี้

นี่เป็นคุณสมบัติในเรื่องปริมาณ แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้มองเชิงคุณภาพว่าบุคคลท่านนั้นมีผลงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังหรือเป็นที่ยอมรับสักเท่าไหร่ ตัวกติกาใหญ่กำหนดมาแบบนี้ กรรมการสรรหาก็ไม่สามารถดิ้นออกนอกกรอบได้ หรือจะไปพิจารณาตีความเป็นอื่น ผมคิดว่าก็คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หากตีความอย่างกว้างเกินไป ก็มีความเป็นไปได้ที่อาจทำให้กระบวนการสรรหา กกต. ไม่ราบรื่น เช่น อาจมีการฟ้องร้องศาลปกครอง

ดังนั้น กรรมการสรรหาก็ต้องตีกรอบอย่างแคบ เราจึงเห็นได้ว่า หลายท่านที่แม้จะเป็นศาสตราจารย์ แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางการเมืองหรือกฎหมายเลย ผมจึงค่อนข้างกังวลว่าสุดท้ายเมื่อมาทำงานตรงนี้ ท่านจะสามารถเข้าใจได้ดีแค่ไหน ไม่ลำพังเฉพาะผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.เท่านั้น กรรมการสรรหาหลายท่านก็ไม่ได้มาจากสายทางรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ หรือเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ถ้าเราย้อนกลับไปดู 5 เสือ กกต.ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นเป็น 5 เสือ กกต.ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มีครบทุกภาคส่วน ทั้งการบริหารจัดการเลือกตั้งซึ่งมีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด คนในมหาดไทยที่ดูแลเรื่องการเลือกตั้งมา สายเอ็นจีโอ สายนักกฎหมาย สายกระบวนการการมีส่วนร่วม สืบสวนสอบสวนก็มา มีครบทั้งหมด การกำหนดให้มี กกต. 5 ฝ่าย เพื่อให้แต่ละคนดูแลคนละด้านให้ครบภารกิจหลัก ทั้งการบริหารจัดการเลือกตั้ง เรื่องกฎหมาย เรื่องพรรคการเมือง เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน แม้กระทั่งเรื่องการให้การศึกษาทางการเมืองแก่ประชาชน แต่ถ้าดูหน้าตาของ กกต. ตอนนี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เท่าไหร่ ที่เราเห็นชัดเลยคือ ภาคประชาสังคมที่ขาดไป บุคคลที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็มาจากสายที่ไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการเลือกตั้ง จะมีสักคนหรือสองคนที่ผมเห็นชื่อ เช่น บางคนเป็นอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ เป็นนักฎหมายซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายด้วยนะ ผมไม่รู้ว่าเขาจะเข้าใจกฎหมายมหาชนได้ดีพอเพียงใด เพราะที่ปรึกษากฎหมายส่วนใหญ่จะชำนาญกฎหมายเอกชน ขณะที่การเลือกตั้งเป็นเรื่องกฎหมายมหาชนเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงค่อนข้างเป็นห่วงการทำงานของ กกต. แต่หลังจากนี้จะมีนักฎหมายเข้ามาเติมเต็มอีก 2 ท่านที่ศาลฎีกาเสนอชื่อเข้ามา ทำให้ฝ่ายกฎหมายจะมีทั้งหมด 3 จาก 7 คน เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งที่ กกต.มีบทบาทภารกิจอีกเยอะ นอกเหนือจากเรื่องกฎหมาย ส่วนในด้านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ผมยังไม่เห็นใครเป็นสายเชื่อมโยงไปสู่ภาคประชาสังคมได้

หากการกำหนดสเปกเทพเช่นนี้เกิดจากความต้องการให้ กกต.มีที่มาที่หลากหลาย ผมคิดว่าการเปิดช่องให้สังคมได้มีส่วนเชื่อมต่อกับคณะกรรมการสรรหาเป็นส่วนที่สำคัญมากกว่า ภาพที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอีกชุดหนึ่ง คือ กกต. จากรัฐธรรมนูญปี 2550 และ กกต.ชุดปี 2556 ซึ่งจนหมดวาระก็ไม่เคยจัดการเลือกตั้งเลย นี่ทำให้เห็นว่าการมองมิติกฎหมายเพียงอย่างเดียว เน้นการสืบสวนสอบสวน เอาความผิด แจกใบเหลืองใบแดง ไม่ได้เป็นการตอบโจทย์การทำงานของ กกต.อย่างแท้จริง เพราะเบื้องต้นที่ กกต.เกิดขึ้นก็เพราะมองว่าการจัดการเลือกตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยจะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง เราได้แม่แบบมาจากองค์กรภาคประชาสังคมที่ชื่อว่านัมเฟล ในฟิลิปปินส์ ซึ่งเขาตรวจสอบการเลือกตั้งจนเป็นที่มาของการล้มอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เราก็นำแม่แบบนี้มาใช้ แต่มันสวนทางกัน เพราะของฟิลิปปินส์เกิดจากการที่ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง แล้วค่อยเอากฎหมายไปสถาปนาจัดตั้ง แต่บ้านเราเอากฎหมายเป็นตัวตั้ง กกต. การเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคมเลยไม่เกิด

สุดท้ายผมจึงกังวลว่า กกต.จะกลายเป็นระบบราชการ เท่ากับเป็นการผิดจุดประสงค์ในการก่อตั้งองค์กรนี้

ไม่มีความคิดเห็น: