PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"สสส. VS คตร." ว่าด้วยเหตุผลตรวจสอบการใช้จ่ายงบเพื่อชาติ วัดใจ"บิ๊กตู่"?

พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคตร. "ผมไม่ได้อยากสร้างศัตรู เพราะรู้ว่างบประมาณของ สสส.มีมวลชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นโยบายของนายกฯคือต้องการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป " VS. ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. "สสส.มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหยึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร "

ppppwwwuuwuwwwwwww

ในที่สุด "ฝ่ายตรวจสอบ" และ "ฝ่ายถูกตรวจสอบ" ก็เริ่มเปิดตัวเปิดหน้า "ปะทะ" ข้อมูลว่าด้วยเรื่อง"เหตุผล" "ความจำเป็น" ของแต่ละฝ่าย อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของผลสอบการใช้จ่ายงบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ปรากฎเป็นข่าวต่อเนื่องมายาวนานหลายเดือนแล้ว 

เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างส่งตัวแทนออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชน

เริ่มด้วย  "พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ในฐานะ "ฝ่ายตรวจสอบ" ออกมาให้สัมภาษณ์กับสือมวลชนถึงความคืบหน้าการตรวจสอบเรื่องนี้แบบชัดๆ หลังจากที่ผู้บริหารองค์กร หรือเอ็นจีโอ ที่ได้รับอนุมัติงบประมาณจาก สสส. เริ่มออกมาแสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน เพื่อขอให้ คตร. และสตง. เปิดเผยผลสอบการใช้จ่ายงบของ สสส. ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างชัดเจน โดยเร็วๆที่สุด

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากขณะนี้มีข่าวลือแพร่สะพัดไปต่างๆ นานา ทำให้บั่นทอนขวัญและกำลังใจคนทำงานมาก

ประธาน คตร. ยืนยันว่า ได้สรุปผลการตวจสอบการใช้จ่ายงบของ สสส.ในโครงการต่างๆให้กับนายกฯไปเรียบร้อยแล้ว โดยส่งไปเป็นเล่มหนา ซึ่งจากพันกว่าโครงการพบว่ามีนับร้อยโครงการที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกองทุน สสส. ที่ต้องการเสริมสร้างสุขภาพร่างกายประชาชนให้มีสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัย และควรจะต้องลงไปสนับสนุนให้ระดับชุมชนและลงถึงประชาชนระดับล่างและผู้มีรายได้น้อยด้วย 

ประธาน คตร. ยังย้ำด้วยว่า ตอนแรกเน้นการจัดเก็บจากภาษีเหล้าบุหรี่ และมาเน้นลดจำนวนประชาชนที่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา แต่ไปๆมากับไม่ตรงตามนั้น ทั้งนี้นายกฯได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณาสุขไปดูเรื่องนี้อีกครั้งว่าโครงการต่างๆได้ดำเนิการใช้งบประมาณถูกต้องโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการตั้ง สสส.หรือไม่ 

อย่างไรก็ดี เป็นแค่การให้ไปทบทวนยังไม่ได้ยกเลิกโครงการ แต่โครงการไหนที่มีความผิดปกติ ไม่ตรงวัตถุประสงค์ นายกฯได้มอบให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีตามขั้นตอน  นอกจากนี้ ยังมีการให้ทบทวนตรวจสอบของ สสส.ที่ให้งบสนับสนุนสื่อว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ หรือไม่อย่างไร รวมถึงโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย

ก่อนจะทิ้งท้ายว่า "ผมไม่ได้อยากสร้างศัตรู เพราะรู้ว่างบประมาณของ สสส.มีมวลชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นโยบายของนายกฯคือต้องการทำให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก่อนแล้วค่อยเดินหน้าต่อไป ขอให้เข้าใจรัฐบาลและ คตร.ด้วย" 

ขณะที่ความเคลื่อนไหว ในฝั่ง สสส. 

ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน ระบุว่า สสส.ได้รับหนังสือจาก คตร.เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเอกสารลับ จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดทั้งหมดได้

แต่ยืนยันว่าประเด็นการใช้งบไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์นั้น ที่ผ่านมาของ สสส.ทำงานตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ข้อ คือ 1.ส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ 2.สร้างความตระหนักของประชาชนเพื่อลดความเสี่ยง ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ 3.สนับสนุนการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.สนับสนุนการวิจัยที่ทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพ 5.พัฒนาความสามารถของชุมชน องค์กรเอกชน องค์การสาธารณะประโยชน์ และหน่วยงานภาครัฐ และ 6.สนับสนุนการจัดกิจกรรมและสื่อเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ ยังดำเนินการตามกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ เพื่อสนับสนุนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น

" การใช้งบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์อาจเกิดจากการตีความที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจาก คตร. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบโดยมองในมุมของผู้ตรวจสอบบัญชี ทำให้ข้อมูลหลายอย่างอาจมีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขหรือการตีความที่ผิดพาด ทำให้มองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ สสส.ยืนยันว่าไม่มี ถ้ามีการชี้แจงให้หน่วยงานที่ตรวจสอบก็เชื่อว่าจะเข้าใจร่วมกัน" 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามักปรากฏข่าวคลาดเคลื่อนต่างๆ เช่น โครงการสวดมนต์ข้ามปี และการส่งนักวิชาการไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ เป็นต้น เป็นการทำงานไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สสส.ขอชี้แจงว่า การสวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมที่เปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในการดื่มเพื่อเฉลิมฉลอง สามารถช่วยลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลงได้ ส่วนการส่งนักวิชาการไปดูงานก็เป็นการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อาทิ การพัฒนารูปแบบของระบบภาษี เพื่อนำมาวางแผนและจัดทำนโยบายของประเทศไทยต่อไป " ผู้จัดการ สสส.กล่าวและว่า การตีความเป็นเรื่องของวิจารณญาณแต่ละคน แต่ที่ผ่านมา สสส.มีผู้เชี่ยวชาญ 1,200 คน ที่จะมาช่วยพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ทพ.กฤษดา ยังกล่าวด้วยว่า  เมื่อปีที่ผ่านมา สตง.เข้ามาตรวจสอบโดยสุ่มตรวจโครงการที่ สสส.สนับสนุน แบ่งเป็น 10 โครงการในภูมิภาค และ 1 โครงการจากส่วนกลาง พบว่า มี 2 โครงการที่ผู้รับทุนใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ ซึ่ง สสส.ได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด โดยเรียกเงินคืนและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งแต่ละปี สสส.ให้ทุนประมาณ 4,000 โครงการ จะพบประมาณ 5 โครงการที่ผู้รับทุนไม่ทำตามวัตถุประสงค์ ซึ่งก็ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ทั้งนี้ ในการเปิดแถลงข่าวดังกล่าว ทพ.กฤษดา ตอบคำถามกับสื่อมวลชน ถึงข้อสังเกตว่า สสส.ให้งบประมาณกับกลุ่มเอ็นจีโอที่มีความเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้รัฐบาลไม่พอใจ นอกจากนี้ยังเป็นการมอบมุนแก่คนกันเองและคนหน้าเดิมๆ ว่า สสส.มีนโยบายชัดเจนว่าไม่ยุ่งกับการเมือง และไม่อยู่ฝ่ายใดฝ่ายหยึ่ง การพิจารณาให้ทุนจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งไม่สามารถเลือกได้ว่าเอ็นจีโอคนนั้นมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างไร เพราะไม่ได้เลือกจากบุคคล แต่พิจารณาจากโครงการเป็นหลัก ส่วนการให้งบประมาณกับคนกลุ่มเดิม เพราะบางโครงการเป็นโครงการระยะยาวที่ต้องทำต่อเนื่องจึงจะเกิดผล

เมื่อถามว่า มีการมองว่า สสส.ตีความคำว่าสุขภาพ สุขภาวะกว้างเกินไป ทพ.กฤษดา กล่าวว่า กรอบการทำงาน สสส.ยึดตามวัตถุประสงค์ทั้ง 6 ข้อ และกฎบัตรออตตาวาชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นการตีความตามหลักสากล ถ้าหาก สสส.ทำงานไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คงไม่ได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ และธุรกิจที่เสียผลประโยชน์คงไม่เดือดร้อนขนาดนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการสำรวจภูมิทัศน์การเมืองไทย ซึ่งได้รับทุนจาก สสส. แต่กลับวิจัยที่เน้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวในภาพรวมใหญ่เป็นเรื่องนโยบายสาธารณะมีทั้งหมด 12 ประเด็น ซึ่งเรื่องการเมืองดังกล่าวเป็นเพียง 1 ใน 14 เรื่องย่อยของ 12 เรื่องใหญ่ โดยเป็นงานวิจัยถึงผลกระทบการเมืองต่อสุขภาพ


ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้  สสส.ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต่อนายกรัฐมนตรี โดยตรง ในบทบาทต่างๆ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย , งบประมาณและขั้นตอนการอนุมัติโครงการ , ผลการดำเนินงาน และบทบาทในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล 

โดยในส่วนงบประมาณ และขั้นตอนการอนุมัติโครงการ นั้น 

สสส.ระบุว่า ด้วยภารกิจที่ท้าทายและกรอบการทำงานที่แตกต่างจากหน่วยราชการปกติ สสส.ได้ถูกออกแบบให้เป็นองค์กรขนาดเล็ก คล่องตัวและมีงบบริหารจัดการที่ต่ำเพื่อให้เม็ดเงินส่วนใหญ่ลงไปถึงคนทำงานในพื้นที่(ปัจจุบัน สสส.เจ้าหน้าที่ประจำ 120 คน มีงบบริหารจัดการเพียงร้อยละ 5 และมีงบค่าใช้จ่ายบุคลากรเพียงร้อยละ 2)

และเนื่องจากการแก้ไขปัญหาสุขภาพต้องมีการทำงานในระยะยาว ต่อเนื่องและไม่ควรถูกแทรกแซงโดยการเมือง รวมถึงธุรกิจที่เสียประโยชน์ แหล่งรายได้ของ สสส.จึงถูกกำหนดให้มาจากเงินเก็บเพิ่มจากภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ร้อยละ 2 เพื่อให้มีแหล่งเงินเพื่อใช้ในการทำงานที่ต่อเนื่อง และปลอดจากการแทรกแซง (การเก็บเงินตาม พรบ.สสส. ไม่ใช่การแบ่งเงินจากภาษีที่รัฐบาลเก็บได้ แต่เป็นเงินเก็บเพิ่มเติมจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งการเก็บเงินเพิ่มนี้นอกจากการได้เงินมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพโดยไม่กระทบรายได้ของภาษีแล้ว ยังเป็นการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะผู้ผลิตบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักเลือกที่จะปรับราคา จึงให้บุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีราคาสูงขึ้น และมีผลให้เด็กเยาวชน และผู้มีรายได้น้อยบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายเหล่านี้น้อยลง)

การบริหารจัดการกองทุน สสส.ดำเนินการโดยคณะกรรมการกองทุน สสส. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นอิสระ รวมถึงกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้กำหนดระเบียบ ขั้นตอน และวิธีการใช้เงินให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัวแบบเอกชน รวมถึงให้เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่ดี (Good Governance) โดยเน้นที่ประสิทธิภาพ ผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของการใช้เงิน

ถึงแม้ สสส. จะมีวิธีการงบประมาณที่แตกต่างจากระบบงบประมาณปกติ แต่ก็มีกลไกการตรวจสอบที่รัดกุมและเข้มข้นไม่ด้อยกว่าระบบปกติของภาครัฐ และหลายระบบก็เข้มข้นมากกว่าระบบปกติ ดังตัวอย่างเช่น

1) ได้รับการตรวจจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆ

2) มีคณะกรรมการประเมินผล ที่ถูกกำหนดโดยกฎหมาย มีความเป็นอิสระ เสนอชื่อโดย รมต.กระทรวงการคลัง และแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ตรวจสอบผลการดำเนินงาน และกระบวนการทำงานอย่างเข้มข้น และกฎหมายยังได้กำหนดให้ในทุกปีคณะกรรมการประเมินผลต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุน สสส. เพื่อเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

3) มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบภายใน และผู้ตรวจสอบภายใน ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร โดยขึ้นตรงกับคณะกรรมการ สสส. เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบภายในอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องทั้งปี

4) มีคณะอนุกรรมการกำกับกิจการที่ดี (Good Governance) เพื่อวางกลไก และระบบในการบริหารกิจการที่ดี รวมทั้งตรวจสอบให้เป็นไปตามขั้นตอน และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้

5) สสส. ถูกกำหนดให้ต้องรายงานผลการดำเนินงาน ต่อ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งในวาระการรายงานของทุกปีก็จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากทั้งสองสภา

6) การตรวจสอบที่นับว่าเข้มข้นและมีพลังที่สุด คือการตรวจสอบโดยสื่อมวลชน และประชาชน เพราะ สสส.จะอยู่ไม่ได้หากไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือมีการใช้เงินไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งกระบวนการตรวจสอบโดยสื่อมวลชน และประชาชน นี้จะติดตามการทำงานของ สสส. อย่างต่อเนื่องและครอบคลุมในทุกมิติ ตลอดเวลา

สำหรับขั้นตอนการอนุมัติโครงการของ สสส.นั้น คณะกรรมการกองทุน สสส. ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรทุน โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้ 

1) ทุกโครงการให้มีผู้เชี่ยวชาญอิสระทำการทบทวน และให้ความข้อคิดเห็นต่อความเหมาะสมของโครงการ ทั้งในแง่เนื้อหา และความคุ้มค่าของโครงการ โดยโครงการยิ่งมีขนาดใหญ่ จำนวนผู้ทบทวนโครงการก็จะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้โครงการที่มีคุณภาพ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการทบทวนโครงการปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,500 คน จากหลากหลายสาขา 

2) สำหรับโครงการที่มีขนาดมากกว่า 20 ล้านบาท นอกจากการผ่านกระบวนการทบทวนโครงการโดยผู้เชี่ยวชาญขั้นต้นแล้ว จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารแผนแต่ละด้าน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยตรงคณะกรรมการกองทุน สสส. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในสังคม 3) และสำหรับโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 50 ล้านบาท นอกจากการผ่านการพิจารณาของทั้งสองขั้นตอนเบื้องต้นแล้ว จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุน สสส. อีกครั้งหนึ่ง จึงจะเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.

สำหรับ บทบาท สสส. ในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล นั้น 

มีการระบุชัดเจนว่า นอกจาก สสส.ทำงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพแล้ว สสส.ยังเป็นจุดประสานที่สำคัญในการทำงานกับภาคสังคมและชุมชน โดย สสส. มีเครือข่ายการทำงานลงแทบทุกพื้นที่ และในวันที่ 20 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา สสส. ก็ได้เข้ามาร่วมเป็นแกนในการประสานงานตามนโยบาย “ประชารัฐ” เพื่อร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ให้ร่วมกันพัฒนาประเทศไทยในทุกมิติอย่างสร้างสรรค์ต่อไป

ทั้งหมดนี่ คือ ท่าทีและความเคลื่อนไหวล่าสุด ของ "คตร." ในฐานะ ฝ่ายตรวจสอบ  และ "สสส." ในฐานะฝ่ายถูกตรวจสอบ 

ส่วนข้อมูลฝ่ายใดจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน สาธารณชน คงจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้

เพราะขณะนี้ เหลือขั้นตอนแค่เพียงนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาตัดสินใจ "บรรทัดสุดท้าย" เพื่อปิดเกมเรื่องนี้เป็นทางการเท่านั้น!  

(อ่านประกอบ : แง้มผลสอบ สสส.! มุ่งปมผลประโยชน์ทับซ้อน "กก." คุมเข้มระบบใช้จ่ายเงิน)


ไม่มีความคิดเห็น: