PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562

น.3คอลัมน์ : ห่วงใย การเมือง จาก สนธิ บุญยรัตกลิน ต่อ ‘ประยุทธ์’

น.3คอลัมน์ : ห่วงใย การเมือง จาก สนธิ บุญยรัตกลิน ต่อ ‘ประยุทธ์’



ท่ามกลางฝุ่นตลบในการหาเสียงเลือกตั้งการเสนอความเห็นจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

สมควร “ล้างหู” น้อม “รับฟัง”

“ถ้าการเลือกตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งน่าจะกลับมาได้ แต่ที่สำคัญเมื่อกลับมาแล้วเข้าไปสู่ในรัฐสภาจะบริหารอย่างไรต้องรอดู”

ความน่าสนใจของ “คำพูด” นี้อยู่ตรงไหน

1 อยู่ตรงที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นทหาร ทั้งเป็นทหารรุ่นพี่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงแต่เคยผ่านกระบวนการ “รัฐประหาร”

หากที่สำคัญยังเคยลงสู่สนาม “เลือกตั้ง” และได้รับเลือกเป็น “ส.ส.”

ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญมากยิ่งกว่าก็คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยังมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงด้วยว่า “พรรคเพื่อไทยยังเข้มแข็ง”

ความหมายก็คือ พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 1

หากไม่ยึดกุมบทสรุปจากพรรคพลังประชารัฐที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” จะไม่เข้าใจความนัยอันดำรงอยู่ภายในคำพูดของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้อย่างเด็ดขาด

ความหมายแห่งชัยชนะของพรรคเพื่อไทยสำคัญอย่างยิ่ง

พร้อมกันนั้น ความหมายแห่งสภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสที่จะหวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน

ความหมายมิได้อยู่ที่ว่า ได้เป็นเพราะ 250 ส.ว.ที่มีอยู่เท่านั้น

หากความหมายยังหมายความว่าเป็นการได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการผนวกรวมระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคการเมืองอื่นอีกจำนวนหนึ่ง

ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์

ความลึกซึ้งของบทสรุปนี้ก็คือ ใน “รัฐสภา” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพึ่งพิงอยู่กับ ส.ส.ของพรรคการเมืองอื่นนอกเหนือไปจากพรรคพลังประชารัฐ


ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “ฝ่ายค้าน”

หากคำทำนายของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นความจริงก็เท่ากับยืนยันว่าความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ามิได้อยู่ที่ สภาผู้แทนราษฎร

หากแต่อยู่ที่ความเหนือกว่าของ 250 ส.ว.

ขณะที่ในความเป็นจริง รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของสภาผู้แทนราษฎรตาม “รัฐธรรมนูญ”

แน่นอน สภาผู้แทนราษฎรย่อมต่างไปจาก “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”

ขณะที่ในความเป็นจริง ในสภาผู้แทนราษฎรมิได้หมายความเพียงพันธมิตรที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

หากแต่ยังประกอบด้วยพันธมิตรของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

ที่เห็นอย่างเด่นชัดก็คือ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อไทย นอกจากนั้นยังเป็นพรรคอนาคตใหม่

นี่คือสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จักต้องเผชิญประสบ

ถึงแม้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ตามที่พรรคพลังประชารัฐสรุปอย่างเฉียบแหลมแต่ก็เพียงเพื่อ

1 ให้พวกเราได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ขณะที่อีกปัจจัย 1 ซึ่งไม่แน่ว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถปกป้อง คุ้มครองได้หรือไม่ก็คือ เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะบริหารปกครองอย่างไรในเมื่อไม่มี มาตรา 44 อยู่ในมือ

จึงไม่แน่ว่าจะเป็น “ทุกขลาภ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: