PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

"เบื้องลึก ป.ป.ช.ถอนฟ้อง! คดีสลายม็อบ"พันธมิตรฯ


Nation TV - เว็บไซต์สถานีข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย
"หลังเทศกาลสงกรานต์ที่ค่อนข้างเงียบสงบ กลับเกิดเรื่องขึ้นจนได้ เมื่อมีข่าวหลุดรอดออกมาว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) อาจจะยื่นถอนฟ้องคดีสลายม็อบกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 รายสำหรับคดีนี้  ป.ป.ช. ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว  โดยยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551  และศาลฯได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีนี้ รวมทั้งได้เริ่มไต่สวนคดีนี้แล้วด้วย
สำหรับสาเหตุที่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ป.ป.ช. เนื่องจากจำเลย 3 ราย ในคดีนี้ คือ นายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. โดยในหนังสือขอความเป็นธรรมอ้างถึงเหตุผลของอัยการที่ไม่ฟ้องคดีนี้ (คดีนี้ ป.ป.ช ยื่นฟ้องเอง) และยังอ้างถึงคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องในคดีที่กล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น,นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งให้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก นำมาเทียบเคียง ทั้งนี้ที่ประชุม  ป.ป.ช. ได้นำเรื่องที่จำเลยในคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ ขอความเป็นธรรมเข้าพิจารณาเป็นวาระจรเมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา โดยมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานในที่ประชุม
สำหรับการประชุมวาระดังกล่าว ได้กำหนดกรอบการพิจารณาไว้ 2 ประเด็น คือ 1. อำนาจการถอนฟ้อง ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ทำได้หรือไม่ และ 2. เหตุผลและความเหมาะสมในการพิจารณาเพื่อถอนฟ้อง
ทั้งนี้ใน ประเด็นแรก เรื่องอำนาจตามกฎหมายนั้น ทางสำนักกฎหมายของ ป.ป.ช. ได้เสนอความเห็นว่า สามารถทำได้หากพิจารณาเทียบเคียงกับหลักการถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งระบุว่า คํารองขอถอนฟองคดีอาญาจะยื่นเวลาใดกอนมีคําพิพากษาของศาลก็ได้ ทั้งนี้ศาลจะมีคําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตใหถอนก็ได้  ซึ่งเมื่อสำนักกฎหมาย ป.ป.ช. ทำความเห็นดังกล่าว ที่ประชุม ป.ป.ช. ซึ่งมีกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวจำนวน 7 คน  โดยมีผู้ขาดประชุม 2 คน  คือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ นายณรงค์ รัฐอมฤต จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของสำนักกฎหมายฯ  โดย 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยคือ นางสุภา ปิยะจิตติและหลังจากที่ประชุม ป.ป.ช. ลงมติเห็นชอบในประเด็นแรกซึ่งเป็นข้อกฎหมายว่า ป.ป.ช.มีอำนาจถอนฟ้องแล้ว ที่ประชุม ป.ป.ช .จึงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. กลับไปพิจารณาถึงเหตุผลในหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่จำเลยทั้งสามอ้างมา คือ เหตุผลที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้และการนำคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องมาเทียบเคียงว่าฟังขึ้นหรือไม่ ในการถอนฟ้องคดีนี้ตามที่จำเลยขอมา
ต่อมาวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สมควรถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า เหตุผลที่จำเลยร้องขอความเป็นธรรม สามารถนำไปยื่นให้ศาลฎีกาฯไต่สวนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว อีกทั้งหาก ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจเข้าข่ายกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่และถูกฟ้องร้องเสียเอง  แต่กลับมีการส่งเรื่องไปให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทบทวน โดยให้ยึดเรื่องการเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 เป็นหลัก
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และระเบียบของ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุถึงอำนาจหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องของ ป.ป.ช. ไว้ จึงอาจเป็นเหตุให้ทาง ป.ป.ช. หยิบยก มาตรา 35 ของ ป. วิอาญา มาอ้างอิงแทนว่า มีอำนาจถอนฟ้องได้อย่างไรก็ตาม วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ  ป.ป.ช. บอกว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว  แล้วมายื่นถอนฟ้องในภายหลัง เพราะ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ไม่ได้ให้อำนาจในการถอนฟ้องไว้ ส่วนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 35 เป็นเรื่องคดีอาญาทั่วไป แต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีกฎหมายจัดตั้งศาลฯและวิธีพิจารณาคดีโดยเฉพาะ
สำหรับ พล.ต.อ. วัชรพล  เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ประธาน ป.ป.ช. ใหม่ๆ ได้เคยให้สัมภาษณ์ถึงเสียงวิจารณ์ที่ว่า มีความใกล้ชิดกับ คสช. โดยเฉพาะ พล.อ. ประวิตร ว่า ยอมรับว่าใกล้ชิดกับ พล.อ. ประวิตร โดยเคยเป็นเลขานุการรองนายกฯ ของ พล.อ. ประวิตร มาก่อน เพราะหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ. ประวิตร ได้ชักชวนให้ไปรับตำแหน่งดังกล่าว แต่เมื่อมีการเปิดรับสมัครกรรมการ ป.ป.ช. ตนเองก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นเลขานุการรองนายกฯ ไปจนถึงสมาชิก สนช. มาสมัครเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะคิดว่าจะสามารถทำงานรับใช้ประเทศชาติได้การสนิทใกล้ชิดใครเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับ แต่อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมาอยู่ตรงนี้ผมก็ถูกสอดส่องมากมาย ถ้าทำไม่ดีก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. โทษเป็นสองเท่าของคนทั่วไป จึงยืนยันได้ว่าผมจะไม่เอาเกียรติประวัติในชีวิตราชการมาทำอะไรที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน ซึ่งต้องดูกันต่อไป แต่ขอเรียนว่า ยิ่งถูกเพ่งเล็ง ผมยิ่งมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประชาชน และผมเชื่อว่า ในฐานะผู้นำองค์กร ซึ่งมีเพื่อนร่วมงานทั้งหมด 9 คน ผมคงไม่สามารถโน้มน้าวและชี้นำคนอื่นได้ หากหวังผลักดันสิ่งที่ไม่ถูกต้อง"
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่มีข่าวว่า ป.ป.ช.จะถอนฟ้องจำเลยในคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ คงต้องจับตากันต่อไปว่า สุดท้ายเรื่องจะเดินต่อไปอย่างไร จะมีการยื่นต่อศาลฯจริงหรือไม่ และผลพวงที่ตามมาจากการยื่นถอนฟ้องมีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นผู้สูญเสียในคดีนี้ จะว่าอย่างไร จะยอมให้เรื่องจบไปพร้อมกับคดีความหรือไม่
"
อ่านต่อที่: http://www.nationtv.tv/main/content/politics/378498562/

ไม่มีความคิดเห็น: