PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

‘วีรชน’ จวก รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ถือดีอย่างไร วิจารณ์ไทยจับผู้ชุมนุม

‘วีรชน’ จวก รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ถือดีอย่างไร วิจารณ์ไทยจับผู้ชุมนุม

“วีรชน” เหวั่นสหรัฐยัดเยียดระบอบปชต.กลุ่มทุนให้ไทย เปรียบเหมือนหมาหางด้วน ถามกลับนักการเมืองทำเพื่อใครมัวอ้างแต่ปชช. ขอดูตัวอย่างปชต.ปลอมแบบสหรัฐสร้างความเดือดร้อนมากแค่ไหน

เมื่อวันที่ 20 เมษายน พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่บทความวิเคราะห์ปรากฏการณ์ Democracy Spring ว่า ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจในอเมริกาขึ้นเรียกว่า Democracy Spring ถ้าแปลเป็นไทยก็คงได้ความว่า การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย มีคนไปชุมนุมที่กรุงวอชิงตันหลายพันคน มีคนถูกจับไป 400 กว่าคน ซึ่งไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าที่ควร แต่น่าสนใจ ผู้สนใจมากๆ ไปเปิดอ่านในเว็บไซต์ของกลุ่มผู้จัดชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย www.democracyspring.org. โดยที่ไปที่มาของเรื่องคือคนอเมริกันจำนวนมาก พบว่าสิทธิทางการเมืองของตน มีน้อยกว่าเศรษฐีและบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ เห็นได้จากการเลือกตั้งตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง รวมทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เหตุเพราะการกำหนดตัวผู้สมัครทำโดยพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองได้รับเงินบริจาคจากบุคคลและบริษัทธุรกิจหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งเศรษฐีและบริษัทธุรกิจใหญ่บริจาคเงินมาก มีอิทธิพลในการกำหนดตัวว่าจะให้ใครได้ลงสมัคร พรรคการเมืองต้องโอนอ่อนตาม ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้เงิน สมาชิกพรรคที่เป็นคนธรรมดา หรือคนเงินน้อย บริจาคน้อย ไม่มีสิทธิกำหนดว่าใครจะได้ลงสมัคร และก็ต้องสนับสนุนคนที่ธุรกิจใหญ่หรือมหาเศรษฐีกำหนดมา แม้จะเป็นคนที่น่ารังเกียจก็ตาม เช่น Donald Trump เป็นต้น หรือแม้แต่ในอดีตเช่น George W. Bush ซึ่งประชาชนจำนวนมากเห็นว่าเป็นคนโง่เขลา หรือแม้แต่ Hillary Clinton ของพรรค Democrat ก็ถูกมองว่าเป็นตัวแทนของพวกธุรกิจใหญ่ยักษ์เหมือนกัน ดังนั้นผู้คนจึงรู้สึกว่าสิทธิของตนมีน้อยกว่าสิทธิของมหาเศรษฐีหรือธุรกิจใหญ่ ซึ่งผิดหลักการสำคัญอันหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย คือ การมีสิทธิเท่าเทียมกันของพลเมือง หรือ equal rights โดยตรง

พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ผู้สมัครและนักการเมืองซึ่งเป็นเด็กในคาถาของมหาเศรษฐีและธุรกิจใหญ่ เมื่อเข้ามีอำนาจทั้งในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ หรือแม้แต่ตุลาการ ทำงานรับใช้ผลประโยชน์ของมหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจ ไม่ได้รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชน เรื่องใหญ่ที่สุดที่เขาพูดกัน คือการเอาภาษีอากรของราษฎร ไปสร้างสงคราม แล้วขายอาวุธหรือเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์ในต่างประเทศ ทำให้สหรัฐอเมริกาเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ทหารต้องไปตายในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุผล ในขณะที่มหาเศรษฐีและธุรกิจใหญ่รวยขึ้นๆ และประชาชนจนลงๆ เขาเห็นว่า นี่คือ “legalized corruption” หรือการ “โกงอย่างถูกกฎหมาย” ต้องแก้ไข ต้องปฏิรูปใหญ่ฟังแล้วคุ้นๆ จังเลย คำถามคือเขากำลังทำอย่างไรกันคนอเมริกันรวมตัวกันเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวในนาม Democracy Spring

เริ่มยก 1 เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมานี้ โดยไปรวมตัวกันที่ระฆังแห่งอิสรภาพที่เมืองฟิลาเดลเฟีย แล้วเดินเท้าระยะทาง 140 ไมล์ไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เดินทางอยู่ 8 วันกว่าจะถึง แล้วไปชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 เมษายน แล้วก็จัดกิจกรรมฝึกการชุมนุมอย่างสันติแบบ อารยะขัดขืน หรือ non-violent civil disobedience กัน แล้วนัดชุมนุมอีกวันที่ 16 เมษายน ที่หน้าสถานีรถไฟ Union Station กลางกรุงวอชิงตัน และจะมีกิจกรรมอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะเป็นผล จนถึงขณะนี้ มีกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวแล้วมากกว่า 100 กลุ่มทั่วประเทศ

นักกิจกรรมชวนกันทั่วประเทศให้เคลื่อนไหวอย่างเดียวกัน พวกเขาเตรียมให้ตำรวจจับกุมให้มากๆ จนคุกไม่มีที่จะใส่ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากนักการเมือง และกดดันให้นักการเมืองต้องทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาในที่สุด ทั้งหมดวางแผนทำช่วงนี้ไปจนถึงก่อนการเลือกตั้งปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยเรียกร้องเริ่มจากข้อความหลักคือ การร่วมปฏิญาน Equal Voice for All หรือการมีสิทธิมีเสียงที่เท่าเทียมกัน เรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ ดำเนินการให้ยุติการฉ้อฉลทางการเมืองของกลุ่มธุรกิจใหญ่ ให้มีหลักประกันของการเลือกตั้งโดยเสรีและเป็นธรรม โดยราษฎรทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน โดยที่มีร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอยู่ในสภาแล้ว 4 ฉบับ ก็ขอให้เร่งนำมาพิจารณาผ่านโดยเร็ว เช่นกฎหมายจำกัดจำนวนเงินที่ธุรกิจจะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ กฎหมายที่ให้บุคคลรายย่อยเป็นผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง เป็นต้น และให้รัฐสภา เสนอหนทางที่จะป้องกันการฉ้อฉล และปฏิญาณตนที่จะต่อต้านการฉ้อฉล เป็นต้น

“สรุปว่าปรากฏการณ์ Democracy Spring นี้ เพิ่งเริ่มเท่านั้นและจะดำเนินต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป เรื่องที่น่าสนใจจากเหตุการณ์นี้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ว่า ระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ มีความบกพร่องในขั้นพื้นฐานสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เห็นวิธีบริหารจัดการความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นจากการชุมนุม ว่าสหรัฐฯ จัดการอย่างไร ขณะนี้มีผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมแล้วจนถึง 17 เมษายน มากกว่า 900 คน ทั้งที่เป็นการชุมนุมแสดงออกโดยสันติวิธี ส่วนความเห็นและข้อสังเกตที่เป็นคำถามต่อระบอบประชาธิปไตยที่เรียกร้องให้เราชาวไทยต้องมีนั้น เป็นระบอบที่มีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่เพราะเท่ากับประชาชนไม่ได้เป็นผู้เลือกรัฐบาล แต่กลายเป็นมหาเศรษฐีและกลุ่มธุรกิจใหญ่เป็นคนเลือก รัฐบาลสหรัฐฯ จะเอาระบอบอย่างนี้มาบังคับยัดเยียดให้ประเทศไทยเอาอย่างได้หรือ เหมือนหมาหางด้วน ไปบอกให้หมาที่ไม่ด้วนให้ตัดหางตัวเองอย่างนั้นหรือ การจับกุมผู้ชุมนุมอย่างนั้น สหรัฐฯ ไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือ ถ้าสหรัฐฯ ทำอย่างนั้น นาย John Kerry ถือดีอย่างไรที่มาวิจารณ์เวลารัฐบาลไทยจับกุมผู้ที่ประท้วงชุมนุมทั้งที่ขัดกับกฎหมายของเรา ส่วนนักการเมืองไทย ที่อ้างว่า ต้องเป็นประชาธิปไตย อย่างโน้นอย่างนี้ ตกลงที่ต้องการนั้น เพราะเห็นแก่ประชาชน หรือเห็นแก่อำนาจของตัวกันแน่ ทำตัวเหมือนเศรษฐีและธุรกิจใหญ่ของอเมริกันหรือเปล่า เพราะหลายพรรคและหลายคน ก็มีฐานะเป็นมหาเศรษฐีกันทั้งนั้นไม่ใช่หรือ การจะเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ จึงไม่ใช่การหลับหูหลับตา อ้างความเป็นประชาธิปไตยมาหลอกประชาชน แต่อำนาจจริงๆ ไม่ได้อยู่กับประชาชนแต่อยู่กับนายทุนพรรค จริงไหม ประเด็นที่พรรคการเมืองใหญ่ร้องกันตอนนี้ ก็แค่ว่า ถ้าฉันได้รับเลือกตั้งมา อำนาจทั้งหมดต้องเป็นของฉัน จะให้ใครที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาทัดทานฉันไม่ได้ ก็แค่นั้นจริงไหม ดูตัวอย่างเขาเถิดครับ ว่าประชาธิปไตยปลอมๆ มันสร้างความเดือดร้อนให้ราษฎรอย่างไร” พล.ต.วีรชนกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: