PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ลบรอยแผลใจ ภารกิจทูตใหม่สหรัฐฯ “เกล็น เดวีส์”

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
18 เมษายน 2558 06:56 น.

ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ลงตามลำดับระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา อาจถึงเวลาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสนอชื่อนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย หลังปล่อยให้ว่างเว้นนับจากนางคริสตี้ เคนนีย์ พ้นตำแหน่งไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557
       
       เป็นเวลาแห่งการว่างเว้นที่มีปัญหากระทบกระทั่ง สร้างแรงกดดันต่อคณะผู้นำที่มาจากการรัฐประหารของไทยไม่น้อย แต่ผลของการออกแรงกดดันของสหรัฐฯ แทนที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯ ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้นำคณะรัฐบาลของไทยกลับขุ่นเคือง และตัดสินใจเดินหมากยุทธศาสตร์คานอำนาจ โดยถอยหนีห่างสหรัฐฯ หันไปซบอกจีนและรัสเซียซึ่งเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งแทน
       
       ขณะที่สหรัฐฯ เกรี้ยวกราดกับไทยหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ปิดกั้นการชุมนุมการแสดงออกทางการเมือง จีนกลับอ้าแขนรับ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ (คสช.) จึงไม่รอช้าที่จะเดินทางไปเยือนจีน และเชื้อเชิญให้จีนเข้ามาลงทุนรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการลงทุนสาธารณูปโภคอื่นๆ นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
       พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ก็ยกคณะไปเยือนจีนอีกครั้ง ยืนยันถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
       ขณะที่สหรัฐฯ ตัดความช่วยเหลือทางการทหาร ลดระดับการร่วมฝึกคอบบร้าโกลด์ที่หันมาเน้นด้านมนุษยธรรมแทน และแน่นอนย่อมไม่ขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพไทยด้วยตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สหรัฐฯดำเนินการต่อรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รัสเซียก็ถือโอกาสเข้ามาเสียบแทน พร้อมกับเปิดดีลการซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์นำร่องด้วยเครื่องบิน 3 ลำ เป็นอันดับแรก และมีคำสัญญาจะทำการค้าขายระหว่างกันให้มากขึ้นเป็นเท่าตัว โดยรัสเซียมีเป้าหมายขายอาวุธ ส่วนไทยมีเป้าหมายขายสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว
       
       นับเป็นเวลา 10 เดือน แห่งความสัมพันธ์อันร้าวฉานที่นับวันสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกได้ถึงสิ่งที่จะเสียไปมากกว่าได้ โดยเฉพาะเป้าหมายใหญ่ในการหวนคืนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ
       
       นั่นคือ หากสหรัฐฯ ไม่สามารถยืนได้อย่างมั่นคงในฐานที่มั่นเดิมอย่างประเทศไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นมิตรเก่าแก่ที่พร้อมให้การสนับสนุนสหรัฐฯ ในทุกรูปแบบแล้ว ก็เท่ากับลดโอกาสของสหรัฐฯ ในการถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มหาอำนาจชาติตะวันออกกำลังรุกหนักด้วยยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม มุ่งลงใต้เข้าตะวันตกที่รัฐบาลสี จิ้น ผิง กำลังขายฝันไปทั่วโลก
       
       นอกจากการข่มขู่ กดดัน ที่ยิ่งทำให้ไทยถอยหนีห่างออกไปเรื่อยๆ สหรัฐฯ จะได้ประโยชน์อะไรจากท่าทีเช่นนี้ ย่อมไม่ได้แน่นอน ดังนั้น เมื่อมีการโยนหินถามทางจากคำทำนายของโหรดังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ยาว และการเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นตามโรดแมปในต้นปีหน้า แทนที่สหรัฐฯ จะส่งตัวแทนมาว่ากล่าวกดดันถึงชานบ้านอย่างที่เคยกระทำมา นายบารัค โอบามา กลับตัดสินใจส่งนักการทูตเก๋าเกมที่คร่ำหวอดในแถบเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกมาประจำการที่ประเทศไทยแทน
       
        อย่างไรก็ตาม การมาของนายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย คราวนี้ก็มองได้หลายมุม ทางหนึ่งคือ การส่งนักการทูตที่เข้าใจวิถีตะวันออกมาโอ้โลมผู้นำไทยให้ผันเปลี่ยนไปตามความต้องการของสหรัฐฯ อย่างนุ่มนวล หรืออีกทางหนึ่งคือ การเตรียมใช้ไม้แข็งมากขึ้นกับไทย เหมือนดังเช่นที่สหรัฐฯ แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือกรณีนิวเคลียร์ ซึ่งแต่ละทางเลือกล้วนส่งผลที่แตกต่างกัน
       
       แต่ถ้าหากสดับรับฟังหางเสียงจากนางคริสตี เคนนีย์ อดีตทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนกันเองที่ส่งเสียงเชียร์ผ่านทวิตเตอร์ @KristieKenney ว่า นายเดวีส์ เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม “ประธานาธิบดีโอบามาเสนอชื่อนักการทูตอเมริกันผู้คร่ำหวอดอย่าง เกล็น เดวีส์ ให้เป็นเอกอัครราชทูตรสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ เขาเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมเลยล่ะ” อย่างที่ว่านั้น ก็อาจจะบอกเป็นนัยว่าสหรัฐฯ จะมาไม้ไหนกันแน่ เพราะช่วงที่นางครีสตี เคนนีย์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย นั้น ก็ต้องถือว่าแสบเข้าไส้พอสมควร
       
       ทูตสหรัฐฯ คนใหม่ จะมาลบ “รอยแผลในใจ” ที่เกิดขึ้นเมื่อคราวที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ที่ดูแลกิจการเอเชีย-แปซิฟิก มาปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนม.ค. 2558 ที่กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองไทย การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนสร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง กระทั่งนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช. กระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญ นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เข้าพบ และแถลงข่าวในวันถัดมาว่า คำพูดของนายรัสเซล ก่อให้เกิด "แผลในใจ" สำหรับคนไทยจำนวนมาก
       
       หรือว่า การมาของทูตสหรัฐฯ คนใหม่ คราวนี้จะมาสร้างแรงกดดัน และเพิ่มบาดแผลในใจให้มากขึ้นไปอีก ยังต้องรอคอยติดตามผลงาน ซึ่งตามคาดหมายประมาณการว่าเดือนพ.ค. 2558 นายเดวีส์ จะเข้ามารับตำแหน่ง หลังจากวุฒิสภา สหรัฐฯ ให้การรับรองคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวของนายโอบามา
       
       สำหรับประวัติของนายเกล็น เดวีส์ ตามข้อมูลจากการเผยแพร่ของ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่า เกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขา Foreign Service จาก Georgetown University และปริญญาโทจาก National Defense University เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน
       
       ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์ เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ระหว่าง พ.ศ. 2555 - 2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) ระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2555
       
       นายเดวีส์ เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2549 - 2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ. 2548 - 2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรป ระหว่างปี พ.ศ. 2547 - 2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกา เป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2547 และช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 นายเดวีส์ รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน
       
       นอกจากนี้ นายเกล็น ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council - NSC) ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2542 รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2535 - 2537 ขณะที่ก่อนหน้านั้น เคยไปปฏิบัติราชการในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และ ซาอีร์
       
       สำหรับเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนก่อนหน้านี้ คือ นางคริสตี เคนนีย์ ซึ่งหมดวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อในวันที่ 4 พ.ย. 2557 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง นายดับเบิลยู แพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐฯ ให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเอกอัครราชทูต จนกระทั่งล่าสุดนับเป็นเวลาเกือบ 6 เดือน กว่าที่ นายบารัค โอบามา จะเสนอชื่อ นายเกล็น เดวีส์ เพื่อดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนใหม่
       
       การเข้ารับตำแหน่งของนายเดวีส์ ครั้งนี้ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข่าวสารนิเทศ ระบุการเสนอชื่อนายเกล็น ที. เดวีส์ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ดังกล่าวว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการหารือเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 ระหว่าง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายแดนเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สหรัฐฯ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่มีมายาวนาน และจะมุ่งเดินหน้าความสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป
       
       ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2558 ฝ่ายสหรัฐฯ ได้เสนอชื่อเอกอัครราชทูตสหสรัฐฯ ประจำประเทศไทย คนใหม่ มายังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของฝ่ายไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2558 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบต่อการเสนอชื่อนายเดวีส์ เป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้แจ้งผลให้ฝ่ายสหรัฐรับทราบทันที
       
       ต่อมา ในวันที่ 13 เม.ย. 2558 ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงได้ประกาศเสนอชื่อนายเดวีส์ ดังกล่าว ซึ่งเป็นการยืนยันการเดินหน้าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีมายาวนานกว่า 182 ปี และสองฝ่ายจะมุ่งมั่นเดินหน้ากระชับความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันต่อไป
       
       หากพิจารณาตามถ้อยแถลงของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ก็จะพบว่า หลังจากนายรัสเซล กล่าววาจาที่สร้างบาดแผลในใจของคนไทยจำนวนมาก ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มหันมาสมานความร้าวฉานนั้น กระทั่งในที่สุดผู้นำสหรัฐฯ ก็แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ คนใหม่มาประจำประเทศไทย
       
       นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้ทัศนะว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่สหรัฐฯ ต้องการให้ความสำคัญต่อทวีปเอเชียเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันนายเดวีส์รู้เรื่องเอเชียเป็นอย่างดี ทั้งสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป สหรัฐฯ จึงเร่งหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาเป็นทูตในประเทศยุทธศาสตร์อย่างไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ดังนั้น การที่สหรัฐฯ เอาผู้ที่มีความรู้เรื่องเอเชียเข้ามาจึงถือเป็นเรื่องดีในการรักษาผลประโยชน์ของ 2 ประเทศ
       
       “ทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยทั้ง 4 คนที่ผ่านมาเข้าได้ไม่ถึงทุกกลุ่ม เกิดปัญหาตามมาในความสัมพันธ์ อาจเกิดจากการไม่ได้สร้างพื้นฐานคุ้นเคยกับประเทศไทย สมัยก่อนเขาอยู่กันเป็น 10 ปี ก่อนจะเป็นทูต คุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่หลังๆ มาอยู่แบบฉาบฉวย มาทำงานสถานทูต ใครแนะนำให้เจอใครก็ไปเจอ ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง คือทูตต้องประสานได้ทุกฝ่าย ไม่ใช่ให้น้ำหนะกฝ่ายเดียว”นายปณิธานแจกแจง
       
       ด้านสื่อต่างประเทศอย่าง “เอเชียนคอร์เรสพอนเดนต์” รายงานว่า นายเดวีส์เป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงการทูตมานาน 35 ปี ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ ทำหน้าที่อยู่ที่สำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย และดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่างปี 2555-2557 ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการท่าทีของสหรัฐฯ ว่าด้วยเรื่องโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือที่อื้อฉาว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “นี่คือผู้ชำนาญการทูตในภาวะวิกฤตที่ดีมาก”
       
       ที่สำคัญคือบทความระบุด้วยว่า สหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่า จำเป็นต้องรับมือกับรัฐบาลทหารในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่เคยคาดไว้ในตอนแรก
       
       สำหรับมุมมองของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศตะวันตก อย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว เขามองว่า ท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียูที่กดดันไทยในช่วงเวลานี้มากกว่าการรัฐประหารในปี 2549 นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ปฏิบัติเป็นปกติ แต่ก็มีการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันในบางประเทศ เช่น ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ไปเยือนโดยมีการอ้างว่าเพราะประเทศเหล่านั้นไม่ได้เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น
       
       แต่ที่น่าสนใจก็คือ ข้อสังเกตของนายอภิสิทธิ์ ที่มองว่า ข้อมูลที่สหรัฐฯและอียูได้รับเป็นข้อมูลที่ไม่สมดุล และมองปัญหาที่เห็นได้ง่ายว่ารัฐประหารมีการจำกัดเสรีภาพ การที่ไม่มีการเลือกตั้งถือเป็นเผด็จการ แต่เวลาที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่มีการระดมคนมาข่มขู่คุกคามฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเหมือนกันกลับมองไม่ออก
       
       และที่สำคัญคือมีการล็อบบี้เพื่อให้ต่างประเทศรับรู้ความจริงด้านเดียวทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
       
       การมาของทูตสหรัฐฯ คนใหม่ คราวนี้ จะคลี่คลายปัญหาความสัมพันธ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นอย่างไร ต้องรอคอยติดตามผลงานกันต่อไป 

ไม่มีความคิดเห็น: