PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

พลิกปูมเก๋า"เกล็น เดวีส์" "ทูตมะกัน"คนใหม่ประจำประเทศไทย

พลิกปูมเก๋า"เกล็น เดวีส์" "ทูตมะกัน"คนใหม่ประจำประเทศไทย

Prev
1 of 1
Next
คลิกภาพเพื่อขยาย
updated: 15 เม.ย 2558 เวลา 15:17:29 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
แม้จะมีสถานะเป็นชาติพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย แต่พลันที่เกิดเหตุยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินครั้งล่าสุดโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ดูเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ได้กลายสภาพประดุจดัง "ยาขม" สำหรับชาติพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดอย่างไทยในทันที เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นชาติแรกๆ ที่ออกมาแสดงความผิดหวังกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลทางการเมืองที่ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวและถูกควบคุมตัวไว้ ทั้งย้ำให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ที่มากไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกายังได้ประกาศว่าจะทบทวนความช่วยเหลือด้านการทหารและความร่วมมืออื่นๆ ที่มีอยู่กับไทย แม้ว่าจะลงเอยด้วยเพียงการระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยราว 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 115 ล้านบาท พร้อมกับระงับโครงการหลายโครงการทางทหารไป แต่ที่สุดแล้วการฝึกคอบร้าโกลด์ ซึ่งเป็นการฝึกทางทหารขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และดำเนินการต่อเนื่องมามากกว่า 30 ปี ก็ยังคงมีขึ้นตามเดิมต่อไป แถมยังขยายความร่วมมือให้กว้างขวางออกไปอีก โดยมีจีนและอินเดีย 2 มหาอำนาจในเอเชียเข้าร่วมด้วยเป็นครั้งแรก แม้ว่าฝ่ายสหรัฐจะพยายามเน้นย้ำว่าคอบร้าโกลด์ ครั้งที่ 34 ที่จัดขึ้นในปี 2558 นี้ จะเป็นการฝึกด้านมนุษยธรรมก็ตามที

รอยแยกในความสัมพันธ์ไทยสหรัฐดูจะถูกตอกย้ำขึ้นอีกครั้งในปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่ดูแลกิจการเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นผู้แทนระดับสูงของสหรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนไทยหลังเหตุยึดอำนาจของ คสช. เมื่อนายรัสเซลได้ไปกล่าวปาฐกถาที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการพูดถึงสถานการณ์การเมืองไทยพร้อมแสดงความกังวลในหลายประเด็น ตั้งแต่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการพูดและการชุมนุม การที่กระบวนการทางการเมืองที่ควรครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความปรองดองในระยะยาว รวมถึงการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนั้น ซึ่งทำให้เกิดกระแสโต้กลับและความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการแสดงความเห็นของนายรัสเซลครั้งนี้

ถึงขนาดที่ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องเชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มาหารือในวันถัดมา ตามด้วยการแถลงข่าวเพื่อย้ำให้ทราบว่าสิ่งที่นายรัสเซลทำไปได้ก่อให้เกิด "แผลในใจ" สำหรับคนไทยจำนวนมาก ท่ามกลางกระแสข่าวที่โหมกระพือไปทั่วว่าผู้ที่ไม่พอใจกับถ้อยคำในปาฐกถาของนายรัสเซลมากกว่าใครจนเป็นเหตุให้กระทรวงการต่างประเทศต้องเชิญอุปทูตสหรัฐอเมริกามาพูดคุยเป็นการด่วนก็คือ พล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

สิ่งที่เป็นประดุจดังข้อตอกย้ำว่าความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ใน "ภาวะปกติ" ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกายังไม่แต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ แม้ว่านางคริสตี้ เคนนีย์ พ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ทั้งที่ในความเป็นจริงในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีปัญหาในเรื่องความล่าช้าของกระบวนการในการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำการในหลายประเทศไม่เพียงเฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น

ยิ่งทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์การเมืองใดๆ ในไทย จะได้เห็นท่าทีจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในประเด็นดังกล่าวเกือบจะทันทีทุกคราวไป ด้วยความที่คนส่วนหนึ่งในสังคมไทยรู้สึกไม่พอใจกับสหรัฐอเมริกามาแต่เดิมว่าชอบก้าวก่ายในกิจการภายในบ้าง เลือกข้างบ้าง ก็ยิ่งปลุกให้เกิดความไม่พอใจให้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แม้ว่าหากพิจารณาด้วยความเป็นกลางต่อทุกฝ่ายก็ต้องยอมรับว่า การแสดงความเห็นของฝ่ายสหรัฐแทบทุกครั้งจะมาจากการตอบคำถามของผู้สื่อข่าวซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกวันโดยโฆษกหรือรองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตามที

ล่าสุด ทำเนียบขาวได้ประกาศว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้เสนอชื่อ นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ซึ่งเป็นนักการทูตมืออาชีพ ให้มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่แล้ว ซึ่งตามขั้นตอนของสหรัฐอเมริกา หลังจากนี้ชื่อของนายเดวีส์จะถูกส่งไปให้วุฒิสภาสหรัฐพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนจึงจะสามารถเดินทางมารับตำแหน่งในไทยได้ ซึ่งคาดว่ากระบวนการดังกล่าวอาจจะใช้เวลาอีกหลายเดือนเช่นกัน

ประวัติของว่าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่นั้น น่าสนใจไม่ใช่น้อย เว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เผยแพร่ประวัติของนายเดวีส์ว่า เป็นนักการทูตอาชีพลำดับชั้นอัครราชทูตที่ปรึกษา ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน

ก่อนหน้านั้น นายเดวีส์เคยเป็นผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือระหว่าง พ.ศ.2555-2557 และปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้แทนสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ระหว่างปี พ.ศ.2552-2555 นายเดวีส์เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มรองผู้ช่วยรัฐมนตรีและเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2549-2552 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษาอาวุโสประจำ Leadership and Management School แห่ง Foreign Service Institute (FSI) เมื่อ พ.ศ.2548-2549 รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและแรงงาน กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2548 รองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการยุโรประหว่างปี พ.ศ.2547-2548 และผู้อำนวยการฝ่ายการเมืองในวาระที่สหรัฐอเมริกาเป็นประธานกลุ่ม G-8 ระหว่างปี พ.ศ.2546-2547 และช่วงปี พ.ศ.2542-2546 นายเดวีส์รับตำแหน่งอัครราชทูตที่ปรึกษาของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ณ กรุงลอนดอน

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ระหว่างปี พ.ศ.2540-2542 รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาและรองผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสาธารณะระหว่าง พ.ศ.2538-2540 และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ (Operations Center) กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ.2535-2537 และเคยถูกส่งไปประจำการในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และซาอีร์ (ปัจจุบันคือคองโก)

นายเดวีส์จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการต่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ในปี 2522 และปริญญาโทด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ จากมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศ ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เขาสมรสกับนางแจ๊กเกอลีน เอ็ม. เดวีส์ซึ่งเป็นทนายความ มีบุตรสาว 2 คน และหลานสาวอีก 3 คน

หลังจากนี้อีกไม่นานนัก เราก็คงจะได้เห็นฝีไม้ลายมือของเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยคนใหม่ ว่าจะทำได้ดีเพียงใดภายใต้สถานการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตกอยู่ในสถานะที่ไม่ค่อยปกติสักเท่าใดนักในปัจจุบัน

พิจารณาจากภูมิหลังของเกล็น เดวีส์ เห็นได้ชัดว่า นี่คือนักการทูตระดับลายคราม

นั่นนำไปสู่คำถามที่ต้องควานหาคำตอบกันต่อไปว่า ทำไมสหรัฐอเมริกาส่งมือการทูตระดับนี้มาประจำประเทศไทย?


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น: