PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

ข่าว26/1/60

ปรองดอง

นายกฯ ให้กำลังใจชาวสุราษฎร์ธานี น้ำท่วม บอก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใย รับสั่งให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับประชาชนที่ประสบอุทกภัย จ.สุราษฎร์ธานี ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งเสมอมาตั้งแต่รับเป็นพระมหากษัตริย์ โดยให้ดูแล ประชาชนให้ดีที่สุด และมีชีวิตความเป็นอยู่ปกติให้ได้เร็วที่สุด ด้วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งทุกอย่างต้องขึ้นกับประชาชนต้องร่วมมือ อยากนำความห่วงใย โดยสิ่งที่พระองค์พระราชทานให้ ทั้งทรัพย์ ถุงยังชีพ โดยให้องคมนตรี ลงยังพื้นที่ประสบภัย ดังนั้น ต้องทำให้พระองค์สบายพระทัยว่าเราร่วมมือกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังขึ้นบินบนอากาศพบว่า มีสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ ประชาชนจึงต้องเข้าใจธรรมชาติก่อน โดยนำพระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ต้องเข้าใจปัญหาก่อน ใช้เทคโนโลยีและปรับกับพื้นที่ รวมทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาของความเศร้าโศก ขอบคุณคนใต้ ที่หมุนเวียนเดินทางไปกราบพระบรมศพ แม้ลำบากแต่ทุกคนก็ไป ไม่มีน้อยลง ขณะเดียวกัน ยืนยันรัฐบาลจะอยู่จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง จนกว่ามีประชาธิปไตย ใครอยากเลือกตั้งเมื่อถึงเวลาต้องเลือกให้ดี ดีกว่าตนเอง  พูดแล้วต้องทำด้วย จึงต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
------
นายกฯ อ้อนคนสุราษฎร์ฯ ลงพื้นที่เพราะรัก อยากให้คนไทยสู้แบบคนใต้ ยัน รบ. เร่งฟื้นฟูพื้นที่จะทำให้ดีที่สุด 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ก่อนมารู้สึกไม่สบายใจโดยคิดว่าลงพื้นที่ครั้งนี้ จะมาเจอบรรยากาศที่เศร้า แต่มาถึงกลับเห็นชาวใต้ยิ้มแย้มแจ่มใส จึงอยากให้คนไทยสู้แบบคนใต้ อดทนแก้ปัญหาร่วมกัน ถ้าคนไทยมีหัวใจเข้มแข็งทั้งหมด ประเทศไทยก็ไปได้ด้วยดี การลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะรักคน จ.สุราษฎร์ธานี อยู่แล้ว และเป็นจังหวัดที่มีศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนหน้า) ในฐานะรัฐบาล จึงต้องมากำกับดูแล เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยยืนยันว่า จะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และทำตามระเบียบต่าง ๆ ด้วย โดยภาพรวมนั้นมีกว่า 1.8 ล้านคน ทุกคนจึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใต้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟู โดยใช้กฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว และหามาตรการเพิ่มเติม เช่น เงินกู้ระยะสั้น การผ่อนชำระหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ย เป็นต้น พร้อมยังขอให้ประชาชนในพื้นที่เชื่อฟังหากมีการแจ้งเตือนต่าง ๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แต่ดูแลทั้งประเทศ และไม่ได้ทำเพื่อตนเอง นำงบประมาณมาใช้และทุจริต ขอให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาดูเรื่องทุจริตด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้ยกเลิกภารกิจลงเรือเพื่อตรวจเยี่ยมประชาชนประสบอุทกภัย เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวกราก จึงต้องเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปยังมัสยิดบ้านหนองจอกแทน
------
"เสรี" เชื่อไร้ปัญหา "นายก ฯ - ประวิตร" ไม่ขานรับ ม.66/23 ชี้แค่นำเสนอแนวทาง ยันมีการศึกษาวิธีการอื่นด้วย ขอทุกคนเปิดใจสร้างปรองดอง 

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ที่มี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน กำลังเร่งพิจารณารวบรวมข้อมูล และศึกษาแนวทางต่าง ๆ ที่มีการรวบรวมไว้ โดยในเบื้องต้นจะไม่ใช้กระบวนการของการนิรโทษ แต่จะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย เป็นหลัก

ส่วนที่มีการเสนอใช้โมเดล "ม.66/23" และมีเสียงปฏิเสธมาจากนายกรัฐมนตรี รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่รับผิดชอบในงานปรองดองนั้น ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอนุฯ กมธ. ก็ยังไม่เคยมีมติว่าจะใช้แนวทางดังกล่าวเป็นหลัก เพียงแต่หยิบยกมาศึกษาเท่านั้น และมีการศึกษาแนวทางอื่น ๆ ประกอบอยู่ด้วย 

ทั้งนี้ นายเสรี กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายเปิดใจ รับฟังเหตุและผลของทุกฝ่าย ที่แสดงออกในเรื่องดังกล่าว เพราะเชื่อว่า ทุกคนหวังดีอยากเห็นประเทศชาติสงบสุข เดินหน้าไปได้ และถือเป็นเรื่องดีที่แต่ละพรรคแสดงออกอย่างชัดเจนในการเข้าร่วมสร้างความปรองดอง โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ตอบรับมาอย่างเป็นทางการแล้ว
------
พล.อ.ประวิตร ขออย่ามอง MOU ปรองดองเป็นแค่เศษกระดาษ รอนายกฯ แต่งตั้ง ป.ย.ป. เร่งทำงานใน 3 เดือน เตรียมส่งเลขาฯ สมช. ไปลาว จัดการคนหนีคดี ม.112 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.ท.จันสะหมอน จังยาสาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และ พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย - ลาว ครั้งที่ 23 ที่โรงแรมอนันตรา สยาม

โดย พล.อ.ประวิตร ได้การเปิดเผยว่าจะส่ง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เดินทางไป สปป.ลาว ในช่วง 1 - 2 วันนี้ เพื่อประสานข้อมูลด้านความมั่นคง รวมถึงติดตามตัวผู้กระทำความผิดหลบหนีคดี ม.112 อยู่ใน สปป.ลาว เบื้องต้น ยืนยัน สปป.ลาว มีข้อมูลและพร้อมให้ความร่วมมือทั้งในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะต้องหารือในเรื่องข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการได้อย่างไรบ้าง

พร้อมกันนี้ พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงการเดินหน้าสร้างความปรองดองว่า รอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งรายชื่อของ ป.ย.ป.ชุดใหญ่ให้แล้วเสร็จ จากนั้นก็จะใช้เวลาดำเนินการตามแผนประมาณ 3 เดือน และขออย่างมอง "MOU ปรองดอง" เป็นแค่เศษกระดาษ อย่าคิดไปเอง เพราะจะทำให้คนทำงานเสียกำลังใจ ยืนยันจะทำให้เกิดผลสำเร็จให้ได้ โดยการอาจจะออกเป็นกฎหมายก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และทุกฝ่ายเห็นชอบ เบื้องต้นต้องทำขั้นตอน รับฟังความเห็น ให้เสร็จก่อน และในขณะนี้ อยากให้ทุกคน ร่วมพูดคุยแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ 
-------
"สุรพงษ์" ซัด คสช. - รบ. ตั้ง ป.ย.ป. มาปฏิรูปปรองดอง เป็นการคิดเอง ทำเอง ท้านายกฯ ตั้งพรรค ลงเลือกตั้ง ชี้หากชนะถือว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถูกต้อง ปชช. ต้องการ

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า การเดินหน้าปฏิรูปประเทศ โดย คสช. และตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ขึ้นมาวางและกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเร่งสร้างความปรองดองขึ้นในชาตินั้น รัฐบาล คสช. ได้คิดเอง ทำเอง และเข้าใจเอง ทั้งหมดแล้ว จน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  มั่นใจมาก ๆ ว่านโยบายประเทศไทย 4.0 จะสัมฤทธิ์ผล นำพาประเทศก้าวไปข้างหน้าได้ตามที่วาดหวังไว้ และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียของและจะได้พิสูจน์ว่า แนวทางปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ถูกต้อง ก็อยากขอให้จัดตั้งพรรคการเมือง และเชิญชวนรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. เข้าร่วมพรรคและส่งลงสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่และโรดแมปให้ประชาชนที่อยากให้อยู่ต่อ ได้มีโอกาสเลือก เพื่อจะได้เป็นการพิสูจน์ว่าแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี นั้นถูกต้องหรือไม่ พรรคการเมืองอื่น ๆ หรือรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งจะได้สบายใจ ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเดินตามหลักการยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ ยังกล่าวด้วยว่า ถ้าหากพรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ ชนะการเลือกตั้งก็จะได้ไม่เสียของ และจะได้รู้และเข้าใจถึงวิธีการบริหารงานภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่จะต้องเป็นไปตามกฎกติกา ที่ได้ร่วมกันยกร่างขึ้นอยู่ในขณะนี้ และจะไม่มี ม. 44 มาใช้เป็นเครื่องมือ ในการทำงานหรือบริหารงานจะได้รู้ว่ายากหรือง่ายกว่ากัน
---------------
"อภิสิทธิ์" แนะ ป.ย.ป. เจ้าภาพหลักสร้างปรองดอง ชี้ให้แม่น้ำหลายสายดูแล อาจทำสังคมสับสนจ่อส่งข้อมูลให้ สปท. 31 ม.ค.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยผลการหารืออย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับแนวทางการปรองดองร่วมกับสมาชิกพรรค โดยที่ประชุมเห็นว่าทุกฝ่ายต้องทำงานสนับสนุนกัน เพื่อให้เกิดความปรองดองอย่างแท้จริง ซึ่งสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ต้องทำงานแบบรวมศูนย์เพื่อส่งข้อมูลให้กับ ป.ย.ป. รวบรวมความเห็นเพื่อกำหนดกรอบให้ชัดเจนและเดินหน้าแนวทางปรองดองไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เกิดความสับสนต่อสังคม พร้อมกับกำหนดแนวทางรับฟังความเห็นให้ชัดเจนซึ่งจะเป็นหลักประกันในความสำเร็จที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ย.ป. ยังไม่คืบหน้า ซึ่งส่วนตัวขอเสนอ 2 แนวทางในการคัดเลือกบุคคลทำงานสร้างความปรองดอง คือ การนำเอาบุคคลที่หลากหลายเข้ามาดำเนินการ และการตั้งเป็นกรรมการอำนวยการประมวลความคิดเห็น เพื่อป้องกันบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่จะเป็นกลางหรือไม่

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวอีกว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ระบุแนวทางการปรองดองจะไม่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรม และต้องเป็นไปตามกฎหมาย ถือเป็นแนวทางที่ดีในการเริ่มต้น ซึ่งในส่วนของพรรค จะเสนอความเห็นไปยัง สปท. ในวันที่ 31 มกราคม นี้
----------
"มีชัย" บอกยังไม่ทราบรัฐบาลเชิญร่วมเวิร์คช็อป ป.ย.ป. 1 ก.พ. นี้ ขณะยืนยัน กรธ. ยึดหลักความเป็นธรรมไม่ว่าความปรองดองจะเกิดหรือไม่

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลเตรียมเสนอกฎหมายอำนวยความยุติธรรม ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการปรองดอง แต่เป็นไปตามแนวทางที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด โดยยืนยันว่า กรธ. พยายามร่างกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของอนาคตและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นธรรม ซึ่งไม่ว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ กรธ. ก็ยืนยันยึดหลักความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งรัฐและประชาชน

ขณะเดียวกัน นายมีชัย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมจัดประชุมชิงปฏิบัติการของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสมัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้ โดยจะมีตัวแทนรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ซึ่งมีรายงานว่าจะมี กรธ. ร่วมประชุมด้วยนั้น เบื้องต้น กรธ. ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงาน และยังไม่ทราบว่า กระบวนการสร้างความปรองดองนี้ ต้องการกฎหมายใดเพิ่มเติมหรือไม่
---------
“มีชัย” ปัดตอบ ปม แก้รธน.ฉบับผ่านประชามติตามข้อสังเกต

เมื่อเวลา 13.40 น.วันที่ 26 มกราคม ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการสร้างความปรองดองที่เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เราพยายามให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนที่จะปรองดองกันนั้น เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งจะต้องมีกฎหมายหรือไม่ก็ยังไม่มีใครรู้ เพราะไม่รู้ว่า จะปรองดองกันอย่างไร ในส่วนของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องทำในอนาคตจะมีเรื่องปรองดองด้วย นั้น ไม่ว่าจะมีปรองดองเกิดขึ้นหรือไม่ ต้องเป็นธรรมอยู่แล้ว กฎหมายทุกฉบับที่เราทำต้องคิดถึงความเป็นธรรม ไม่ว่าฝ่ายรัฐ หรือ ราษฎรต้องได้รับความเท่าเทียมเท่ากัน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) จะจัดเวิร์กช็อป วันที่ 1 กุมภาพันธ์นั้น ตนยังไม่ทราบรายละเอียด

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามข้อสังเกตพระราชทานนั้น นายมีชัย ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียด และเดินเข้าห้องประชุม กรธ. ทันที
---------------------
บิ๊กป้อม เดินหน้าเต็มตัว...จัดการ พวกหนี ม.112 ไปลาว

พลเอกประวิตร เผยจะส่ง พลเอกทวีป เนตรนิยม เลขาฯสมช.ไปลาว 1-2วันนี้ ประสานข้อมูล เสื้อแดง-พวกหนีคดีม.112ที่อยู่ลาว ชี้ลาวก็มีข้อมูล เขาพร้อมร่วมมือกับเรา ทั้งกต.-ตม.-ตร.‬ เพราะต้องคุยในเรื่องข้อกฏหมาย ด้วย ว่า ทางลาวจะดำเนินการอย่างไรได้

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีการขอความร่วมมือกับประเทศลาวกรณีที่มีสถานีวิทยุเผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันฯ และพวกหนีคดี ม.112 ว่า หารือเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางลาวตอบรับจะไปดูแลให้ โดยจะไปตรวจสอบว่าบุคคลเหล่านี้อยู่ในบริเวณใดขอประเทศลาว

ทั้งนี้ ตนจะส่ง พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เดินทางไปประเทศลาวเพื่อติดตามเรื่องนี้ เพราะการดำเนินการต้องเป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงกลาโหม และกระทรวงป้องกันประเทศของลาว รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้ ทุกๆ เรื่องที่เราร้องขอไปทางลาวตอบรับอย่างดี เพื่อให้ทั้งสองประเทศอยู่อย่างสงบ และแลกเปลี่ยนผู้ร้ายอย่างชัดเจน โดยผู้บุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของลาวที่อาศัยในประเทศไทย หากพบ
เราก็พร้อมดำเนินการให้ ขณะเดียวกันในส่วนกลุ่มคนที่หมิ่นสถาบันที่อาศัยในประเทศลาวเราได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ซึ่งก็ต้องแลกเปลี่ยนงานด้านการข่าว
--------------
“ยิ่งลักษณ์”ฝากทุกฝ่ายมี”เมตตาธรรม-หลักนิติธรรม”อย่าเป็นศัตรู ก่อนนับหนึ่งปรองดอง

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ศาลปกครอง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการปรองดองของรัฐบาลว่า คงต้องให้เวลาพรรคการเมืองหารือกันก่อน ขณะนี้ในส่วนของตนยังไม่มีการพูดคุยกันเลย เพราะยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าจะให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร เรายังไม่ทราบรายละเอียดจริงๆ คงต้องรอการตั้งคณะกรรมการฯก่อน และหลักเกณฑ์ ว่าจะเชิญทุกฝ่ายมาพูดอะไรบ้าง และคนที่มาจะต้องมีความครอบคลุม ขอยังไม่ให้ความเห็นในขณะนี้ แต่อะไรที่เป็นประโยชน์ในภาพรวมต่อประชาชน ประเทศชาติ ก็พร้อมร่วมมือกัน

“ขณะนี้ยังไม่มีใครทาบทามมาให้เข้าร่วม เราคงเอาตัวเองเป็นตัวตั้งไม่ได้ ต้องดูประโยชน์ที่ส่วนรวมจะได้รับเป็นตัวตั้งมากกว่า แต่ส่วนตัวเห็นว่าหัวใจสำคัญในการสร้างความปรองดองคือต้องมีเมตตาธรรม หลักนิติธรรม ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการที่เป็นธรรม ถ้าเราได้สองหลักนี้ เชื่อว่าอย่างอื่นจะตั้งต้นได้ง่าย จริงๆต้องยึดตรงนี้ อย่ายึดว่าแต่ละฝ่ายเป็นศัตรูกัน ถ้ามองแต่ละฝ่ายเป็นศัตรูกันเราคงเริ่มนับหนึ่งการปรองดองได้ยาก ถ้าเรามองว่าจะมาร่วมกันแก้ปัญหาให้ประเทศและให้ประเทศก้าวพ้นจากตรงนี้ ต้องมองด้วยใจที่เปิดกว้างและเป็นธรรม และเรามาคิดกันดูว่าหลักอะไรบ้างที่จะเกิดความเป็นธรรมกับทุกคน และเป็นไปตามหลักนิติธรรมที่สากลและทุกคนยอมรับ”น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะไม่มีการพูดถึงการนิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องพูดแต่เริ่มต้นหลักคิดก่อนว่าความหมายของการปรองดองและวิธีการตั้งแต่เริ่มต้นจะครอบคลุมถึงอะไร ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น
/////////
ยิ่งลักษณ์

กองเชียร์แน่น ให้กำลังใจ "ยิ่งลักษณ์" หน้าศาลปกครอง รอไต่สวนคดียื่นฟ้องนายกฯ ออกคำสั่งทางปกครองมิชอบ

บรรยากาศบริเวณด้านหน้าศาลปกครอง มีประชาชนที่ให้การสนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในการเดินทางมาตามคำนัดศาลปกครองกลางที่นัดไต่สวนในคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฟ้องร้อง นายกรัฐมนตรี กับพวก รวม 4 คน กรณีออกคำสั่งทางปกครองโดยมิชอบ ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเมื่อครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ผู้ฟ้องคดี) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ได้ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย ที่เกิดขึ้นแก่ราชการตามอำนาจหน้าที่เป็นเหตุให้กระทรวงการคลัง ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เดินทางมาวันนี้ส่วนใหญ่สวมเสื้อขาว โดยพิมพ์ข้อความให้กำลังใจ
--------------
"ยิ่งลักษณ์" ขึ้นศาลปกครองขอทุเลาคำสั่งชดใช้คดีข้าว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเข้าไต่สวนตามคำนัดของศาลปกครองกลาง โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ว่า วันนี้เป็นการนัดไต่สวนเบื้องต้น โดยศาลได้ให้ทั้งสองฝ่าย กลับไปทำคำชี้แจงเพิ่มเติม และจะต้องรอผลหลังจากส่งเอกสารชี้แจงเพิ่มเติม ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าประเด็นหลักที่ได้ชี้แจงในครั้งนี้นั้น คือ ประเด็นความเดือดร้อน ว่า ระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาและยังไม่สิ้นสุดกำลังถ้าเกิดทรัพย์สินต่าง ๆ ถูกยึดและอายัดทรัพย์จะเป็นความเดือดร้อน ซึ่งจะไม่ใช่เพียงแค่ตนเองที่เดือดร้อน แต่รวมไปถึงครอบครัวผู้ที่ถูกฟ้องร้องด้วย

พร้อมกันนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ยังหวังว่าศาลปกครองจะคุ้มครองชั่วคราว และชะลอคำสั่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังกล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องชี้แจงกับศาลปกครอง หากศาลจะให้โอกาส เพราะมีความเดือดร้อนและความลำบาก ซึ่งมีความทุกข์ที่ไม่สามารถบรรยายได้

นายนพดล หลาวทอง ทนายความส่วนตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในการไปไต่สวนครั้งนี้ ศาลยังไม่ได้ให้ความชัดเจน ว่า คุ้มครองหรือไม่ เพราะยังอยู่ระหว่างที่จะต้องให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีมาชี้แจงเพิ่มเติม โดยจะใช้เวลา 30 วัน
///
ปมทุจริต

"จาตุรนต์" FB ตั้งคำถาม 4 ข้อ ถึงรัฐบาล - ประชาชน จะแก้ปัญหาทุจริตอย่างไร หลังดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยตกต่ำลง 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Chaturon Chaisang" จากข่าวดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยตกต่ำลง จากได้ 38 คะแนน ในปี 2558 มาเป็น 35 คะแนน และมาอยู่อันดับที่ 101 ในปี 2559 ทำให้มีประเด็นที่น่าคิด อยู่ 4 เรื่อง คือ

1. รัฐบาล คสช. ประโคมข่าวมาตลอดว่าเอาจริงเอาจังกับการปราบคอร์รัปชั่น ถือว่าการปราบคอร์รัปชั่นเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการยึดอำนาจและการอยู่ในอำนาจ เหตุใดผลที่ออกมาจึงสวนทางกับสิ่งที่พูดอยู่ตลอดเวลา

2. ที่ผ่านมา เวลาพูดถึงการปราบคอร์รัปชั่น สังคมไทยเรามักพูดถึงความเด็ดขาด เอาจริงของบุคคลหรือคณะบุคคล หรือไม่ก็จะพูดถึงการสร้างจิตสำนึก มากกว่าการพูดถึงระบบ เป็นไปได้หรือไม่ที่จุดนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

3. ผู้ที่มีอำนาจในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะในช่วง 2 - 3 ปีมานี้ มักไม่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะเกี่ยวข้องอะไรกับการปราบคอร์รัปชั่น การปิดกั้นเสรีภาพจึงเกิดขึ้นตลอดมา แม้ผู้ที่ต้องการตรวจสอบโครงการของรัฐหลาย ๆ โครงการก็ถูกปิดกั้นเสรีภาพ และถูกคุกคามอย่างหนัก ซึ่งประเด็นนี้ก็อยู่ในรายงานของการประเมินครั้งนี้ด้วย

4. ตามที่ปรากฏในข่าว รายงานนี้ยังได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้อันดับของไทยแย่ลง เนื่องจากความไม่เป็นประชาธิปไตยหรือความเป็นเผด็จการ ซึ่งน่าจะตรงข้ามกับความเข้าใจของคนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบคอร์รัปชั่นทั้งหลาย ที่มักจะเห็นว่าระบบเผด็จการนั้นปราบคอร์รัปชั่นได้ดีกว่าระบบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ นายจาตุรนต์ ทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้ช่วยกันคิดต่อว่าเมืองไทยจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร
-----------
"ม.ล.ปนัดดา" FB ประเด็นรูปภาพที่โตเกียว ขออย่าตำหนิทับถมสถาบันข้าราชการ แต่ให้มองเป็นเรื่องของตัวบุคคล

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว "Panadda Diskul" ว่า ใครจะพูดจะตำหนิอะไรกัน เรื่องรูปภาพที่นครเกียวโต ขออย่าตำหนิหรือทับถมสถาบันข้าราชการ ช่วยกันขบคิดให้หนักเป็นเบา เป็นบทเรียนสำคัญ ขอให้มองเป็นเรื่องของตัวบุคคล เป็นพฤติกรรมเฉพาะตัว ที่คงจะมีแนวคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมือนใคร หรือไม่มีใครคิดจะกระทำ

อะไรได้เช่นนั้น เพราะคนไทยรักชาติ รักเกียรติยศ และชื่อเสียงเกียรติภูมิ โดยเฉพาะเหล่าข้าราชการที่เราจะต้องช่วยบอกกล่าวกันให้มาก สิ่งใดควรไม่ควร อันเป็นชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศชาติและประชาชน ที่ต้องช่วยกันดำรงรักษา ไม่ให้ลูกหลานไทยเสียใจ
------------
"สมคิด" ระบุ กรณีที่ข้าราชการถูกควบคุมตัวข้อหาขโมยรูปที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรกล่าวหาภาพรวมว่าเป็นความผิดของกระทรวงพาณิชย์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่ข้าราชการระดับรองอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ ถูกควบคุมตัวข้อหาขโมยรูปภาพโรงแรมที่เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการอยู่แล้ว โดยเรื่องที่เกิดขึ้นในภาพรวมแล้วไม่ควรกล่าวหาว่าเป็นความผิดของกระทรวงพาณิชย์ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของส่วนบุคคล จะต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลไป และขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนอยู่แล้ว และหากพิจารณาว่ามีความผิดจริง จะต้องดำเนินการตามกระบวนทางกฎหมาย โดยจะไม่มีการช่วยเหลือให้พ้นความผิดแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ราชการบุคคลดังกล่าวด้วย ส่วนรายละเอียดของบทลงโทษและผลกระทบด้านการค้านั้น ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด
-----------
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผย ยังไม่ได้รับข้อมูลเพิ่มเติม กรณีข้าราชการขโมยภาพวาดที่โรงแรมของญี่ปุ่น 

กรณี ข้าราชการระดับรองอธิบดีของกระทรวงพาณิชย์ ถูกควบคุมตัวที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ข้อหาขโมยภาพวาด3 ภาพมูลค่า 15,000 เยน ที่ติดอยู่ในโรงแรม หลังจากพนักงานโรงแรมพบว่ามีภาพวาดที่ตกแต่งอยู่บริเวณชั้น 9 - 10 ได้หายไป เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมานั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติมจากที่มีข่าวเผยแพร่ออกมา

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา ประสานการทำงานร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการกงสุล โดยได้จัดสรรล่าม และทนายความ ซึ่งในวันนี้อยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเข้าเยี่ยม

--------------
อดีตกัปตันบินไทย ยื่นนายกฯ สอบ "จรัมพร" - พร้อมขอให้ใช้ ม.44 ตรวจสอบการทุจริตบริษัทการบินไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ช่วงเช้าที่ผ่านมา ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายโยธิน ภมรมนตรี อดีตกัปตันการบินไทย พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาลเครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์บริการประชาชน ขอให้ตรวจสอบการกระทำของ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเงิน บริษัทการบินไทย จำกัดมหาชน ว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ กรณีอนุมัติการเดินทาง ซึ่งมีค่าวีซ่า ระยะเวลา 10 ปี และค่าดำเนินการ ให้ นายณรงค์ชัย ไปร่วมงาน ของบริษัทโบอิ้ง กว่า 7.1 หมื่นบาท ทั้งที่ นายณรงค์ชัย เป็นพนักพนักงานจ้างตามสัญญา 4 ปี เหลืออายุ ปฏิบัติงานอีกประมาณ 19 เดือน

นอกจากนี้ ยังขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ มูลค่า 55,249 ล้านบาท และใช้เครื่องยนต์ของโรลส์ - รอยซ์ ด้วย เนื่องจากเครื่องบินทั้ง 10 ลำใช้งานเพียง 9 ถึง 10 ปี และหยุดทําการบินเมื่อปี 2556 ปัจจุบันปลดประจำการ จอดรอการขายต่อที่สนามบินดอนเมืองและสนามบินอู่ตะเภา ตลอดจนขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหมดในบริษัทการบินไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วย
--------------
คณะทำงานฯ ป.ป.ช. เตรียมประชุมคอนเฟอเรนซ์ SFO หกโมงเย็นวันนี้ ยันหากได้ชื่อคนทุจริตตั้งอนุฯ สอบทันที เชื่อหาก มี ม.44 ช่วยจะทำให้เร็วขึ้น 

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานคณะทำงานสืบสวนและรวบรวมข้อมูลกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า คณะทำงานฯ นัดประชุมทางไกลเทเลคอนเฟอเรนซ์ กับสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ในเวลา 18.00 น. วันนี้ เพื่อขอข้อมูลกรณีการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์ - รอยซ์ ถ้ามีความชัดเจนในรายละเอียด เช่น ตัวบุคคล พฤติการณ์ หรือสถานที่ในการจ่ายสินบน จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป แต่ยอมรับว่ายังไม่สามารถเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทันในวันนี้ เนื่องจากต้องรอข้อมูลจากการบินไทย และ ปตท. รวมถึง ปตท.สผ. ที่จะได้ในวันนี้ รวมถึงข้อมูลจาก SFO ด้วย

นอกจากนี้ เลขาฯ ปปช. ยังกล่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ต้องประสานขอข้อมูลเอกสารจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประสานขอข้อมูลอย่างเป็นทางการกับ SFO และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา จึงคาดว่าอาจต้องใช้เวลาในการไต่สวนเกินกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ดีหาก หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็จะช่วยกระชับกรอบเวลาการดำเนินการได้มากขึ้น
------------
กฟผ. วอนสื่อ เสนอข้อมูลให้ถูกต้อง ยันไม่เกี่ยวข้องปมรับสินบนจัดซื้อเคเบิลและสายไฟฟ้า 

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข่าวการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐของไทยในการจัดซื้อเคเบิลและสายไฟฟ้าอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้ และสื่อมวลชนบางแห่งได้ลงข่าวว่า กฟผ. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจของไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ในความเป็นจริง ตามข้อมูลจากเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาที่รายงานการจ่ายค่าปรับของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเคเบิลและสายไฟฟ้า จากการที่บริษัทฯ ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา รวมถึงประเทศไทย มิได้มีชื่อของ กฟผ. เป็นหนึ่งในองค์กรที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด ข่าวดังกล่าวจึงเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน และการเผยแพร่ข่าวอันเป็นเท็จนี้ทำให้ กฟผ. เสื่อมเสียชื่อเสียง จึงขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังในการเผยแพร่ข่าวด้วย
-----------------
รัฐมนตรีฯ คลัง ชี้ ปมโรลส์ - รอยซ์ ถือเป็นบทเรียน เร่งปรับปรุงช่องโหว่ภาครัฐป้องกันการทุจริต

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่องค์การความโปร่งใสระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยว่าประเทศไทย ถูกจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นในปีนี้ที่ 101 จากอันดับที่ 76 ในปีที่ผ่านมา โดยมีคะแนนเพียง 35 มองว่าเป็นผลสำรวจจากความรู้สึก ไม่ได้เกิดขึ้นจากที่หน่วยงานราชการรับสินบนใต้โต๊ะบริษัท โรลส์ - รอยซ์ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากโครงการที่เป็นประชานิยมจึงทำให้ไทยลูกลดอันดับลง

ทั้งนี้ มองว่า การที่ บริษัท โรลส์ - รอยซ์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลถือเป็นเรื่องดีที่มีหลักฐานในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ไทยสามารถเอาผิดกับหน่วยงานราชการที่กระทำผิด ซึ่งหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาทางป้องกันการคอร์รัปชั่น โดยกระทรวงการคลัง ได้หารือกับกรมบัญชีกลาง ในการแก้ไขระบบการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นธรรม โปร่งใส มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดราคากลาง ที่ในช่วงที่ผ่านมามีข้อกังขาว่า มีการทุจริต ซึ่งกรมลัญชีกลางเป็นเพียงแค่หน่วยงานในการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ราคากลางหน่วยงานจะเป็นผู้กำหนดเอง ดังนั้น ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมจัดหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบการจัดทำราคากลาง ร่างทีโออาร์ เพิ่อให้มีความโปร่งใส
------------

ไม่มีความคิดเห็น: