
หลายเสียงบอกว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ หลายเสียงบอกว่าจะขัดกับหลักประชาธิปไตย และหลายๆเสียงบอกว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก
แต่หลายๆเสียงก็บอกว่าดี เพราะยุทธศาสตร์ชาติ น่าจะเป็นเรื่องดีๆ และเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ควรจะได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ผมเองก็เคยเขียนติงไว้อย่างเป็นกลางๆ เพราะเข้าใจและชื่นชมในเจตนาดีของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่ได้อ่านเอกสาร “เบื้องหลัง การถ่ายทำ” ดังที่เกริ่นไว้แล้ว
เพียงแค่ห่วงในเรื่องการปฏิบัติที่อาจจะขัดแย้งกับความเป็นประชาธิปไตยในอนาคตเท่านั้น
ก็พอดีนึกถึงเรื่องของ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ขึ้นมาได้ ซึ่งถ้าจะว่าไปก็คือยุทธศาสตร์หรือวิธีการในการพัฒนาประเทศชาติอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง
คือคิดหรือคาดการณ์เสียก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตและประเทศไทยเราควรจะดำเนินการหรือวางตัวอย่างไรบ้าง แล้วก็กำหนดเป็นแผนงานโครงการและยุทธวิธีเพื่อไปดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ให้สอดคล้องกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือตั้งใจจะให้เกิดขึ้น
เพียงแต่แผนพัฒนาชาติอาจจะมองเพียง 4-5 ปี มิใช่ยาวเป็น 20 ปี อย่างที่มีการพูดถึงในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย
ในฐานะผู้ที่เคยมีประสบการณ์และมีโอกาสสัมผัสความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของการจัดทำแผนพัฒนาประเทศไทยอยู่บ้างประกอบกับผมจะต้องแว่บไปต่างจังหวัดสัก 2-3 วัน ก็เลยอยากจะหยิบยกความหลังมาเล่าสู่กันอ่าน ทั้งเพื่อให้มีข้อเขียนเต็มคอลัมน์ ระหว่างผมไม่อยู่ และเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์โยงไปถึงเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำลังฮือฮาอยู่ในขณะนี้ ไม่มากก็น้อย
มาเริ่มที่แผนพัฒนาประเทศกันก่อนเลยครับ
นับเป็นเวลา 56 ปีพอดีที่คนไทยเราได้ยินและรู้จักกับคำว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจ” ซึ่งมีการประกาศใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2504 ในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ มีการขยายแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเติมคำว่าสังคมไปด้วย เมื่อ พ.ศ.2510-2514 และ เรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
ทำกันทุกๆ 5 ปี จนล่าสุดก็คือแผนฉบับที่ 12 เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2560-2564 คือปีนี้เป็นต้นไป
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ถือเป็นคู่มือสำคัญที่รัฐบาลจะใช้ในการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามทิศทางที่กำหนดไว้
แผนฉบับที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดคือ เขียนแล้วหน่วยราชการทำตาม 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็คือ แผนพัฒนาฉบับที่ 1 ในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์อย่างที่ว่า
จอมพลสฤษดิ์ท่านเชื่อมือข้าราชการ นักวิชาการที่เรียกว่าเทคโน แครต ยุคนั้นที่มาช่วยท่านทำแผนฉบับที่ 1 ซึ่งมีทั้ง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ม.ล.เดช สนิทวงศ์, บุญมา วงศ์สวรรค์, ฉลอง ปึงตระกูล, สุภาพ ยศสุนทร และหลังๆก็มี ดร.อำนวย วีรวรรณ ฯลฯ ด้วย
เขียนอะไรมาท่านก็เอาหมด และก็สั่งหน่วยราชการให้ทำตาม
มาในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงแผน 2 ก็ยังใช้สั่งการได้อยู่ เพราะจอมพลถนอมท่านยังมีบารมีอยู่มาก แต่พอเข้าแผน 3 ที่เริ่ม พ.ศ.2515-2519 ก็เริ่มมีการปฏิบัติตามน้อยลง เนื่องจากจอมพลถนอมถูกนิสิต นักศึกษา ประชาชน เดินขบวนขับไล่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มใช้แผน 3 มาประมาณปีเศษๆ.
(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น