PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

ก้าวหน้าหรือถอยหลัง?

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีผลผูกพันคนไทยทั้งประเทศถึง 20 ปี เสียงวิจารณ์จึงยังมีอยู่ต่อไป นักวิชาการบางคนวิพากษ์ว่า เป็นแผนการอยู่ในอำนาจยาวของ คสช. ขณะที่นักการเมืองสองพรรคใหญ่เตรียมร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เป็นการออกกฎหมายแบบมัดมือชก ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ให้รับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงว่า ผ่านการรับฟังความคิดเห็น
ประชาชนในทุกขั้นตอน รองประธาน สนช. ยืนยันว่า ทำตามรัฐธรรมนูญทุกขั้นตอน รัฐบาลส่งเอกสารการรับฟังความเห็นให้ด้วย

หลายคนฟังคำชี้แจงแล้วอาจสงสัยว่า รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติตั้งแต่เมื่อไหร่ คอลัมนิสต์บางคนเขียนแซวว่า รัฐบาลเปิดเว็บไซต์ และเชิญประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น มีประชาชนเปิดเว็บไซต์ 3,000 ราย แต่ร่วมแสดงความคิดเห็นเพียง 8 คน ถือว่าเป็นอันเสร็จ “พิธีกรรม” แล้วใช่หรือไม่?

แต่ถ้าดูร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเห็น ได้ว่า ประชาชนแทบจะไม่มีส่วนร่วมใดๆ เริ่มด้วยการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. และเลขาธิการความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน

ชัดเจนว่า กรรมการส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการ มีผู้นำเหล่าทัพกำกับดูแลอยู่ แต่ไม่มีที่ว่างสำหรับประชาชน ส่วนขั้นตอนต่อไปต้องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำ ยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ ให้เสร็จภายใน 120 วัน ส่งกลับไปให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อส่งต่อคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็จะเสนอร่างสู่ สนช.พิจารณาอนุมติ ทุกขั้นตอนไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมาย แล้ว รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดให้ 250 ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เป็นผู้ติดตามเร่งรัดให้รัฐบาลทำตามยุทธศาสตร์ชาติ และมีเสียงขู่ด้วยว่า รัฐบาลใดไม่ทำตาม อาจต้องโทษถึงติดคุก ทั้งๆที่กฎหมายฉบับนี้ไม่มีตัวแทนประชาชนเข้าร่วม ประชาชนก็ไม่ได้ร่วม แต่ใช้บังคับกับคนกว่า 65 ล้านคน แบบนี้มัดมือชกหรือไม่?

กฎหมายฉบับนี้อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปกครองประเทศโดย “รัฐราชการ” หรือ “ชนชั้นนำภาครัฐ” แต่นักวิชาการบางคนเรียกว่า “อมาตยาธิปไตย” ขอให้ประชาชนอยู่เฉยๆ รอฟังคำสั่งเพียงอย่างเดียว จะมีคณะสัพพัญญูผู้รู้แจ้งปัญหาทุกอย่างของประเทศ เป็นผู้ออกกฎหมายใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ เป็นการเมือง 4.0 หรือ 0.4 ก้าวหน้าหรือล้าหลัง?

ไม่มีความคิดเห็น: