PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นวัตถุวิสัย vs ความเป็นกลาง?

Time Chuastapanasiri

มีหลายท่านชอบพูดว่าสื่อมวลชนต้องเป็นกลาง หรือบางท่านพูดว่าสื่อมวลชนเป็นกลางไม่ได้
ผมเคยเขียนไปแล้วครั้งหนึ่งอธิบายเรื่องความเป็นกลางว่า "เราไม่ได้ใช้คำนี้ในทางวารสารศาสตร์" (journalism) แต่เราใช้คำว่า "ความเป็นวัตถุวิสัย" ซึ่งอธิบายว่าการรายงานข่าวตามสภาพข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นอย่างไม่สอดแทรกความคิดเห็นส่วนตัวลงไป

อย่างไรก็ตาม "ก็พอจะอนุโลมจะให้ใช้ได้" สำหรับคนทั่วไปที่จะพูดว่าสื่อเป็นกลางหรือไม่นั้น ในสายตา มุมมองของคนทั่วไปก็จะมองว่า สื่อควรต้องเป็นกลาง

การนิยามความหมายของ “ความเป็นวัตถุวิสัย” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย Westerstahl ได้นิยามความหมายของความเป็นวัตถุวิสัยในมิติที่เชื่อมโยงกับค่านิยมและข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวหมายถึงรูปแบบการรายงานเหตุการณ์และถ้อยแถลงซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากแหล่งข่าวต่างๆ แล้วจึงนำมารายงายโดยปราศจากการใส่ความคิดเห็นใดๆ ลงไป

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังเชื่อมโยงกับความสมบูรณ์ ความถูกต้องของข้อมูล และความมุ่งหมายที่จะไม่ชี้นำหรือปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวเนื่องด้วย หลักการเหล่านี้ถือเป็นเรื่องยากที่จะก่อให้เกิดความเป็นวัตถุวิสัยซึ่งเชื่อมโยงกับกระบวนการคัดสรรมากกว่ารูปแบบการนำเสนอ และกระบวนการคัดสรรนั้นก็จะต้องยืนอยู่บนหลักการที่ยึดว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญต่อผู้รับสารเป้าหมายหรือสังคมโดยรวม กล่าวโดยรวมก็คือ สิ่งที่กระทบต่อผู้คนจำนวนมาก ในช่วงเวลาแบบฉับพลัน และมีผลกระทบรุนแรงก็ให้ถือว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันสูง (แม้ว่าผลประโยชน์ในการรับรู้ของสาธารณชนอาจแตกต่างจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญก็ตาม)

ตามหลักการของ Westerstahl ความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจะก่อให้เกิดทัศนคติที่เป็นกลางซึ่งเกิดขึ้นได้โดยการผสมผสานระหว่างความสมดุล (ความเท่าเทียมทั้งในแง่ของเวลา พื้นที่และการให้น้ำหนักความสำคัญ) ของกลุ่มคน เหตุการณ์ และมุมมองความเห็นที่ขัดแย้งกัน และความเป็นกลางในการนำเสนอ

ภาพนี้แสดงอองค์ประกอบของความเป็นวัตถุวิสัย (Westerstahl)

จากภาพที่ 1 จะพบองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการของความเป็นวัตถุวิสัยนั่นก็คือ คุณภาพของข้อมูลข่าวสาร (Informativeness) ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้รับสารได้รับข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจและจดจำได้มากยิ่งขึ้น ปัจจัยที่จะทำให้ข้อมูลข่าวสารมีคุณภาพมีดังนี้

• สื่อมวลชนควรจะรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านอีกทั้งนำเสนอภูมิหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

• ข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอควรมีความเป็นวัตถุวิสัยในแง่ของความถูกต้อง ซื่อตรง สมบูรณ์เพียงพอ ตรงตามความเป็นจริง และไว้วางใจได้ในแง่ที่สามารถตรวจสอบได้และแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น

• นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างสมดุลและเป็นธรรม (ไม่โอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง) รายงานข่าวในแง่มุมที่ต่างออกไป รวมทั้งตีความโดยปราศจากการใช้อารมณ์หรืออคติให้ได้มากที่สุด

ข้อจำกัดของความเป็นวัตถุวิสัย

แนวคิดเรื่องความเป็นวัตถุวิสัยข้างต้นนำมาซึ่งความยุ่งยากหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่ชัดเจนถึงขอบเขตของปริมาณข้อมูลที่เพียงพอและเกี่ยวข้องกับสิ่งที่นำเสนอ อีกทั้งยังมีข้อถกเถียงด้วยว่า การยึดเอาหลักการของความเป็นวัตถุวิสัยอาจนำมาซึ่งอคติรูปใหม่ๆ ที่แนบเนียนกว่าเดิมด้วย


โดยสรุปก็คือ คำว่าเป็นกลาง เราอาจใช้ในความหมายของคำว่า "neutrality" ที่หมายถึง "พอสมสัดส่วนพื้นที่ในการรายงานข่าว" ดังนั้น พื้นที่ข่าวที่ใกล้เคียงกัน สมดุลพอสมน้ำสมเนื้อกัน จึงช่วยข่าวสารนั้น ดูจะเป็นกลางขึ้นมาได้

แต่มันยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆ อีก เช่น การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการเมือง ไม่สอดแทรกความคิดเห็นในรายงานข่าวหรืออคติส่วนตัวลงไป


ไม่มีความคิดเห็น: