วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 เวลา 18:45:18 น.
นอกเหนือจากสถานการณ์ร้อนๆ บนท้องถนนเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ณ เวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สังคมกำลังเฝ้าติดตามว่าจะพัฒนาไปในรูปใด
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ต้องติดตามใกล้ชิด และมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันกับสถานการณ์แรก ก็คือการที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้ กรณีมีผู้ยื่นคำร้อง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา, นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภา รวม 312 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า เป็นการที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 หรือไม่
เป็นที่น่าจับตาว่า อาจเป็นชนวนให้การเมืองไทยร้อนแรงยิ่งขึ้นอีกครั้ง
เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศบนเวทีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนว่า การต่อสู้จะต้องจบ
ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นอกจากนี้ พรรคฝ่ายค้านยังเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการอภิปรายซักฟอกรัฐบาล และมีการลงมติ ที่สำคัญเมื่อมีญัตติไม่ไว้วางใจเข้าสภา รัฐบาล
จะยุบสภาไม่ได้ ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับการเมือง
มีการวิเคราะห์แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นไปได้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรก การวินิจฉัยว่าเรื่องดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแนวทางเป็นบวกที่สุดกับรัฐบาล ส่วนแนวทางที่สอง การวินิจฉัยที่อาจนำไปสู่โทษความผิดที่จะตกอยู่กับ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คน ที่ร่วมลงชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว.นี้ ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการถอดถอนให้พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.และ ส.ว.
และแนวทางที่สาม การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คือเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำวินิจฉัยในข้อนี้อาจส่งผลให้นำไปสู่การยุบพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองครั้งใหม่ได้
แน่นอนหากรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีอันต้องพ้นสภาพไปด้วยกลไกขององค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ต้องประกาศนำมวลชนออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
เป็นจุดเสี่ยงที่จะนำมาซึ่งการเผชิญหน้าของมวลชนสองกลุ่ม ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน
ซึ่งในความเห็นของ สมฤทธิ์ ไชยวงค์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า แนวทางการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มเป็นไปได้ทุกประเด็น ทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะเป็นไปใน
แนวทางไหนที่ชัดเจน ดังนั้นเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องรอคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาในแนวทางใด
ขณะที่ในมุมมองของนักวิชาการ อย่าง สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองหลังวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า แนวทางใน
การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นความหวังและทางลงที่สงบของม็อบราชดำเนิน
อาจารย์สมชายกล่าวว่า ประเด็นหลักในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต้องดูว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ขัดหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการฝ่าฝืนระบอบประชาธิปไตยเป็นประเด็นหลักที่จะต้องว่ากันไปตามกระบวนการ ส่วนเรื่องจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมือง หรือตัดสิทธิให้พ้นสภาพสมาชิกทั้ง 312 คน หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ส่วนที่คาดกันว่าคนเสื้อแดงอาจระดมมวลชนเพื่อกดดันคำตัดสิน อาจารย์สมชายมองว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงไม่น่าจะเป็นการระดมมวลชนเพื่อปะทะมวลชน แต่แกนนำจะต้องกระทำในลักษณะการอธิบายข้อเท็จจริงที่อาจจะเกิดขึ้นในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความเข้าใจ ในแง่ของหลักการที่จะสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยที่คนเสื้อแดงใช้เป็นอุดมการณ์ในการต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอด
ถัดจากนักวิชาการ ลองมาฟังมุมมองของนักพยากรณ์ ภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล อธิบายทิศทางดวงการเมืองไทยว่า ช่วงนี้ตอบยาก ถ้าดูภาพรวมที่เคยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้าเคราะห์ปี
หน้าและเกี่ยวกับการตัดสินใจผิดพลาด หมายถึงดวงข้างหน้าจะไม่ดี คือต้องมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด ณ เวลานี้ ทำให้ดวงเกิดปัญหาในวันข้างหน้า ค่อยๆ สะสมไป ซึ่งได้พูดตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมมาแล้ว ที่บอกว่าการลงมติของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย เป็นการตัดสินใจผิดพลาด ถ้าไม่ดันตรงนี้ก็ไม่เกิดปัญหา ม็อบก็ไม่มา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังได้รับการส่งเสริมมาจากคนเสื้อแดง ฉะนั้นม็อบของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่ากังวลสำหรับรัฐบาล เพราะไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ แต่จะมีปัจจัยอื่นทำให้รัฐบาลสั่นคลอน
อาจารย์ภาณุวัฒน์ประเมินทางเลือกของรัฐบาลด้วยว่า นายกฯยิ่งลักษณ์มีทางเลือก 3 ทางคือ 1.เลือกลาออกหรือยุบสภาด้วยตัวเอง 2.จะถูกพลังมวลชนกดดัน จนต้องลงจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และ 3.เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ข้อไหนจะมีผลเป็นจริงมากกว่ากันขึ้นอยู่การตัดสินใจของนายกฯ ที่แน่ๆ ต้องเกิดแน่นอน 1 ใน 3 ข้อนี้
ดังนั้น การจะแก้หนักให้เป็นเบาก็คือ ต้องรู้จักลงก่อนจะถึงเวลาขั้นรุนแรง
"ข้างหน้ามีปัญหาแน่นอน คือรัฐบาลไม่ได้อยู่ถึงครบเทอม" อาจารย์ภาณุวัฒน์ฟันธง
แม้จะมีข่าววงในแพร่สะพัดว่า คำตัดสิน 20 พฤศจิกายน อาจไม่เป็นไปตามที่หวาดหวั่น
แต่สำหรับการเมืองไทย อะไรก็เกิดขึ้นได้ และหักปากกาเซียนมามาก
วันที่ 20 พฤศจิกายน จะเป็นจุดสตาร์ตของความรุนแรง หรือเป็นเงื่อนไขยกระดับปัญหาอีกครั้ง หรือจะเป็นสนามบินให้ม็อบไหนลง จึงมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งนั้น
เป็นอีกหนึ่งวันในปฏิทินการเมืองไทย ที่ต้องติดตามข่าวสารกันอย่างเกาะติด
(ที่มา:มติชนรายวัน 15 พ.ย.2556)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น