PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

'ฮุนเซน' ประกาศขอปรองดองไทย ย้ำ เคารพคำตัดสินศาลโลก

สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกแถลงการณ์ กรณี "เขาพระวิหาร" พร้อมเคารพผลการตัดสินของศาลโลก ย้ำ ขอปรองดองกับไทย มุ่งทำดินแดนให้เป็นพื้นที่สันติภาพ 

วันที่ 8 พ.ย.56 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกแถลงการณ์ กรณีพิพาทพรมแดนพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ไทย-กัมพูชา ผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งชาติกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 พ.ย. โดยแถลงการณ์มีใจความดังนี้

พี่น้องชนร่วมชาติที่เคารพที่รัก ในวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะออกประกาศของศาล ตามข้อเสนอของพระราชอาณาจักรกัมพูชาที่ได้ขอให้ตีความคำตัดสิน วันที่ 15 มิถุนายน 2505 เกี่ยวกับคดีปราสาทพระวิหาร กระผมขอใช้โอกาสนี้ เพื่อถวายพระเถรานุเถระทุกพระองค์ และแจ้งชนร่วมชาติทั้งหมด เกี่ยวกับประวัติคดี ดังนี้

หลังจากทหารไทย ได้เข้ายึดครองปราสาทพระวิหาร เมื่อปีพุทธศักราช 2497 และการพยายามหาทางแก้ไขด้วยสันติวิธี โดยไม่บรรลุผลสำเร็จในหลายปีที่ผ่านมา กัมพูชาก็ได้ยื่นฟ้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทนี้ โดยยึดถือตามความจริงและกฎหมาย โดยเฉพาะแผนที่แนบท้าย 1 มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการร่วมฝรั่งเศส – สยาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้ประกาศคำตัดสิน 3 ข้อ คือ
1. ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา
2. ไทยมีหน้าที่ถอนทหาร ตำรวจ และผู้ดูแลอื่นอีกที่ประจำการอยู่ในปราสาท และอยู่โดยรอบปราสาทในดินแดนของกัมพูชา
3. ไทยมีหน้าที่ต้องส่งคืนวัตถุโบราณทั้งหลายที่เจ้าหน้าที่ไทยได้นำออกจากปราสาทพระวิหาร หรือจากพื้นที่ปราสาทในห้วงที่ไทยยึดครองปราสาทพระวิหาร ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา ให้แก่กัมพูชา ตั้งแต่มีคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ปีพุทธศักราช 2505 เป็นต้นมา ข้อพิพาทระหว่างกัมพูชากับไทยเกี่ยวกับปราสาทพระวิหารได้ลดลง และไม่มีการขยายวงกว้างเป็นที่น่าสนใจแต่อย่างใด แต่ข้อพิพาทในพื้นที่ปราสาทพระวิหารได้เริ่มร้อนระอุอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 ภายหลังจากทหารไทยได้เข้ามาในดินแดนกัมพูชา บริเวณ "วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ" ภายหลังจากปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 ตามข้อเสนอของกัมพูชา ความขัดแย้งได้เพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น กระทั่งมีการปะทะด้วยอาวุธจำนวนหลายครั้ง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะกระทบต่อปราสาทพระวิหารอีกด้วย

โดยพิจารณาเห็นว่า การใช้กลไกทวิภาคี และพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ไม่มีประสิทธิภาพ และการปะทะกันด้วยอาวุธตามแนวชายแดนกัมพูชา – ไทย ยังเกิดขึ้นอยู่นั้น ในวัตถุประสงค์ยุติข้อพิพาทนี้โดยสันติวิธีสอดคล้องตามการดำเนินการของนานาประเทศ และตามเป้าหมายในการรักษาความสัมพันธ์เป็นประเทศใกล้เคียงที่ดี และความร่วมมือที่แนบแน่นระหว่างประเทศและประชาชนของประเทศทั้งสอง กัมพูชา – ไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำฟ้องไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เสนอให้ออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว เพื่อยุติการปะทะด้วยอาวุธ และเสนอขอให้ตีความในความหมายและขอบเขตของคำตัดสิน วันที่ 15 มิถุนายน 2505 ด้วย เนื่องจากเห็นว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอีกในพื้นที่ปราสาทพระวิหารนี้ เกิดขึ้นจากการตีความแตกต่างกันระหว่างกัมพูชากับไทย ในความหมายและขอบเขตของคำตัดสินปี 2505 มีผลคือ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้เห็นชอบตามข้อเสนอของกัมพูชา ออกคำสั่งมาตรการชั่วคราว โดยให้ภาคีทั้งสองถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว พื้นที่ 17.3 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งเห็นชอบรับพิจารณาตามข้อเสนอของกัมพูชาขอให้ตีความคำตัดสิน ปี 2505

ด้วยเหตุนี้ กระผมขอชี้แจงอีกครั้ง ถวายพระเถรานุเถระ และชนร่วมชาติทุกคนให้ทราบว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาเสนอขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตีความคำตัดสินปี 2505 นั้น ไม่ใช่เพื่อสุมไฟเพิ่มความขัดแย้ง หรือมีความต้องการแย่งชิงดินแดนจากประเทศใกล้เคียงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลเห็นว่า การดำเนินการนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่เต็มไปด้วยประสิทธิภาพและจำเป็นที่สุดเพื่อภาคีทั้งสอง สามารถก้าวไปสู่การยุติปัญหานี้โดยสันติวิธี ในการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ การเคารพอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนซึ่งกันและกัน และการรักษาความสัมพันธ์เป็นประเทศใกล้เคียงที่ดี รัฐบาลกัมพูชายึดมั่นใน จุดยืนอย่างเคร่งครัดในความพยายามสร้างเส้นเขตแดนที่ชัดเจน และเปลี่ยนพื้นที่ชายแดนกัมพูชา กับประเทศใกล้เคียง ให้เป็นพื้นที่ชายแดน สันติภาพ มิตรภาพ ความร่วมมือ และการพัฒนา
เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ กระผม กับ ฯพณฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แห่งพระราชอาณาจักรไทย มีจุดยืนที่สอดคล้องกันว่า ถึงแม้ว่าคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ข้างหน้านี้ ออกมาเช่นไรก็ตาม ประเทศทั้งสองต้องเคารพตามคำตัดสินนี้ และพยายามรักษาสันติภาพ และเสถียรภาพตามแนวชายแดนให้ได้ ในความหมายนี้

กระผมขอเรียกร้องกำลังเจ้าหน้าที่ทุกประเภทที่กำลังปฏิบัติภารกิจป้องกันชายแดน ขอให้รักษาความสงบเรียบร้อย ยึดมั่นในความอดทน และหลีกเลี่ยงการดำเนินการต่าง ๆ ที่อาจสร้างความตึงเครียด หรือเกิดการปะทะกันในที่สุดและกระผมก็ขอเรียกร้องถึงพระเถรานุเถระทุกพระองค์ พี่น้องชนร่วมชาติทุกคน ขอให้อยู่ในความสงบ ร่วมรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เช่นเดียวกับการรักษาและยกระดับความสัมพันธ์เป็นประเทศใกล้เคียงที่ดี มีความสามัคคี มิตรภาพ ความผาสุก และความร่วมมือ ที่แนบแน่นยิ่งขึ้นระหว่างประชาชนทั้งสอง กัมพูชา – ไทย เพื่อผลประโยชน์ร่วมของประชาชาติทั้งสองฝ่าย ทั้งต่อหน้าและระยะยาวในอนาคตต่อไป ขอขอบพระคุณ ขอขอบคุณ

ไม่มีความคิดเห็น: