PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เกม "ลึก" แผน "ลับ" ลบแผล "เสียของ" ตอน...ก่อน 22 พ.ค.

เกม "ลึก" แผน "ลับ" ลบแผล "เสียของ" ตอน...ก่อน 22 พ.ค.

วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2557 เวลา 08:09:00 น.



มติชนรายวัน 4 สิงหาคม 2557


เหตุการณ์ครั้งนั้น ปลุกให้ประเทศไทยเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ความคิดหนึ่ง เห็นว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคือปัญหาทุกอย่างของประเทศ

อีกความคิดหนึ่ง เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นข้ออ้างสำหรับกลุ่มบุคคลที่ต้องการล้มระบบการปกครองที่เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเสรี 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญที่ตัวแทนประชาชน ในนามของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันจัดทำขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จูงใจให้ พ.ต.ท.ทักษิณ มหาเศรษฐีของเมืองไทย กระโดดเข้าสู่วงการเมือง

การกระโดดเข้าสู่การเมืองครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้นำเอาเทคนิคการบริหารงานทางธุรกิจ เข้ามาดำเนินการทางการเมือง

ทั้งการสำรวจวิจัย การจัดทำโครงการขนาดใหญ่ การทำการตลาดในช่วงหาเสียง และการเจรจาต่อรองกับกลุ่มการเมืองเก่า

วิธีการต่างๆ ดังว่า ทำให้ พรรคไทยรักไทย ที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นหัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้ง และเข้าสู่การบริหารประเทศในปี 2544 



ผลการเลือกตั้งได้เบียดพรรคการเมืองเก่า โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ให้กลายเป็นฝ่ายค้าน 

การบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต นโยบายประชานิยมทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงใหลศรัทธา

กระทั่งการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้คะแนนเสียงท่วมท้นกว่าปี 2544 เสียอีก

แต่ขณะเดียวกัน การบริหารงานสไตล์ พ.ต.ท.ทักษิณก็สร้างศัตรูในแวดวงการเมือง และแวดวงธุรกิจไว้มหาศาล

รอยปริแตกของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เกิดขึ้นเมื่อกำเนิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขยายผลกลายเป็นม็อบในปี 2549

รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโจมตีด้วยข้อหาฉกรรจ์ 2 ข้อ

หนึ่ง คือทุจริตทางนโยบาย

หนึ่ง คือไม่จงรักภักดี


ดูเหมือน ข้อหาฉกรรจ์ที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณถูกกล่าวหา จะฝังลึกในห้วงสำนึกของฝ่ายคัดค้านระบอบ พ.ต.ท.ทักษิณ มาจนถึงปัจจุบัน

พ.ต.ท.ทักษิณเจอมรสุมหนักทั้งเรื่องซื้อขายที่ดินรัชดา ขายหุ้นชินคอร์ป รวมไปถึงการบริหารราชการแผ่นดินแบบ "ล้วงลูก" และผูกขาด

การบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ เริ่มมีอุปสรรค พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มถอย ทั้งลาออก และยุบสภา แต่ก็เกิดปัญหาเพราะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ ที่เห็นว่าหนทางแพ้เลือกตั้งมีมากกว่าชนะ

ในที่สุด พรรคการเมืองเหล่านั้นไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง เกิดเป็นเหตุให้พรรคการเมืองเล็กมีค่า และมีการกล่าวหาว่าจ้างวานให้พรรคการเมืองเล็กลงสู่สนามเลือกตั้ง 

กระทั่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

เหตุการณ์ในประเทศย่ำแย่ มีข้อเสนอเรื่องนายกฯมาตรา 7 แต่ในที่สุดก็ล้มแผนไป ขณะเดียวกันได้เกิดกระแสใหม่ที่ถูกเรียกว่า "ตุลาการภิวัฒน์" ขึ้นมา

ในปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณได้รับสัญญาณเตือนว่า จะเกิดการยึดอำนาจ แต่ไม่เชื่อ เพราะคิดว่าการรัฐประหารน่าจะหมดไปจากประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534 แล้ว

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อแดงได้เกิดขึ้นมาประชันกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง

แล้วในที่สุด เกิดการประโคมข่าว กลุ่มคนเสื้อแดงอาจจะปะทะกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง ในวันที่ 20 กันยายน 2549

จน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้นถือเป็นเหตุ ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจในช่วงค่ำวันที่ 19 กันยายน 2549 

ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ คนที่ไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีการปฏิวัติ กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในต่างประเทศ และหลังจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา สถานการณ์การเมืองไทยก็ผูกโยงกันมาเรื่อยจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

โปรดติดตามตอนต่อไป

หมายเหตุ - "มติชน" จะนำเสนอรายงานพิเศษเบื้องหลังการเกิดวิกฤตทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยรวบรวมเป็นตอนๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ย้อนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งรายงานพิเศษเริ่มต้นนำเสนอตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม เป็นต้นไป

ไม่มีความคิดเห็น: