PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2557

สนช.ผ่านข้อบังคับคง'ถอดถอน'

สนช.ผ่านข้อบังคับคง'ถอดถอน'

สนช.ผ่านข้อบังคับการประชุม คง 'ถอดถอนบุคคล' ให้พ้นจากตำแหน่ง ขณะที่ กมธ.ยอมแก้ไข แยก 'ความมั่นคง-การต่างประเทศ' ออกจากกัน หลังสมาชิกท้วงติง

 
                            25 ก.ย. 57  เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา  มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญยังยึดตามข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 เป็นหลัก ซึ่งเนื้อหาสำคัญส่วนใหญ่เป็นไปตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไข จนกระทั่งในหมวด 5 เกี่ยวกับกรรมาธิการ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้มีคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. 16 คณะ และแต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนไม่น้อยกว่า 11 คน แต่ไม่เกิน 26 คน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้อภิปรายถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในข้อบังคับที่ 84 คณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. ที่ กมธ.ได้มีการแก้ไขจากร่างเดิม ใน (13) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ โดยเพิ่มเติมเป็น (13) คณะกรรมาธิการความมั่นคงของรัฐ และการต่างประเทศ ซึ่งสมาชิกหลายคนได้อภิปรายไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะสายการทูต และนักวิชาการ เช่น นายนรนิติ เศรษฐบุตร นายกิตติ วสีนนท์ โดยให้เหตุผลว่า เรื่องความมั่นคง ถือเป็นกิจการภายในประเทศ ไม่ควรจะนำมารวมกับงานด้านต่างประเทศ จะทำให้มีปัญหาการทำงานในอนาคตได้ ขณะเดียวกันเรื่องความมั่นคงสามารถนำไปรวมกับงานของคณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดินได้  
 
                            ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ กรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า การนำเรื่องความมั่นคง และการต่างประเทศ รวมกันไว้ในคณะกรรมาธิการชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาความมั่นคง และภัยคุกความเป็นเรื่องไร้พรมแดนไปแล้ว มีความเชื่อมโยงในหลายด้าน และหลายประเทศ ซึ่งวิธีการทางการทูต จะเป็นกลไกสำคัญของการแก้ไขปัญหา ดังนั้น จึงเกี่ยวข้องกับการต่างประเทศไปโดยปริยาย อีกทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ขณะที่นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการพิจารณายกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ได้มีการพิจารณามาแล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนเรื่องของคณะ กมธ.ความมั่นคงของรัฐ และการต่างประเทศที่มีสมาชิก สนช.หลายคนแสดงความไม่เห็นด้วย ทางคณะกรรมาธิการจะไปพิจารณาปรับแก้ให้เกิดความเหมาะสม
 
                            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพรเพชร ได้สั่งพักการประชุม เพื่อให้คณะกรรมาธิการได้ไปพิจารณาปรับแก้เนื้อหา แล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ จากนั้นเวลา 13.10 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง ซึ่ง นายพีรศักดิ์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงถ้อยคำที่แก้ไขว่า คณะกรรมาธิการได้แก้ไข ข้อ 84 (13) ให้กลับไปสู่ร่างเดิม คือ (13) คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ส่วนเรื่อง "ความมั่นคง" ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ กิจการทหาร ให้นำไปรวมใน ข้อบังคับที่ 84 (2) คณะกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว
 
                            จากนั้นได้พิจารณาจนมาถึงหมวด 10 การถอดถอน และการให้บุคคลพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งกรรมาธิการไม่ได้มีการแก้ไข แต่นายธานี อ่อนละเอียด สนช. ได้สงวนคำแปรญัตติ โดยให้เหตุผลว่า หากให้ความเห็นชอบจะเป็นการเรียกแขก และเป็นกับดักที่สะเทือนต่อเก้าอี้ประธาน และรองประธาน สนช. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ระบุเรื่องการถอดถอนไว้ ขณะที่ข้อบังคับการประชุมที่ 149 ระบุว่า เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องถอดถอนมาให้ สนช. ประธาน สนช.ต้องบรรจุเป็นเรื่องด่วนเข้าสู่วาระภายใน 30 วัน เพื่อถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ดังนั้นหากประธาน สนช.บรรจุวาระเมื่อไร ก็จะถูกผู้ถอดถอนฟ้องว่า กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือถ้าไม่บรรจุเข้าสู่วาระ ก็จะผิด ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นทางออกเรื่องนี้ จึงควรตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มาจาก สนช. 19 คน ประกอบด้วย ตัวแทนคณะกรรมาธิการสามัญ 16 คณะๆ ละ 1 คน และตัวแทนวิป สนช. 3 คน มาทำหน้าที่กลั่นกรอง พิจารณาเรื่องถอดถอนที่ส่งมาแต่ละเรื่อง อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ สนช.จะถอดถอนได้หรือไม่ แล้วส่งเรื่องให้ประธาน สนช.นำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันประธาน และรองประธาน สนช.  
 
                            ขณะที่นายตวง อันทะไชย กรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม ชี้แจงว่า ไม่สามารถตัดหมวดการถอดถอนได้ และ สนช.มีอำนาจยกร่างข้อบังคัการประชุม สนช.เรื่องการถอดถอนได้ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 57 ที่ให้ สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว. และอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระบุให้ ส.ว.มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 17 ตำแหน่ง ดังนั้นข้อบังคับนี้ จึงไม่ได้ร่างขึ้นมาเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ยกร่างมารองรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งแนวทางที่นำมาใช้ก็นำมาจากข้อบังคับการประชุม ปี 51 ทุกอย่าง การมีข้อบังคับการประชุมดังกล่าว เป็นการรับประกันความยุติธรรมให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา ในการเตรียมตัวสู้คดี ไม่ได้กลั่นแกล้งผู้ถูกถอดถอน
 
                            จากนั้นที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบหมวด 10 เรื่องการถอดถอนตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอมาด้วยคะแนน 128 ต่อ 9 เสียง และไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการ 19 คน เพื่อกลั่นกรองตามที่นายธานีเสนอ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ขอถอนมาตรา 145/1 ที่ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. พิจารณาตรวจสอบคำร้องดังกล่าวว่าอยู่ในอำนาจสภาหรือไม่ด้วย ภายหลังพิจารณาครบทั้ง 221 ข้อบังคับแล้ว ที่ประชุมให้ความเห็นชอบร่างข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.... ด้วยคะแนนเสียง 148 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง เพื่อประกาศใช้ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.เป็นต้นไป และนายพรเพชร ได้สั่งปิดประชุมเวลา 16.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น: