PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2557

dวัดใจ สนช.ใช้อำนาจถอดถอน กันคนชั่วพ้นการเมือง

วัดใจ สนช.ใช้อำนาจถอดถอน กันคนชั่วพ้นการเมือง
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
2 สิงหาคม 2557 06:28 น.


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะยังมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐ
ธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งน่าจะกินเวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป
     
       ด้วยความที่เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงไม่มีบทบัญญัติหรือมาตรการบางอย่างที่เคยมีในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยเฉพาะอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งไม่ได้มีการระบุไว้ให้ชัดเจน จึงมีหลายฝ่ายแสดงความห่วงใยว่า ในช่วงเวลา 1 ปีกว่าๆ หลังจากนี้ นักการเมืองที่เคยกระทำความผิดเอาไว้ ก็จะยังคงลอยหน้าลอยตาในสังคมได้เหมือนเดิม
     
       นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ประเภทสรรหา แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 26 ก.ค. และผ่านบทความในเว็บไซต์ “เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์” ว่า ตามตารางเวลาที่ คสช.ประกาศออกมานานแล้ว สนช.จะต้องทำหน้าที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 ทั้ง 3 วาระให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเดือนกันยายน 2557 และ คสช.ได้เตรียมร่าง
พ.ร.บ.ต่าง ๆ ไว้ให้พิจารณาหลายสิบฉบับ แต่หนึ่งในภารกิจแรกของ สนช.2557 ที่ควรจะต้องดำเนินการ คือการดำเนินกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 คดีสำคัญ ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ชี้มูลความผิดส่งมาถึงวุฒิสภาชุดที่ คสช.สั่งยุบไปเมื่อ 24 พฤษภาคม 2557
     
       4 คดีสำคัญที่สำนักเลขาธิการวุฒิสภา รอให้ประธาน สนช.คนใหม่สั่งบรรจุเข้าระเบียบวาระ ประกอบด้วย
     
       1.คดีนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     
        2.คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
     
       3.คดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและบทกฎหมายในเรื่องการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
     
       4.คดีสมาชิกวุฒิสภา 36 คนจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย หรือฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมลงชื่อเสนอญัตติ
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.
     
       บุคคลเหล่านี้ไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่วุฒิสภาชุดที่แล้วก็ได้วางหลักสำคัญที่สุดไว้ว่าต้องดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปให้จบ เพราะยังมีโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีรออยู่ และได้ดำเนินกระบวนการไปแล้ว 2 – 3 คดีสำคัญ แม้จะถอดถอนไม่ได้ เพราะเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 แต่หลักการที่ได้วางไว้ถือว่าสำคัญมาก และไม่มีผู้ใดคัดค้านเป็นคดีความ
     
       ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสองได้เขียนให้ สนช.ทำหน้าที่วุฒิสภาไว้ด้วย ดังนั้น ภารกิจของวุฒิสภาตามกฎหมายต่างๆ ก็ต้องเป็นภารกิจของ สนช.ด้วย
     
       แม้บทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปตามรัฐธรรนูญฉบับนั้นแล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้เขียนรับรองไว้โดยตรง ก็ยังคงมีกฎหมาย ป.ป.ช.บทว่าด้วยการถอดถอนอยู่ แม้กฎหมาย ป.ป.ช.เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่เลิกไปแล้ว
     
       อย่างไรก็ตาม นายคำนูณเห็นว่า สนช.สามารถดำเนินการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และเป็นเรื่องที่ต้องทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเพราะถ้า สนช.ดำเนินการถอดถอนได้ ก็จะสามารถตัดทอนนักการเมืองที่ร่วมกระทำความผิดสำคัญออกจากระบบการเมืองไปได้มาก
     
       ความผิดดังกล่าวนี้ไม่ใช่ความผิดธรรมดา แต่เป็นความผิดรัฐธรรมนูญหลายบทหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใชัอำนาจอธิปไตยโดยขาดหลักนิติธรรมอันถือเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถี
ทางที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้
     
       ส่วนความเห็นต่างที่ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้เขียนรับรองภารกิจการถอดถอนเอาไว้อย่างชัดเจนนั้น นายคำนูณเห็นว่า ถ้า สนช.เสียงข้างมากเห็นพ้องต้องกันว่าต้องทำ ก็สามารถทำได้
ซึ่งหมายความถึงว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เห็นว่าต้องทำ เพราะ สนช.นั้นมีที่มาจากคนที่เข้าใจใน คสช.
     
       การตีความรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะเปิดโอกาสให้ดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปได้หรือไม่นั้น แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ขั้นตอนแรกให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยฯ ขั้นตอนต่อมาเนื่องจากเรื่องนี้อยู่ในวงงาน สนช.มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติให้ สนช.เป็นผู้วินิจฉัยเอง
     
       อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ขั้นตอนแรกก็น่าจะจบ เพราะนายคำนูณเคยร่วมอยู่ใน สนช.ชุดปี 2549 ยื่นถอดถอนนายจรัล ดิษฐาภิชัย ออกจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฐานมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นผลสำเร็จมาแล้ว ครั้งนั้นรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ก็ไม่ได้บัญญัติเรื่องการถอดถอน บัญญัติไว้เพียงแต่ให้ สนช.ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา เหมือนรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เท่านั้น กรณีนี้จึงน่าจะถือเป็น“ประเพณีการปกครองประเทศไทยฯ”ได้
     
       ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.สรรหา ก็เห็นพ้องให้ สนช.ดำเนินการถอดถอนนักการเมืองที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เนื่องจากภารกิจหลัก 1 ใน 4 ของวุฒิสภาที่ สนช.จะดำเนินการแทน คือการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
     
       นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ยังได้วางกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเป็นยาแรงเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองโกงกลับเข้าสู่อำนาจ โดยเฉพาะ มาตรา 35 (4) ให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น เชื่อว่า สนช.จะทำหน้าที่ถอดถอนนักการเมืองได้ ส่วนจะได้เสียง 3 ใน 5 หรือไม่ ต้องไปดูก่อนว่า ใครเข้ามาเป็น สนช.
     
       ส่วนนายประพันธ์ คูณมี อดีต สนช.ปี 2549 กล่าวว่า แม้ คสช.ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปแล้ว แต่ในประกาศและคำสั่งของ คสช.ก็ให้คงไว้ซึ่งองค์กรอิสระต่างๆ ดังนั้นจึงไม่ส่งผลต่อกฎหมายลูกหรือพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่บัญญัติไว้ถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระเหล่านั้น นั่นเท่ากับว่ากระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงดำเนินต่อไปได้ตามหลักการเดิมที่เคยมีกันมา โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่จำเป็นต้องเขียนรายละเอียดไว้
     
       และในเมื่อ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิจารณาแล้วเสร็จมาให้วุฒิสภาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อ สนช.เข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องหยิบยกเรื่องราวนั้นขึ้นมาพิจารณาตามระเบียบข้อบังคับ ที่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาและลงมติเอาไว้ด้วย
     
       หรือหากต้องการความชัดเจนในการทำหน้าที่เกี่ยวกับการถอดถอน ทาง สนช.ก็อาจจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้มีเนื้อหาที่ชัดเจนขึ้นได้
     
       ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวว่า หากไม่มีการถอดถอนก็น่าเสียดาย เพราะกว่าจะมาถึงขั้นตอนนี้ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ควรมาสะดุดลงเพราะเหตุนี้ และอยากเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าควรจะแก้ไขกระบวนการเข้าสู่อำนาจ กำจัดบุคคลที่ถูกถอดถอนให้พ้นไปจากการเมืองอย่างสิ้นเชิง เพราะที่ผ่านมาแม้จะห้ามเล่นการเมือง 5 ปี แต่ก็ยังมีนักการเมืองบางคนไปนั่งหัวโต๊ะสั่งการที่กระทรวงทั้งที่ไม่มีตำแหน่งในพรรค คนอย่างนี้ต้องจัดการ
     
       กรณีการถอดถอนนักการเมืองมีความชัดเจนขึ้นมาบ้าง เมื่อนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงเมื่อวันที่ 28 ก.ค.ว่า ป.ป.ช.จะดำเนินการไปตามระบบ นั่นคือ เมื่อเกิด สนช.มาแล้ว ป.ป.ช.จะส่งเรื่องที่พิจารณาแล้วไปให้ สนช. ส่วน สนช.จะเห็นอย่างไรต้องแล้วแต่ สนช. แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ระบุว่าหากเกิดข้อขัดแย้งเป็นเรื่องของการตีความโดย สนช.ต้องทำหน้าที่ ส่วนคดีอาญา ป.ป.ช.ยังคงดำเนินคดีไปตามปกติ
     
        ถึงเวลานี้ หลายฝ่ายกำลังคาดหวังว่า สนช.ชุดใหม่จะไม่ทำให้ผลการชี้มูลความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายคดีที่ ป.ป.ช.ได้ทำไว้เสร็จแล้ว ต้องเสียของไปเปล่าๆ โดยจะต้องหยิบยกเรื่องการถอดถอนนักการเมืองขึ้นมาพิจารณาทันทีหลังจากการเข้าปฏิบัติหน้าที่
       
       รวมทั้ง ไม่อยากเสียเวลารอให้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และมี ส.ว.ชุดใหม่ออกมาก่อน ซึ่งต้องใช้เวลานานนับปี อันเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่ถูกชี้มูลความผิด ได้มีเวลาและช่องทางวิ่ง
เต้นให้การถอดถอนไม่สำเร็จได้

ไม่มีความคิดเห็น: