PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

9ตุลาการพิจารณาคดี"ปู"5คนเคยตัดสินคดีชินวัตร

 9 องค์คณะพิพากษาคดี“ปู” -5 คนเคยนั่งบัลลังก์ตัดสิน“ชินวัตร”
ศาลฎีกาเลือก 9 องค์คณะผู้พิพากษาคดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” แล้ว พบอย่างน้อย 5 คน เคยนั่งบัลลังก์พิพากษาชินวัตร “ศิริชัย-ชีพ-ธนสิทธิ์” คดี “สมชาย” สลายชุมนุม “วีระพล-ธานิต” คดี “ทักษิณ” ปมกรุงไทยปล่อยกู้-ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ประธานศาลฎีกาเรียกประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เป็นองค์คณะผู้พิพากษา โดยวิธีลงคะแนนลับ เพื่อพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อม. 22/2558 ระหว่าง อัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลย ในคดีอาญาไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.20 น. ที่ประชุมใหญ่มีมติเลือกองค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ดังนี้
1.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา
2.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา
3.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
4.นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา (หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีอาญานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี-พวก กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองในปี 2551)
5.นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา (หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีอาญานายสมชาย-พวก กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองในปี 2551)
6.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา (หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีอาญานายสมชาย-พวก กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองในปี 2551)
7.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา (หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี-พวก กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด และบริษัทในเครือ)
8.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
9.นายธานิต เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา (หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ 4.6 หมื่นล้านบาท กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก)
โดยหลังจากนี้ ประธานศาลฎีกา จะลงนามรับรองการทำหน้าที่ขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน ภายใน 5 วัน และจะติดประกาศเพื่อให้คู่ความ (น.ส.ยิ่งลักษณ์) รับทราบ และมีโอกาสคัดค้านผู้พิพากษาที่ได้รับการรับเลือก หลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะประชุมกันเพื่อเลือกผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนในคดีนี้
ต่อมาองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะต้องร่วมพิจารณาคำฟ้องของ อสส. ว่าชอบด้วยกฎหมายที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ หากองค์คณะลงมติประทับฟ้อง จะกำหนดวันพิจารณาครั้งแรก และส่งสำนวนให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้มาศาลเพื่อต่อสู้คดี และกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานเพื่อดำเนินกระบวนการต่อไป
ทั้งนี้ หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มาต่อสู้คดีในวันพิจารณาคดีนัดแรก องค์คณะผู้พิพากษามีสิทธิ์พิจารณาออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้
แหล่งข่าวจากศาลฎีกาฯ เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนดังกล่าว หากนับตามลำดับอาวุโส และไม่มีเหตุขัดข้องอะไรในอนาคต มีบุคคลที่มีโอกาสได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเป็นประธานศาลฎีกาฯ จำนวน 3 คน คือ นายชีพ จุลมนต์ นายศิริชัย วัฒนโยธิน และ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น: