เงินสกุลหยวน หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า"เหรินเหมินปี้" จะเข้ามามีสถานะร่วมแบบเดียวกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เงินยูโร เงินเยนของญี่ปุ่น และเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟที่จะถูกใช้เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศในปีหน้า
นางคริสตีน ลาการ์ดกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟเรียกการตัดสินใจนี้ว่า"เป็นหลักไมล์สำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจจีนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก และยังเป็นการยอมรับความก้าวหน้าที่ทางการจีนได้ทำมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในการปฏิรูประบบการเงินการคลังทั้งยังจะช่วยให้จีนเปิดกว้างสู่ระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น"
การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารไอเอ็มเอฟเป็นการทำให้ความทะเยอทะยานของจีนที่ต้องการจะเห็นเงินหยวนที่ควบคุมโดยรัฐบาลได้รับการยอมรับในฐานะหนึ่งในเงินสกุลหลักของโลกร่วมกับสกุลเงินของสหรัฐอเมริกายุโรปและญี่ปุ่นเป็นรูปธรรมขึ้นมา
จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ขอให้ไอเอ็มเอฟนำเงินสกุลหยวนเข้าไปอยู่ในเอสดีอาร์เมื่อปีที่แล้ว แต่แม้เงินหยวนจะเข้าเกณฑ์ของเอสดีอาร์ในแง่ว่ามีการใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไอเอ็มเอฟยังเห็นว่า เงินหยวนยังคงมีการควบคุมอย่างเข้มงวดเกินไปที่จะผ่านคุณสมบัติ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของไอเอ็มเอฟระบุเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนว่า รัฐบาลจีนใช้มาตรการหลายอย่างที่จำเป็นเพื่อให้เงินหยวน "สามารถใช้ได้อย่างเสรี" เป็นการเปิดทางให้มีการตัดสินใจนำเงินหยวนเข้าสู่เอสดีอาร์ในวันดังกล่าวนี้
การลดค่าเงินหยวนอย่างไม่คาดคิดมาก่อนของจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้รับเสียงตอบรับในทางบวกจากไอเอ็มเอฟ ในฐานะเป็นการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับกลไกตลาดโลก นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนประกาศว่าธนาคารกลางของต่างชาติหลายแห่งได้รับการยินยอมให้เข้าสู่ตลาดค่าเงินจีนแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระบบการค้าโลกมากขึ้น
ทั้งนี้ ชาติสมาชิกไอเอ็มเอฟสามารถใช้เอสดีอาร์เพื่อเสริมเงินสำรองระหว่างประเทสและสร้างสภาพคล่องอันเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้านอกจากนี้เอสดีอาร์ยังใช้ออกเงินกู้ในภาวะวิกฤตซึ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอาทิ กรีซ โดยเงินหยวนจะเข้าเป็นสมาชิกในตะกร้าเงินอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2559
นางคริสตีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น