PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

วางระเบิดมุ่งชิงอำนาจรัฐ

3
เกษม อัชฌาสัย
ระหว่างนักวิเคราะห์ข่าวกับนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์มองการวางระเบิดครั้งใหญ่อย่างต่อเนื่องในไทยครั้งล่าสุด ในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว
กล่าวคือนักวิเคราะห์ข่าวก็ว่าไปตามข่าวตาม ตามเหตุการณ์และความน่าจะเป็น ที่บางคนเยาะเย้ยว่าเป็นการวิเคราะห์แบบ “มั่วซั่ว”
ส่วนนักวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ว่าตามหลักการที่ร่ำเรียนมาในแง่วิชาการ มีข้อมูลลึกๆ ที่คนทั่วไปมักจะไม่รู้ ทำให้น่าเชื่อถือได้มาก
ดังนั้น คอลัมน์นี้ ก็จะวิเคราะห์ไปตามเหตุการณ์ที่เกิดและน่าจะเป็นและตามสามัญสำนึกเท่านั้น เพราะผู้เขียนเป็นเพียงนักข่าวและนักสังเกตการณ์ธรรมดาๆ
แต่ก็จะไม่วิเคราะห์คำถามที่ควรจะตั้งว่า “ใครอยู่เบื้องหลังวางระเบิด” เนื่องจากมีคนพูดกันมากแล้ว แต่จะมองลึกลงไป ในข้อมูลพื้นฐานตามหลักของการสื่อข่าวว่า
“อะไร” เกิดขึ้น “ที่ไหน” และ “เพื่ออะไร” กันแน่
สำหรับคำถามแรกว่า “อะไร”นั้น คำตอบคือการวางระเบิดแบบแสวงเครื่อง เอาทุกอย่างที่หาได้มาจัดทำระเบิด แล้วตั้งเวลาระเบิดไว้ล่วงหน้า หรือไม่ก็ใช้ “รีโมต คอนโทรล” ซึ่งหมายถึงเครื่องจุดระเบิดระยะไกล เช่นโทรศัพท์มือถือ จุดชนวนระเบิด
ดีที่ไม่ใช้ระเบิดแสวงเครื่องชนิดร้ายแรงมาก ๆ อย่างเช่น “ซีโฟร์” หรือ “รถยนตร์ประจุระเบิด” หรือ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” (เดิมทีเรียก “ระเบิดพลีชีพ”) ซึ่งก็ไม่ใช่ความปราถนาดีของผู้ลงมือ แต่คงหาอะไรที่ร้ายแรงกว่าไม่ได้ง่ายๆ และคงแพงมาก ก็เลยใช้ระเบิดราคาที่ถูกกว่า ที่พกพาซุกซ่อนได้มิดชิดกว่า เลี่ยงการตรวจจับและหลบหนีได้ง่ายกว่า และไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะหาชนิดที่ร้ายแรงไม่ได้ หากจะทำจริงๆ
แต่ในครั้งนี้ก็ทำให้มีผู้ชีวิตไปถึงสี่ราย บาดเจ็บอีกกว่า ๒๐ ราย เพราะที่แน่ๆ ก็คือพวกนี้มุ่งประสงค์ต่อชีวิตและสร้างความหวาดกลัว ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของ “การก่อการร้าย” ไม่ใช่แค่การก่อวินาศกรรมธรรมดาๆ
การที่ตำรวจพยายามชี้แจงว่า ไม่ใช่ “การก่อการร้าย” แต่เป็นเพียง “การก่อกวน” นั้น ขออนุญาตค้านว่า “ไม่ใช่” และ “ไม่เชื่อ”
แต่เชื่อว่าเป็น “การก่อการร้าย” เพราะเข้าเกณฑ์หรือเงื่อนไขตามที่หลักสากลกำหนดพฤติการณ์เอาไว้ว่า
๑ เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแห่งรัฐ
๒ ปรากฏแน่ชัดว่ามีความตั้งใจที่จะ ก.ข่มขู่และบีบคั้นพลเรือน ข.มุ่งมีอิทธิพลเหนือนโยบายแห่งรัฐด้วยวิธีข่มขู่หรือบีบคั้น หรือ ค. มีผลกระทบต่อกฏระเบียบ ด้วยการก่อความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยการลอบสังหาร หรือด้วยการลักพาตัว และ
๓.เหตุเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งศาลแห่งรัฐมีอำนาจ
ทั้งสามสามข้อนี้ เป็นกฎเกณฑ์ที่ทางการสหรัฐซึ่งเป็นเจ้ากี้เจ้าการ กำหนดเอาไว้ในเรื่อง “การก่อการร้ายภายใน” (ประเทศ) ซึ่งก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับไทยได้
ส่วนไทยนั้นตรากฎหมายกำหนดลักษณะของพฤติกรรมการก่อการร้ายเอาไว้ ในรายละเอียดมากมายครอบคลุม โดยตราความผิดฐานก่อการร้ายขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ หลังเกิดเหตุการณ์ ๙/๑๑โจมตีสหรัฐวันเดียวหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ “เวิร์ลด์ เทรด เซ็นเตอร์” ซึ่งน่ากลัวที่สุดในปี ๒๕๔๔
ทำให้ไทยพลอยต้องแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายอาญาให้ครอบคลุมวงการสากล ตามข้อเสนอแนะของสหประชาชาติ เพื่อความทันสมัยและเป็นการระแวดระวังเอาไว้ก่อนว่า ต่อจากนี้ไปตามที่สหรัฐเชื่อว่า การก่อการร้าย จะยิ่งทวีความร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งกว่าก่อนหน้า ซึ่งมีเพียงแค่การจี้และวางระเบิดเครื่องบินโดยสาร การลักพาตัวและการลอบสังหาร เป็นต้น
ในแง่หลักการแล้ว กฎหมายของไทยสรุปว่า”การก่อการร้าย”คือ
“การกระทำอันเป็นความผิดอาญา โดยการใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพต่อบุคคลใดๆ หรือกระทำการอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งต่อสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือการกระทำการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิด หรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
โดยมีหลักสำคัญอยู่ว่า ต้องกระทำโดยมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือคุกคามรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ  ให้กระทำหรือไม่กระทำการใด อันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นปวนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย”
โดยกฎหมายอาญาได้บัญญัติระวางโทษไว้ให้ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ ๓๐ ปีถึง ๒๐ ปีและปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท”
สามย่อหน้าข้างบน คัดลอกมาจากงานเขียนของนาย”พิษณุ ผาสุกมโน”ที่เรียบเรียงเอาไว้ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้
เพราะมิเช่นนั้น จะต้องเรียบเรียงขึ้นมาใหม่จากตัวบทกฎหมายโดยตรง ซึ่งจะเสียพื้นที่และเวลามาก
แต่น่าเสียดาย แม้กฎหมายไทยจะกำหนดโทษร้ายแรงไว้ถึงเพียงนี้.กลับปรากฎว่าการบังคับใช้กฎหมายของไทยโดยกลไกของรัฐ ไม่ได้เอาจริงเอาจัง จนแทบจะไม่รู้ว่ามีใครติดคุกบ้าง เพราะกระทำผิดกฎหมายฉบับที่ปรับปรุงแล้วนี้ รวมทั้งกรณีบุกเผาศาลากลางจังหวัด สังหารผู้ชุมนุม”กปปส.”ก็ยังไม่มีความพยายามใดๆ เอา”ผู้บงการ”มาลงโทษ ยังคงปล่อยให้ลอยนวล บ่อนทำลายประเทศอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ทั้งหมดที่เขียนมาทั้งหมดข้างบนนี้ คือคำอธิบายว่า อะไรคือการก่อการร้าย
ทีนี้ก็มาถึงคำถาม ๒ ที่ว่า “เกิดขึ้นที่ไหน”
คำตอบคือเกิดขึ้น “ในเมือง” ไม่ว่าที่จังหวัดตรัง หัวหิน ภูเก็ต นครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี ดังนั้น จึงเรียกว่าเป็นการ “ก่อการในร้ายเมือง”หรือ Urban Terrorism เช่นเดียวกันกับการวางระเบิดที่ศาลพระพรหมเมื่อปีที่แล้ว ก็เกิดขึ้นในเมือง หรือใจกลางเมืองหลวงเสียด้วย ไม่ใช่การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นเพื่อยึดพื้นที่ในเขตชนบท หมายดึงดูดคนท้องถิ่นให้สนับสนุนเป็นแนวร่วมในอดีต อย่างเช่นพวกเวียดกงต่อสู้กับทางการเวียดนามใต้ ด้วยการยุทธในป่า ตามทุ่งนา แล้วหลบอยู่ตามหมู่บ้าน
หรือการจรยุทธตามป่าเขา สมัยที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิวนิสต์ในไทยยังลุกฮือ หมายขยายเขตปลดแอก แต่กระทำไม่สำเร็จ
แต่ที่กระทำสำเร็จก็มี โดยเฉพาะในกัมพูชา ซึ่งพลพรรค “เขมรแดง” รบชนะเข้ายึดอำนาจรัฐไว้ได้พักหนึ่ง ในลาว กลุ่ม”ลาวแดง”ก็เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเวียงจันทน์ หรือในเวียดนาม เวียดกงร่วมกับเวียดนามเหนือ ยึดอำนาจรัฐไว้ได้จากเวียดนามใต้
หรือย้อนกลับไปในอดีต กรณีที่ “กองทัพแดง” ยึดอำนาจพระเจ้าซาร์ นิโคลัส ที่ ๒ในรัสเซีย หรือกรณีทัพประชาชนของ “เหมา เจ๋อ ตุง” ยึดอำนาจในจีนได้ จากพรรค “ก๊กมินตั๋ง” จาก “เจียง ไคเช็ก” เป็นต้น
ส่วนคำถาม ๓ ที่ว่า การก่อการร้ายในไทยทำ”เพื่ออะไร”นั้น ตอบได้ว่า
กระทำเพื่อก่อกวน บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไม่ใช่ความพยายามแย่งชิงอำนาจรัฐโดยตรง แต่เป็นการช่วงชิงทีละน้อย ไปพร้อมๆกับการโฆษณาชวนเชื่อให้ “เห็นผิดเป็นชอบ” แทนที่การใช้กำลังขนาดใหญ่เข้ายึดอำนาจ ซึ่งสิ้นเปลืองมาก
ขณะที่ “การก่อการร้ายในเมือง” เป็นการโจมตีฉาบฉวย เกิดขึ้นในลักษณะที่ไม่แน่ไม่นอน คาดเดาไม่ถูก ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหนและอย่างไร
แต่ก็มีวัตถุประสงค์ เพื่อแย่งชิงอำนาจเช่นกัน ด้วยใช้ค่าใช้จ่ายที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการใช้กองทัพนักรบอย่างในอดีต
ทั้งนี้ โดยมีเป้าหมายเข้าควบคุมและยึดอำนาจบริหารเอาไว้และเข้าปกครองประเทศเช่นกัน โดยปลุกระดมประชาชนที่มีสิทธิเสียงเลือกตั้งและนักการเมือง ผ่านกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับของสากล ซึ่งหลงสนับสนุนด้วย เพราะคิดว่าถูกต้องและชอบธรรม
ฉะนั้น การวางระเบิดคราวนี้และการวางระเบิดครั้งก่อนๆ ตลอดจนการวางระเบิด ลอบโจมตีราษฎรและฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐในสมัยรัฐบาล “อภิสิทธิ์-สุเทพ” จึงเป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน ท้งนี้พินารณาได้จากปฏิกิริยาของฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลปัจจุบัน ที่ผนึกกำลังกันพยายามบ่อนทำลายระบอบการปกครองเดิม ซึ่งมีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลัก หลังถูกทำรัฐประหารฐานโกงชาติ แต่กลับได้รับการสนับสนุนทั้งโดยตรงและอ้อมจากคนที่หลงผิดและจากต่างชาติที่หวังได้ประโยชน์จากรัฐบาลทุรยศ
ไม่มีอะไรที่สลับซับซ้อน เพราะไม่มีเหตุผลแวดล้อมอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้
วิเคราะห์เสร็จแล้ว นักข่าวก็ลาละครับ
ส่วนท่านผู้รู้จะวิเคราะห์ตามหลักยุทธศาสตร์กันอย่างไร เชิญหาอ่านได้จากที่อื่นและสรุปกันเอาเอง
เชื่อว่า ถึงจะวิเคราะห์และพยายามชี้หนทางแก้ไขอย่างไร แต่ถ้ารัฐไม่จงใจปราบจริง ให้ถึงรากเหง้าชนิดถอนรากถอนโคน ก็ไม่มีทางเอา”ตัวการ”มาลงโทษได้
จึงใคร่เขียนในบรรทัดสุดท้ายว่า การก่อการร้ายครั้งนี้ จะไม่ใช้ครั้งสุดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: