PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

10ปีรัฐประหาร49ของ"บิ๊กบัง"

18092559  10 ปี รัฐประหาร 'คมช.'จาก 'บิ๊กบัง' ถึง 'บิ๊กตู่'  : แทปลอยไทยโพสต์

10 ปี รัฐประหาร “คมช.”

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน 2559 คือวันครบรอบ 10 ปีของเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่หลายคนก็ยังจดจำช่วงหัวค่ำของคืนวันที่ 19 ก.ย.49 ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ในเวลานั้นออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเพื่อประกาศทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ในนามของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้เป็นอย่างดี แม้เวลาจะผ่านมาถึงสิบปีแล้วก็ตาม ครบรอบ 10 ปีรัฐประหาร คมช. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน-อดีตประธาน คมช. ที่สถานะทางการเมืองเวลานี้คือ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ได้มาย้อนเรื่องราวการเมือง-การทำรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับบางเรื่องราวที่น่าสนใจ อีกทั้งในฐานะอดีตผู้นำการทำปฏิวัติและอดีตนายทหารรุ่นพี่ เขาได้ให้ข้อคิดเห็นและวิเคราะห์ถึงการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และทางลงจากอำนาจของ คสช.ไว้ด้วย 

โดย พลเอกสนธิ มองย้อนบริบทสังคม-การเมืองไทยเมื่อช่วงก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กับช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.57 ว่า บริบทของประชาชนในช่วงก่อน 19 ก.ย.49 ประชาชนยังมีความขัดแย้งกันไม่มาก มันก็มีแสดงออกแต่ไม่มาก และคนที่มีความขัดแย้งกันก็ยังไม่ได้ก่อตัวจัดตั้งอะไรกันมากมาย แต่มาตอนยุค คสช.ความขัดแย้งของประชาชนมันสูงขึ้น ปัญหาเด่นชัดมากขึ้น การคอร์รัปชันสูงมากขึ้น เห็นชัดมากกว่า เป็นความแตกต่างกันในเรื่องบริบทของประชาชน กลุ่มคน การคอร์รัปชัน 

ถามถึงว่า 10 ปีผ่านไป ปัญหาต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้ คมช.ทำรัฐประหารกับสถานการณ์วันนี้ที่ คสช.ทำรัฐประหาร หลายเรื่องที่เคยเป็นปัญหาได้รับการคลี่คลายไปบ้างหรือไม่ อดีตประธาน คมช. ให้ข้อคิดเห็นว่า ปัญหาสังคมไทยไม่ได้เพิ่งเกิด แต่มันมีวิวัฒนาการตั้งแต่ยุค พ.ศ.2475 ที่มีการเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย ก็มีวิกฤติตลอด เป็นวิกฤติซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นระบบอุปถัมภ์ พรรคพวก การคอร์รัปชันที่เกิดจากความยากจน เรื่องการศึกษา ต่อจากการศึกษาก็มาเศรษฐกิจ เป็นบริบทรากฐาน อันนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญทุกอย่างที่ว่า คือพื้นฐานสังคมที่ไหลมาไม่จบ และเรื่องสำคัญคือลักษณะนิสัยคนไทย เราต้องยอมรับ ฝรั่งทำการวิจัยเยอะมาก ให้ข้อสังเกตหลายเรื่อง เป็นเรื่องที่อยากให้ไปศึกษากันดู บางทีเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ชาวฝรั่งเศสทำการวิจัยบอกเมืองไทยไม่สามารถเจริญได้เพราะ 4 ปัญหา 1.ไม่ขยัน 2.ชอบโกง 3.ขี้อิจฉา 4.ขี้โอ้อวด แข่งกันรวย ไม่ยอมกัน

เมื่อมาถึงวันนี้ ลักษณะนิสัยมาประกอบในสังคมเราจนมาถึงวันนี้ นั่นคือความขัดแย้ง คนนี้ดีกว่าฉันไม่ยอม รัฐบาลใดมาบริหารประเทศ ฝ่ายไม่ได้บริหารก็พยายามขัดขวางแนวคิดพัฒนาประเทศ เป็นข้อเท็จจริง และเมื่อเปลี่ยนขั้วกันใหม่ก็เป็นลักษณะเดียวกัน อันนี้เป็นบริบท เป็นมูลฐานที่ทำให้เกิดขึ้นเป็นรากเหง้าที่เกิดมานานแล้ว ทำให้สิ่งที่พูดถึงทั้งหมด ประเด็นสำคัญๆ เลยยังแก้ไม่ได้

รัฐบาลโดยคณะรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเพราะคอร์รัปชันและความแตกแยก เป็นประเด็นสำคัญของการรัฐประหารอยู่ในหลักการปฏิรูปประเทศด้วย เป็นปัจจัยที่ต้องมาแก้ การที่ คสช.นำปัญหามาปฏิรูปอันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ จนมาถึงวันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างยังแก้ไม่ได้ ยังไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา

- ตอน คมช.ทำรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็อ้างเหตุผลเรื่องรัฐบาลไทยรักไทยคอร์รัปชัน จากวันนั้นมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง?

จากวันนั้นถึงวันนี้เงื่อนไขยังไม่มีอะไรแตกต่าง การคอร์รัปชันก็มี ความไม่สามัคคีก็มี และยิ่งมากยิ่งขึ้น แนวทางการแก้ไขเป็นเรื่องรัฐบาลต้องแก้ เรื่องที่เป็นมูลเหตุตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว มาถึงตอนนี้ คสช.ก็ยังเรื่องเดิมอยู่

  อย่างเรื่องการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของ คสช.ในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่บรรลุผล แต่อยู่ในหัวข้อในการปฏิรูปอยู่ ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ใช่ตีโจทย์ผิดหรือถูก แต่ต้องใช้เวลาในการแก้ ต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการแก้ปัญหา การคอร์รัปชัน นักการเมืองคอร์รัปชันไม่ได้ถ้าข้าราชการไม่ช่วย ภาคเอกชนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างก็มีส่วนเกี่ยวข้อง ประชาชนไทยให้ความสำคัญกับเรื่องคอร์รัปชันยังน้อยเกินไป ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมน้อยเกินไปในการร่วมตรวจสอบกระบวนการของรัฐทุกเรื่อง วันนี้ประชาชนห่างไป ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น การตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อจัดหาจัดจ้างตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง 

แนวทางที่รัฐบาลทำตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปด้านต่างๆ สิ่งที่คิดในใจจะแก้นั้นถูกแล้ว แต่ทำอย่างไรให้เร็ว ยิ่งช้า ในโลกปัจจุบันการสื่อสารที่ทันสมัยช้าไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ช้านักลงทุนต่างชาติก็ไม่มาลงทุนบ้านเรา ประชาชนก็ยิ่งยากจนมากขึ้น  

ส่วนเรื่องของความขัดแย้ง ทุกวันนี้ตื่นเช้ามาอ่านไลน์ ดูในเฟซบุ๊ก มีข้อมูลข่าวสารออกมา ทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีส่วนของการสร้างความสามัคคีคนในชาติ ทุกวันที่ตื่นมาก็เกิดความหวาดระแวง อ่านแล้วเชื่อ สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมมีปัญหามากขึ้น

พลเอกสนธิ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย เรื่องแนวทางการลดความขัดแย้งของ คสช.ที่ผ่านมา ก็ถือว่าทำถูกทางแล้ว แต่อยากให้เป็นมีความตั้งใจ กำหนดเป็นนโยบายสำคัญสูงสุดของประเทศ ทุกรัฐบาลที่มาบริหารประเทศ จะต้องเป็นกลาง จะไปเป็นแดง เป็นเหลือง เป็นเขียวไม่ได้ เอาสีทุกสีมารวมกันเป็นสีเดียว คือสีของประเทศไทย อันนี้ต้องทำ ทุกรัฐบาลไม่ใช่ไปหนุนสีตัวเอง ก็กลายเป็นความขัดแย้ง คนก็แยกเป็นสองซีก 

วันนี้เชื่อว่าประชาชนให้ความศรัทธาพลเอกประยุทธ์เกือบ 20 ล้าน เป็นเรื่องที่ประชาชนศรัทธา และนายกฯ ต้องเข้ามาเป็นเจ้าภาพ ในการจัดการปรองดอง อย่าไปคิดว่า การทำให้แต่ละฝ่ายปรองดอง ต้องทำให้เขาหมดแรง แล้วมารวมกัน มันไม่เสมอไป ดีหรือไม่ ถ้าเอาเขามาทำงานช่วงที่ยังแข็งแรง น่าจะดีกว่า จะตั้งกรรมการหรือจะทำแบบไหน ก็มีวิธีเยอะที่จะทำให้เกิดความปรองดอง แล้วนายกฯ จะมาเป็นประธานทำไงก็ทำเถอะ จับคนที่ขัดแย้งมาคุยกัน เราเหมือนพ่อ ลูกทะเลาะต้องทำให้ลูกมาคุยกัน ไม่ใช่ไปสนับสนุนลูกคนใดคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็ยิ่งขี้อิจฉา ยิ่งโกรธ ยิ่งเคือง ยิ่งหนีออกจากบ้าน เราจำเป็นต้องประนีประนอม ให้ลูก 2 คนที่ขัดแย้งมาคุยกัน นี่คือความเป็นจริง เพราะวันนี้ยังไงก็คุยกันได้อยู่แล้ว คนไทยลืมง่าย ต้องหันมาพูดคุยกัน อย่าเอาทิฐิมาเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาความปรองดอง สิ่งสำคัญ ถ้ารัฐบาลใดขึ้นมาแล้วเป็นกลางจะไปได้ แต่หากเอียงข้างจะเป็นปัญหา ฉันจะสนับสนุนอีกฝ่าย อีกฝ่ายก็ออกมาเดิน เป็นสภาวะแบบนี้ ประเทศไทยก็จะไม่จบ

อดีตประธาน คมช. ประเมินผลการทำงานในช่วง 2 ปีกว่าของรัฐบาลทหาร คสช. ว่า สภาวะคนที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่ง่ายเลย กับสังคมไทยเวลานี้ ประชาชนแบ่งเป็น 2 ฝ่าย และปัญหาคอร์รัปชันที่มีทุกหย่อมหญ้า แม้นายกฯ จะใช้มาตรา 44 อันนั้นมันนิดเดียว การคอร์รัปชันเกิดทุกหย่อมหญ้าไปหมด รัฐต้องหันมามองทำอย่างไรให้การคอร์รัปชันไม่เกิด เช่น ให้ข้าราชการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ต้องทำให้ประชาชนมีความยำเกรงต่อกฎหมาย มาตรการทางกฎหมายต้องดีจริง และที่ตามมาคือความเป็นธรรม ไม่ใช่สองมาตรฐาน ความเป็นธรรมต้องเกิดในสังคม การทำงานในช่วงที่ผ่านมาของ คสช.ก็ไม่มีอะไรเสีย เพียงแต่ว่า เหตุที่ต้องทำต้องทำเร็วกว่านี้ ที่สำคัญต้องเป็นกลาง แล้วต้องทำให้สังคมที่เกิดความแตกแยกรวมเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ คสช.ต้องทำภารกิจนี้ เป็นการแทนคุณแผ่นดิน 

สำหรับกระแสนิยมของพลเอกประยุทธ์ที่มีเสียงเชียร์ให้กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 บิ๊กบัง-อดีตประธาน คมช. พูดถึงอนาคตของหัวหน้า คสช.ในประเด็นนี้ว่า เรื่องการเมืองวันข้างหน้าตอบไม่ได้ การเมืองเอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดไม่ได้ โพลก็อย่างหนึ่ง แต่พลเอกประยุทธ์มีเอกลักษณ์พิเศษ ความตรงไปตรงมา เป็นสิ่งที่คนไทยอยากเห็น ประชาชนส่วนใหญ่ชอบเพราะบุคลิกของท่าน สิ่งเหล่านี้เมื่อเป็นประโยชน์อยู่แล้ว ท่านต้องสร้างให้เกิดความศรัทธากับประชาชนให้มากขึ้น เพื่ออาจจะเป็นนักการเมืองต่อไป หรือจะมาบริหารประเทศต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดีหากประชาชนรักและศรัทธา

สำหรับโอกาสที่จะเกิด นายกฯ คนนอก ตามช่องทาง รธน.ฉบับใหม่ได้หรือไม่ พลเอกสนธิ วิเคราะห์ว่า ข้อเท็จจริงทุกพรรคการเมืองต้องเสนอคนจะมาเป็นหัวหน้าพรรค สุดท้าย ส.ส.ในสภาฯ จะยกมือเลือกใครเป็นนายกฯ ถ้าทำให้ ส.ส.ที่ถูกเลือกเข้ามาแล้วเลือก ท่านก็ได้เป็น อยู่ที่พรรคการเมืองต่างๆ ถ้าสนับสนุนก็ได้เป็น

- การมี ส.ว. 250 คน โหวตเห็นชอบนายกฯ ได้ จะทำให้การเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งง่ายขึ้นหรือไม่?

ก็ช่วยให้ท่านได้เป็นมากขึ้น แต่อย่าลืมในสภาฯ เมื่อถึงเวลาหนึ่งข้างหน้า ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนที่ท่านปกครองทหาร ที่สั่งอะไรต้องได้ แม้แต่ ส.ว. 250 คน ไม่ได้หมายความทุกคนต้องทำตามทั้งหมด เพราะเขามีสติปัญญา มีความคิดของเขา ก็ถือเป็นตัวแทนคนหนึ่งของประชาชนต้องทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ถ้าในสภาฯ มีข้อเสนอใด หรือมีพระราชบัญญัติใดไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน เขาคงไม่เอา ปัญหาตรงนี้ในสภาฯ คงไม่ง่าย แต่ก็ดี ทำให้สภามีอุดมคติ ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน ทำให้การเดินไปข้างหน้าของใครเป็นรัฐบาล ต้องมีหลายแง่มุมในการศึกษา    

ถามถึงว่าหากพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แม้อาจไม่ได้เสียงข้างมากหลังเลือกตั้ง แต่ไปรวบรวมเสียงมาได้มาก พลเอกสนธิ มองว่ามีโอกาสสูง ถ้าพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลรวมได้เป็นหนึ่งเดียวก็โอเค บ้านเราเคยมีประวัติศาสตร์พรรคมี 18 คน เป็นนายกรัฐมนตรีได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้อะไรก็เกิดได้ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยเป็นนายกฯ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก ก็เกิดได้ ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ในสภาฯ จะยกมือให้ใคร ทุกอย่างอยู่ที่สถานการณ์ในวันนั้น นักการเมืองถึงเวลาจับมือกัน อาจจะเอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ ขึ้นอยู่กับเขา

เมื่อถามอดีตประธาน คมช.ในฐานะอดีตผู้นำการทำรัฐประหารว่า ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หาก คสช.จะต้องลงจากหลังเสือ จะลงอย่างไรให้ได้รับการยอมรับมากที่สุด พลเอกสนธิ เน้นย้ำว่า ให้รัฐบาลทำให้ดีเถอะ ทุกคนเคยเอาเราไปเปรียบเทียบไปนั่งบนหลังเสือ ลงมาเสือต้องกัดเอา กินเอา ใช่ เพราะไปนั่งบนหลังเสือ แต่ท่านเลือกไปนั่งบนอะไรที่ดีกว่านั้น ถ้าลงมาอาจจะไม่ถูกกิน  

"ขึ้นอยู่กับว่าต้องการจะเลือกไปนั่งอยู่บนอะไร หากทำทุกอย่างดีหมด เป็นที่ยอมรับของประชาชน แบบนี้แน่นอนไม่ใช่นั่งอยู่บนหลังเสือ แต่อาจเป็นการนั่งอยู่บนหลังช้างก็ได้

ปัญหาก็คือระหว่างนี้ท่านต้องทำทุกอย่างให้ดีหมด จะไม่เสี่ยงภัยอะไรเลย มันเป็นการเปรียบเทียบเฉยๆ ว่านั่งอยู่บนหลังเสือ"

  ประชาชนไม่น้อยกำลังรอช่วงเวลาตามโรดแมปอยู่ เมื่อพูดแล้วทำได้ ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรซับซ้อน ก็เป็นสิ่งที่ดี แล้วก็จะลงมาแบบสบายๆ 

- หากพลเอกประยุทธ์มาตามครรลอง มาเป็นนายกฯ ก็ไม่ถือว่าสืบทอดอำนาจ? 

     ขึ้นอยู่กับประชาชนแล้ว อย่าไปพูดเลยว่าสืบทอดอำนาจ หากว่าเกิดท่านเข้ามาโดย ส.ส.ตอนนั้นทุกคนเลือกท่านเป็นนายกฯ ก็ถือว่าประชาชนเลือก เพราะ ส.ส.ทุกคนถือว่าคือตัวแทนประชาชน เพราะฉะนั้นคนที่เลือกท่านก็คือคนเสียงข้างมากเลือกท่าน ก็คือประชาชนที่สนับสนุนส่วนมากเลือกท่าน ผมถือว่านั่นคือมาตามครรลองที่ถูกต้องแล้ว 

วันนั้นกับวันนี้ อย่าหยิบคำว่าต่อท่ออำนาจอะไรมา ผมว่ามันอยู่ที่ประชาชน ประชาชนคือผู้เลือก หากวันหน้าท่านได้เป็นนายกฯ ก็ถือว่าประชาชนเลือกท่านเป็นนายกฯ 

ส่วนกระแสกดดันจากนานาประเทศที่มีต่อ คสช.ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง อดีตประธาน คมช. ให้คำแนะนำ คสช.ว่า เรื่องนี้มันอยู่ที่เทคนิค ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องพูดไม่ยาก แต่ต้องได้คนที่รู้จักพูด ไม่ใช่ไปเอาคนที่ไม่รู้จักพูดไปพูด มันก็พูดไม่รู้เรื่อง ต้องรู้จักพูดเท่านั้นเอง ตอนช่วงผมเข้ามาเป็นนักการเมืองอยู่พักหนึ่ง ก็มีทูตเชิญไปนั่งคุย ไปปรึกษาหารือ ก็ถามผมหลายเรื่อง ผมก็อธิบายให้เขาฟังในฐานะเป็น ดร.ด้านรัฐศาสตร์ ผมก็บอกไปว่าประชาธิปไตยกับประเทศของคุณกับประเทศไทยมันไม่เหมือนกัน ก็เปรียบเทียบให้เขาเห็นว่าการเมืองไทยกับต่างประเทศมันเป็นอย่างไร ดังนั้นจะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ ที่ต่างกันก็เช่น เรื่องการศึกษา เรื่องคน เศรษฐกิจ มันต่างกันหมด ตัวเขามองว่าการเลือกตั้งคือความเป็นประชาธิปไตย แต่มันไม่เสมอไปหรอก บ้านเรา ปัญหาการเลือกตั้งมันเป็นอย่างไร ก็อธิบายให้เขาฟัง

................

ปฏิวัติ 49 ใช้เงิน 500 ล้าน

     พลเอกสนธิ-อดีตประธาน คมช. เล่าย้อนให้ฟังอีกครั้งถึงการตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงค่ำ 19 ก.ย.49 โดยย้ำว่า ที่ต้องตัดสินใจนำทหารเข้ายึดอำนาจในคืนวันนั้น มาจากปัจจัยเรื่องความขัดแย้งที่จะมีการใช้อาวุธ ผมในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเวลานั้น เรื่องนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด เรื่องนี้มันมีอยู่แล้ว ตรงนี้ทุกคนก็รู้กันอยู่ 

สำหรับการที่ทำไมตอนนั้นก่อนรัฐประหาร ที่เป็น ผบ.ทบ.ไม่ใช้วิธีประกาศ กฎอัยการศึก ไปก่อน บิ๊กบัง แจงว่า ปัจจัยตอนนั้นมันต้องยอมรับว่ามันมีอะไรหลายอย่างที่มันซ้อนกันอยู่ในความเป็นจริง เพราะว่าบางทีคือพรุ่งนี้มันจะเกิดเหตุรุนแรง วันนี้จะมานั่งรอไอ้โน่นไอ้นี่มันคงไม่ได้ มันก็ต้องใช้เวลาความรวดเร็ว 

- เห็นเคยบอกว่าหากได้อ่านหนังสือแนวคิดของแมคเคียเวลลี (นักคิด-นักปรัชญา ผู้เขียนหนังสือ THE PRINCE) ก่อนก็อาจไม่ทำรัฐประหาร?

แมคเคียเวลลีเขาสอนหลักไว้ว่า ในความเป็นจริง ทุกคนหวังประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก หากผลประโยชน์ตัวเองมันได้น้อย พูดง่ายๆ ว่าทุกคนจะทำอะไรก็เพื่อหวังผลประโยชน์แห่งตน ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์แห่งตนเขาก็จะไม่ทำ เขาบอกเลยว่าจะทำอะไรต้องคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ 

พอถามถึงเสียงวิจารณ์รัฐประหาร คมช.ว่าเป็นการเสียของ อดีตประธาน คมช. พูดประเด็นนี้ด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า เราจะโทษว่าเสียของไม่ได้ ผมไม่อยากพูดว่าคำว่าเสียของมาจากไหน คำว่าเสียของมันเกิดจากวาทกรรมของใคร ผมรู้หมด

...คำว่าเสียของมันเกิดจาก บอกก็ได้ เพราะมันก็เป็นเรื่องที่เกิดมาสิบปีแล้ว คือมีคนคนหนึ่งมาขอให้คนคนหนึ่งได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งผมไม่สามารถตอบสนองได้ เมื่อตอบสนองไม่ได้ แล้วชื่อออกมาว่าไม่ใช่คนคนนั้น จากวันนั้นมา วาทกรรมว่าเสียของ ฉี่ไม่สุด ก็ตามมา มันเป็นวาทกรรมการเมืองของฝ่ายที่คิดต่างเท่านั้นเอง สมัย คมช.ที่ผมทำ มันแค่ 14 วัน แล้วพอเข้าวันที่ 15 ผมยกให้รัฐบาลหมด ผมไม่ได้ไปยุ่งกับรัฐบาลอีกเลย มันต่างกัน 

ซักไปว่าเป็นเพราะ คมช.ไปปล่อยมือเร็วเกินไปหรือไม่ พลเอกสนธิ บอกว่า คือต้องยอมรับว่าวิกฤติมันจะเกิดวันที่ 20 ก.ย.นั่น ประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ผมไม่ต้องการเป็น พอถึงเวลารัฐบาลเข้ามา เขาก็ประกาศว่าถึงเวลาจัดการเลือกตั้งได้ภายใน 1 ปี ก็โอเค ผมก็ถือว่าผมจบ เพราะผมมอบหน้าที่ให้รัฐบาลไปแล้ว ซึ่งผมไม่อยากคิดเรื่องย้อนเวลาอะไร มันไม่มีประโยชน์ เพียงแต่อยากบอกผ่าน คสช.ไปว่า อยากเห็นการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น เรื่องปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาคอร์รัปชัน เรื่องการศึกษา เศรษฐกิจ เรื่องความเป็นธรรม ต้องให้มีมาตรฐานเดียว ใครผิดก็ผิด อย่าไปอาฆาตมาดร้าย ต้องให้อภัยกัน ต้องคิดว่าเราคนไทยก็คือพวกเรา 

    เมื่อถาม พลเอกสนธิ ถึงทักษิณ ชินวัตร ที่ถูก คมช.ทำรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เขาบอกว่า ก่อนรัฐประหารผมก็สนิทกับเขา เขาก็เหมือนรุ่นน้อง ก็มากินข้าวอะไรกันบ่อย กินกับพวก ผบ.เหล่าทัพอะไรกัน ตีกอล์ฟด้วยกันสมัยผมเป็น ผบ.ทบ. แล้วผมไม่เคยได้รับผลประโยชน์อะไรจากทักษิณเลยแม้แต่บาทเดียว บางคนไปบอกทักษิณให้เงินผมมาเยอะแยะ แล้วผมไม่เคยได้เงินจากการรัฐประหารเลยแม้แต่นิดเดียว

ช่วง 14 วันแรกหลังรัฐประหาร เบิกเงินมาจากสำนักงบประมาณ 500 ล้านบาท ก็ให้ไปหมดตามกองทัพ เหลือไว้ที่กองทัพบก 20 ล้านบาท 500 ล้านบาท ปฏิวัติทั้งทีใช้เงิน 500 ล้าน ไม่มีประเทศไหนเขาทำกันหรอก มีผมนี่แหละทำ แล้วผมก็ไม่ยุ่งกับเงินอีกเลยตั้งแต่วันนั้น โดย 20 ล้านบาทเป็นเงินที่ให้กองทัพบกต้องทำงานต่างๆ ต่อไป 

    - ตอนไปรับหน้าที่เป็นประธาน กมธ.วิสามัญศึกษาการสร้างความปรองดอง สภาผู้แทนราษฎร สมัยรัฐบาลเพื่อไทย ก็ถูกมองว่าขับเคลื่อนเรื่องนี้เพื่อช่วยเหลือทักษิณ?

อย่าไปพูดว่าช่วยทักษิณ มันเป็นวาทกรรม คือผมต้องการให้บ้านเมืองสงบ ผมต้องการแค่นั้น คนที่มีส่วนทำให้เข้าไปมีส่วนในการเป็นประธาน กมธ.ปรองดองตอนนั้นคือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ กับ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นคนเสนอพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่ว่าผมต้องการไปเป็นเอง จะเอาทักษิณกลับเข้ามา -มันไม่ใช่ การปรองดองเป็นสิ่งที่ดี แล้วตอนนั้น ดร.บวรศักดิ์อยู่สถาบันพระปกเกล้าที่ทำเรื่องให้เกิดความสมานฉันท์ เราก็ทำไปตามนั้น แต่พอเรื่องเข้ามาสภาฯ ก็เกิดอะไรต่างๆ คือการเมือง คนที่ผิดทางการเมือง เราต้องให้อภัยเขา เพราะการเมืองคิดต่างกันได้ แต่ใครผิดทางคดีอาญาก็ต้องไปว่ากัน เราก็พูดกันชัดเจนแบบนี้ 

เมื่อถามย้อนกลับไปว่าเหตุใดตอนเป็นประธาน คมช.ไม่ให้คนเขียนให้ รธน.ฉบับชั่วคราวปี 2549 ให้ประธาน คมช.มีอำนาจเด็ดขาดแบบมาตรา 44 ที่หัวหน้า คสช.ใช้อยู่ตอนนี้ อดีตประธาน คมช. เล่าให้ฟังว่า ความจริงผมก็เสนอให้มีอำนาจ แต่มีบางคนเขาไม่เห็นด้วย คือผมเป็นแค่ 14 วัน แต่จริงๆ แค่ 12 วันมันก็เสร็จแล้ว ในช่วง 12 วันเหตุการณ์มันปกติ ไม่มีอะไร 

    "ผมเคยขอเรื่องนี้ ผมไปกับพลเอกวินัย ภัททิยกุล เลขาธิการ คมช. ไปขอให้มี ตอนนั้นเรียกว่าให้มีอำนาจแบบมาตรา 17 แต่ก็อย่างว่าเราต้องการให้มีความสามัคคี หากใช้มาตรา 17 ก็จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รัฐบาลเขาคงมองเห็นเรื่องพวกนี้"

บิ๊กบัง-อดีต ผบ.ทบ. ยังกล่าวถึงบทบาทของกองทัพต่อการเมืองไทยหลังจากนี้ว่า สถานการณ์ปัจจุบันสังคมกับกองทัพยังผูกกันอยู่ แต่หากพูดถึงข้อเท็จจริง การปกครอง การบริหารประเทศ มันต้องแยกระหว่างกองทัพกับการเมืองออกจากกันให้สิ้นเชิง ต้องแยกให้ออก 

    ประเทศที่เขาเป็นมหาอำนาจเขาแยกออก หน้าที่ใครหน้าที่มัน รัฐบาลมีหน้าที่บริหารประเทศก็บริหารไป กองทัพมีหน้าที่สร้างความมั่นคงให้แก่รัฐก็ต้องสร้างไป อะไรที่กองทัพทำก็ทำ อะไรที่รัฐบาลทำก็ทำ รัฐบาลก็ต้องสนับสนุนให้กองทัพมีความเข้มแข็ง ก็ต่างคนต่างทำ อย่าไปโยงกัน จนกองทัพต้องมาสนับสนุนหรือรัฐบาลเข้าไปเพื่อเอาตรงนี้มาเป็นพลัง มันจะทำให้ความผูกพันระหว่างกองทัพกับรัฐบาลกลายเป็นความสับสน จึงต้องแยกกัน หน้าที่ใครหน้าที่มัน ถ้าเป็นแบบนี้มันก็จะเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ 

   ประเทศไทยกับกองทัพมันเป็นกันมาหลายร้อยปีแล้ว ถ้าเราต้องการให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงมันทำง่าย ก็คือเราก็สร้างความเป็นประชาธิปไตยเสียให้ดี แล้วก็แยกกองทัพออกไป หน้าที่ของกองทัพก็ทำไป หน้าที่ฝ่ายบริหารก็ทำไป ดูแลกองทัพให้เขามีความเข้มแข็ง ที่ผ่านมาผู้ปกครองประเทศ รัฐบาล พยายามทำให้กองทัพอ่อนแอและไม่มีพลังในการปฏิวัติ ซึ่งไม่ใช่วิธีแก้ วิธีแก้คือต้องทำให้กองทัพเข้มแข็ง แต่แยกออกไป แล้วทำให้ประชาชนรักรัฐบาล แค่นั้นเอง       

    พลเอกสนธิ-อดีตประธาน คมช. ผู้ทำปฏิวัติ-รัฐประหารครั้งที่ 12 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยย้ำว่าทหารก็ไม่อยากปฏิวัติ แต่หากจะไม่ให้ทหารทำรัฐประหาร ฝ่ายรัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ดี มีประสิทธิภาพ ประชาชนรักศรัทธา ไม่มีการโกงกินคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชนมีการศึกษา มีความเป็นอยู่ที่ดี ทหารไม่คิดหรอก คือประชาชนต้องรักรัฐบาล ถ้าประชาชนรักรัฐบาล ทหารที่ไหนจะกล้ามาปฏิวัติ วันนี้ปัญหาหลักที่ทำให้มีการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมาก็คือปัญหารัฐบาล ทุกครั้งที่เขาสามารถปฏิวัติรัฐประหารได้ก็เพราะรัฐบาลอ่อนแอจึงทำได้ 

"ดังนั้นหากจะไม่ให้มีการรัฐประหารอีกเลย ก็คือรัฐบาลที่เขาปกครองประเทศ ประชาชนต้องรัก ไม่มีการคอร์รัปชัน ก็จะไม่มีทางปฏิวัติได้เลย ผมยืนยัน ถ้าประชาชนเอา ทหารก็ไม่กล้าปฏิวัติ ถูกประหารชีวิตเปล่าๆ" 

     ...สมมุติว่ารัฐบาลใดที่บริหารประเทศแล้วไม่อยากให้ทหารออกมา ก็ต้องทำให้ประชาชนรักกัน รักกันเป็นหนึ่งเดียว แล้วทำให้ประชาชนหันกลับมารักรัฐบาล รัฐบาลต้องทำตรงนั้น หากรัฐบาลทำไม่ดี ประชาชนไม่ชอบ มันก็จะหันกลับมา เพราะทหารคือประชาชน เขามีสิทธิ์คิด 

     เมื่อถามมุมมองของ พลเอกสนธิ-อดีต ผบ.ทบ. ว่าเรื่องการปฏิรูปกองทัพควรต้องทำไหม เพราะล่าสุดที่มีปรับโครงสร้างการทำงานของกองทัพ ก็เกิดขึ้นเกือบสิบปีที่แล้วสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ออกกฎหมายให้การแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับสูงต้องผ่านสภากลาโหม เรื่องนี้ บิ๊กบัง ให้ความเห็นว่าคำว่าปฏิรูปมีหลายเรื่อง ที่บอกก็เป็นส่วนหนึ่ง สมัยยุค คมช.ที่ให้มีสภากลาโหม แต่งตั้งโยกย้ายทหาร ก็เพราะนักการเมืองเข้าไป ในเรื่องการบริหารจัดการกองทัพ กองทัพเขามี Chain of command ถ้าตั้งหัวแล้วหัวปกครองไม่ได้แล้วจะไปรบอย่างไร ที่ตอนนั้นให้มีการตั้งสภากลาโหมก็เพื่อให้ Chain of command มีความเข้มแข็งให้เป็นไปตามสายงาน เพราะเขาต้องนำกำลังไปรบ แต่ปรากฏว่าถ้าลูกน้องไม่ฟังนายที่พาไปรบแล้วจะไปรบได้ยังไง 

    สภากลาโหมจึงมีเพื่อให้ Chain of command การแต่งตั้งเป็นไปตามสายงานเพื่อให้ปกครองไปได้ ปัญหาตอนนี้เห็นอยู่หลายองค์กร หยิบตรงนั้นมาใส่ตรงนี้ หยิบตรงนี้มาใส่ตรงนั้น เลยปกครองกันไม่ได้ หลักการบริหารงานที่ถูกก็คือ Put the right man on the right job เลือกคนก็ต้องให้เหมาะกับงาน เลือกผู้บังคับหน่วยไปปกครองกองทัพ ก็ต้องรู้จักคนในกองทัพ รู้จักกองทัพภาค รู้จักแนวชายแดนหมด ไม่ใช่หยิบจากที่ไหนมาตั้ง 

    สำหรับอนาคตการเมืองต่อจากนี้ของอดีตประธาน คมช. พลเอสนธิ บอกว่า พูดกันตามจริงที่ผมลงการเมืองไม่ได้คิดอยากเล่นการเมือง แต่อยากไปแก้ปัญหาภาคใต้มากกว่า สมัยรับราชการทหาร เป็น ผบ.ทบ. มองแล้วว่าการแก้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องแก้ด้วยการเมือง คือฝ่ายการเมืองต้องเข้าไปแก้ เมื่อได้เป็นแล้ว เข้าไปแล้ว ก็ได้รู้ว่าการแก้ปัญหาภาคใต้นอกจากทหารแก้แล้ว การเป็นนักการเมืองก็แก้ไม่ได้ เพราะมันต้องมีอีกหลายปัจจัย ดังนั้น ที่เป็นนักการเมืองก็เพื่อต้องการไปแก้ปัญหาภาคใต้ ไม่ได้อยากเป็นอะไรอย่างอื่น แต่สำหรับเส้นทางการเมืองต่อจากนี้มันมีอีกหลายอย่างที่เป็นเงื่อนไข วันนี้ยังตอบไม่ได้  

    ถามถึงความเป็นไปได้หากจะมีพรรคการเมืองมาขอชื่อไปใส่เป็นสามรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ในช่วงเลือกตั้ง พลเอกสนธิ กล่าวตอบว่า ตอนนี้เขายังไม่คิดกันหรอก เขาจะเอาชื่อเราไปได้อย่างไร เขาก็ต้องเอาคนของเขา จะมาเอาชื่อเราได้อย่างไร พรรคใหญ่ก็ต้องเอาคนของเขา 1-2-3 มาตั้ง จะเป็นคนใน หรือคนนอก ก็เรื่องของเขา เขาไม่เอาคนนอกพรรค ไม่มีใครเขามาเอาชื่อเราหรอก เขาก็ต้องเอาคนของเขาก่อน 

     พลเอกสนธิ พูดถึงประสบการณ์การตั้งพรรคการเมืองให้ฟังว่า ตามกติกาที่ กกต.วางไว้ พรรคการเมืองจะต้องมีสมาชิกพรรค 5 พันคน ก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงวันนี้ ถามว่ายุ่งยากอะไรไหม บอกได้ว่า กกต.ต้องดูแลพรรคการเมือง ไม่ใช่พรรคการเมืองต้องดูแลตัวเอง ไม่เช่นนั้นแล้วพรรคการเมืองก็ต้องไปหาปัจจัยมาเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ตัว กกต.ต้องเลี้ยงดูพรรคการเมืองให้อยู่รอดให้ได้ 

    นอกจากนี้ พลเอกสนธิ ยังกล่าวถึงระบบเลือกตั้งตามร่าง รธน.ที่ให้นับทุกคะแนนเสียง ตรงนี้จะเป็นผลดีต่อพรรคขนาดกลาง-เล็กหรือไม่ เขามองว่ายังไงความคิดของประชาชนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเดิมมากนัก ผมเชื่อว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ เพราะระบบอุปถัมภ์ ระบบบุญคุณอะไรพวกนี้ยังมีอยู่สูงมาก คนที่ไม่มีเงินไม่มีสิทธิ์เป็น ส.ส.ได้ ลำบากมาก นักการเมืองแต่ละวันต้องได้รับการ์ดงานแต่ง งานบวช งานศพ วันหนึ่งๆ ห้ารายสิบราย รายจ่ายต่อวัน วันหนึ่งๆ เท่าไหร่ วันหนึ่งๆ พวกที่เป็นอดีต ส.ส.ก็ต้องจ่ายเรื่องพวกนี้ แล้วคนที่ไม่มีเงินเลย แม้จะเป็น ส.ส.แล้วจะนำเงินที่ไหนไปให้ ถ้าไม่ให้การ์ดงานเหล่านี้ คนก็มองข้าม ก็ไปมองคนที่ให้ นอกจากนี้ยังไงก็ตามมันมีความเชื่อมโยงกันระหว่าง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ แต่กติกาตามร่าง รธน.เขียนทำนองว่าหากได้ ส.ส.เขตมาก พรรคนั้นก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยหรืออาจไม่ได้เลย 

วันนี้อาจมีพรรคการเมืองขนาดเล็กหลายพรรคอาจดีใจจะได้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่หากพรรคใหญ่ไม่สนับสนุนก็คงได้ไม่ง่ายนัก พรรคใหญ่ทุกพรรคก็จะมีพรรคลูกของเขา 

     "เชื่อได้ว่าพรรคใหญ่ต้องมีพรรคเล็กซ้อนอยู่ข้างในเพื่อไม่ให้คะแนนหายไป เพื่อที่จะเอาพวกปาร์ตี้ลิสต์ บัญชีรายชื่อกลับเข้ามา เช่นหากได้ ส.ส.เขตมา 200 คน บัญชีรายชื่ออาจจะไม่ได้ ก็จะมีบัญชีรายชื่อที่จะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กคอยไปเก็บในส่วนของบัญชีรายชื่อ มันมีวิธีการอยู่ ผมว่าคนไทยเก่งเฉลียวฉลาดอยู่แล้วเรื่องพวกนี้"                                         

พรรคการเมืองขนาดเล็กมันอยู่ไม่ได้เพราะมันต้องใช้ทุนเหมือนเดิม ประชาชนบางพื้นที่เขาเคยได้ แต่หากเกิดเขาไม่ได้ จะทำยังไง เขาก็ไม่เลือก เพราะฉะนั้นมันก็ต้องใช้เงินอยู่วันยังค่ำ เพราะฉะนั้น วันนี้พรรคเล็กต้องใช้เงินสูงกว่าพรรคใหญ่

       - ถ้าจะมีคนคิดอยากตั้งพรรค เช่นอาจมีทหารอยากตั้งพรรคการเมือง จะต้องเจอกับอะไรบ้าง 

ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องเก่าๆ ต้องมีปัจจัยทำให้อยู่ได้ ส.ส.ที่มาอยู่มาเป็นสมาชิกพรรคเขาต้องลงพื้นที่ อย่างผมเป็นพรรคขนาดเล็กจะไปดึง ส.ส.สักคนมาอยู่กับพรรค หากผมไม่มีปัจจัยให้เขา เขาก็ไม่อยากมา เขาก็ไปหาพรรคที่มีปัจจัยให้เขา.
 .................... 

'ให้ความลับตายไปกับตัว'

ระหว่างสนทนากัน เราถามพลเอกสนธิ-อดีต ผบ.ทบ.ถึงว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ว่าเป็นอย่างไร ในฐานะที่บิ๊กบังเป็นรุ่นพี่ นักรบหมวกแดง จาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ เหมือนพลเอกเฉลิมชัย โดย บิ๊กบัง เล่าให้ฟังว่า พลเอกเฉลิมชัยก็ต่อกันมากับผมนี้แหละ ผมเป็นผู้พัน เขาก็เป็นผู้บังคับกองร้อย ผมเป็นผู้การ เขาก็เป็นผู้พัน ก็ตามกันขึ้นมา ท่านพลเอกวิมล วงศ์วานิช อดีต ผบ.ทบ. พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผม และพลเอกเฉลิมชัย 4 คนตามกันมา ผมเป็นผู้พัน พลเอกวิมลเป็น ผบ. พลเอกสุรยุทธ์ก็เป็นผู้การ เขาก็เป็นผู้บังคับกองร้อย คุมป่าหวาย คุมกองพล คุมหน่วยสงครามพิเศษตามกันมา

เรื่องความรู้ความสามารถใช้ได้ มองยุทธศาสตร์เป็น เป็นนักเรียนที่เรียนดี ประเด็นสำคัญคือเขาเป็นกลาง 

พลเอกสนธิ ยังได้พูดถึงเรื่องที่สื่อและคนในสังคมไปวิเคราะห์เรื่องขั้วอำนาจในกองทัพที่แบ่งเป็น บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ ด้วยว่า เป็นเรื่องของวาทกรรม สื่อไปตั้งกันขึ้นมา ผมก็เคยอยู่บูรพาพยัคฆ์ พอจบโรงเรียนเสนาธิการทหารก็ไปอยู่บูรพาพยัคฆ์ ทุกคนอยู่ตรงนั้นก็เป็นบูรพาพยัคฆ์ ไปเรียกเขาแบบนั้น แล้วพวกอยู่กรุงเทพฯ ไปเรียกวงศ์เทวัญ ไปแบ่งแบบนี้ก็เหมือนกับไปแบ่งแยก ทำให้เขามีความขัดข้องหมองใจกัน มันไม่ควรไปแบ่งแยก มันไม่ถูก เขาเป็นพี่เป็นน้องกัน เขาไม่ทะเลาะกันหรอก ผมก็เคยถามนักข่าวว่าทำไมต้องใช้คำพูดนี้ มันแสลงใจของอีกฝ่ายหนึ่ง มันไม่ควร

อดีตประธาน คมช. ต้นตำรับวาทะ ลับ ลวง พราง ขยายความเรื่องนี้อีกครั้งว่า เรื่องลับ ลวง พราง มันเป็นวิถีสังคม ที่อะไรควรพูดก็พูด อะไรไม่ควรพูดก็ไม่พูด อย่างเราอยู่ในครอบครัว บางอย่างจะพูดทำไม ถ้าพูดแล้วไม่เกิดประโยชน์ก็อย่าพูด นี่คือ ลับ ทำในสิ่งที่เช่น เวลากลับมาอยู่กับครอบครัวแล้วทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อมีความสุข แบบนี้คือ ลวง นี่คือวิถีชีวิต คำว่า ลับ ลวง พราง คือวิถีชีวิต มนุษย์ต้องมี คำว่าอะไรควรพูดก็พูด อะไรไม่ควรพูดก็อย่าพูด ทางสายพรรคคอมมิวนิสต์เขาถึงบอกว่า ห้ามสัมพันธ์ขวาง เรื่องของคุณผมไม่มีสิทธิ์อยากรู้ แล้วคุณก็ไม่มีสิทธิ์มารู้เรื่องของผม เหล่านี้คือเรื่องของความสัมพันธ์ขวาง นี่ก็คือ ลับ ลวง พราง 

    ลับ ลวง พราง มันเป็นตำรา เรื่องของวิชาการข่าวลับ มันเป็นวิชา ลับ ลวง พราง มันอยู่ในวิชา ลับ ลวง พราง มันอยู่ในจิตวิญญาณของนักการข่าวลับอยู่แล้ว ผมถึงเคยพูดคำหนึ่งแล้วกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ที่บอกว่า ตายก็บอกไม่ได้ นี่คือลับ ลวง พราง เพราะงานที่เราทำเราจะไปพูดได้อย่างไร นักปฏิบัติการข่าวลับคงเคยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นซีไอเอ, เคจีบี ใครเปิดเผยความลับก็ถูกตามสังหารตลอด

    ดังนั้น ความลับที่มีอยู่มันพูดไม่ได้ มันต้องตายไปกับตัว มันเป็นหลักสูตรของการข่าวลับ ทหารไม่ได้เรียน เรียนเฉพาะบางองค์กร แต่อย่างหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมีการเรียนกัน 

    เวลาเราไปทำงานที่เป็นงานลับ ผมจะมีชื่อนิกเนมใหม่ อาชีพใหม่ อย่างลูกน้องผม เช่นหากชื่อสมศักดิ์ เปลี่ยนเป็นชื่อแดง มีอาชีพซ่อมรบ พอส่งไปทำงาน แล้วหากถูกจับได้ เขาก็ชื่อแดง ผมมีบัตรประจำตัวให้เขา ชื่อนายแดง เขาไม่ใช่ทหาร แต่เขาคือนายแดง หากต้องถูกนำตัวไปทำอะไรเพื่อให้รู้ความจริง บอกว่ากระสุนนัดสุดท้ายเอาไว้ยิงหัวตัวเองเพื่อปิดองค์กรลับ นี่คืองานปฏิบัติการลับ 

    อดีตประธาน คมช. เปิดเผยด้วยว่า ตัวเขากำลังจะออกหนังสือพ็อกเกตบุ๊กของตัวเองที่จะมีด้วยกัน 4 เล่ม เล่มที่หนึ่งเสร็จแล้วกำลังรีไรต์อยู่กำลังจะทำออกมาก่อน 
เล่มแรกก็จะเป็นเหมือนไตเติลที่จะบอกว่าคนคนนี้คือใคร ชื่อเรื่อง "The Truth one ความจริงหนึ่ง" ทุกอย่างที่เขียนในหนังสือคือความจริง 
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องสงครามที่เกี่ยวข้องกับบ้านเรา 
เล่มที่ 3 เป็นเรื่องผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 
เล่มที่ 4 เรื่อง "ผมอยากเป็นนักการเมืองที่ดี".

ไม่มีความคิดเห็น: