PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2559

“วิษณุ” ระบุ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”พระองค์ใหม่ทรงลงพระปรมาภิไธย “ร่างรัฐธรรมนูญ” เอง

“วิษณุ” ระบุ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พระองค์ใหม่ทรงลงพระปรมาภิไธย “ร่างรัฐธรรมนูญ” เอง เผย ทรงรับสั่ง ให้ทุกฝ่ายคลายความทุกข์ ทำใจรับความเปลี่ยนแปลงได้ก่อน ย้ำ ไม่มีปัญหาแก้คำปรารภในร่างรธน.
เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 18 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรีระบุเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ว่าเมื่อพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลผ่านพ้นช่วงเวลา 7 วัน 15 วันไปแล้วระยะหนึ่ง น่าจะได้เวลาอันสมควรที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 23 ว่า เป็นไปอย่างที่นายกฯได้อธิบาย และเป็นไปตามที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้มีพระราชปรารภตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมและอีกครั้งเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ตอนที่นายกฯเข้าเฝ้าพร้อมกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยพระองค์ทรงรับสั่งว่าเรื่องที่จะดำเนินการสืบราชสันตติวงศ์ให้รอระยะเวลาที่พระองค์ทรงใช้คำว่าทุกฝ่ายสามารถทำใจได้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้วก่อน ดังนั้นขอให้รอ เมื่อถึงเวลาอันสมควรประชาชนคลายความทุกข์โศกลงได้บ้าง ให้พระราชพิธีต่างๆ ได้ผ่านพ้น
“เพราะฉะนั้นที่นายกฯพูดถึง 7 วัน 15 วัน เป็นรอบของการที่จะมีพระราชพิธีครบรอบ 7 วัน 15 วัน 50 วัน ซึ่งคนไทยเราทำบุญตามรอบเช่นนี้ จึงขอให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่คนได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำกันเสียก่อนเถิด แล้วการที่จะมาทำใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ ความหมายมีแค่นี้ ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนที่นายกฯระบุสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยภายในกรอบเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยจะไม่กระทบต่อปฏิทินการทำงานนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่จะทรงลงพระปรมาภิไธยด้วยพระองค์เอง แต่จะเป็นเมื่อไรนั้นไม่สามารถตอบได้ แต่ขอให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบขั้นตอนระยะเวลาในปฏิทินการทำงานเป็นอันขาด เพราะเมื่อนายกฯทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญ ร่างดังกล่าวจะอยู่ที่สำนักราชเลขาธิการได้ 90 วัน ดังนั้น อย่างไรเสียจะอยู่ในช่วงเวลานั้น หรือหากล่าช้ากว่านั้นก็ไม่มีผลกระทบใดๆ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สามารถทำงานของเขาได้ จึงอย่าไปตีความอะไร ทุกอย่างตรงไปตรงมาหมด ส่วนรัฐบาลเองจะได้เตรียมการ สถานการณ์จะเกิดขึ้นเมื่อใดก็พร้อม
รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนกรณีการแก้ไขคำปรารภในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมครม.ได้มติให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) ปี 2559 และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับแล้ว จะพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งไม่ยากว่าใครจะเป็นคนแก้ เพราะแก้อย่างไร ได้เตรียมไว้แล้ว ปัญหาว่าจะถือว่าใครเป็นคนเสนอแก้ และไม่ได้แก้เนื้อความ แก้เฉพาะพระปรมาภิไธยตอนต้นเท่านั้น โดยต้องขอความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่มีความคิดเห็น: