PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ว่าด้วย พรบ.คอมฯกับการลบประวัติศาสตร์


 คำว่า ‘Right to Be Forgotten’ ที่คุณไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นำมาเปรียบเทียบกับ มาตรา 16/2 ถือว่าเป็นการใช้คำผิดความหมาย เพราะตามที่อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ที่ดูเรื่องกฎหมาย EU (สหภาพยุโรป) และกฎหมายระหว่างประเทศได้กล่าวไว้ว่า EU เป็นที่แรกของโลกที่ประกาศกฎหมายเรื่อง Right to Be Forgotten โดยกฎหมายตัวนี้พูดถึงเรื่องที่ว่า ปัจเจกบุคคลมีสิทธิ์ที่จะปกป้องชื่อเสียงของตัวเองจากการเข้าใจผิดข้อมูลของอินเทอร์เน็ตบางอย่าง อาจจะเป็นข้อมูลสื่อบางอย่างทั่วไปที่มีความผิดพลาดเกี่ยวกับตัวเขา ซึ่งเมื่อบุคคลดังกล่าวพบข้อมูลนั้นเมื่อใด เขาสามารถขอแก้ไขหรือขอที่จะไม่ให้ข้อมูลไปปรากฏ ณ ตรงนั้น
 
 แต่ Right to Be Forgotten ของ EU จะไม่บังคับให้ผู้บริการลบข้อมูลตรงนั้นทิ้ง แต่ให้ถอดออกจากเสิร์ชเอนจิ้นหรือสารบัญ เขาจะไม่ไปยุ่งกับการมีอยู่ของข้อมูลนั้น สมมติมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่เขียนข้อมูลเกี่ยวกับผมผิด ในโลกที่เป็นกระดาษผมไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน เพราะว่าคนน้อยมากที่จะไปเจอหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ผมจึงมองว่าความเสียหายมันน้อย แต่โลกที่เป็นอินเทอร์เน็ต คุณเสิร์ชไม่นานก็เจอ ซึ่งบางทีอาจจะเจอข้อมูลเท็จที่เกี่ยวกับผมมากกว่าข้อมูลจริงเสียด้วยซ้ำ ผมอาจจะเสียหาย
 
 ถ้าเราเปรียบเทียบประเด็นนี้ของ Right to Be Forgotten กับโลกของกระดาษ ก็คงไม่มีคนมาบอกว่าให้คุณไปเผาหนังสือเล่มที่ลงข้อมูลของผมผิด หรือเช่นเดียวกันในโลกออนไลน์ก็ไม่มีใครสั่งให้คุณไปลบข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ แต่ Right to Be Forgotten ของ EU บอกเพียงแค่ว่าให้ผู้ให้บริการหรือผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบถอดข้อมูลดังกล่าวออกจากเสิร์ชเอนจิ้นหน้าแรกหรือหน้าสองได้ไหม? แต่ถ้าคุณรู้ตำแหน่งว่าข้อมูลนี้อยู่ตรงไหน คุณเป็นคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับข้อมูลพวกนี้ คุณไม่ต้องลบ ผมคิดว่าเเบบนี้ก็แฟร์ การไม่ไปยุ่งกับเรื่องของการเก็บข้อมูล แต่ช่วยลดผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้น
 
 ซึ่งในมาตรา 16/2 มันคือคนละเรื่องกับ Right to Be Forgotten มันคือการบอกว่าใครก็ตามที่มีข้อมูลที่ศาลสรุปว่ามีความผิด แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นคนนำเข้าสู่ระบบก็ตาม แต่ถามว่าถ้าเจ้าหน้าที่บอกว่าคุณน่าจะรู้แหละว่ามีข้อมูลนี้อยู่ในระบบ ดังนั้นคุณก็มีความผิด ถ้าคุณไม่ลบ มันก็จะเป็นการกดดันให้ทุกๆ คนต้องลบ
 
 แล้วผมจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ผมมีเก็บไว้เป็นเวลาหลายปีมีความผิด เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี คำพิพากษาของศาลก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วมันเป็นหน้าที่ของผมหรือที่จะต้องไปนั่งค้นข้อมูลคำพิพากษาของศาลย้อนหลัง แล้วบรรดาคนที่ทำหน้าที่ในห้องสมุด, จดหมายเหตุ, งานวิจัย หรือคลังข้อมูลข่าวต่างๆ พวกเขาจำเป็นจะต้องลบข้อมูลเหล่านั้นที่ถูกพิพากษาว่าผิดทิ้งหรือเปล่า
 
 สมมติในกรณีที่มีนักการเมืองคนหนึ่งบอกว่า ‘เหตุการณ์ 6 ตุลามีคนตายคนเดียว’ ถ้าผมเก็บข่าวนี้ไว้ นั่นแสดงว่าผมก็ต้องไปลบข่าวนี้ใช่ไหม แล้วในอนาคตอีกสิบปี ยี่สิบปีข้างหน้า ก็หมายความว่าจะไม่มีใครรู้เลยใช่ไหมว่า นักการเมืองคนดังกล่าวเคยพูดประโยคนี้ ผมคิดว่านี่ก็เป็นปัญหาเหมือนกันทั้งการทำงานข่าว งานวิจัย และการศึกษาต่างๆ
 
 
#TheMomentum #พรบคอม #SingleGateway #Internet #Thailand#Thai #opsinglegateway #government #freedom

ไม่มีความคิดเห็น: