PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เรียกแรงงานกต.ถกใต้

"บิ๊กโด่ง" เรียก ก.ต่างประเทศ-ก.แรงงาน ถกปัญหาใต้ เร่งรวบรวมข้อมูลนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในต่างประเทศ เล็งหามาตรการ ป้องกัน การถูกบ่มเพาะจากกลุ่มที่นิยมความรุนแรงในอนาคต /

พลเอก อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เป็นประธานการประชุมประสานงานระหว่างผู้แทนพิเศษของรัฐบาล กับกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงแรงงาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่มภารกิจงานที่ 3 เรื่องการสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ และสิทธิมนุษยชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการบูรณาการ 

โดยมีการหารือในการสร้างความเข้าใจกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ, การรวบรวมข้อมูลนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในต่างประเทศ, การเสริมสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ (ประเทศมุสลิม) และการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำประเทศมาเลเซีย 

โดยมี พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ ผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ ๓, พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ ๒, คณะที่ปรึกษาหัวหน้าผู้แทนพิเศษฯ, พล.อ.สุทัศน์ จารุมณี หัวหน้าสำนักงาน คปต.ส่วนหน้า, นายวิทวัส ศรีวิหค รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, นายวิชัย คงรัตนชาติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน, พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต., นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) และ ผู้แทน กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้าเข้าร่วมประชุม

มีการหารือเรื่องการเข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขององค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรเอกชน (NGOs) จากต่างประเทศ จำนวนมาก 

ตามที่รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแก้ไขปัญหาในทุกมิติ ปรากฏว่า มีบางองค์การเข้ามาดำเนินการในลักษณะที่ขัดแย้งกับแนวทางของภาครัฐ และเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลแก่ประชาชนในสิ่งที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล 

ที่ประชุมเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นต่อการดำเนินการตามที่กลไกเดิมได้กำหนดไว้ นั่นคือ กลไกของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแนวทางของภาครัฐต่อองค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การการพัฒนาความสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง การเปิดเผยการดำเนินงานที่มีการเคลื่อนไหวและบทบาททางลบต่อรัฐของขององค์การระหว่างประเทศ (IGOs) และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นต้น

ส่วนประเด็นการรวบรวมข้อมูลนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในต่างประเทศ เพื่อการดูแลและอำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษา พร้อมกับการสร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันการดำเนินกิจกรรมของนักศึกษาที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐ 

ดังนั้น การจัดทำฐานข้อมูลนักศึกษาให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ดำเนินการโดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนข้อมูล พร้อมกับให้นักศึกษาลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตและสถานกงศุลของไทย 

และที่ประชุมเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างแรงจูงใจนักศึกษาก่อนเดินทาง ให้มีการเตรียมความพร้อมของตนเองในการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อสร้างอาชีพ หรือได้คุณวุฒิเพื่อศึกษาต่อ

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นหารือถึงการเสริมสร้างความเข้าใจกับกลุ่มประเทศมุสลิม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับรัฐบาลและหน่วยงาน ซึ่งสามารถส่งผลต่อการดูแลให้ความช่วยเหลือนักศึกษาและคนไทยที่พำนักในประเทศนั้น และป้องกัน
การถูกบ่มเพาะจากกลุ่มที่นิยมความรุนแรงในอนาคต 

ซึ่งที่ประชุมให้ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้าฝ และ ศอ.บต. ส่งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และข้อมูลเชิงประจักษ์ต่างๆ ที่ต้องการชี้แจง ตามช่องทางสื่อสารเดิมให้กระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนพิเศษฯ กลุ่มภารกิจงานที่ ๓ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประเทศดังกล่าวต่อไป

ส่วนการแต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ประจำประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้แทนพิเศษฯ มีมติเห็นชอบด้วยนั้น ที่ประชุมวันนี้มีมติให้นำข้อเสนอดังกล่าวส่งคณะทำงานโครงสร้างบุคลากรไทยที่ประจำการในต่างประเทศ ของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประชุมพิจารณาในวันที่ ๑๙ มิ.ย.๖๐
 
พลเอก อุดมเดช  ได้กล่าวก่อนปิดการประชุมว่า จากการปฏิบัติของกระทรวง
การต่างประเทศ ในการรับ คณะ OIC  และผู้ชี้ขาดทางศาสนาของอียิปต์ รวมถึงการไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่กรุงเจนีวา กระทรวงการต่างประเทศได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีความรอบคอบในการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด และมีศักยภาพในการรักษาผลโยชน์ของชาติด้วยวิธีทางการทูต  

จึงขอให้หน่วยในพื้นที่ ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนา ให้ความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศในการสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานในการเสริมสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศยิ่งๆขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: