เคาะสนิม ต่อเวลาอำนาจ : เงื่อนสถานการณ์รุกฆาต“ประยุทธ์”ปรับ ครม.

วันเวลาเดินไปไว ขณะที่เงื่อนสถานการณ์ตามกำหนดโรดแม็ปของรัฐบาล คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ก็หดสั้นลงทุกที
นับตามเทอมเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 4 ปี ถึงตรงนี้ก็เข้าสู่ปีสุดท้าย
แรงกดดันจากทุกทิศทุกทาง ตามฟอร์มธรรมชาติ ของการเมืองไทยในช่วงท้ายเทอมรัฐบาล หนีไม่พ้นกระแสสังคมที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง
นั่นก็ทำให้อั้นไม่ไหว ต้องเจาะช่องระบายแรงดัน
ตามสถานการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งสัญญาณปรับ ครม.อย่างเป็นทางการ โดยได้ขออำนาจจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขอสิทธิในการตัดสินใจ บอกรัฐมนตรีอย่าได้โกรธเคืองกัน
เพราะจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคต
และโดยปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความยากลำบากในการตัดสินใจ นับจากจุดเริ่มต้นที่ “บิ๊กตู่” แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ขออำนาจปรับ ครม.ก็ทอดเวลามาอีกนานนับสัปดาห์
ท่ามกลางกระแสข่าว โผปลิวว่อนรายวัน อาการลุ้นระทึกของรัฐมนตรีที่ไม่มีใครรู้ชะตา
ทุกอย่างถูกอุบไต๋เงียบเป็นความลับ พอดีกับช่วงจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์มีโปรแกรมเดินทางไปประชุมที่ต่างประเทศหลายวัน และเมื่อกลับจากปฏิบัติภารกิจที่ประเทศฟิลิปปินส์ก็ “ซุ่มเงียบ” ระหว่างบ้านกับห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยยกเลิกหมายงานต่างๆ มอบให้รัฐมนตรีไปแทน
แน่นอน ตามรูปการณ์ที่ล้อไปกับบรรยากาศตึงเครียด “นายกฯลุงตู่” น่าจะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการจัดวางตำแหน่งรัฐมนตรี ถอดคนเก่า สลับคนใหม่
ปรับเปลี่ยนในโซนที่เป็น “จุดบอด” เชิงบริหาร
ต้องกลบ “บ่อน้ำมัน” ของรัฐบาล คสช.
เพราะถ้าประเมินจากสื่อกระแสหลักที่เกาะติดสถานการณ์ปรับ ครม. จะเห็นได้เลยว่า รัฐมนตรีที่ตกเป็นเป้าโฟกัสหลัก ก็อยู่ที่ 2–3 ชื่อ ถูกยกให้เป็น “ดีหนึ่งประเภทหนึ่ง”
ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตร และสหกรณ์ เพื่อนรัก ตท.12 ของ “บิ๊กตู่” ที่ดูจะมาแรง ติดโผโดนปรับออกจากตำแหน่ง ตามเสียงวิจารณ์เรื่องฝีมือในการแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ การเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำที่อืดล่าช้า จนน้ำท่วมภาคเหนือ กลาง อีสาน อ่วมอีกรอบ
เสียงม็อบโห่ไล่เริ่มดังขึ้นๆเป็นระยะ
อีกรายก็คิวของ “พี่รอง” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ตกอยู่ในวงล้อม “ตำบลกระสุนตก” เจอปมร้อนปัดกันแทบไม่ทัน ทั้งการเซ็นอนุมัติป่าชุมชนให้เอกชนใช้พื้นที่ การจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วฉาวๆ ไหนจะข่าวเรือเหาะเรือเหี่ยวที่โผล่มาประจานซ้ำ
ถ้าเป็นมวยก็อยู่ในสภาพหน้าปูดบวมช้ำไปหมด
สภาพเดียวกับ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ที่สะบักสะบอม กระแสสะสมจากปมโดนกล่าวหาว่าปล่อยคนรอบตัวแฝงอำนาจหาผลประโยชน์ไม่หยุดหย่อน
ยิ่งตอนหลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพมาฉุดศักยภาพเข้าไปอีก มันก็เลยเป็นปัจจัยเสริมเหตุความน่าจะเป็นในการต้องปรับเปลี่ยน “บิ๊กป้อม”
ออกจากจุดศูนย์ถ่วงอำนาจรัฐบาล คสช.
แบบที่เจ้าตัวมีอาการหงุดหงิดนักข่าวที่ไล่บี้เค้นถามเรื่องความมั่นใจในสถานภาพ “บิ๊กป้อม” โบ้ยให้ไปถาม พล.อ.ประยุทธ์เอง เพราะมีอำนาจจัดทำอยู่คนเดียว ตัวเองยังไม่รู้เลยจะอยู่หรือไป
ในอารมณ์ที่จับทางได้ “พี่ใหญ่” ไม่ชัวร์ปึ้กเหมือนเก่า
ท่ามกลางกระแสเร้า โฟกัสเป้าไปที่เพื่อนพ้องน้องพี่ที่อยู่รอบเอว วัดใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ติดวัฒนธรรมทหาร เคยประกาศไว้ชัดเจนว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ถึงตรงนี้ ถ้าเสี่ยงพากันพังทั้งคณะ จะยังคิดแบบเดิมอยู่หรือเปล่า
ในอาการแบบที่ “บิ๊กตู่” เริ่มกลับมาพูดกับคำถามนักข่าวเป็นช็อตแรก ในห้วงโผ ครม.เริ่มนิ่ง เข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ โดยตอบนักข่าวสั้นๆแบบตัดความรำคาญ ยืนยัน พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ยังอยู่ ส่วน พล.อ.ฉัตรชัย อยู่ แต่ตรงไหนไม่รู้
ดูเหมือนอาการอึดอัด กว่าจะเคลียร์โจทย์ยากได้
ตามเงื่อนสถานการณ์ เพื่อนพ้องน้องพี่คือเป้าหลักที่ยั่วแรงกระแทกใส่รัฐบาล “นายกฯลุงตู่” และนั่นก็ยังโยงไปถึงยุทธศาสตร์การลดโควตารัฐมนตรีสายทหาร
เปิดทางให้มือบริหารอาชีพมาเสริมงานด้านเศรษฐกิจ
ที่ถึงแม้ในภาพรวมทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะโชว์ภาพความสำเร็จ สัญญาณเชิงบวกที่จับต้องได้ ทั้งตัวเลขจีดีพีที่สูงขึ้น สถานการณ์ส่งออกที่เป็นบวก การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันที่กลับมาติดอันต้นๆของโลก
แต่ก็ยังติดๆขัดๆในมุมของการอัดฉีดสภาพคล่องไปถึงระดับฐานราก
จากสถานการณ์ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ทำให้โพลสะท้อนความไม่พึงพอใจรัฐบาลในมุมของการแก้ปัญหาปากท้อง เรียกร้องให้ปรับ ครม.ทีมเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกๆ
กลายเป็นจุดอ่อนให้นักการเมืองกระแทกหมัดใส่รัฐบาล คสช.
โดยต้นตอก็มาจากการลักลั่นในเชิงบริหาร แบบที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะต้นทางการผลิตสินค้าทางการเกษตร แต่ทำงานไม่ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องทำหน้าที่นำผลิตผลไปขาย
เพราะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมากันคนละโควตา พล.อ.ฉัตรชัยก็ถือว่าสายตรงของ “นายกฯลุงตู่” ไม่ฟังนายสมคิด ขณะที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ก็ติดความเป็นข้าราชการประจำ ทำงานไปคนละทาง
ก็อย่างที่เห็น ปัญหาเกิดไม่หยุดหย่อน เดี๋ยวก็ยางพารา เดี๋ยวข้าว เดี๋ยวมันสำปะหลัง ถ้ายังไม่มีการปรับแก้ไขเชิงบริหารก็เสี่ยงกับสถานการณ์กดดันหนักขึ้นทุกขณะ
เพราะม็อบเริ่มขยับจ่อคอหอยแล้ว
แนวโน้มเดียวกับกระทรวงเศรษฐกิจอีกหลายกระทรวงที่ลักลั่นเชิงบริหาร โดยเฉพาะสถานการณ์ที่กระทรวงคมนาคมที่ต้องรับผิดชอบสารพัดเมกะโปรเจกต์
แบกภาระโครงการ “เรือธง” ของรัฐบาล
ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ เครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เส้นทางเชื่อมตะวันออกสู่ตะวันตก (อีสต์ เวสต์ คอริดอร์ส) ที่ พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิดเร่งให้ใส่เกียร์ห้าเดินหน้า เพื่อให้เม็ดเงินจากเมกะโปรเจกต์กระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม
แต่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ก็ดีแค่ภาพโปร่งใส แต่ทำงานช้า ไล่ตามข้าราชการประจำ ทำให้เมกะโปรเจกต์อืด ไม่เป็นไปตามจังหวะที่รัฐบาลพยายามตีปี๊บ
พยายามกวักมือเรียกนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเต็มที่
นี่แค่เชิงบริหาร แต่มันยังมีปมความโปร่งใส ตามเหลี่ยมที่ พล.อ.ประยุทธ์ชิงออกตัวไว้ก่อนเลยว่า การปรับ ครม.ไม่เกี่ยวกับเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด
เหมือนกับการเปิดทาง ไม่ให้คนที่โดนปรับเปลี่ยนออกต้องมัวหมองซ้ำ
สรุปหนีไม่ออก ไฟต์บังคับ “นายกฯลุงตู่” จำใจต้องยอมปรับเปลี่ยนเชิงการบริหาร
ยากจะฝืนทวนกระแสอีกต่อไป
เหนืออื่นใดในจังหวะที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน การปรับ ครม.ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เกิดขึ้นในห้วง จังหวะไล่เลี่ยกับการโยน “6 คำถาม” ออกมาหยั่งกระแสสังคม
โดยเฉพาะปมของการสนับสนุนพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง
เซียนการเมืองจับทางได้ว่าเป็นการ “เปิดไพ่” ยุทธศาสตร์เดินหมากอำนาจต่อ
โดยสถานการณ์ปรับ ครม.จึงเป็นเหลี่ยมหนีสถานการณ์ “รุกฆาต” พล.อ.ประยุทธ์ถือโอกาสเคาะสนิมเนื้อใน ปรับเชิงบริหาร ปั่นเนื้องานกระตุ้นคะแนนนิยมรัฐบาลทหาร คสช.
ต่อเวลาอำนาจข้ามช็อตไปถึงการเลือกตั้ง
แต่ภาพออกมาจะตอบโจทย์กระแสได้แค่ไหน ยังต้องลุ้น.
“ทีมการเมือง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น