เข้าเหลี่ยม “สมคบคิด”

ตามโปรแกรมล่าสุดที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ เป็นประธาน เพิ่งยกเครื่องกฎหมาย ป.ป.ช.เวอร์ชั่นใหม่เสร็จสดๆร้อนๆ
เตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบวาระ 2 และ 3 รอประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ตามเนื้อหาที่มีการปรับโฉมกฎหมายปราบโกงแปลกตาไปจากร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ในหลายประเด็น
ไม่ใช่แค่การตีตั๋วต่อโปรโมชั่นการทำงานให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ยาว 9 ปี จากเงื่อนไขเดิมที่ให้อยู่ต่อเฉพาะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ไม่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญเท่านั้น
แต่ที่ดูฮือฮา ถูกกล่าวขานเกรียวกราวล่าสุดคือ การเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.มีอำนาจ ดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทในคดีทุจริต และร่ำรวยผิดปกติ
ติดปีก ป.ป.ช.ยุคใหม่อยู่ยาว และมีอำนาจมหาศาล สุ่มเสี่ยงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ส่อเค้าเกิดความวุ่นวายตามมา หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ
แม้แต่ “ซือแป๋มีชัย” ยังบอก “กลุ้มใจ” เตือนให้ระวังจะเป็นดาบ 2 คม อาจเป็นผลร้ายแก่คนใน สนช.เอง
เรื่องวุ่นๆของสารพันกฎหมายลูก ถูกกระพือเป็นกระแสไม่หยุดหย่อน
ตัวอย่างที่เห็นๆ อาทิ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถูกตั้งแง่เรื่องการสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต.2 คน ในส่วนที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาดำเนินการถูกต้องหรือไม่
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ยังชุลมุนเรื่องการขอแก้กฎหมาย รวมถึงร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ยังไม่รู้ว่า มีปัญหายุ่งเหยิงตามมามากน้อยแค่ไหน
กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับยังอีนุงตุงนัง ถูกโยงเรื่อง สร้างเงื่อนไข ให้เกิดข้อถกเถียงอยู่เรื่อยๆ นั่นย่อมเป็นตัวแปรที่อาจกระทบถึงโรดแม็ป
เข้าล็อกทฤษฎี “สมคบคิด” ยื้อเลือกตั้งที่ถูกตั้งข้อสงสัยกัน
ตามรูปการณ์ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป จ่อเข้าให้ข้อมูลต่อ สนช. เพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.พรรคการเมือง
ชูประเด็นล้างไพ่สมาชิกพรรคการเมืองทุกค่ายมาปัดฝุ่น เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคเก่ากับพรรคใหม่ ตามแนวคิดเดิมที่ขั้วอำนาจพิเศษเคยมองไว้
กองหนุนท็อปบูตระดับหัวแถวเปิดตัวออกมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ขัดจังหวะในช่วงที่ทุกอย่างเตรียมนับถอยหลังเข้าสู่สังเวียนเลือกตั้งปลายปีหน้า ดูแล้วแก้ตัวลำบากว่า ไม่ได้เตี๊ยมกันมาก่อน
สอดรับสถานการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เมินเสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมือง ไม่ยอมปลดล็อกปล่อยผีพรรคการเมืองทำกิจกรรมเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ภายหลัง พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้
ผ่อนปรนให้แค่ใช้มาตรา 44 คลายล็อกเงื่อนเวลา เปิดช่องให้ค่ายการเมืองทำกิจกรรมทางธุรการได้บางอย่างตามโปรแกรมที่กฎหมายลูกพรรคการเมืองกำหนด
แนวโน้มเป็นเพียงแค่การลดกระแสกดดันทางการเมือง
ไม่กล้าปลดล็อกแบบเต็มตัว เพราะยังไม่อนุญาตให้จัดประชุมใหญ่พรรคได้อย่างเป็นทางการ
ปล่อยให้กระดิกตัวได้แค่งานรูทีน อาทิ การหาสมาชิกพรรค การเก็บค่าสมาชิก การประชุมนัดแรกเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคในส่วนพรรคการเมืองใหม่ และการเช็กสถานภาพสมาชิกพรรคในส่วนพรรคการเมืองเก่า
ยกเหตุผลเนื่องจากฝ่ายความมั่นคงยังพบความเคลื่อนไหวทางการเมือง จึงไม่เหมาะสมที่จะปลดล็อกคำสั่งหัวหน้า คสช.ในช่วงนี้ จ่อทอดเวลาปลดล็อกไปถึงกลางปีหน้า
อำนาจพิเศษและทีมกองหนุนผนึกกำลังหาเงื่อนไขสารพัดช่องทาง ประวิงเวลายื้อโรดแม็ปถึงที่สุด
กดนักการเมืองเป็นเบี้ยล่างกันต่อไป!!!
ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น