PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

รับได้มั้ยเลื่อนเลือกตั้ง ๙๐ วัน

รับได้มั้ยเลื่อนเลือกตั้ง ๙๐ วัน


   
    ประเทศไทยเราปัญหาเยอะจริงๆ 
    จิ้มไปตรงไหน ก็เจอแต่ปัญหา 
    สาเหตุไม่ใช่อื่นไกล อยู่ที่คนนี่แหละ 

    เห็นท่าจะจริงกับคำกระแนะกระแหนว่า ประเทศไทยดีไปหมดทุกอย่าง พร้อมไปเสียหมดทุกเรื่อง   
ทั้งภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สารพัดศาสตร์ เสียอย่างเดียว 
    มีคนไทยอยู่! 
    คนไทยเถียงกันทุกเรื่อง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี  
    แต่ที่เสียมากกว่าได้คือ ไม่เคยเถียงกันจบสักเรื่อง แล้วเอาไปขยายต่อ เป็นเรื่องราวสร้างความ
ขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น 
    มันก็มาจากหลายสาเหตุ 
    คุยกันไม่รู้เรื่องเพราะทำมึน ไม่อยากจะรู้เรื่อง ทั้งๆ ที่รู้เรื่องดีที่สุด 
    บางคนรู้ทุกอย่าง รู้ทุกเรื่อง รู้มากจนเหมาเอาว่าคนอื่นไม่รู้เรื่อง 
    และมีพวกที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย แต่ทำเป็นรู้ทุกเรื่อง
    เอาแค่เลือกตั้งเรื่องเดียว คุยกันมาเป็นปีแล้ว ที่คิดว่าจะจบก็ไม่จบ เพราะคนรู้ไม่พูด คนไม่รู้ก็พูด
กันจัง บางคนคิดแทนคนอื่น ส่วนคนที่ถูกคิดแทนไม่หือไม่อือ 
    หรือไม่ก็ลากไปเป็นอีกเรื่อง
    มันถึงยุ่งไม่รู้จบ 
    สองสามวันมานี้มีข่าวการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีก ๙๐ วัน
    คือเลื่อนจากเดือนพฤศจิกายนออกไปเลือกตั้งปี ๒๕๖๒ แทน
    นั่นเพราะมีข้อเสนอแก้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษาออกไป ๙๐ วัน 
    โดยมากแล้วกฎหมายจะประกาศใช้ในวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา     
    แต่กฎหมายฉบับนี้ ๙๐ วัน 
    ถามว่าแปลกหรือเปล่า? 
    ก็ไม่แปลก เพราะกฎหมายบางฉบับระบุให้ประกาศในช่วงเวลาที่เหมาะสม ๙๐, ๑๒๐ วันก็เคยมี
ให้เห็นมาแล้ว
    ว่ากันตามตำรา...
    ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่ากฎหมาย ในที่นี้หมายถึง รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด  
หรือประกาศของคณะปฏิวัติชื่อต่างๆ ที่มีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเป็นชั้น 
    พระราชบัญญัติที่เรียกว่า "กฎหมายแม่บท" กฎหมายแม่บทเหล่านี้ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา
จึงจะใช้บังคับได้ 
    ส่วนพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง นั้น โดยปกติออกโดย
อาศัยอำนาจของกฎหมายแม่บทฉบับใดฉบับหนึ่ง 
    จึงถูกจัดเป็นกฎลำดับรอง หรืออนุบัญญัติของกฎหมายแม่บท ที่มีทั้งอยู่ภายใต้บังคับให้ต้องประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษาจึงจะใช้บังคับได้ และที่ให้มีผลใช้บังคับได้ทันทีที่ตราออกมาโดยไม่ต้องประกาศ
ในราชกิจจานุเบกษา 
    ขึ้นอยู่กับกฎหมายแม่บทแต่ละฉบับจะบัญญัติเรื่องนั้นไว้อย่างไรเป็นสำคัญ
    การประกาศกฎหมายแม่บท หรือกฎลำดับรองในราชกิจจานุเบกษานั้น เป็นกระบวนการเพื่อเป็นตาม
หลักนิติธรรมที่ว่า..... 
    รัฐจะออกกฎหมายหรือกฎมาบังคับประชาชนเท่าที่จำเป็น
    เมื่อต้องการออกกฎหมายหรือกฎใดเพื่อบังคับประชาชนก็ต้องจัดให้ประชาชนได้ทราบกฎหมายหรือ
กฎนั้น 
    เพื่อตรวจสอบหรือโต้แย้งได้ด้วย 
    จะเห็นได้จากการที่กฎหมายแม่บทแต่ละฉบับให้อำนาจรัฐมนตรี หรือเจ้าหน้าที่ออกกฎลำดับรองได้ 
ก็มักจะระบุเพิ่มเติมด้วย กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้นให้ใช้บังคับได้เมื่อประกาศในราช
กิจจานุเบกษา 
    แต่หลักการดังกล่าวและกฎหมายต่างๆ ส่วนใหญ่จะมิได้กำหนดให้กฎหมายหรือกฎลำดับต้องมีผล
ใช้บังคับในวันใดตายตัว 
    ผู้ตราหรือออกกฎหมายหรือกฎลำดับรอง สามารถเลือกกำหนดได้ตามความจำเป็นเร่งด่วน หรือ
เหมาะสมของแต่ละกรณี 
    โดยอาจกำหนดวันเดือนปีที่จะใช้บังคับไว้ตายตัว 
    หรือก่อนหลัง 
    หรือในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ได้ทั้งสิ้น 
    เพียงแต่ถ้าจะให้มีผลใช้บังคับก่อนวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะกระทำได้เฉพาะก่อให้เกิดผล
เป็นคุณต่อผู้อยู่ในบังคับของกฎหมายหรือกฎลำดับรองนั้นเท่านั้น เป็นโทษไม่ได้ 
    ดังนั้น การพิจารณาว่าด้วยกฎหมายหรือกฎลำดับรองฉบับใดเริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อใด จึงไม่ใช่วันที่
พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย 
    และอาจมิใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสมอไป 
    หากแต่ต้องตรวจสอบเนื้อหาภายในกฎหมายหรือกฎลำดับรองนั้นๆ เป็นเรื่องๆ ไปว่า กำหนดวันบัง
คับใช้ไว้เป็นเมื่อใดเป็นหลัก 
    เว้นแต่กรณีที่ไม่ได้เขียนกำหนดไว้เลย จึงจะให้ถือวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันเริ่มต้นการ
มีผลใช้บังคับกฎหมายหรือกฎลำดับรองนั้นได้ตามหลักกฎหมายทั่วไป
    ทำความเข้าใจแล้ว มาดูต่อว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังทำอะไรอยู่ 
    สนช.ให้เหตุผลว่า การขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลังประกาศราชกิจจานุเบกษา ๙๐ วัน เพื่อช่วยพรรคการเมือง 
    ช่วยอย่างไร? 
    ช่วยให้พรรคการเมืองสามารถเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งได้ทันการณ์ โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต 
ซึ่งต้องใช้เวลานานนับเดือน 
    เดิมที่พรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำกิจกรรมพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมืองได้ในเดือนนี้
    แต่เพราะ คสช.ยังไม่ปลดล็อก ทุกอย่างจึงยังหยุดนิ่ง  
    เมื่อกิจกรรมที่พรรคการเมืองต้องทำได้เลื่อนออกไป โดยที่ คสช.ยอมปลดล็อกในภายหลังให้ดำเนิน
การได้เฉพาะบางกรณี เดือนมีนาคม เมษายนนี้ 
    นั่นก็เท่ากับว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ถูกเลื่อนบังคับใช้ไปโดย
ปริยายแล้ว 
    ฉะนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอื่นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะออกมาหลังจากนี้ ควรเลื่อน
การบังคับใช้ด้วยหรือไม่  เพราะมีความเกี่ยวพันกัน กระทบเป็นลูกโซ่
    นั่นคือโจทย์ที่ต้องแก้ไข 
    แต่...มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า สนช.รับใบสั่งรัฐบาล คสช. 
    แล้วพรรคการเมืองเอาด้วยหรือเปล่า?
    ก่อนนี้หลายพรรคการเมืองพูดตรงกัน ปลดล็อกช้ากระทบแน่นอน ฉะนั้นต้องปลอดล็อกทั้งหมดโดย
เร่งด่วน 
    ขณะที่รัฐบาล คสช.ยืนกรานยังมีเวลาตามโรดแมปมากพอ 
    มาทบทวนโรดแมปกันอีกที    
     หลังจากที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง ๔ ฉบับคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
พรรคการเมือง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พระราชบัญญัติประกอบรัฐ
ธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง   
มีผลบังคับใช้แล้ว    
    ให้จัดการเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน 
    อธิบายสั้นๆ หลังกฎหมายทั้ง ๔ ฉบับมีผลบังคับใช้ ให้เลือกตั้งใน ๑๕๐ วัน บวกอีก ๙๐ วัน 
เท่ากับ ๒๔๐ วัน 
    ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมา ๙๐ วัน พรรคการเมืองไม่พอใจแน่นอน 
    แม้ สนช.จะอ้างว่าเผื่อเอาไว้ ให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งก็ตาม
    ก็ว่าไปตามประสาพรรคการเมือง เลือกตั้งช้า ประชาชนลำบาก เศรษฐกิจมีปัญหา ราวกับว่าเลือกตั้ง
แล้วรัฐบาลของประชาชนจะขยันทำงานให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้ทันที 
    ก็พยายามจะเข้าใจพรรคการเมือง เพราะห่างจากสภา ไม่มีอำนาจในมือมานาน 
    แต่เมื่อมีปัญหาให้ต้องแก้ไข ระยะเวลา ๓ เดือน ไม่ใช่เงื่อนเวลาที่รอกันไม่ได้ 
    มองอย่างเป็นกลาง การมีเวลาเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการทำไพรมารีโหวต ผลประโยชน์จะ
ตกอยู่กับพรรคการเมืองเอง 
    ยกเว้นพรรคที่ยังชี้นิ้วสั่งได้ 
    ขณะที่ คสช.เอง ก็ต้องทบทวนเช่นกันว่า การออกคำสั่งอะไรออกไปแล้วจะกระทบอะไรบ้าง 
    การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไป ๓ เดือน ๔ เดือนไม่ใช่ปัญหา 
    ความชัดเจนต่างหากคือเรื่องใหญ่ 
    "ลุงตู่" เคยประกาศชัดเจนว่า เดือนมิถุนายน ๒๕๖๑ จะประกาศวันเลือกตั้ง 
    และในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๖๑ จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป และขอให้นักการเมืองอยู่ใน
ความสงบเรียบร้อย เพราะจะมีผลต่อการผ่อนปรนมาตรการ
    นั่นถือเป็นสัญญาประชาคม 
    วานนี้ โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้ง ส.ส. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกาศว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไข
มาตรา ๒ ของกฎหมายดังกล่าว 
    กำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ๙๐ วันนับแต่วันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 
    ถ้า สนช.เคาะตามนี้จะกลายเป็นโรดแมปใหม่ การเลือกตั้งจะมีขึ้นอย่างน้อยช่วงต้นปี ๒๕๖๒  
    มองในภาพรวมการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนิดหน่อยเพื่อให้ทุกฝ่ายมีความพร้อม ไม่มีเหตุผลใด
ที่จะยอมรับกันไม่ได้ 
    แต่ถ้า คสช.เลื่อนไม่รู้จบ ด้วยข้ออ้างใหม่ๆ ส่วนพรรคการเมืองเอาแต่งอแงจะเลือกตั้งเร็วๆ โดยที่
ตัวเองก็ไม่พร้อม 
    ความเสียหายจะตกที่ประชาชน 
    ฉะนั้นไม่มีทางเลือกอื่น วันนี้ต้องคุยกันให้เข้าใจ เอาประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง แล้วจบด้วย
ข้อสรุปเดียวกัน 
    แบบนี้ถึงจะไปได้.
                                    ผักกาดหอม

ไม่มีความคิดเห็น: