PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2561

สมติด/สุชาติ

สมคิด-สุชาติ"กลางควันข่าวลือภารกิจพรรคตระกูล ส.?

 

          เป็นข่าวครึกโครมเมื่อกลางสัปดาห์ ข่าววันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ “ประมุขบ้านริมน้ำ” จะเปิดบ้านต้อนรับอดีต ส.ส.กลุ่ม 16 รับประทานอาหารกลางวัน แถมมีแขกพิเศษชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อีกด้วย

          แต่ไม่ทันข้ามสัปดาห์ สุชาติ ตันเจริญ นักการเมืองรุ่นใหญ่ ในฐานะแกนนำกลุ่มบ้านริมน้ำได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และไม่ได้นัดหมายรองนายกฯ สมคิด เพราะตนเองยังติดธุระอยู่ที่เมืองจีน และวันที่ 1 เมษายน จะกลับไปงานเช็งเม้งที่พนมสารคาม

          ประเด็นข่าวการขยับตัวของ “สุชาติ ตันเจริญ” นัั้น น่าจะเริ่มต้นจาก “ไพศาล พืชมงคล”กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์กระจายข่าวทางเฟซบุ๊ก “Paisal Puechmongkol” ว่า “นายสุชาติ ตันเจริญ อดีตแกนนำพรรคความหวังใหม่ พร้อมหวนคืนสู่สมรภูมิการเมืองอีกครั้ง ประกาศพร้อมประสานนักการเมืองเก่าใหม่และประชาชนผู้รักชาติทั่วประเทศ สนับสนุนความปรารถนาของประชาชนในการปฏิรูปประเทศ จะสนับสนุนคนที่เป็นความหวังของประชาชนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรี”

          พร้อมกับนำภาพ สุชาติ ตันเจริญ และคณะ เดินทางเยือนมณฑลไหหลำมาโพสต์ ทำไม “ไพศาล” ต้องพูดถึงสุชาติ ตันเจริญ ? คำตอบคือ ทั้งคู่ร่วมกันทำงานใน “สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน” องค์กรที่คลาคล่ำไปด้วยนักการทหาร นักการเมือง และนักธุรกิจ

          สรุปว่า 1 เมษายน สุชาติกลับบ้านไปพบญาติๆ เนื่องในเทศกาลเช็งเม้ง ไม่มีการเปิดบ้านริมน้ำ และไม่ได้ไปร่วมงานที่พรรคภูมิใจไทย 

          50 กว่าปีที่แล้ว คนพนมสารคาม รู้จักบ้านโรงเลื่อยจักร ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของตระกูลการเมือง “ตันเจริญ”

          "เตี่ยเชียร” หรือ วิเชียร ตันเจริญ ร่วมทำไม้กับบริษัท เอื้อวิทยาพานิชย์ จำกัด ผู้รับสัมปทานทำไม้ ในเขตพนมสารคามและสนามชัยเขต สมัยโน้นยังเป็นป่าดิบดงดำ ทั่วถิ่น “พนมสารคาม” ไม่มีใครไม่รู้จัก “เตี่ยเชียร” คหบดีผู้ใจบุญ สร้างถนน สร้างวัด สร้างโรงเรียน และสาธารณกุศล

          ด้วยต้นทุนที่สร้างงาน สร้างบุญไว้เยอะ เลือกตั้ง 2529 “เตี่ยเชียร” ก็ให้ลูกชายที่เพิ่งเรียนจบนอกหมาดๆ ลงสมัคร ส.ส.เขต 2 ฉะเชิงเทรา โดย “สุชาติ ตันเจริญ” ได้คะแนนสูงสุด และเป็น ส.ส.สมัยแรก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

          จากนั้น สุชาติย้ายไปชาติไทย และทำสถิติย้ายพรรคทุกครั้งที่ลงสมัคร ส.ส. อย่างเลือกตั้ง 2539 สุชาติเผชิญวิกฤติการเมืองหาพรรคสังกัดไม่ได้ ต้องไปจัดตั้งพรรคขนาดเล็กชื่อพรรคไท ลงสนาม จากนั้นกลับมารุ่งเรืองสมัยไทยรักไทย และเว้นวรรคทางการเมืองไป 5 ปี
“สุชาติ” รับบทคนการเมืองหลังม่าน ในฐานะประมุข “บ้านริมน้ำ” ได้เข้าร่วมรัฐบาลอภิสิทธิ์ และยังเกาะเกี่ยวอยู่กับนักเลือกตั้งที่ย้ายออกมาจากพรรคไทยรักไทย

          ปี 2559 สุชาติเปิดบ้านริมน้ำ ย่านเมืองนนท์ พบปะเพื่อนพ้องน้องพี่ “กลุ่ม 16” โดยสมาชิกกลุ่มนี้ที่ยังไปมาหาสู่กัน อาทิ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์, วราเทพ รัตนากร, สนธยา คุณปลื้ม, สรอรรถ กลิ่นประทุม, เกษม รุ่งธนเกียรติ และ ประวัฒน์ อุตโมท

          กลุ่ม 16 เป็นการรวมตัวกันของนักการเมืองหนุ่ม (สมัยโน้น) และมีพี่ใหญ่คือ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หลังรัฐประหาร 2549 พวกเขาก็แยกย้ายกันไป ส่วนใหญ่ยังอยู่พรรคเพื่อไทย บางส่วนอยู่พรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังชล

          เลือกตั้ง 2550 นักเลือกตั้งสายสุชาติลงสนามในนามพรรคเพื่อแผ่นดิน และเลือกตั้ง 2554 ย้ายไปสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทย แต่โชคร้ายสอบตกหมด แม้กระทั่งหลานของสุชาติ ที่สนามบ้านเกิด

          สุชาติเป็นนักการเมืองสูตรโบราณ ที่คบหาอดีต ส.ส.ทุกสีเสื้อ และที่เหนียวแน่นคือ เพื่อนอดีต ส.ส.กลุ่ม 16

          ทุกวันนี้ สุชาติเป็นอุปนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และเพิ่งได้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกิจการบ้านพี่เมืองน้อง
ที่สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน สุชาติจึงรู้จักไพศาล พืชมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน และผองเพื่อนนักการเมืองอย่างพินิจ จารุสมบัติ, ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง(เสียชีวิตแล้ว) และโภคิน พลกุล

          สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน ก่อตั้งโดย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และไพศาลเป็นคนหนึ่งที่เป็นแกนหลักของสมาคม และปัจจุบัน “โภคิน พลกุล" เป็นนายกสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน คนที่ 5

          ระหว่างวันที่ 23-26 มีนาคม ที่ผ่านมา สุชาตินำคณะรวม 8 คน เดินทางเยือนมณฑลไหหลำ เพื่อไหว้บรรพบุรุษ ในเทศกาลเช็งเม้ง และหารือร่วมกับสมาคมมิตรภาพระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสองอดีต ส.ส.ยโสธร “พิกิฏ ศรีชนะ“ และ "รณฤทธิชัย คานเขต” ติดตามไปด้วย

          ว่ากันว่า ตระกูลตันเจริญมีเชื้อสายไหหลำ สุชาติจึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น เขาได้พบปะกับผู้นำของมณฑล, นายกสมาคมไหหลำ, นายกสมาคมแต้จิ๋ว ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนมีเงินพันล้านขึ้นไป ทุกคนให้ความสนใจจะมาลงทุนในเมืองไทย

          อันสืบเนื่องจากสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน หรือ “ไทย-จีนคอนเนกชั่น” จึงทำให้ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" นายกสมาคมฯ คนที่ 2 กับสุชาติสนิทสนมกันดี

          ไม่ว่า “สมคิด” จะพยายามบอกกับนักข่าวที่ใกล้ชิดเกี่ยวกับการตั้งพรรคใหม่ว่า “ไม่เป็นความจริง” พร้อมขยายความว่า “ผมอายุมากแล้ว สุขภาพไม่ดีด้วย” แต่แหล่งข่าวจากวงการเมืองยืนยันว่า “มีแน่..พรรคการเมืองในสายสมคิด”

          บุคคลใกล้ชิดสมคิดคนหนึ่งที่จัดเจนเรื่องงานการเมืองและงานมวลชน นั่นคือ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดย “สมคิด” เป็นนักคิด นักพูด แต่ “สนธิรัตน์” เป็นนักปฏิบัติการ และมือประสานสิบทิศ

          ช่วงสมคิดเว้นวรรคทางการเมือง ได้จัดตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ และมอบหมายให้สนธิรัตน์เข้าไปบริหารจัดการ ซึ่งมูลนิธิสัมมาชีพเป็นจุดนัดพบของภาคประชาสังคมกับภาคธุรกิจ ที่ถูกต่อยอดมาเป็นยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

          นอกจาก ส.สนธิรัตน์ สมคิดยังมีอะไหล่ทางการเมืองอีก 1 ส.คือ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” หัวหน้ากลุ่มมัชฌิมา โดยขุมกำลังสมศักดิ์ อยู่ที่สุโขทัย, ชัยนาท และราชบุรี 

          เมื่อการเลือกตั้ง 2554 สุชาติ ตันเจริญ พากลุ่มบ้านริมน้ำออกจากพรรคเพื่อแผ่นดินไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย และสมศักดิ์ เทพสุทิน ก็พากลุ่มวังน้ำยมไปซบภูมิใจไทยเช่นเดียวกัน

          ในรายของสมศักดิ์ชัดเจนว่า ไม่กลับค่ายสีน้ำเงิน แต่จะไปอยู่พรรคไหน รู้สึกว่าช่วงนี้เงียบมาก ขณะที่สุชาติ ก็ยังไปมาหาสู่กับแกนนำภูมิใจไทย แต่อนาคตนั้นยังไม่ตัดสินใจว่าอยู่ค่ายเดิมหรือไม่ ? และการจัดกิจกรรมครบรอบ 10 ปี พรรคภูมิใจไทย สุชาติแจงแล้วว่าติดงานเช็งเม้ง

          ขณะที่สื่อมวลชนยังจับจ้องไปที่ “พรรคพลังประชารัฐ” ของ ชวน ชูจันทร์ ประธานตลาดน้ำคลองลัดมะยม ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          พรรคพลังประชารัฐจะเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มนักการเมือง “ตระกูล ส.” หรือไม่ ? ช่วงเดือนเมษายนนี้ คงมีคำตอบ


/////

เรื่องของตระกูล ส.

เรื่อง“พรรคประชารัฐ”มีการพูดคุยกันมานานแล้ว โดยคนการเมืองกลุ่มหนึ่งที่หวังจะสานต่อ “ยุทธศาสตร์ชาติ” 

จากรัฐบาล คสช. สู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่การจะทำพรรคการเมือง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมไม่ไว้วางใจหมากเกมการเมืองของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับคณะทหาร คสช.

ในสายตาของแกนนำพรรคเพื่อไทยบางกลุ่ม มองว่า สมคิดเป็นแค่ “นักพูด” ไม่ใช่ “นักปฏิบัติ” ฉะนั้น นโยบายประชารัฐ อาจเป็นได้แค่ความฝัน

ตรงข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่หวั่นสะทกอกสะท้านเรื่องประชารัฐ หากรัฐบาลลุงตู่ทำสำเร็จขึ้นมา ประชาชนก็เฮโลสาระพาไปเลือกพรรคการเมืองที่หนุนลุงตู่ ปชป.ก็กินแห้วอีกครั้ง

จริงอยู่ สมคิดเก่งในการอธิบายความ แต่จุดอ่อนในการปฏิบัติ ก็ยังมี“มือทำงาน”ของสมคิดในชั่วโมงนี้ ก็มีอยู่ 2 คนคือ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และเคยเป็นแกนหลักของสถาบันอนาคตไทยศึกษา

อีกคนหนึ่ง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ที่ปลุกปั้นมูลนิธิสัมมาชีพ จนกลายเป็นศูนย์รวมนักธุรกิจและเอ็นจีโอสายประเวศ

ถ้าจะคิดอ่านทำพรรคการเมือง ย่อมไม่ใช่สมคิด ที่จะมานั่งหัวหน้าพรรคเป็นแน่ เพราะจอมยุทธ์หั่งกวงยังมีมือทำงานอีกหลายคน ที่จะแปรแนวคิดทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง

สมคิด” ยังมีพันธมิตรคนการเมือง ที่ผูกมิตรชิดใกล้กันมาแต่สมัยก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคเพื่อไทย หรือพรรคภูมิใจไทย

ขณะเดียวกัน สมคิด ยังมีตัวช่วยอีก “2 ส.” คือสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ที่เปิดหน้าเล่นเป็นครั้งแรก นับแต่สมศักดิ์ พาลูกทีมออกจากพรรคภูมิใจไทย เมื่อปลายปี 2556 ก็ยังไม่พบการเคลื่อนไหวเรื่องตั้งพรรคการเมืองใหม่

ด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว สมศักดิ์ยังต่อสายคุยกับสมคิด และไปมาหาสู่กับแกนนำกลุ่มมัชฌิมาอย่าง “เสี่ยแฮงก์”อนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท และ “กำนันตุ้ย” วิวัฒน์ นิติกาญจนา อดีต ส.ส.ราชบุรี อย่างสม่ำเสมอ

เชื่อกันว่า “ส.สมศักดิ์” ตั้งพรรคการเมืองแน่ แต่คงไม่รวมเป็นพรรคเดียวกันพรรค ส.สมคิด

อีก 1 ส.ที่ไม่ใกล้ชิดกันมากนัก แต่ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็มีท่าทีสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การขยับตัวพร้อมกับข้อเสนอรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง ทำให้แกนนำ ปชป. ต้องส่ง “เดอะแจ๊ค” ออกมาเปิดเกมแฉแหลก “กำนันดัง” จากภาคใต้

สายข่าวจากแดนทักษิณกระซิบว่า ส.สุเทพ เล่นการเมืองชัวร์ และคงต้องรอดูสถานการณ์ใน ปชป.เสียก่อน ค่อยคิดอ่านว่า จะยึดหรือจะแยก?

สรุปว่า เลือกตั้งสมัยหน้า มีพรรคการเมืองตระกูล ส.ส.ส.” ในสนามเลือกตั้งแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: